แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันจันทร์สัปดาห์ที่ 30 (ปีคู่)

พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญลูกา (ลก 13:10-17)  

 ขณะนั้น พระเยซูเจ้าทรงสั่งสอนอยู่ในศาลาธรรมแห่งหนึ่งในวันสับบาโต สตรีคนหนึ่งถูกปีศาจสิง เจ็บป่วยมาสิบแปดปีแล้ว หลังค่อม ยืดตัวตรงไม่ได้เลย เมื่อพระเยซูเจ้าทอดพระเนตรเห็น จึงทรงเรียกนางเข้ามาและตรัสว่า “นางเอ๋ย เธอพ้นจากความพิการของเธอแล้ว” พระองค์ทรงปกพระหัตถ์เหนือนาง ทันใดนั้น นางก็ยืดตัวตรงและถวายพระเกียรติแด่พระเจ้า

      แต่หัวหน้าศาลาธรรมรู้สึกขัดเคืองที่พระเยซูเจ้าทรงรักษาโรคในวันสับบาโต จึงกล่าวแก่ประชาชนว่า “วันที่ทำงานได้มีถึงหกวัน จงมารับการรักษาโรคในวันเหล่านั้นเถิด อย่ามาในวันสับบาโตเลย” องค์พระผู้เป็นเจ้าจึงตรัสตอบว่า “เจ้าคนหน้าซื่อใจคด เจ้าแต่ละคนมิได้แก้โคหรือลาจากรางหญ้า พาไปกินน้ำในวันสับบาโตดอกหรือ หญิงผู้นี้เป็นบุตรหญิงของอับราฮัม ซึ่งซาตานล่ามไว้เป็นเวลาสิบแปดปีแล้ว ไม่สมควรที่จะถูกแก้จากพันธนาการนี้ในวันสับบาโตด้วยหรือ” เมื่อพระองค์ตรัสดังนี้แล้ว ผู้ต่อต้านทุกคนของพระองค์รู้สึกอับอาย ขณะที่ประชาชนต่างชื่นชมยินดีเมื่อเห็นการอัศจรรย์ทั้งหลายที่ทรงกระทำ


 ลก 13:10-17 คำถามเรื่องกิจกรรมใดที่ได้รับอนุญาตให้ทำในวันสับบาโตได้นั้น คือจุดที่สร้างความขัดแย้ง ระหว่างพระคริสตเจ้ากับพวกที่วิจารณ์พระองค์

 คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก CCC ข้อ 2173 พระวรสารเล่าถึงหลายกรณีที่พระเยซูเจ้าทรงถูกกล่าวหาว่าล่วงละเมิดวันสับบาโต แต่พระเยซูเจ้าไม่ทรงเคยฝ่าฝืนความศักดิ์สิทธิ์ของวันนี้เลย พระองค์ทรงตีความหมายของกฎนี้อย่างทรงอำนาจ “วันสับบาโตมีไว้เพื่อมนุษย์ มิใช่มนุษย์มีไว้เพื่อวันสับบาโต” (มก 2:27) พระคริสตเจ้าทรงใช้ความเห็นอกเห็นใจชี้ให้เห็นว่าทรงมีอำนาจทำดีในวันสับบาโต ไม่ใช่ทำชั่ว ช่วยชีวิตให้รอด ไม่ใช่ทำลายชีวิต วันสับบาโตเป็นวันแห่งพระกรุณาขององค์พระผู้เป็นเจ้า และวันถวายเกียรติแด่พระเจ้า “บุตรแห่งมนุษย์จึงเป็นนายเหนือแม้กระทั่งวันสับบาโตด้วย” (มก 2:28)


 ลก 13:16 ซาตานล่ามไว้ : อิทธิพลของปีศาจสามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพด้านร่างกายได้ ทำให้บุคคลที่มี "จิตที่อ่อนแอ" ดังนั้น การช่วยบางคนให้พ้นจากผลของความเจ็บไข้ได้ป่วย หรือในกรณีของการถูกครอบงำเช่นนี้ ย่อมเป็นสิ่งถูกต้องตามกฎของการปฏิบัติวันสับบาโต

 CCC ข้อ 582 ยิ่งกว่านั้น พระเยซูเจ้ายังทรงปฏิรูปกฎเกี่ยวกับเรื่องอาหารมีมลทินหรือไม่มีมลทิน ที่เป็นเรื่องสำคัญในชีวิตประจำวันของชาวยิว ให้สมบูรณ์ขึ้น โดยทรงอธิบายความหมายในมุมมองของความเป็นเหมือน “ครูพี่เลี้ยง” ของกฎเหล่านี้ “สิ่งต่างๆ จากภายนอกที่เข้าไปในมนุษย์นั้นทำให้เขาเป็นมลทินไม่ได้ […] – ดังนี้ ทรงประกาศว่าอาหารทุกชนิดไม่เป็นมลทิน พระองค์ยังตรัสอีกว่า สิ่งที่ออกจากภายในมนุษย์นั้นแหละทำให้เขามีมลทิน จากภายใน คือจากใจมนุษย์นั้นเป็นที่มาของความคิดชั่วร้าย” (มก 7:18-21) พระเยซูเจ้าซึ่งทรงใช้อำนาจพระเจ้าอธิบายความหมายสุดท้ายของกฎเกณฑ์ต่างๆ จึงทรงขัดแย้งกับนักกฎหมายบางคนที่ไม่ยอมรับการอธิบายของพระองค์ ทั้งๆ ที่พระองค์ทรงทำเครื่องหมายอัศจรรย์เพื่อยืนยันพระวาจาที่ทรงสั่งสอน การเช่นนี้เห็นได้ชัดเป็นพิเศษในปัญหาเรื่องวันสับบาโต หลายครั้งพระเยซูเจ้าทรงใช้เหตุผลของบรรดาธรรมาจารย์เอง เพื่อชี้ให้เห็นว่าการรับใช้พระเจ้าและเพื่อนมนุษย์ไม่เป็นการผิด           พระบัญญัติให้หยุดพักในวันสับบาโต เพราะพระองค์ทรงรักษาโรคในวันสับบาโต

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)