แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

ข้อคิดข้อรำพึง

อาทิตย์ที่ 24 เทศกาลธรรมดา ปี A

การสุมความโกรธไว้

 

 อับราฮัม ลินคอล์น ประธานาธิบดีของประเทศสหรัฐอเมริกาคนที่ 16 ได้รับเลือกเข้ามาในตำแหน่งในช่วงต่อต้านการมีทาส ครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งก่อนจะเกิดสงครามกลางเมือง (Civil War) ในปี 1863 ลินคอล์นออกคำประกาศให้บรรดาทาสที่อยู่ทางใต้เป็นอิสระ และในอีก 2 ปีต่อมาได้ห้ามการมีทาสทั่วทั้งสหรัฐอเมริกา ลินคอล์นได้ต่อต้านการเป็นทาสในทุกๆรูปแบบ ไม่เว้นแม้แต่การที่คนเรายอมเป็นทาสความโกรธแค้นและความขุ่นเคืองของตนเอง

 เลขานุการด้านสงครามของลินคอล์น ชื่อ เอ็ดวิน สแตนตัน (Edwin Stanton) ได้รับความลำบากใจกับนายพลคนหนึ่ง ซึ่งกล่าวหาเขาด้วยถ้อยคำหยาบคายว่าเป็นคนขี้ประจบ สแตนตันบ่นเรื่องนี้กับลินคอล์น ท่านแนะนำให้เขียนจดหมายถึงนายพลคนนั้นด้วยถ้อยคำที่บาดใจ สแตนตันทำตามทันที และนำมาให้ประธานาธิบดีดูว่าใช้คำรุนแรงแค่ไหน ท่านปรบมือให้กับถ้อยคำภาษาที่ทรงพลัง พร้อมทั้งถามว่า "แล้วคุณจะทำอะไรต่อไป" สแตนตันแปลกใจเล็กน้อยกับคำถามนั้น จึงตอบไปทันทีว่า "ส่งไปให้เขาสิครับ" ลินคอล์นสั่นศีรษะแล้วพูดว่า "คุณไม่ต้องส่งจดหมายนั้นไปหรอก ทิ้งมันลงบนเตาเผานั่นแหละ นี่คือสิ่งที่ฉันทำในเวลาโกรธ ฉันจะเขียนระบายลงไปในจดหมาย  แม้มันเป็นจดหมายที่ดีก็จริง ให้ถือว่าคุณมีเวลาที่ดีในการได้เขียนมันและก็รู้สึกดีขึ้น แล้วนั้น ก็จงเผามันทิ้ง และเขียนอันอื่นแทน"

 ลินคอล์นอาจจะทำตามคำแนะนำของพระวาจาของพระเจ้าในบทอ่านที่ 1 ของวันอาทิตย์นี้ ที่เน้นถึงเรื่องการสุมความแค้นไว้ว่าดังนี้

 "ถ้าผู้ใดสุมความโกรธต่อผู้อื่นไว้

 เขาจะขอให้องค์พระผู้เจ้าเจ้าทรงรักษาเขาให้หายได้อย่างไร

 ถ้าเขาไม่มีเมตตากรุณาต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

 เขาจะกล้าอธิษฐานภาวนาขออภัยบาปของตนได้อย่างไร"

 การสุมความโกรธไว้ หรือการเพิ่มไฟแค้นไว้จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพของตัวเราเอง จริงๆแล้วถึงตายเลยทีเดียว เพราะมันทำให้เราพิกลพิการและขาดเกราะกำบังเมื่อเราต้องการให้บาปของเราได้รับการอภัยนั่นเอง

 

การให้อภัยอย่างไม่มีขีดจำกัด

unmercy1

 พระวรสารของนักบุญมัทธิววันนี้ยังพูดต่อเนื่องในเรื่องความสัมพันธ์ของคริสตชน เน้นถึงความจำเป็นของการให้อภัยระหว่างสมาชิกของประชาคม นักบุญเปโตรถามพระเยซูเจ้าว่า เราต้องยกโทษให้พี่น้องที่ทำผิดต่อเรากี่ครั้ง แล้วก็ชิงตอบเองด้วยคำถามว่า "ถึง 7 ครั้งไหม" ตามธรรมประเพณียิวสอนกันมาว่าพระเจ้าทรงให้อภัย 3 ครั้ง และจะทรงลงโทษครั้งที่ 4 (นำความคิดนี้มาจากหนังสือประกาศกอามอส 1 : 3.6.9.11.13; 2 : 1.4.6.) ไม่เชื่อกันว่าคนที่ถูกทำร้ายจะสามารถมีคุณธรรมสูงไปกว่าพระเจ้าได้ ดังนั้น การให้อภัยจึงถูกจำกัดอยู่แค่ 3 ครั้ง ถ้าดูตามมาตรฐานนั้นสิ่งที่นักบุญเปโตรเสนอไปถือว่าใจดีมากที่สุดแล้ว แต่สำหรับพระเยซูเจ้าเพียงเท่านี้ยังไม่พอ พระองค์ทรงตอบโดยให้คำตอบกลับกันกับเรื่องการแก้แค้นที่เคยเขียนไว้ในพันธสัญญาเดิม กล่าวคือ "ถ้ากาอินจะถูกแก้แค้นเป็นเจ็ดเท่า ลาเมคจะถูกแก้แค้นเป็นเจ็ดสิบเท่า" (ปฐก 4 : 24) เพียงเพราะว่าในยุคเก่าก่อนความเกลียดชังและการแก้แค้นเป็นเรื่องไม่มีข้อจำกัด ดังนั้น สำหรับคริสตชนก็ต้องไม่มีข้อจำกัดเรื่องความเมตตากรุณา และการให้อภัย

