แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันศุกร์สัปดาห์ที่ 13 เทศกาลธรมดา (ปีคู่)

บทอ่านจากพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญยอห์น (ยน 20:24-29)

เวลานั้น โทมัส ซึ่งเรียกกันว่า “ฝาแฝด” เป็นคนหนึ่งในบรรดาอัครสาวกสิบสองคนไม่ได้อยู่กับอัครสาวกคนอื่นๆ เมื่อพระเยซูเจ้าเสด็จมา ศิษย์คนอื่นบอกเขาว่า “พวกเราเห็นองค์พระผู้เป็นเจ้าแล้ว” แต่เขาตอบว่า “ถ้าข้าพเจ้าไม่ได้เห็นรอยตะปูที่พระหัตถ์ และไม่ได้เอานิ้วแยงเข้าไปที่รอยตะปู และไม่ได้เอามือคลำที่ด้านข้างพระวรกายของพระองค์ ข้าพเจ้าจะไม่เชื่อเป็นอันขาด” แปดวันต่อมา บรรดาศิษย์อยู่ด้วยกันในบ้านนั้นอีก โทมัสก็อยู่กับเขาด้วย ทั้งๆ ที่ประตูปิดอยู่ พระเยซูเจ้าเสด็จเข้ามาประทับยืนอยู่ตรงกลาง ตรัสกับเขาทั้งหลายว่า “สันติสุขจงสถิตอยู่กับท่านทั้งหลายเถิด” แล้วตรัสกับโทมัสว่า “จงเอานิ้วมาที่นี่ และดูมือของเราเถิด จงเอามือมาที่นี่ คลำที่สีข้างของเรา อย่าสงสัยอีกต่อไป แต่จงเชื่อเถิด” โทมัสทูลพระองค์ว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้าของข้าพเจ้า และพระเจ้าของข้าพเจ้า” พระเยซูเจ้าตรัสกับเขาว่า “ท่านเชื่อเพราะได้เห็นเรา ผู้ที่เชื่อแม้ไม่ได้เห็น ก็เป็นสุข”


ยน 20:24-29 ความดื้อรั้น ช่างสงสัยของโทมัสได้แสดงให้เห็นว่า แม้กระทั่งบางคนในบรรดาอัครสาวกของพระคริสตเจ้าเอง ก็ยังรู้สึกยากที่จะเชื่อในเรื่องการกลับคืนชีพของพระองค์  “องค์พระผู้เป็นเจ้าของข้าพเจ้า และพระเจ้าของข้าพเจ้า” การอุทานของโทมัสนี้ไม่เพียงแต่เป็นการแสดงออกถึงการจำพระองค์ได้ แต่ยังแสดงออกถึงการนมัสการพระองค์ด้วย บรรดาคริสตชนก็เช่นกัน โดยผ่านทางสายตาแห่งความเชื่อ พวกเขาสามารถตระหนักถึงพระคริสตเจ้าผู้ทรงประทับอยู่ในศีลศักดิ์สิทธิ์

Ccc ข้อ 448 หลายต่อหลายครั้งในพระวรสาร ประชาชนที่เข้ามาเฝ้าพระเยซูเจ้าทูลเรียกพระองค์ว่า“องค์พระผู้เป็นเจ้า” ตำแหน่งนี้เป็นพยานยืนยันถึงความเคารพและความเชื่อมั่นของผู้ที่เข้ามาเฝ้าพระเยซูเจ้าและขอให้พระองค์ทรงช่วยเหลือและรักษาโรค การทูลเรียกดังกล่าวโดยการดลใจของพระจิตเจ้าแสดงถึงการยอมรับพระธรรมล้ำลึกว่าพระเยซูเจ้าคือองค์พระผู้เป็นเจ้า เมื่อพบพระองค์หลังจากทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว การทูลเรียกพระนามเช่นนี้เป็นการถวายนมัสการแด่พระองค์ด้วย “องค์พระผู้เป็นเจ้าของข้าพเจ้า และพระเจ้าของข้าพเจ้า” (ยน 20:28) ถ้อยคำเช่นนี้จึงรวมความหมายถึงความรักและความเลื่อมใสที่ปรากฏเป็นนอัตลักษณ์ของธรรมประเพณีคริสตชนตลอดมา “เป็นองค์พระผู้เป็นเจ้านี่” (ยน 21:7)

