แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอาทิตย์สัปดาห์ที่ 22 (ปีคู่)

บทอ่านจากพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมัทธิว(มธ 16:21-27)

 ตั้งแต่นั้นมา พระเยซูเจ้าทรงเริ่มแจ้งแก่บรรดาศิษย์ว่า พระองค์จะต้องเสด็จไปกรุงเยรูซาเล็มเพื่อรับการทรมานอย่างมากจากบรรดาผู้อาวุโส หัวหน้าสมณะและธรรมาจารย์ จะถูกประหารชีวิต แต่จะทรงกลับคืนพระชนมชีพในวันที่สาม

     เปโตรนำพระองค์แยกออกไป ทูลทัดทานว่า “ขอเถิด พระเจ้าข้า เหตุการณ์นี้จะไม่เกิดขึ้นกับพระองค์อย่างแน่นอน” แต่พระองค์ทรงหันมาตรัสแก่เปโตรว่า “เจ้าซาตาน ถอยไปข้างหลังเรา เจ้าเป็นเครื่องกีดขวางเรา เจ้าไม่คิดอย่างพระเจ้า แต่คิดอย่างมนุษย์”

     พระเยซูเจ้าตรัสแก่บรรดาศิษย์ว่า “ถ้าผู้ใดอยากตามเรา ก็จงเลิกคิดถึงตนเอง จงแบกไม้กางเขนของตนและติดตามเรา ผู้ใดใคร่รักษาชีวิตของตนให้รอดพ้น ก็จะสูญเสียชีวิตนิรันดร แต่ถ้าผู้ใดเสียชีวิตของตนเพราะเรา ก็จะพบชีวิตนิรันดร มนุษย์จะได้ประโยชน์ใดในการที่ได้โลกทั้งโลกเป็นกำไร แต่ต้องเสียชีวิต มนุษย์จะต้องให้สิ่งใดเพื่อแลกกับชีวิตที่สูญเสียไปให้กลับคืนมา

   บุตรแห่งมนุษย์จะเสด็จกลับมาในพระสิริรุ่งโรจน์ของพระบิดาพร้อมกับบรรดาทูตสวรรค์ เมื่อนั้นพระองค์จะประทานรางวัลแก่ทุกคนตามความประพฤติของเขา”


 มธ 16:21-23 หลังจากการตอบรับของเปโตรว่าพระเยซูเจ้าคือพระเมสสิยาห์ พระคริสตเจ้าได้ทรงเปิดเผยว่า ภารกิจแห่งการไถ่กู้ของพระองค์นั้น รวมความถึงพระทรมานแสนสาหัส การสิ้นพระชนม์และการกลับคืนพระชนมชีพ นี่เป็นเพียงหนึ่งในสามของการทำนายเกี่ยวกับพระมหาทรมาน (การทำนายอีก 2 ครั้ง เทียบ มธ 17:22-23; 20:17-19) เมื่อเปโตรต่อต้านการเปิดเผยนี้ พระคริสตเจ้าทรงตำหนิการต่อต้านที่รุนแรงของเปโตร โดยต่อว่าท่านเป็นดังปีศาจที่มาผจญพระองค์ด้วย (เทียบ มธ 4:1) สารที่พระคริสตเจ้าทรงต้องการสื่อก็คือ จะไม่มีการไถ่กู้เลย หากปราศจากการแบกกางเขน 

 คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก CCC ข้อ 440 พระเยซูเจ้าทรงรับการประกาศแสดงความเชื่อของเปโตรซึ่งยอมรับพระองค์เป็นพระเมสสิยาห์ พร้อมกับทรงแจ้งถึงพระทรมานที่กำลังจะมาถึงของ “บุตรแห่งมนุษย์” พร้อมกันนั้นยังทรงเปิดเผยความหมายแท้จริงของการทรงเป็นกษัตริย์-พระเมสสิยาห์อีกด้วยว่าทรงเป็น “บุตรแห่งมนุษย์” โลกุตระผู้ซึ่ง “ลงมาจากสวรรค์” (ยน 3:13) และในพันธกิจการกอบกู้ยังทรงเป็น ผู้รับใช้ผู้รับทรมาน “บุตรแห่งมนุษย์มิได้มาเพื่อให้ผู้อื่นรับใช้ แต่มาเพื่อรับใช้ผู้อื่น และมอบชีวิตของตนเป็นสินไถ่เพื่อมนุษย์ทั้งหลาย” (มธ 20:28)42 เพราะเหตุนี้ ความหมายแท้จริงของการเป็นกษัตริย์ของพระองค์จึงปรากฏชัดเจนเมื่อจะทรงถูกตรึงบนไม้กางเขน หลังจากที่ทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้วเท่านั้นเปโตรจะประกาศให้ประชากรรู้ได้ว่าทรงเป็นกษัตริย์ “ขอให้เผ่าพันธุ์อิสราเอลทั้งมวลรู้แน่เถิดว่า พระเจ้าทรงแต่งตั้งพระเยซูผู้นี้ที่ท่านทั้งหลายนำไปตรึงบนไม้กางเขนให้เป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าและพระคริสตเจ้า”(กจ 2:36)