 

 อุปมาเรื่องลูกหนี้ไร้เมตตาทรงมีจุดประสงค์เพื่อเน้นถึงความจำเป็นในการรู้จักให้อภัย เมื่อกษัตริย์ทรงประสงค์จะตรวจบัญชีหนี้สินของผู้รับใช้คนหนึ่ง ปรากฏว่าเขาเป็นหนี้อยู่พันล้านบาท จำนวนที่มากเช่นนี้เป็นการขยายความให้เยอะเข้าไว้ เพื่อจะเทียบให้เห็นความแตกต่างอย่างตรงกันข้ามกับจำนวนน้อยนิดที่เขานั้นได้เป็นเจ้าหนี้คนๆหนึ่ง เมื่อกษัตริย์สั่งให้ขายทั้งตัวเขา บุตรภรรยา และทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อใช้หนี้ เขาวิงวอนขอผัดผ่อนเงื่อนของเวลา กษัตริย์ทรงสงสารจึงปล่อยเขาไปและยกหนี้ให้ แต่ชายคนนี้กลับลืมบทเรียนที่ชีวิตเขาผ่านประสบการณ์นี้มา เขาปฏิเสธที่จะให้เพื่อนที่เป็นหนี้เขาผัดหนี้ไว้ก่อน และให้นำไปขังคุกไว้ เมื่อมีรายงานเรื่องความแล้งน้ำใจของชายผู้นี้ไปถึงกษัตริย์ สิ่งที่เขาเคยได้รับก็ถูกเรียกกลับคืน และเขาต้องไปทนทรมานจนกว่าจะชำระหนี้จนหมดสิ้น

 

จงจดจำไว้ถึงเรื่องของการให้อภัย

unmercy2

 มากกว่านั้น ลูกหนี้ไร้เมตตาคนนั้นถูกประณาม เพราะเขาสูญเสียความจดจำ การลืมบาปของเราเองจะทำให้เราขาดความเมตตาต่อผู้อื่น จงจำไว้ว่าพระเจ้าทรงกรุณามิลงโทษบาปผิดของเราอย่างไร จงให้สิ่งนั้นนำทางเราให้อภัยแก่คนอื่นอย่างนั้นด้วย ถ้าเราไม่จดจำพระเมตตาของพระเจ้าไว้ สุดท้ายเราอาจจะเป็นคนใจร้ายต่อคนอื่น นี่แหละที่ทำไมตอนเริ่มต้นพิธีมิสซาเราได้รับการเชิญชวนให้สำนึกถึงบาปของเรา เพราะเมื่อเราทำเช่นนี้แล้ว เราจะสามารถสวดบท "ข้าแต่พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลาย" ได้เต็มที่ว่า "โปรดประทานอภัยแก่ข้าพเจ้า เหมือนข้าพเจ้าให้อภัยแก่ผู้อื่น"

 

 จุดประสงค์ที่ให้เราสำนึกว่าเป็นคนบาปไม่ใช่เพื่อทำให้เราเป็นอัมพาต แต่เพื่อเตือนใจว่าเราทุกคนต่างมีชีวิตในพระกรุณายิ่งใหญ่ของพระเจ้า  ผู้ทรงให้อภัยเรา

 

 สรุป : อุปมาเรื่องลูกหนี้ไร้เมตตา ซึ่งมีเขียนไว้แต่นักบุญมัทธิวผู้เดียวเท่านั้น แม้ไม่ใช่เป็นตัวอย่างของการให้อภัยก็จริง แต่ทำให้เราทราบเหตุผลมากกว่า ว่าทำไมเราจึงควรให้อภัย ดังนี้ :

 

 1) เราได้รับการให้อภัยมาก่อน

 

 2) เราได้รับการให้อภัยมากอย่างยิ่ง มากกว่าที่เราเคยให้อภัยไป

 

 3) ถ้าเราไม่รู้จักให้อภัย เราจะไม่ได้รับการอภัยด้วย

 

(เขียนโดย คุณพ่อวิชา  หิรัญญการ ลงวันที่ 13 กันยายน 2017 

Based on :  1) Seasons of the WORD โดย Denis McBride ;

  2) Sunday Seeds for Daily Deeds โดย Francis Gonsalves, S.J.)

unmercy3unmercy4unmercy5unmercy6