แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอังคาร เทศกาลพระคริสตสมภพ

พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโก (มก 6:34-44)          

เมื่อเสด็จขึ้นจากเรือ ทรงแลเห็นประชาชนจำนวนมากก็ทรงสงสาร เพราะเขาเหล่านั้นเป็นดังฝูงแกะไม่มีคนเลี้ยง พระองค์จึงทรงเริ่มสั่งสอนเขาหลายเรื่อง เนื่องจากเป็นเวลาเย็นมากแล้ว บรรดาศิษย์จึงเข้ามาเฝ้าพระองค์ ทูลว่า “สถานที่นี้เป็นที่เปลี่ยวและเป็นเวลาเย็นมากแล้ว ขอพระองค์ทรงอนุญาตให้ประชาชนไปซื้ออาหารกินตามชนบทและตามหมู่บ้านรอบๆ นี้เถิด” พระองค์ตรัสตอบว่า “ท่านทั้งหลายจงหาอาหารให้เขากินเถิด” บรรดาศิษย์จึงทูลถามว่า “พวกเราจะต้องไปซื้ออาหารสักสองร้อยเหรียญมาให้เขากินหรือ” พระองค์ตรัสว่า “ท่านมีขนมปังกี่ก้อน ไปดูซิ” บรรดาศิษย์ไปดูแล้วกลับมารายงานว่า “มีขนมปังอยู่ห้าก้อนกับปลาสองตัว”

พระองค์จึงทรงสั่งให้ทุกคนนั่งลงเป็นกลุ่มๆ ตามพื้นหญ้าสีเขียว เขาก็นั่งลงเป็นกลุ่มๆ กลุ่มละหนึ่งร้อยคนบ้าง ห้าสิบคนบ้าง พระองค์ทรงรับขนมปังห้าก้อนกับปลาสองตัวขึ้นมา ทรงแหงนพระพักตร์ขึ้นมองท้องฟ้า แล้วทรงกล่าวถวายพระพร ทรงบิขนมปังส่งให้บรรดาศิษย์ไปแจกจ่ายให้กับประชาชน ทั้งยังทรงแบ่งปลาสองตัวแจกจ่ายให้ทุกคนด้วย ทุกคนได้กินจนอิ่ม แล้วยังเก็บเศษขนมปังและปลาที่เหลือได้ถึงสิบสองกระบุงเต็ม จำนวนคนที่กินขนมปังครั้งนั้นมีผู้ชายถึงห้าพันคน


มก 6:34 ฝูงแกะไม่มีคนเลี้ยง : ภาพนี้ถูกใช้ในหนังสือพันธสัญญาเดิม เพื่ออธิบายถึงการขาดผู้นำทางจิตวิญญาณในอิสราเอล (เทียบ กดว 27:17; ยรม 23:1-3) และพระเมสสิยาห์ที่ทรงสัญญาไว้ ผู้ซึ่งจะมาเป็นผู้นำประชากรของพระองค์ (เทียบ อสค 34:23) นอกจากนี้ยังเรียกให้คำนึงถึงอุปมาของพระคริสตเจ้าในฐานะผู้เลี้ยงแกะที่ดี (เทียบ ยน 10:11-16) และคำสั่งของพระคริสตเจ้าที่ให้ออกไปตามหา “ลูกแกะที่หายไป” ของอิสราเอล (เทียบ มธ 10:6) 

CCC ข้อ 754 “พระศาสนจักรเป็น คอกแกะ ที่มีพระคริสตเจ้าทรงเป็นประตูที่จำเป็นเพียงประตูเดียวพระศาสนจักรยังเป็น ฝูงแกะ ที่พระเจ้าเองทรงประกาศไว้ล่วงหน้าแล้วว่าจะทรงเป็น “ผู้เลี้ยง” และแกะฝูงนี้ แม้จะมีผู้เลี้ยงที่เป็นมนุษย์ปกครองดูแล แต่ก็ยังถูกนำและเลี้ยงดูจากพระคริสตเจ้าเองผู้ทรงเป็นผู้เลี้ยงที่ดีและเป็นหัวหน้าของบรรดาผู้เลี้ยง และทรงสละชีวิตของตนเพื่อบรรดาแกะ”

CCC ข้อ 1586  สำหรับพระสังฆราช พระหรรษทานแห่งพละกำลัง (บทภาวนาเจิมถวายพระสังฆราชในจารีตละตินวอนขอ “Spiritum principalem” หรือ “พระจิตเจ้าผู้ทรงปกครองและนำชีวิต”) คือพระหรรษทานที่จะนำพระศาสนจักรและป้องกันพระศาสนจักรนี้อย่างกล้าหาญและชาญฉลาดดังบิดาและผู้อภิบาล มีความรักจากใจจริงและเต็มใจต่อผู้ยากจน คนเจ็บป่วยและขัดสน[84] พระหรรษทานประการนี้ย่อมผลักดันเขาให้ประกาศข่าวดีแก่ทุกคน ให้เป็นแบบอย่างแก่บรรดาสัตบุรุษผู้เป็นเสมือนฝูงแกะของตน เพื่อจะนำหน้าเขาในหนทางแห่งความศักดิ์สิทธิ์ ทำตนในพิธีบูชาขอบพระคุณให้เป็นหนึ่งเดียวกับพระคริสตเจ้าพระสมณะและเครื่องบูชา โดยไม่หวั่นกลัวที่จะมอบชีวิตเพื่อบรรดาแกะของตน

           “ข้าแต่พระบิดาเจ้าผู้ทรงล่วงรู้จิตใจมนุษย์ทั้งหลาย ขอโปรดให้ผู้รับใช้พระองค์ผู้นี้ ซึ่งทรงเลือกสรรให้เป็นพระสังฆราช เลี้ยงดูประชากรซึ่งเป็นเสมือนฝูงแกะศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ ปฏิบัติหน้าที่มหาสมณะอย่างไร้ที่ติเฉพาะพระพักตร์ รับใช้พระองค์ทั้งกลางวันกลางคืน เพื่อจะได้วอนขอให้ทรงพระกรุณา และให้เขาถวายบรรณาการของพระศาสนจักรศักดิ์สิทธิ์แด่พระองค์อยู่เสมอมิได้ขาด ขอให้ฤทธิ์อำนาจของพระจิตเจ้าซึ่งประทานตำแหน่งมหาสมณะแก่เขา โปรดให้เขามีอำนาจอภัยบาปตามพระบัญชา  ขอให้เขาแจกจ่ายภาระหน้าที่ตามพระประสงค์ และแก้พันธะผูกมัดทั้งปวงตามอำนาจที่พระองค์ได้ประทานแก่บรรดาอัครสาวก  ขอให้เขามีจิตใจอ่อนโยนและสะอาดบริสุทธิ์เป็นที่พอพระทัย  ถวายสักการบูชาที่หอมหวลแด่พระองค์   ทั้งนี้  ขอพึ่งพระบารมีพระเยซูคริสตเจ้าพระบุตรของพระองค์......”

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)