แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันเสาร์ สัปดาห์ที่ 6 เทศกาลธรรมดา

พระวรสาตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโก (มก 9:2-13)              

เวลานั้น พระเยซูเจ้าทรงพาเปโตร ยากอบ และยอห์นขึ้นไปบนภูเขาสูงตามลำพัง แล้วพระวรกายของพระองค์ก็เปลี่ยนไปต่อหน้าเขา ฉลองพระองค์กลับมีสีขาวเจิดจ้า ขาวผ่องอย่างที่ไม่มีช่างซักฟอกคนใดในโลกทำให้ขาวเช่นนั้นได้ แล้วประกาศกเอลียาห์กับโมเสสแสดงตนสนทนาอยู่กับพระเยซูเจ้า เปโตรจึงทูลพระเยซูเจ้าว่า “พระอาจารย์เจ้าข้า ที่นี่สบายน่าอยู่จริงๆ เราจงสร้างเพิงขึ้นสามหลังเถิด หลังหนึ่งสำหรับพระองค์ หลังหนึ่งสำหรับโมเสส อีกหลังหนึ่งสำหรับประกาศกเอลียาห์” เขาไม่รู้ว่ากำลังพูดอะไรเพราะศิษย์ทั้งสามคนต่างตกใจกลัว ครั้นแล้วเมฆก้อนหนึ่งลอยมาปกคลุมเขาไว้ มีเสียงหนึ่งออกมาจากเมฆก้อนนั้นว่า “ผู้นี้เป็นบุตรสุดที่รักของเรา จงฟังท่านเถิด” ทันใดนั้น ศิษย์ทั้งสามคนเหลียวมองรอบๆ ไม่เห็นผู้ใดอยู่กับตนนอกจากพระเยซูเจ้าเท่านั้น

ขณะที่กำลังลงจากภูเขา พระองค์ตรัสสั่งเขามิให้เล่าเหตุการณ์ที่เห็นให้ผู้ใดฟัง จนกว่าบุตรแห่งมนุษย์จะกลับคืนชีพจากบรรดาผู้ตาย ศิษย์ทั้งสามคนเก็บเรื่องนี้ไว้ไม่บอกใครแต่ยังปรึกษากันว่า “จนกว่าจะกลับคืนชีพจากบรรดาผู้ตาย” นี้ หมายความว่าอย่างไร เขาจึงทูลถามพระองค์ว่า “เหตุใดบรรดาธรรมาจารย์กล่าวว่า ประกาศกเอลียาห์จะต้องมาก่อน” พระองค์ตรัสตอบว่า “ใช่แล้ว เอลียาห์มาก่อนเพื่อจัดทุกสิ่งให้เข้าสภาพเดิม พระคัมภีร์เขียนไว้อย่างไรเกี่ยวกับบุตรแห่งมนุษย์ พระคัมภีร์เขียนว่าบุตรแห่งมนุษย์จะต้องรับทุกข์ทรมานอย่างมาก และถูกเหยียดหยาม ดังนั้นเราบอกท่านว่า ‘ประกาศกเอลียาห์ได้มาแล้ว และประชาชนได้ทำกับเขาตามความพอใจ ดังที่มีเขียนถึงเขาไว้ในพระคัมภีร์’” 


มก 9:1-2  พระอาณาจักรของพระเจ้ามาถึงพร้อมด้วยพระอานุภาพ : พระวาจานี้ทำให้บางคนในพระศาสนจักรสมัยแรกรอคอยการกลับมาของพระคริสตเจ้าในช่วงชีวิตของเขา การสถาปนาพระอาณาจักรของพระเจ้านั้นกำลังดำเนินต่อไป จนกระทั่งจะบรรลุถึงความสมบูรณ์เมื่อพระคริสตเจ้าจะเสด็จกลับมาอีกครั้งหนึ่ง    

กุญแจพระอาณาจักร

CCC ข้อ 552 ในกลุ่มชายทั้งสิบสองคนนี้ ซีโมนเปโตรมีตำแหน่งเป็นที่หนึ่ง พระเยซูเจ้าทรงมอบพันธกิจพิเศษให้เขา เปโตรได้รับการเปิดเผยจากพระบิดาประกาศว่า “พระองค์คือพระคริสตเจ้าพระบุตรของพระเจ้าผู้ทรงชีวิต” (มธ 16:16) องค์พระผู้เป็นเจ้าจึงประกาศแก่เขาว่า “ท่านคือศิลา และบนศิลานี้เราจะตั้งพระศาสนจักรของเรา ประตูนรกจะไม่มีวันชนะพระศาสนจักรได้”  (มธ 16:18) พระคริสตเจ้า “ศิลาทรงชีวิต” ทรงยืนยันว่าพระศาสนจักรที่ทรงตั้งไว้บนเปโตรผู้เป็นดังศิลาจะมีชัยชนะเหนืออำนาจของความตาย เพราะความเชื่อที่เขาได้ประกาศ เปโตรจะคงเป็นหินผาที่ไม่มีวันสั่นคลอนของพระศาสนจักร เขาจะมีพันธกิจรักษาความเชื่อนี้ไว้ไม่ให้ลดลงเลย แต่จะช่วยค้ำจุนพี่น้องไว้ในความเชื่อนี้ตลอดไป    


