แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันเสาร์สัปดาห์ที่ 12 เทศกาลธรรมดา

บทอ่านจากพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมัทธิว (มธ 8:5-17)

เวลานั้น เมื่อพระเยซูเจ้าเสด็จเข้าเมืองคาเปอรนาอุม นายร้อยคนหนึ่งเข้ามาเฝ้าพระองค์ ทูลอ้อนวอนว่า “พระองค์เจ้าข้า ผู้รับใช้ของข้าพเจ้าเป็นอัมพาตนอนอยู่ที่บ้าน ต้องทรมานอย่างสาหัส” พระเยซูเจ้าจึงตรัสกับเขาว่า “เราจะไปรักษาเขาให้หาย” แต่นายร้อยทูลตอบว่า “พระองค์เจ้าข้า ข้าพเจ้าไม่สมควรให้พระองค์เสด็จเข้ามาในบ้านของข้าพเจ้า แต่ขอพระองค์ตรัสเพียงคำเดียวเท่านั้น ผู้รับใช้ของข้าพเจ้าก็จะหายจากโรค ข้าพเจ้าเป็นคนอยู่ใต้บังคับบัญชา แต่ยังมีทหารอยู่ใต้บังคับบัญชาด้วย ข้าพเจ้าสั่งทหารคนนี้ว่า ‘ไป’ เขาก็ไป สั่งอีกคนหนึ่งว่า ‘มา’ เขาก็มา ข้าพเจ้าสั่งผู้รับใช้ว่า ‘ทำนี่’ เขาก็ทำ เมื่อพระเยซูเจ้าทรงได้ยินเช่นนี้ทรงประหลาดพระทัย จึงตรัสแก่บรรดาผู้ติดตามว่า “เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า เรายังไม่เคยพบใครมีความเชื่อมากเช่นนี้ในอิสราเอลเลย เราบอกท่านทั้งหลายว่า คนจำนวนมากจะมาจากทิศตะวันออกและตะวันตก และจะนั่งร่วมโต๊ะกับอับราฮัม อิสอัคและยาโคบ ในอาณาจักรสวรรค์ แต่บุตรแห่งอาณาจักรจะถูกขับไล่ออกไปในที่มืดข้างนอก ที่นั่นจะมีแต่การร่ำไห้คร่ำครวญ และขบฟันด้วยความขุ่นเคือง” แล้วพระเยซูเจ้าจึงตรัสกับนายร้อยว่า “จงไปเถิด จงเป็นไปตามที่ท่านเชื่อนั้นเถิด” ผู้รับใช้ของเขาก็หายจากโรคในเวลานั้นเอง

เมื่อพระเยซูเจ้าเสด็จเข้าไปในบ้านของเปโตร ทรงเห็นมารดาของภรรยาเปโตรนอนป่วยเป็นไข้ พระองค์จึงทรงจับมือนาง นางก็หายไข้ ลุกขึ้นและปรนนิบัติรับใช้พระองค์ เย็นวันนั้น ประชาชนนำผู้ถูกปีศาจสิงจำนวนมากมาเฝ้าพระองค์ พระองค์ทรงขับปีศาจเหล่านี้ออกไปด้วยพระวาจา และทรงบำบัดรักษาผู้ป่วยทุกคน เพื่อให้พระวาจาที่ได้ตรัสไว้ทางประกาศกอิสยาห์เป็นความจริงว่า พระองค์ทรงรับเอาความอ่อนแอของเราไว้ และทรงแบกความเจ็บป่วยของเรา


