แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันจันทร์สัปดาห์ที่ 27  (ปีคู่)  

บทอ่านจากพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญลูกา (ลก 10:25-37)

 ขณะนั้น นักกฎหมายคนหนึ่งยืนขึ้นทูลถามเพื่อจะจับผิดพระเยซูเจ้าว่า “พระอาจารย์ ข้าพเจ้าจะต้องทำสิ่งใดเพื่อจะได้ชีวิตนิรันดร” พระองค์ตรัสถามเขาว่า “ในธรรมบัญญัติมีเขียนไว้อย่างไร ท่านอ่านว่าอย่างไร” เขาทูลตอบว่า “ท่านจะต้องรักองค์พระผู้เป็นเจ้า พระเจ้าของท่านสุดจิตใจ สุดวิญญาณ สุดกำลัง และสุดสติปัญญาของท่าน ท่านจะต้องรักเพื่อนมนุษย์เหมือนรักตนเอง” พระองค์ตรัสกับเขาว่า “ท่านตอบถูกแล้ว จงทำเช่นนี้ แล้วจะได้ชีวิต”

     ชายคนนั้นต้องการแสดงว่าตนถูกต้อง จึงทูลถามพระเยซูเจ้าว่า “แล้วใครเล่าเป็นเพื่อนมนุษย์ของข้าพเจ้า” พระเยซูเจ้าจึงตรัสต่อไปว่า “ชายคนหนึ่งกำลังเดินทางจากกรุงเยรูซาเล็มไปยังเมืองเยรีโค เขาถูกโจรปล้น พวกโจรปล้นทุกสิ่ง ทุบตีเขา แล้วก็จากไป ทิ้งเขาไว้อาการสาหัสเกือบสิ้นชีวิต สมณะผู้หนึ่งเดินผ่านมาทางนั้นโดยบังเอิญ เห็นเขาและเดินผ่านเลยไปอีกฟากหนึ่ง ชาวเลวีคนหนึ่งผ่านมาทางนั้น เห็นเขาและเดินผ่านเลยไปอีกฟากหนึ่งเช่นเดียวกัน แต่ชาวสะมาเรียผู้หนึ่งเดินทางผ่านมาใกล้ๆ เห็นเขาก็รู้สึกสงสาร จึงเดินเข้าไปหา เทน้ำมันและเหล้าองุ่นลงบนบาดแผลแล้วพันผ้าให้ นำเขาขึ้นหลังสัตว์ของตนพาไปถึงโรงแรมแห่งหนึ่งและช่วยดูแลเขา วันรุ่งขึ้นชาวสะมาเรียผู้นั้นนำเงินสองเหรียญออกมามอบให้เจ้าของโรงแรมไว้ กล่าวว่า ‘ช่วยดูแลเขาด้วย เงินที่ท่านจะจ่ายเกินไปนั้น ฉันจะคืนให้เมื่อกลับมา’ ท่านคิดว่าในสามคนนี้ใครเป็นเพื่อนมนุษย์ของคนที่ถูกโจรปล้น” เขาทูลตอบว่า “คนที่แสดงความเมตตาต่อเขา” พระเยซูเจ้าจึงตรัสกับเขาว่า “ท่านจงไปและทำเช่นเดียวกันเถิด”


 ลก 10:25-37 เราจะเห็นว่าบ่อยครั้งพระคริสตเจ้าทรงถูกต่อต้านจากบรรดาธรรมาจารย์และชาวฟาริสี แต่ไม่ใช่ทุกคนที่ต่อต้านคำสอนของพระองค์ ในพระวรสารตอนนี้เมื่อนักกฎหมายคนหนึ่งพยายามที่จะทดสอบพระองค์ พระคริสตเจ้าจึงทำให้เขาร่วมในบทสนทนานี้ พระองค์ทรงยกย่องบทสรุปด้านกฎหมายของธรรมาจารย์ แต่ได้ทรงขยายการประยุกต์ใช้ของบทสรุปนั้นให้อยู่เหนือสิ่งที่คนส่วนใหญ่เชื่อกัน กล่าวคือ คำว่า “เพื่อนมนุษย์” นั้นไม่ได้หมายถึงแต่เฉพาะผู้ที่มีความเชื่อ หรือวัฒนธรรม หรือบ้านเกิดเมืองนอนเดียวกันกับเราเท่านั้น เพราะผู้ติดตามพระคริสตเจ้าถูกเรียกร้องให้แสดงความรักของเขาต่อพระเจ้าโดยผ่านทางความเมตตาและความเห็นอกเห็นใจต่อทุกคน

  คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก CCC ข้อ 2822 พระประสงค์ของพระบิดาของเราก็คือ “ให้ทุกคนได้รับความรอดพ้นและรู้ความจริงที่สมบูรณ์” (1 ทธ 2:4) พระองค์ “ทรงอดกลั้น […] ไม่ทรงประสงค์ให้ผู้ใดต้องพินาศ” (2 ปต 3:9) พระบัญชาของพระองค์ซึ่งสรุปรวมพระบัญชาอื่นๆ ทั้งหมดและแสดงถึงพระประสงค์ทั้งหมดของพระองค์ก็คือให้เรารักกันเหมือนกับที่พระองค์ทรงรักเรา

 CCC ข้อ 1825 พระคริสตเจ้าสิ้นพระชนม์เพราะความรักต่อเราขณะที่เรายังเป็น“ศัตรูอยู่”(รม 5:10) องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงขอร้องเราให้รักแม้กระทั่งศัตรูของเราเช่นเดียวกับที่พระองค์ได้ทรงกระทำ ให้เราทำให้ผู้อยู่ห่างไกลจากเราเข้ามาอยู่ใกล้ชิดกับเรา ให้เรารักเด็กเล็ก ๆ และคนยากจน เหมือนกับที่เรารักพระองค์ด้วย นักบุญเปาโลอัครสาวกบรรยายถึงความรักไว้อย่างไม่มีผู้ใดเทียบได้ “ความรักย่อมอดทน มีใจเอื้อเฟื้อไม่อิจฉา ไม่โอ้อวดตนเอง ไม่จองหอง ไม่หยาบคาย ไม่เห็นแก่ตัว ความรักไม่ฉุนเฉียว ไม่จดจำความผิดที่ได้รับ ไม่ยินดีในความชั่ว แต่ร่วมยินดีในความถูกต้อง ความรักให้อภัยทุกอย่าง เชื่อทุกอย่างหวังทุกอย่าง อดทนทุกอย่าง” (1 คร 13:4-7)

 CCC ข้อ 2083 พระเยซูเจ้าทรงสรุปหน้าที่ของมนุษย์ต่อพระเจ้าไว้ในบัญญัติข้อนี้ว่า “ท่านจะต้องรักองค์พระผู้เป็นเจ้าพระเจ้าของท่านสุดจิตใจ สุดวิญญาณ สุดสติปัญญาของท่าน” (มธ 22:37) ข้อความนี้ชวนให้เราคิดถึงพระสุรเสียงเรียกอย่างสง่าที่ว่า “อิสราเอลเอ๋ย จงฟังเถิด องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงเป็นพระเจ้าของเรา องค์พระผู้เป็นเจ้ามีเพียงพระองค์เดียว” (ฉธบ 6:4)พระเจ้าทรงรักเราก่อน บทบัญญัติประการแรกของ “พระบัญญัติสิบประการ” จึงเตือนให้ระลึกถึงความรักต่อพระเจ้าหนึ่งเดียวนี้ บทบัญญัติต่อไปจึงค่อยๆ คลี่คลายว่ามนุษย์ต้องตอบสนองความรักต่อพระเจ้าที่ทรงเรียกเขาให้ตอบสนองได้อย่างไร


 ลก 10:31-32  ทั้งสมณะและชาวเลวีต่างก็เคร่งครัดในการถือกฎของชาวยิวในการชำระตนให้สะอาด พวกเขาจึงไม่ต้องการสัมผัสเลือดที่ไหลออกมาและคนที่ใกล้จะตาย เรื่องอุปมานี้ต้องการชี้ให้เห็นว่า หน้าที่ในการทำความดีนั้นต้องมาแทนที่การปฏิบัติตามกฎหมายที่เคร่งครัดของมนุษย์