มก 9:2  ดังเช่นโมเสสได้รับพระบัญญัติบนภูเขาซีนาย การสำแดงพระวรกายรุ่งโรจน์ของพระคริสตเจ้าได้บังเกิดขึ้นบนภูเขาสูงด้วยเช่นกัน แสงรุ่งโรจน์ที่ห่อหุ้มพระคริสตเจ้านั้นแสดงถึงพระสิริรุ่งโรจน์แห่งการกลับคืนพระชนมชีพ การสำแดงพระวรกายรุ่งโรจน์นี้ชี้ให้เห็นถึงพระสิริรุ่งโรจน์และความงดงามแห่งพระเทวภาพของพระคริสตเจ้า และในเวลาเดียวกันเป็นการเตรียมบรรดาอัครสาวกให้น้อมรับการเป็นที่สะดุดของไม้กางเขน     

การมีประสบการณ์ล่วงหน้าถึงพระอาณาจักร ทรงสำแดงพระองค์อย่างรุ่งเรือง

CCC ข้อ 554 ในวันที่เปโตรประกาศความเชื่อว่าพระเยซูเจ้าคือพระคริสตเจ้า พระบุตรของพระเจ้าผู้ทรงชีวิตนั้น พระอาจารย์เจ้า “ทรงเริ่มแจ้งแก่บรรดาศิษย์ว่าพระองค์จะต้องเสด็จไปกรุงเยรูซาเล็มเพื่อรับการทรมานอย่างมาก […] จะถูกประหารชีวิต แต่จะทรงกลับคืนพระชนมชีพในวันที่สาม” (มธ 16:21) เปโตรไม่ยอมรับข่าวนี้ ศิษย์คนอื่นก็ไม่เข้าใจเรื่องนี้มากกว่าเขาเลย เหตุการณ์ลึกลับที่พระเยซูเจ้าทรงสำแดงพระองค์อย่างรุ่งโรจน์บนภูเขาสูงต่อหน้าพยานสามคนที่ทรงเลือกไว้ คือเปโตร ยากอบและยอห์น จึงถูกจัดไว้ในบริบทดังกล่าว พระพักตร์และฉลองพระองค์ของพระเยซูเจ้าเปล่งรัศมีรุ่งโรจน์ โมเสสและประกาศกเอลียาห์สำแดงตนสนทนาอยู่กับพระองค์ “กล่าวถึงการจากไปของพระองค์ที่กำลังจะสำเร็จในกรุงเยรูซาเล็ม” (ลก 9:31) เมฆก้อนหนึ่งลอยมาปกคลุมพวกเขาไว้และเสียงหนึ่งดังออกมาจากฟากฟ้าว่า “ท่านผู้นี้เป็นบุตรของเรา ผู้ที่เราได้เลือกสรร จงฟังท่านเถิด” (ลก 9:35)    

CCC ข้อ 555 พระเยซูเจ้าทรงสำแดงพระสิริรุ่งโรจนของพระองค์ชั่วขณะหนึ่ง จึงเป็นการรับรองการประกาศความเชื่อของเปโตร พระองค์ยังทรงแสดงด้วยว่าเพื่อจะเสด็จเข้าไปรับ “พระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์” (ลก 24:26) พระองค์จำเป็นต้องเสด็จผ่านไม้กางเขนที่กรุงเยรูซาเล็ม โมเสสและประกาศกเอลียาห์เคยเห็นพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้าบนภูเขา ทั้งธรรมบัญญัติและบรรดาประกาศก (หมายถึง “พันธสัญญาเดิม”) ได้กล่าวไว้ล่วงหน้าแล้วถึงพระทรมานของพระเมสสิยาห์ พระทรมานของพระเยซูเจ้าจึงเป็นพระประสงค์ของพระบิดา พระบุตรทรงปฏิบัติภารกิจเหมือน “ผู้รับใช้ของพระเจ้า” กลุ่มเมฆชี้ให้เห็นการประทับอยู่ของพระจิตเจ้า “พระตรีเอกภาพจึงทรงสำแดงองค์ทั้งหมด พระบิดาในพระสุรเสียงที่ตรัส พระบุตรในมนุษย์คนหนึ่ง พระจิตเจ้าในกลุ่มเมฆสุกใส” “พระองค์ทรงสำแดงองค์อย่างรุ่งโรจน์บนภูเขา ข้าแต่พระคริสตเจ้า บรรดาศิษย์ได้แลเห็นพระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์เท่าที่สามารถจะเห็นได้ เพื่อว่าเมื่อเขาจะเห็นพระองค์ทรงถูกตรึงกางเขน เขาจะได้เข้าใจว่าพระองค์ทรงประสงค์พระทรมานนี้ และประกาศว่าพระองค์ทรงเป็นพระสิริรุ่งโรจน์ของพระบิดาอย่างแท้จริง”    