Ccc ข้อ 643 ต่อหน้าพยานเหล่านี้ เป็นไปไม่ได้ที่จะอธิบายการกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้าว่าไม่ได้อยู่ในระบบทางกายภาพ และไม่ยอมรับว่าการกลับคืนพระชนมชีพเป็นเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะเห็นได้ว่าความเชื่อของบรรดาศิษย์ได้ถูกทดสอบอย่างหนักจาก   พระทรมานและการสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขนของพระอาจารย์ ทั้งๆ ที่พระองค์ทรงแจ้งไว้ล่วงหน้าแล้วความสะเทือนใจที่เกิดจากพระทรมานนี้หนักหนาสาหัสจนว่าบรรดาศิษย์ (อย่างน้อยบางคนในพวกเขา) มิได้เชื่อทันทีเมื่อได้รับข่าวการกลับคืนพระชนมชีพ แทนที่จะเล่าว่ากลุ่มบรรดาศิษย์มีประสบการณ์เข้าฌานชิดสนิทกับพระเจ้า พระวรสารทุกฉบับกล่าวว่า พวกเขารู้สึกท้อแท้ (“ใบหน้าเศร้าหมอง” - ลก 24:17) และมีความกลัว ดังนั้น เขาจึงไม่เชื่อบรรดาสตรีผู้ศักดิ์สิทธิ์ที่กลับมาจากพระคูหา และคิดว่าถ้อยคำของพวกเธอ “เป็นเรื่องเหลวไหล” (ลก 24:11) เมื่อพระเยซูเจ้าทรงแสดงพระองค์แก่บรรดาอัครสาวกสิบเอ็ดคนตอนเย็นวันปัสกา พระองค์จึง “ทรงตำหนิพวกเขาที่ไม่ยอมเชื่อและมีใจแข็งกระด้างเพราะไม่ยอมเชื่อผู้ที่เห็นพระองค์เมื่อทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว” (มก 16:14)

Ccc ข้อ 644 แม้เมื่ออยู่ต่อหน้าพระเยซูเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพจริงๆ แล้ว บรรดาศิษย์ก็ยังมีความสงสัย เห็นว่าเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เขาคิดว่าตนกำลังเห็นผี “เขายินดีและแปลกใจจนไม่อยากเชื่อ” (ลก 24:41) โทมัสก็มีความสงสัยต้องการพิสูจน์เหมือนกัน และในโอกาสที่ทรงสำแดงพระองค์เป็นครั้งสุดท้ายในแคว้นกาลิลีที่มัทธิวเล่าไว้ “บางคนยังสงสัยอยู่” (มธ 28:17) ดังนั้น สมมุติฐานที่คิดว่าการกลับคืนพระชนมชีพเป็น “ผล” ที่เกิดจากความเชื่อ (หรือความงมงาย) ของบรรดาอัครสาวกจึงไม่สมเหตุผล ตรงกันข้าม ความเชื่อของพวกเขาถึงการกลับคืนพระชนมชีพเกิดขึ้น – โดยอิทธิพลของพระหรรษทาน – จากประสบการณ์โดยตรงกับพระเยซูเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพ

Ccc ข้อ 645 เมื่อทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว พระเยซูเจ้าทรงมีความสัมพันธ์โดยตรงกับบรรดาศิษย์ผ่านการสัมผัส และเสวยพระกระยาหาร พระองค์ทรงเชิญเขาเช่นนี้ให้รับรู้ว่าพระองค์ไม่ทรงเป็นเพียงจิต (หรือ “ผี”) แต่โดยเฉพาะเพื่อเขาจะได้เห็นว่าพระกายที่กลับคืนชีพของพระองค์ที่เขาพบนี้เป็นพระกายเดียวกันกับพระกายที่เคยรับทรมานและถูกตรึงบนไม้กางเขน เพราะยังมีร่องรอยของพระทรมานปรากฏอยู่ ถึงกระนั้น พระวรกายแท้จริงนี้ก็มีคุณสมบัติใหม่ของพระวรกายรุ่งโรจน์พร้อมกันด้วย พระวรกายนี้ไม่ถูกจำกัดอยู่ในเวลาและสถานที่อีกต่อไป แต่สามารถไปอยู่ที่ใดและเมื่อใดก็ได้ตามพระประสงค์ เพราะพระธรรมชาติมนุษย์ของพระองค์ไม่อาจถูกจำกัดอยู่ในโลกอีกต่อไปและอยู่ในปกครองของพระบิดาเจ้าเท่านั้น และเพราะเหตุนี้ พระเยซูเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้วจึงทรงอิสระอย่างยิ่งที่จะทรงสำแดงพระองค์ตามที่ทรงประสงค์ เช่นในรูปของคนสวนหรือ “ในรูปอื่น” (มก 16:12) ที่แตกต่างจากรูปที่บรรดาศิษย์เคยรู้จัก ทั้งนี้เพื่อปลุกความเชื่อของพวกเขานั่นเอง