มธ 8:8-9 นายร้อย ผู้บัญชาการทหารโรมัน ที่ควบคุมทหารหนึ่งกองร้อย เข้าใจดีว่า ชาวยิวนั้นไม่สามารถเข้าไปในบ้านของคนต่างชาติได้เพราะจะทำให้มีมลทิน ด้วยเหตุนี้ เขาจึงไม่ได้เชิญพระเยซูเจ้าไปที่บ้าน เพื่อรักษาคนรับใช้ของเขา เขามีความเชื่อว่า พระเยซูเจ้าทรงมีอำนาจเหนือความเจ็บป่วยและความตาย เช่นเดียวกับที่เขามีอำนาจเหนือทหารใต้บังคับบัญชาของเขา คำพูดของนายร้อยที่กล่าวว่า “พระองค์เจ้าข้า ข้าพเจ้าไม่สมควร...” เป็นคำที่มีการกล่าวย้ำอีก ในพิธีบูชาขอบพระคุณก่อนที่พวกเราจะออกไปรับศีลมหาสนิท

CCC ข้อ 1386 ต่อหน้าความยิ่งใหญ่ของศีลศักดิ์สิทธิ์ประการนี้ ผู้มีความเชื่ออาจทำได้เพียงกล่าวถ้อยคำของนายร้อยคนนั้นอย่างถ่อมตนและด้วยความเชื่อแรงกล้าว่า “พระเจ้าข้า ข้าพเจ้าไม่สมควรจะรับเสด็จมาอยู่กับข้าพเจ้า โปรดตรัสเพียงพระวาจาเดียว แล้วจิตใจข้าพเจ้าก็จะบริสุทธิ์” และในพิธีกรรมจารีตตะวันออกของนักบุญยอหน์ ครีโซสตม บรรดาผูมี้ความเชื่อก็ภาวนาด้วยจิตตารมณ์เดียวกันว่า  “ข้าแต่พระบุตรของพระเจ้า โปรดบันดาลให้ข้าพเจ้ามีส่วนร่วมงานเลี้ยงพระกระยาหารค่ำล้ำลึกของพระองค์ในวันนี้ เพราะข้าพเจ้าจะไม่บอกความลับแก่บรรดาศัตรูของพระองค์ และจะไม่จุมพิตพระองค์เหมือนกับยูดาส แต่จะร้องเสียงดังเหมือนกับโจร(บนไม้กางเขน)ให้ทรงได้ยินว่าข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้าโปรดทรงระลึกถึงข้าพเจ้าด้วยเมื่อพระองค์จะเสด็จสู่พระอาณาจักรของพระองค์”


 

มธ 8:10-13 พระเยซูเจ้าทรงประทับใจในความเชื่อที่นายร้อยได้แสดงออกมา ซึ่งเป็นความเชื่อที่ไม่เคยพบในหมู่ชาวยิวมาก่อน “คนจำนวนมากจะมาจากทิศตะวันออกและตะวันตก” สิ่งนี้เป็นตัวบ่งชี้ตั้งแต่แรกเริ่ม ว่าทุกคนได้รับการเรียกให้เข้าสู่พระอาณาจักรแห่งสวรรค์และคนต่างชาติสามารถได้รับความรอดพ้นด้วย ถ้าพวกเขายอมรับพระวรสาร

CCC ข้อ 543 พระเจ้าทรงเรียกมนุษย์ทุกคนเข้ามาในพระอาณาจักร พระอาณาจักรพระเมสสิยาห์นี้ ซึ่งก่อนใดอื่นทรงแจ้งไว้แก่บุตรหลานของอิสราเอลนั้น ถูกกำหนดไว้ให้รับมนุษย์ทุกชาติเพื่อจะเข้ามาในพระอาณาจักรนี้ได้ จำเป็นต้องรับพระวาจาของพระเยซูเจ้า “พระวาจาขององค์พระผู้เป็นเจ้าเปรียบได้กับเมล็ดพันธุ์ที่หว่านลงในทุ่งนา ผู้ที่ฟังพระวาจาด้วยความเชื่อและรวมเข้ามาอยู่ในกลุ่มเล็กๆ ของผู้ติดตามพระคริสตเจ้าก็ได้รับพระอาณาจักรนี้ต่อจากนั้น โดยพลังของตนเมล็ดพันธุ์ก็งอกขึ้นและเจริญเติบโตจนถึงเวลาเก็บเกี่ยว”