CCC ข้อ 556 การรับพิธีล้างเป็นเสมือนการก้าวเข้าสู่พระพันธกิจเทศน์สอนประชาชน การสำแดงพระองค์อย่างรุ่งโรจน์เป็นการก้าวเข้าสู่พระธรรมล้ำลึกปัสกา พิธีล้างของพระเยซูเจ้าเป็นการ “ประกาศพระธรรมล้ำลึกเรื่องการบังเกิดใหม่ครั้งแรก” คือศีลล้างบาปของเรา การสำแดงพระองค์อย่างรุ่งโรจน์เป็น “เครื่องหมายและเครื่องมือการบังเกิดใหม่ครั้งที่สอง” คือการกลับคืนชีพของเรา ตั้งแต่บัดนี้แล้ว เรามีส่วนในการกลับคืนพระชนมชีพขององค์พระผู้เป็นเจ้าโดยทางพระจิตเจ้าซึ่งทรงทำงานในศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ของพระวรกายของพระคริสตเจ้า การสำแดงพระองค์อย่างรุ่งโรจน์โปรดให้เรามีประสบการณ์ล่วงหน้าถึงการเสด็จมาของพระคริสตเจ้า “ซึ่งจะทรงเปลี่ยนรูปร่างอันต่ำต้อยของเราให้เหมือนพระกายรุ่งโรจน์ของพระองค์” (ฟป 3:21) แต่เหตุการณ์นี้ยังเตือนเราให้ระลึกด้วยว่า “พวกเราจำเป็นต้องฟันฝ่าความทุกข์ยากเป็นอันมากจึงจะเข้าสู่พระอาณาจักรของพระเจ้าได้” (กจ 14:22) “เปโตรยังไม่เข้าใจเรื่องนี้ เมื่อเขาปรารถนาจะอยู่บนภูเขากับพระคริสตเจ้า เปโตรเอ๋ย พระองค์ทรงสงวนเรื่องนี้ไว้สำหรับท่านเมื่อท่านตายแล้ว แต่บัดนี้พระองค์ตรัสว่า จงลงไปทำงานในโลก ลงไปรับใช้ในโลก ลงไปถูกสบประมาทและถูกตรึงกางเขนในโลก ชีวิตลงไปเพื่อถูกประหาร อาหารลงไปเพื่อหิว หนทางลงไปเพื่อหมดแรงขณะเดินทาง พุน้ำลงไปเพื่อกระหายน้ำ แล้วท่านยังปฏิเสธไม่ยอมลำบากเทียวหรือ”   


มก 9:7  ในการสำแดงพระวรกายรุ่งโรจน์ของพระคริสตเจ้านี้ พระบิดาเจ้าทรงยืนยันว่าเราได้รับการเปิดเผยของพระเจ้าอย่างสมบูรณ์ในพระคริสตเจ้า พระบุตรของพระองค์   

ทำไมพระวจนาตถ์จึงทรงรับสภาพมนุษย์

CCC ข้อ 459 พระวจนาตถ์ทรงรับสภาพมนุษย์เพื่อทรงเป็นตัวอย่างความศักดิ์สิทธิ์ให้เรา “จงรับแอกของเราแบกไว้ และมาเป็นศิษย์ของเรา...” (มธ 11:29) “เราเป็นหนทาง ความจริง และชีวิต ไม่มีใครไปเฝ้าพระบิดาได้นอกจากผ่านทางเรา” (ยน 14:6) พระบิดาทรงบัญชาเมื่อพระเยซูเจ้าทรงสำแดงพระองค์อย่างรุ่งโรจน์บนภูเขาว่า “จงฟังท่านเถิด” (มก 9:7) พระเยซูเจ้าทรงเป็นตัวอย่างความสุขแท้และแนวปฏิบัติของบัญญัติใหม่ “ท่านทั้งหลายจงรักกันเหมือนดังที่เรารักท่าน” (ยน 15 :12) ความรักนี้รวมถึงการถวายตัวเราตามแบบฉบับของพระองค์    


