บทรำพึงวันสมโภชพระนางมารีย์รับเกียรติเข้าสู่สวรรค์ (ลก 1:39-56)

พระมารดาผู้บริสุทธิ์ของพระเจ้า พระมารดาผู้ทรงได้รับพระพรของเรา

5

 ช่างคนหนึ่งกำลังทำงานบนนั่งร้านที่อยู่ขึ้นไปบนเพดานตรงช่องกลางของอาสนวิหารแห่งหนึ่ง เขามองลงมาเห็นผู้หญิงคนหนึ่งกำลังภาวนาอยู่หน้าพระรูปปั้นของพระแม่มารีย์ แน่นอนว่าหญิงคนนี้มองไม่เห็นและไม่รู้ว่ามีคนอยู่ข้างบน ช่างคนนี้นึกสนุกจึงทำเสียงเบาๆออกไปว่า "หญิงเอ๋ย เราคือพระเยซู" หญิงนั้นดูเหมือนไม่สนใจอะไรกับเสียงนั้น เขาจึงทำเสียงก้องๆให้ดังกว่าครั้งแรก "หญิงเอ๋ย เราคือพระเยซู" หญิงนั้นก็ไม่นำพาต่อเสียงนั้น ยังคงคุกเข่าสวดเฉยอยู่ ที่สุด ชายนั้นตะโกนว่า "หญิงเอ๋ย เจ้าไม่ได้ยินเราหรือ นี่คือพระเยซูนะ" ถึงตรงนั้น หญิงนั้นมองไปที่กางเขนกลางวัด แล้วพูดว่า "ตอนนี้อยู่เฉยๆเถอะพระเยซู ฉันกำลังสนทนากับพระมารดาของท่าน"

 วันสมโภชนี้ เราระลึกถึงการเข้าสู่สวรรค์ของพระแม่มารีย์ และการได้รับมงกุฎแห่งพระราชินี แม้พระศาสนจักรมีความเชื่อในเรื่องนี้เสมอมาแต่เนิ่นนานแล้ว แต่การประกาศเป็นข้อความเชื่อก็เพิ่งได้รับการประกาศอย่างเป็นทางการในสมณลิขิตที่ชื่อว่า Munificentissimus Deus โดยพระสันตะปาปาปีโอที่ 12 เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 1950 นี้เอง - น่าสังเกตว่า พระแม่มารีย์ได้รับการยกเข้าสู่สวรรค์ (was assumed into heaven) - โดยพระฤทธานุภาพขององค์พระผู้เป็นเจ้า เหมือนประกาศกเอลียาห์และเอโนค (Enoch)   - ในขณะที่พระคริสต์เสด็จสู่สวรรค์ (while Christ ascented into heaven) ด้วยฤทธิ์อำนาจของพระองค์เอง

 เราชาวคาทอลิกเทิดเกียรติแม่พระ และมีความศรัทธาต่อพระนาง ในประเทศอิตาลีและในทุกๆที่ที่มีชุมชนชาวอิตาเลียนอาศัยอยู่ ไม่ว่าที่ใดในโลก พวกเขาจะฉลองวันที่พระแม่ได้รับการยกเข้าสู่สวรรค์ด้วยขบวนแห่หลากสีสัน และมีการจุดพลุดอกไม้ไฟ ในกรุงซานเปาโลและในส่วนอื่นๆของประเทศแถบลาตินอเมริกา จะตกแต่งเรือแคนูด้วยสีสันลอยไปตามแม่น้ำผ่านหมู่บ้านเล็กๆ ท่ามกลางเสียงโห่ร้องเชียร์

 โดยแท้จริงแล้ว ประชาสัตบุรุษทุกหนแห่งจะถือว่าการที่แม่พระได้รับเกียรติเข้าสู่สวรรค์นี้เป็นจุดสูงสุดของชีวิตที่เปี่ยมด้วยความเชื่อของพระนาง ที่กล่าวกับคำเชื้อเชิญเทวทูตว่า "fiat" หรือ "yes" หรือ "ขอให้เป็นไปกับข้าพเจ้าตามวาทะของท่านเถิด" (ลก 1:38) ซึ่งนั่นก็คือ การที่ทำให้พระแม่ได้กลายเป็นพระมารดาของพระเจ้านั่นเอง พระนางเองทรงตัดสินใจที่จะให้พระเยซูเจ้าทรงเป็นศูนย์กลางชีวิต ในขณะเดียวกันก็ทรงท้าทายเราทุกคนให้มีพระเยซูเจ้าเป็นศูนย์กลางชีวิตของเราด้วย