ccc ข้อ 2610  เช่นเดียวกับที่พระเยซูเจ้าทรงอธิษฐานภาวนาและขอบพระคุณพระบิดาก่อนที่จะได้รับของประทานจากพระองค์ พระเยซูเจ้าจึงทรงสอนให้เรามีความกล้าเยี่ยงบุตร “ทุกสิ่งที่ท่านวอนขอในการอธิษฐานภาวนา จงเชื่อว่าท่านจะได้รับ และท่านก็จะได้รับ” (มก 11:24) พลังของการอธิษฐานภาวนาเป็นเช่นนี้ “ทุกสิ่งเป็นไปได้ทั้งนั้นสำหรับผู้มีความเชื่อ” (มก 9:23) ความเชื่อที่ไม่สงสัย พระเยซูเจ้าทรงเศร้าพระทัยที่บรรดาพระประยูรญาติของพระองค์ “ไม่มีความเชื่อ” (มก 6:6) และเพราะความเชื่อที่น้อยเกินไปของบรรดาศิษย์ จนทรงประหลาดพระทัยเมื่อทรงเห็นความเชื่อของนายร้อยชาวโรมัน และของหญิงชาวคานาอัน


มธ 8:14-15 เพื่อตอบแทนที่พระคริสตเจ้าได้ทรงรักษาเธอให้หาย มารดาของภรรยาเปโตรได้ลุกขึ้นปรนนิบัติรับใช้พระองค์ในทันที  ในทำนองเดียวกัน นี่คือหน้าที่เฉพาะของเราทุกคนที่ได้รับพระพรแห่งความเมตตาแบบให้เปล่าของพระคริสตเจ้า

ccc  ข้อ 1505 พระคริสตเจ้าทรงสะเทือนพระทัยเพราะความเจ็บปวดมากมายเช่นนี้ไม่เพียงแต่ทรงอนุญาตให้คนเจ็บป่วยสัมผัสพระองค์ได้ แต่ยังทรงทำให้ความน่าสงสารของเราเป็นของพระองค์ด้วย “พระองค์ทรงรับเอาความอ่อนแอของเราไว้ และทรงแบกความเจ็บป่วยของเรา” (มธ 8:17)111 พระองค์มิได้ทรงบำบัดรักษาความเจ็บป่วยทั้งหมด การที่ทรงบำบัดรักษาเป็นเครื่องหมายว่าพระอาณาจักรของ    พระเจ้ามาถึงแล้ว เป็นการแจ้งถึงการบำบัดรักษาที่ลึกซึ้งกว่านั้น คือแจ้งถึงชัยชนะต่อบาปและความตายโดย    ปัสกาของพระองค์ บนไม้กางเขน พระคริสตเจ้าทรงรับน้ำหนักทั้งหมดของความชั่วมาไว้กับพระองค์ และทรงแบก “บาปของโลก” ไว้ (ยน 1:29) ความเจ็บป่วยเป็นเพียงผลของบาปนี้เท่านั้น อาศัยพระทรมานและการสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน พระคริสตเจ้าประทานความหมายใหม่ให้แก่ความทุกข์ ตั้งแต่นี้ไป ความทุกข์อาจทำให้เราเป็นเหมือนพระองค์และอาจมีส่วนร่วมกับพระทรมานเพื่อไถ่กู้ของพระองค์ด้วย

ccc  ข้อ 2224 ครอบครัวเป็นสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติเพื่อนำบุคคลมนุษย์ให้เข้ามาเป็นสังคมที่มีความรับผิดชอบร่วมกัน บิดามารดาจะต้องสอนบุตรให้รู้จักปกป้องตนเองจากอันตรายและสิ่งเลวร้ายต่างๆ ที่เป็นภัยคุกคามต่อสังคมมนุษย์


