วันพฤหัสบดีสัปดาห์ที่ 27 (ปีคู่)  

บทอ่านจากพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญลูกา (ลก 11:5-13)

เวลานั้น พระเยซูเจ้าตรัสกับบรรดาศิษย์อีกว่า “สมมติว่าท่านคนหนึ่งมีเพื่อนและไปพบเพื่อนนั้นตอนเที่ยงคืนกล่าวว่า ‘เพื่อนเอ๋ย ให้ฉันขอยืมขนมปังสักสามก้อนเถิด เพราะเพื่อนของฉันเพิ่งเดินทางมาถึงบ้านของฉัน ฉันไม่มีอะไรจะให้เขากิน’ สมมติว่าเพื่อนคนนั้นตอบจากในบ้านว่า ‘อย่ารบกวนฉันเลย ประตูปิดแล้ว ลูกๆ กับฉันก็เข้านอนแล้ว ฉันลุกขึ้นให้สิ่งใดท่านไม่ได้หรอก’ เราบอกท่านทั้งหลายว่า ถ้าคนนั้นไม่ลุกขึ้นให้ขนมปังเพราะเป็นเพื่อนกัน เขาก็จะลุกขึ้นมาให้สิ่งที่เพื่อนต้องการเพราะถูกรบเร้า”

“เราบอกท่านทั้งหลายว่า จงขอเถิด แล้วท่านจะได้รับ จงแสวงหาเถิด แล้วท่านจะพบ จงเคาะประตูเถิด แล้วเขาจะเปิดประตูรับท่าน เพราะคนที่ขอย่อมได้รับ คนที่แสวงหาย่อมพบ คนที่เคาะประตูย่อมมีผู้เปิดประตูให้ ท่านที่เป็นพ่อ ถ้าลูกขอปลา จะให้งูแทนปลาหรือ ถ้าลูกขอไข่ จะให้แมงป่องหรือ แม้แต่ท่านทั้งหลายที่เป็นคนชั่วยังรู้จักให้ของดี ๆ แก่ลูก แล้วพระบิดาผู้สถิตในสวรรค์จะไม่ประทานพระจิตเจ้าแก่ผู้ที่ทูลขอพระองค์มากกว่านั้นหรือ”


ลก 11:5-13 หลังจากที่พระคริสตเจ้าได้ทรงสอนเรื่องคำภาวนาขององค์พระผู้เป็นเจ้าแล้ว พระองค์ได้ทรงสอนบทเรียนเกี่ยวกับความจำเป็นที่จะต้องพากเพียรและมุ่งมั่นในการสวดภาวนาโดยเล่าว่า ถ้าหากเพื่อนคนหนึ่งลังเลที่จะทำตามที่เราขอ แต่ที่สุดเขาก็ได้ทำเพราะการคะยั้นคะยอของเราฉันใด พ่อคนหนึ่งก็จะยิ่งให้สิ่งที่ลูกของตนขอมากกว่านั้นสักเท่าใด หากนั่นเป็นสิ่งที่ดีสำหรับลูกของเขา เนื่องจากสถานะของเราในการเป็นบุตรบุญธรรมชายและหญิงของพระเจ้า พระองค์จึงทรงประทานสิ่งที่เราต้องการและประทานความมั่นใจว่า สิ่งที่คาดหวังนั้นจะสำเร็จไป

คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก CCC ข้อ 728 พระเยซูเจ้ามิได้ทรงเปิดเผยเรื่องพระจิตเจ้าเต็มที่จนกระทั่งพระองค์ทรงได้รับพระสิริรุ่งโรจน์โดยการสิ้นพระชนม์และทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้วเท่านั้น ถึงกระนั้นพระองค์ก็ทรงกล่าวพาดพิงถึงพระจิตเจ้าบ้างแล้วเมื่อตรัสสอนประชาชน เมื่อทรงเปิดเผยว่าพระกายของพระองค์เป็นอาหารเพื่อชีวิตในอนาคตของโลก พระองค์ยังตรัสพาดพิงถึงพระจิตเจ้าด้วยกับนิโคเดมัสกับหญิงชาวสะมาเรีย และกับประชาชนที่มาร่วมฉลองเทศกาลอยู่เพิงพร้อมกับพระองค์ พระองค์ตรัสอย่างเปิดเผยแก่บรรดาศิษย์เมื่อตรัสเกี่ยวกับการอธิษฐานภาวนา และการเป็นพยานที่พวกเขาจะต้องแสดงถึงพระองค์

CCC ข้อ 2613 นักบุญลูกาเล่าเรื่องอุปมาเกี่ยวกับการอธิษฐานภาวนาโดยเฉพาะไว้ให้เราสามเรื่อง    - เรื่องแรกคือ “เรื่องเพื่อนที่ไม่รู้จักกาละเทศะ” เชิญเราให้อธิษฐานภาวนาโดยไม่ลดละ “จงเคาะประตูเถิด แล้วเขาจะเปิดประตูรับท่าน” ดังนี้ พระบิดาผู้สถิตในสวรรค์จะประทานทุกสิ่งที่จำเป็นให้แก่ผู้ที่วอนขอ โดยเฉพาะพระจิตเจ้าที่ทรงรวมพระพรทุกอย่างไว้