 CCC ข้อ 540 การที่พระเยซูเจ้าทรงถูกทดลองแสดงให้เห็นวิธีการที่พระบุตรของพระเจ้าทรงเป็นพระเมสสิยาห์ ตรงข้ามกับวิธีการที่ปีศาจและมนุษย์เสนอแนะพระองค์ให้ทรงกระทำ เพราะเหตุนี้พระคริสตเจ้าจึงทรงพิชิตผู้ผจญแทนเรา “เราไม่มีมหาสมณะที่ร่วมทุกข์กับเราผู้อ่อนแอไม่ได้ แต่เรามีมหาสมณะผู้ทรงผ่านการผจญทุกอย่างเหมือนกับเรายกเว้นบาป” (ฮบ 4:15) ทุกๆ ปีพระศาสนจักรร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับพระธรรมล้ำลึกของพระเยซูเจ้าในถิ่นทุรกันดารตลอดเวลาสี่สิบวันของเทศกาลมหาพรตที่ยิ่งใหญ่

 CCC ข้อ 554 ในวันที่เปโตรประกาศความเชื่อว่าพระเยซูเจ้าคือพระคริสตเจ้า พระบุตรของพระเจ้าผู้ทรงชีวิตนั้น พระอาจารย์เจ้า “ทรงเริ่มแจ้งแก่บรรดาศิษย์ว่าพระองค์จะต้องเสด็จไปกรุงเยรูซาเล็มเพื่อรับการทรมานอย่างมาก […] จะถูกประหารชีวิต แต่จะทรงกลับคืนพระชนมชีพในวันที่สาม” (มธ 16:21) เปโตรไม่ยอมรับข่าวนี้ ศิษย์คนอื่นก็ไม่เข้าใจเรื่องนี้มากกว่าเขาเลย เหตุการณ์ลึกลับที่พระเยซูเจ้าทรงสำแดงพระองค์อย่างรุ่งโรจน์บนภูเขาสูงต่อหน้าพยานสามคนที่ทรงเลือกไว้ คือเปโตร ยากอบและยอห์น จึงถูกจัดไว้ในบริบทดังกล่าว พระพักตร์และฉลองพระองค์ของพระเยซูเจ้าเปล่งรัศมีรุ่งโรจน์, โมเสสและประกาศกเอลียาห์สำแดงตนสนทนาอยู่กับพระองค์“กล่าวถึงการจากไปของพระองค์ที่กำลังจะสำเร็จในกรุงเยรูซาเล็ม” (ลก 9:31) เมฆก้อนหนึ่งลอยมาปกคลุมพวกเขาไว้และเสียงหนึ่งดังออกมาจากฟากฟ้าว่า “ท่านผู้นี้เป็นบุตรของเรา ผู้ที่เราได้เลือกสรร จงฟังท่านเถิด”(ลก 9:35)

 CCC ข้อ 607 ความปรารถนาจะรับแผนการไถ่กู้เพราะความรักของพระบิดานี้เป็นพลังบันดาลใจตลอดพระชนมชีพของพระเยซูเจ้า เพราะพระทรมานเพื่อไถ่กู้มนุษยชาติก็คือเหตุผลที่ทรงรับสภาพมนุษย์ “ข้าแต่พระบิดาเจ้า โปรดช่วยข้าพเจ้าให้พ้นจากเวลานี้เถิด แต่ข้าพเจ้ามาก็เพื่อเวลานี้”(ยน 12:27) “เราจะไม่ดื่มจากถ้วยที่พระบิดาประทานให้เราหรือ” (ยน 18:11) และบนไม้กางเขนก่อนที่จะตรัสว่า “สำเร็จบริบูรณ์แล้ว” (19:30) พระองค์ตรัสว่า “เรากระหาย” (19:28)