 CCC ข้อ 1539 ประชากรที่พระเจ้าทรงเลือกสรรได้รับแต่งตั้งให้เป็น “อาณาจักรสมณะ เป็นชนชาติศักดิ์สิทธิ์” (อพย 19:6) แต่ทว่าภายในประชากรอิสราเอล พระเจ้าทรงเลือกชนเผ่าหนึ่งจากสิบสองเผ่า คือเผ่าเลวี แยกออกมาเพื่อศาสนบริการด้านพิธีกรรม พระเจ้าพระองค์เองทรงเป็นส่วนมรดกของชนเผ่านี้ จารีตพิธีโดยเฉพาะมอบถวายการเริ่มปฏิบัติสมณกิจของพันธสัญญาเดิม บรรดาสมณะในพันธสัญญาเดิม “ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้แทนมนุษย์ในความสัมพันธ์ติดต่อกับพระเจ้าเพื่อถวายทั้งบรรณาการและเครื่องบูชาชดเชยบาป”

 CCC ข้อ 1543 ในบทภาวนาเจิมถวายสำหรับพิธีบวชสังฆานุกร พระศาสนจักรประกาศว่า “ข้าแต่พระผู้ทรงสรรพานุภาพ […] พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดให้พระศาสนจักรของพระองค์เจริญเติบโตขึ้นแผ่ขยายเป็นพระวิหารใหม่ พระองค์ทรงแต่งตั้งผู้รับใช้ให้มีตำแหน่งสามขั้น เพื่อปฏิบัติศาสนบริการศักดิ์สิทธิ์ถวายแด่พระนามของพระองค์ เช่นเดียวกับที่เคยทรงคัดเลือกบรรดาบุตรของเลวีเพื่อปฏิบัติศาสนกิจในกระโจมที่ประทับตั้งแต่แรกเริ่ม”


 ลก 10:34-35 การเทน้ำมัน : ตามปกติจะใช้น้ำมันเป็นยาทาแผลหรือเป็นครีมเพื่อรักษาบาดแผล อีกทั้งยังใช้เป็นเครื่องหมายของการเจิมและการเสกบางคนเพื่อจุดประสงค์หรือภารกิจเฉพาะ เช่น กษัตริย์หรือประกาศก เป็นเวลานานมาแล้วที่พระศาสนจักรได้ใช้น้ำมันในพิธีโปรดศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ เป็นดังเครื่องหมายของการเยียวยารักษา ดังเช่นในศีลเจิมคนไข้ หรือเป็นเครื่องหมายของการมอบถวายตัว เช่น ในศีลล้างบาป ศีลกำลัง และศีลบวช เงินสองเหรียญ : เงินหนึ่งเหรียญคือค่าจ้างสำหรับหนึ่งวัน และเงินจำนวนนี้น่าจะเพียงพอสำหรับจ่ายค่าอาหารและค่าที่พักให้แก่ชายที่ได้รับบาดเจ็บเป็นเวลาหลายวัน

 CCC ข้อ 1293 ในจารีตพิธีของศีลนี้ จำเป็นต้องพิจารณาถึงเครื่องหมายการเจิม และความหมายที่การเจิมแสดงให้เห็นและประทับไว้ คือ ตราประทับของพระจิตเจ้าการเจิม มีความหมายหลายอย่างในสัญลักษณ์โบราณและของพระคัมภีร์ น้ำมันหมายถึงความอุดมสมบูรณ์ และความยินดี ชำระล้าง (การเจิมก่อนและหลังการอาบน้ำ) ทำให้คล่องแคล่ว (การชโลมตัวนักกีฬาและนักมวยปล้ำ) เป็นเครื่องหมายของการรักษาโรค เพราะบรรเทาความเจ็บปวดและรักษาบาดแผล ทำให้มีความงดงาม สุขภาพ พลังและความแช่มชื่นแจ่มใส

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)