มธ 8:16-17 ความเมตตาของพระคริสตเจ้า ทำให้พระองค์ต้องแบกรับความทุกข์ทรมานของคนเจ็บป่วย และคนพิการเอาไว้ การรักษาเหล่านี้เป็นเครื่องหมายของการประทับอยู่ของพระอาณาจักรของพระเจ้าและแสดงให้เห็นถึงชัยชนะของพระคริสตเจ้าเหนือบาปและความตาย สิ่งเหล่านี้ยังมีความเชื่อมโยงกับหนังสือประกาศกอิสยาห์ ในบทที่ 53 ที่ซึ่งได้ทำนายล่วงหน้าถึงผู้รับใช้ที่ทุกข์ทรมาน ซึ่งต้องถูกโบยตีและได้รับความอัปยศ เขาถูกแทงเพราะการล่วงละเมิดของพวกเรา ถูกขยี้เพราะความผิดของพวกเรา

ccc ข้อ 517  พระชนมชีพทั้งหมดของพระคริสตเจ้าเป็นพระธรรมล้ำลึกแห่งการไถ่กู้ การไถ่กู้มาถึงเราโดยเฉพาะโดยทางพระโลหิตที่ทรงหลั่งบนไม้กางเขน แต่พระธรรมล้ำลึกนี้ทำงานอยู่ตลอดพระชนมชีพของพระคริสตเจ้า นับตั้งแต่การที่ทรงรับสภาพเป็นมนุษย์ ที่ทรงยอมกลายเป็นคนยากจนเพื่อเราจะได้ร่ำรวยเพราะความยากจนของพระองค์ ในพระชนมชีพซ่อนเร้น พระองค์ทรงยอมเชื่อฟังเพื่อชดเชยความไม่เชื่อฟัง ของเรา ในพระวาจาที่ชำระเราผู้ฟังให้สะอาดในการที่ทรงรักษาคนเจ็บป่วยและขับไล่ปีศาจที่ “พระองค์ทรงรับเอาความอ่อนแอของเราไว้ และทรงแบกความเจ็บป่วยของเรา” (มธ 8:17)197 ในการทรงกลับคืนพระชนมชีพที่ทรงทำให้เราเป็นผู้ชอบธรรม

ccc  ข้อ 1505 พระคริสตเจ้าทรงสะเทือนพระทัยเพราะความเจ็บปวดมากมายเช่นนี้ไม่เพียงแต่ทรงอนุญาตให้คนเจ็บป่วยสัมผัสพระองค์ได้ แต่ยังทรงทำให้ความน่าสงสารของเราเป็นของพระองค์ด้วย “พระองค์ทรงรับเอาความอ่อนแอของเราไว้ และทรงแบกความเจ็บป่วยของเรา” (มธ 8:17)111 พระองค์มิได้ทรงบำบัดรักษาความเจ็บป่วยทั้งหมด การที่ทรงบำบัดรักษาเป็นเครื่องหมายว่าพระอาณาจักรของ    พระเจ้ามาถึงแล้ว เป็นการแจ้งถึงการบำบัดรักษาที่ลึกซึ้งกว่านั้น คือแจ้งถึงชัยชนะต่อบาปและความตายโดย    ปัสกาของพระองค์ บนไม้กางเขน พระคริสตเจ้าทรงรับน้ำหนักทั้งหมดของความชั่วมาไว้กับพระองค์ และทรงแบก “บาปของโลก” ไว้ (ยน 1:29) ความเจ็บป่วยเป็นเพียงผลของบาปนี้เท่านั้น อาศัยพระทรมานและการสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน พระคริสตเจ้าประทานความหมายใหม่ให้แก่ความทุกข์ ตั้งแต่นี้ไป ความทุกข์อาจทำให้เราเป็นเหมือนพระองค์และอาจมีส่วนร่วมกับพระทรมานเพื่อไถ่กู้ของพระองค์ด้วย

 

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church)