 มธ 16:24-26 จงเลิกคิดถึงตนเอง แบกไม้กางเขนของตนและติดตามเรามา : การกลายเป็นศิษย์แท้ของพระคริสตเจ้านั้นเรียกร้องความแน่วแน่ในการรักที่จะเสียสละด้วยการปฏิเสธตนเองและเต็มใจที่จะยอมรับความทุกข์ทรมานเพราะความรักต่อพระคริสตเจ้า ในบทภาวนาของนักบุญนิโคลัสกล่าวว่า “ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้าและพระเจ้าของข้าพเจ้า โปรดทรงขจัดทุกสิ่งที่ทำให้ข้าพเจ้าออกห่างจากพระองค์ ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้าและพระเจ้าของข้าพเจ้า โปรดประทานแก่ข้าพเจ้าซึ่งทุกสิ่งที่ช่วยให้ข้าพเจ้าเข้าใกล้พระองค์มากยิ่งขึ้น ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้าและพระเจ้าของข้าพเจ้า โปรดช่วยให้ข้าพเจ้าไม่ยึดติดกับตนเองเพื่อจะสามารถมอบตนทั้งครบแด่พระองค์” 

 CCC ข้อ 618 ไม้กางเขนเป็นการถวายบูชาเพียงหนึ่งเดียวของพระคริสตเจ้า คนกลางเพียงผู้เดียวระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์ แต่เนื่องจากว่าพระองค์ “ทรงประหนึ่งว่ารวมเป็นหนึ่งเดียวกับมนุษย์ทุกคน” ในพระบุคคลพระเจ้าผู้ทรงรับสภาพมนุษย์ “พระองค์จึงประทานให้มนุษย์ทุกคนมีโอกาสร่วมส่วนในพระธรรมล้ำลึกปัสกาได้โดยวิธีการที่พระเจ้าทรงทราบ” พระองค์ทรงเรียกร้องให้บรรดาศิษย์แบกไม้กางเขนของตนและตามพระองค์ เพราะพระองค์ทรงรับทรมานเพื่อเราและประทานแบบฉบับไว้ให้เราดำเนินตามรอยพระบาท พระองค์ทรงประสงค์ให้ผู้ที่ได้รับประโยชน์จากการถวายบูชาไถ่กู้ของพระองค์ก่อนผู้อื่นได้มีส่วนร่วมในการถวายบูชานี้ด้วย การนี้เป็นจริงอย่างสมบูรณ์ในองค์พระมารดาของพระองค์ผู้ทรงมีส่วนร่วมพระธรรมล้ำลึกพระทรมานไถ่กู้ของพระองค์อย่างลึกซึ้งมากกว่าผู้ใดทั้งสิ้น “นี่คือบันไดแท้จริงเพียงหนึ่งเดียวเพื่อขึ้นสวรรค์ และไม่มีบันไดอื่นใดอีกนอกจากไม้กางเขนที่เราจะใช้เดินขึ้นสวรรค์ได้”

 CCC ข้อ 2029 “ถ้าผู้ใดอยากตามเรา ก็จงเลิกคิดถึงตนเอง จงแบกไม้กางเขนของตนและติดตามเรา” (มธ 16:24)

 CCC ข้อ 2232 ความสัมพันธ์ในครอบครัวสำคัญมาก แต่ก็ไม่เด็ดขาด เช่นเดียวกับที่เด็กทารกเติบโตเป็นผู้ใหญ่มีความรับผิดชอบส่วนตัวตามธรรมชาติและด้านจิตใจยิ่งขึ้น กระแสเรียกเฉพาะส่วนตัวของเขาที่มาจากพระเจ้าย่อมปรากฏชัดเจนและเข้มแข็งยิ่งขึ้น บิดามารดาจะต้องสังเกตกระแสเรียกของบุตรและสนับสนุนให้ตอบสนองเพื่อติดตามกระแสเรียกนี้ เขาต้องคิดว่ากระแสเรียกประการแรกของคริสตชนก็คือการติดตามพระเยซูเจ้า “ผู้ที่รักบิดามารดามากกว่ารักเรา ก็ไม่คู่ควรกับเราผู้ที่รักบุตรชายหญิงมากกว่ารักเรา ก็ไม่คู่ควรกับเรา” (มธ 10:37)

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)