6

 "พระนางมารีย์ทรงรีบออกเดินทางไปยังเมืองหนึ่งในแถบภูเขาแคว้นยูเดีย..." (ลก 1 : 39) เราจะสัมผัสได้ถึงเรื่องของการเดินทาง พระนางไม่ได้เสด็จไปท่องเที่ยวหรือพักร้อน พระนางเพิ่งจะทรงได้รับการแจ้งว่าจะได้เป็นพระมารดาของพระเจ้า และแทนที่จะทรงเก็บข่าวนี้ไว้สำหรับตนเอง หรือมัวแต่อัศจรรย์ใจว่าเรื่องนี้จะเป็นเช่นไร พระนางกลับทรงเดินทางไปเยี่ยมญาติ คือนางเอลีซาเบธ และเราก็เห็นภาพเป็นฉากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ที่เราเรียกว่า "การเสด็จเยี่ยมเยียน" (The Visitation) บางครั้งหรือบ่อยครั้ง เราคิดว่าพระแม่มารีย์ผู้ได้รับพระพรของเราเป็นผู้สงบเงียบ นิ่งๆ เฉยๆ และเป็นเพียงผู้ตาม แต่ ณ ที่นี้ เราเห็นพระนางทรงเป็นสตรีนักกิจกรรม  ทรงเป็นบุคคลที่เคลื่อนไหวตลอด พระนางจะเสด็จไปในที่ต่างๆ  ทรงเป็นสตรีที่ต้องเดินทางตลอดและทรงมีความจำเป็นที่ต้องเป็นเช่นนั้นด้วย

 หลังจากเสด็จเยี่ยมเยียนนางเอลีซาเบธ เราจะเห็นว่าพระนางมารีย์ต้องเสด็จไปเมืองเบธเลเฮมขณะที่ทรงครรภ์  ซึ่งถือว่าเป็นการเดินทางที่อันตราย  ต่อจากนั้น  ทรงเดินทางอีกด้วยการหนีไปอียิปต์ เพื่อหลบให้พ้นจากการขู่ฆ่าให้ตายที่ใกล้จะมาถึง

 เราพบพระนางอีก ในการเดินทางไปกรุงเยรูซาเล็ม เมื่อเวลาที่พระบุตรทรงหายตัวไป และทรงกลับไปตามหาที่พระวิหาร แล้วจึงทรงเดินทางกลับนาซาเร็ธ และสุดท้ายที่เราไม่สามารถลืมได้ลง ซึ่งเป็นการเดินทางที่ยากลำบากที่สุดมากกว่าครั้งใดๆ นั่นคือการเดินตามพระบุตรของพระนางไปตามภูเขากัลวารีโอ ณ ที่ซึ่งมีการตรึงกางเขนพระบุตรของพระนาง และการสิ้นพระชนม์ของพระองค์

 พระนางมารีย์ นับเป็นสานุศิษย์องค์แรก และทรงเป็นรูปแบบในหลายๆทางให้กับสานุศิษย์ทุกๆคนที่ติดตามมา การเดินทางเพื่อเผยแผ่พระวรสารและการประกาศข่าวดี พระนางมารีย์ทรงเป็นสตรีนักกิจกรรม เราอาจกล่าวได้ว่า  ทรงเป็นมิชชันนารีคนแรก  ทรงเป็นผู้ที่นำพระคริสต์มาให้แก่โลกของเรา 

 วันนี้ ในวันสมโภชนี้ เราเฉลิมฉลองการเดินทางที่เป็นจุดสูงสุดของพระนาง คือการได้รับเกียรติเข้าไปสู่สวรรค์ทั้งกายและวิญญาณ สตรีผู้ได้ใช้ชีวิตในการเดินทางที่มากมาย - ทั้งการเดินทางอย่างรีบเร่ง การเดินทางเพื่อแสวงหา การเดินทางเพื่อหนีภัย ในที่สุดได้รับการกำหนดให้อยู่ในสถานแห่งการพักผ่อน สถานที่ซึ่ง "ได้รับการจัดเตรียมไว้โดยพระเจ้า" ดังที่ในหนังสือวิวรณ์ได้เขียนไว้ วันนี้ เราจึงเทิดเกียรติประการนั้น และเทิดเกียรติในสิ่งที่พระเจ้าทรงกระทำด้วย ในการที่พระองค์ "ทอดพระเนตรผู้รับใช้ต่ำต้อยของพระองค์" (ลก 1:48) 

7abdc

(ถอดความโดย คุณพ่อวิชา  หิรัญญการ จากหนังสือ Ignite Your Spirit โดย Fr. John Pichappilly)