   - เรื่องที่สองคือ “เรื่องหญิงม่ายผู้รบเร้า” มีศูนย์กลางอยู่ที่ลักษณะประการหนึ่งของการอธิษฐานภาวนา คือ “จำเป็นต้องอธิษฐานภาวนาอยู่เสมอโดยไม่ท้อถอย” โดยพากเพียรในความเชื่อ “เมื่อบุตรแห่งมนุษย์เสด็จมา จะทรงพบความเชื่อในโลกนี้หรือ”

   - เรื่องที่สามคือ “เรื่องชาวฟาริสีและคนเก็บภาษี” ที่กล่าวถึงใจถ่อมตนของผู้อธิษฐานภาวนา “ข้าแต่พระเจ้า โปรดทรงพระกรุณาต่อข้าพเจ้าคนบาปด้วยเถิด” พระศาสนจักรไม่เคยหยุดยั้งเลยที่จะภาวนาว่า “ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า โปรดทรงเมตตาเทอญ” “Kyrie eleison”

CCC ข้อ 2623 ในวันเปนเตกอสเต พระจิตเจ้าที่พระคริสตเจ้าทรงสัญญาจะประทานให้นั้นได้หลั่งลงมาเหนือบรรดาศิษย์ “ที่มาชุมนุมในสถานที่เดียวกัน” (กจ 2:1) “ทุกคนร่วมอธิษฐานภาวนา […] เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน” (กจ 1:14) พระจิตเจ้าผู้ทรงสอนและทรงทำให้พระศาสนจักรระลึกถึงทุกสิ่งที่พระเยซูเจ้าเคยตรัสไว้ ยังทรงช่วยเสริมสร้างพระศาสนจักรให้มีชีวิตการอธิษฐานภาวนาด้วย

CCC ข้อ 2671 รูปแบบการวอนขอพระจิตเจ้าตามธรรมประเพณีคือการวอนขอพระบิดาให้ประทานพระจิตเจ้าพระผู้บรรเทาให้เราผ่านทางพระคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา พระเยซูเจ้าทรงย้ำถึงการวอนขอนี้ในพระนามของพระองค์โดยเฉพาะเมื่อทรงสัญญาจะประทานพระจิตแห่งความจริงเป็นพระพรพิเศษแก่เรา แต่บทภาวนาถึงพระจิตเจ้าแบบซื่อๆ และโดยตรงที่สุดยังเป็นบทภาวนาที่ใช้กันมาเป็นธรรมประเพณี “เชิญเสด็จมา ข้าแต่พระจิตเจ้า” และธรรมประเพณีทางพิธีกรรมแต่ละธรรมประเพณีก็ยังขยายความบทนี้ในบทลำนำและบทเพลงสรรเสริญต่างๆ ด้วย เช่น  “เชิญเสด็จมา ข้าแต่พระจิตเจ้า เชิญเสด็จมาสถิตในดวงใจสัตบุรุษ และทรงบันดาลให้ลุกร้อนด้วยไฟความรักของพระองค์”  “ข้าแต่พระราชาแห่งสวรรค์ พระผู้ทรงบรรเทา พระจิตแห่งความจริง พระผู้ประทับอยู่ทั่วทุกแห่ง ทรงเติมเต็มทุกสิ่ง ข้าแต่ขุมทรัพย์แห่งความดีและบ่อเกิดแห่งชีวิต เชิญเสด็จมาประทับอยู่ในข้าพเจ้าทั้งหลาย โปรดทรงชำระข้าพเจ้าทั้งหลายให้ปลอดจากความแปดเปื้อน และทรงช่วยวิญญาณข้าพเจ้าทั้งหลายให้รอดพ้น พระองค์ผู้ทรงความดีทุกประการ”

CCC ข้อ 2761 “อันที่จริง การสรุปพระวรสารทั้งหมดถูกรวมไว้ในบท ‘ข้าแต่พระบิดา’” องค์พระผู้เป็นเจ้า “หลังจากทรงแสดงวิธีอธิษฐานภาวนาให้เห็นแล้วได้ตรัสว่า จงขอเถิด แล้วท่านจะได้รับ (ยน 16:24) และแต่ละคนมีสิ่งที่ต้องขอสำหรับสภาพแวดล้อมโดยเฉพาะ การอธิษฐานภาวนาขอตามปกติจึงถูกวางไว้ก่อนเป็นเสมือนพื้นฐานของความปรารถนาที่อาจเกิดขึ้นซึ่งเป็นสิทธิที่จะเพิ่มการวอนขอนอกเหนือต่อไปได้”

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)