Ccc ข้อ 659 “เมื่อพระเยซู องค์พระผู้เป็นเจ้าตรัสดังนี้แล้ว พระเจ้าทรงรับพระองค์ขึ้นสู่สวรรค์ให้ประทับณ เบื้องขวา” (มก 16:19) พระกายของพระคริสตเจ้าทรงพระสิริรุ่งโรจน์นับตั้งแต่ทรงกลับคืนพระชนมชีพ ดังที่สภาพใหม่เหนือธรรมชาติแสดงให้เห็นว่าจะทรงสภาพเช่นนี้ตลอดไป แต่ระหว่างช่วงเวลาสี่สิบวันที่ทรงดื่มและเสวยพระกระยาหารอย่างเป็นกันเองกับบรรดาศิษย์สอนพวกเขาเรื่องพระอาณาจักร พระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์ยังคงซ่อนอยู่ในรูปร่างของมนุษย์ธรรมดาทั่วไป การสำแดงพระองค์ครั้งสุดท้ายของพระเยซูเจ้าจบสิ้นลงเมื่อสภาพมนุษย์ของพระองค์เข้าไปรับพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้าอย่างเด็ดขาดโดยมีเมฆเป็นเครื่องหมาย ในสวรรค์ที่พระองค์ประทับเบื้องขวาของพระเจ้านับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา นอกจากนั้นพระองค์ยังทรงสำแดงองค์โดยวิธีพิเศษเป็นการยกเว้นแก่เปาโล “ผู้เป็นเสมือนเด็กที่คลอดก่อนกำหนด”ด้วย เป็นการแสดงพระองค์ครั้งสุดท้ายและแต่งตั้งเขาให้เป็นอัครสาวก

Ccc ข้อ 1381 “การที่พระกายแท้จริงและพระโลหิตแท้จริงของพระคริสตเจ้าอยู่ในศีลนี้ นักบุญโทมัสกล่าวว่า ‘เรารู้ได้ไม่ใช่ด้วยประสาทสัมผัส แต่ด้วยความเชื่อเท่านั้น ความเชื่อนี้อิงอยู่กับพระอานุภาพของพระเจ้า ดังนั้น นักบุญซีริลจึงกล่าวถึงพระวาจาที่พบในพระวรสารของลูกา(บทที่ 22 ข้อ 9) นี่เป็นกายของเราที่ถูกมอบเพื่อท่านทั้งหลาย ว่า ท่านอย่าสงสัยเลยว่าข้อความนี้จริงหรือเปล่า แต่จงรับพระวาจานี้ของพระผู้ไถ่ด้วยความเชื่อ เพราะพระองค์ทรงเป็นความจริง จึงไม่ทรงมุสา’”

« Adoro Te devote, latens Deitas, “ข้าแต่พระเจ้าผู้ทรงซ่อนเร้น ข้าพเจ้าขอนมัสการพระองค์ด้วยความ ศรัทธา

quae sub his figuris vere latitas; พระองค์ทรงซ่อนอยู่ภายใต้รูปปรากฏเหล่านี้

Tibi se cor meum totum subicit ดวงใจของข้าพเจ้ายอมอยู่ภายใต้พระองค์

quia Te contemplans totum deficit. เพราะทุกสิ่งที่พิจารณาถึงพระองค์ล้วนไม่ประสบผลสำเร็จ

Visus, tactus, gustus in Te fallitur, การมอง การสัมผัส การรู้รส ล้วนล้มเหลวเมื่อใช้กับพระองค์

sed auditu solo tute creditur; เรามีความเชื่อได้จากการฟัง(จากพระองค์)เท่านั้น

credo quidquid dixit Dei Filius, ข้าพเจ้าเชื่อทุกสิ่งที่พระบุตรของพระเจ้าตรัส

verbo veritatis nihil verius ». ไม่มีอะไรจริงกว่าพระวาจาแห่งความจริงอีกแล้ว”