มก 9:9-10  อัครสาวกทั้งสามไม่สามารถเข้าใจได้ถึงความหมายทั้งครบของสิ่งที่พวกเขาได้ยินและได้เห็น พวกเขายังคงสับสนจนถึงวันที่พระคริสตเจ้าทรงกลับคืนชีพ   กลับคืนชีพจากบรรดาผู้ตาย : เมื่อความตายมาถึง ร่างกายและวิญญาณจะแยกออกจากกัน ในการกลับคืนชีพ ร่างกายที่รุ่งโรจน์จะไม่เสื่อมสลายอีก และจะเข้ารวมเป็นหนึ่งเดียวกับวิญญาณจนตลอดนิรันดร   

การกลับคืนพระชนมชีพ – เป็นผลงานของพระตรีเอกภาพ

CCC ข้อ 649 พระบุตรทรงใช้พระอานุภาพพระเจ้าของพระองค์เองบันดาลให้ทรงกลับคืนพระชนมชีพ พระเยซูเจ้าทรงประกาศว่าบุตรแห่งมนุษย์จะต้องรับทรมานอย่างมาก จะถูกประหารชีวิต แต่สามวันต่อมาจะกลับคืนชีพ ยิ่งกว่านั้น พระองค์ยังทรงยืนยันอย่างชัดเจนว่า “เราสละชีวิตของเราเพื่อจะเอาชีวิตนั้นคืนมาอีก […] เรามีอำนาจที่จะสละชีวิตของเรา และมีอำนาจที่จะเอาชีวิตนั้นคืนมาอีก” (ยน 10:17-18) “เราเชื่อว่าพระเยซูเจ้าสิ้นพระชนม์และทรงกลับคืนพระชนมชีพ” (1ธส 4:14)   

ผู้ตายกลับคืนชีพได้อย่างไร

CCC ข้อ 997 “กลับคืนชีพ” คืออะไร เมื่อตาย คือวิญญาณและร่างกายแยกจากกัน ร่างกายของมนุษย์ก็เน่าเปื่อยเสื่อมสลาย ส่วนวิญญาณก็ไปพบพระเจ้า แต่ก็ยังคงรอคอยที่จะกลับไปรวมอยู่กับร่างกายรุ่งโรจน์ของตน เดชะสรรพานุภาพของพระองค์ พระเจ้าจะประทานชีวิตที่ไม่มีวันจะเสื่อมสลายตลอดไปคืนให้แก่วิญญาณ และจะทรงรวมร่างกายเหล่านี้กับวิญญาณของเราเดชะการกลับคืนพระชนมชีพของพระเยซูเจ้า   

CCC ข้อ 998 ใครจะกลับคืนชีพ มนุษย์ทุกคนที่ตายแล้ว “ผู้ที่ได้ทำความดีจะกลับคืนชีวิตมารับชีวิตนิรันดร ส่วนผู้ที่ทำความชั่วก็จะกลับคืนชีวิตมารับโทษทัณฑ์” (ยน 5:29)    

CCC ข้อ 999 กลับคืนชีพอย่างไร พระคริสตเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพพร้อมกับพระวรกายของพระองค์ “จงดูมือและเท้าของเราซิ เป็นเราเองจริงๆ” (ลก 24:39) แต่พระองค์ก็มิได้ทรงกลับมายังชีวิตของโลกนี้ เช่นเดียวกัน “ทุกคนจะกลับคืนชีพพร้อมกับร่างกายที่เขามีอยู่ขณะนี้” ในพระองค์ แต่ร่างกายนี้จะเปลี่ยนรูปไปเป็นร่างกายที่รุ่งโรจน์เป็น “ร่างกายที่มีพระจิตเจ้าเป็นชีวิต” (spiritual body) (1คร 15:44) “บางคนอาจถามว่า ‘คนตายจะกลับคืนชีพได้อย่างไร เขาจะกลับมีร่างกายแบบใด’ ช่างโง่จริง เมล็ดที่ท่านหว่านลงไปนั้นจะมีชีวิตใหม่ได้อย่างไรถ้าไม่ตายเสียก่อน  เมล็ดข้าวสาลีหรือเมล็ดพืชอย่างอื่นที่ท่านหว่านลงไปนั้นเป็นเพียงเมล็ด มิใช่ลำต้นที่จะงอกขึ้น [...] สิ่งที่หว่านลงไปนั้นเน่าเปื่อย แต่สิ่งที่กลับคืนชีพนั้นไม่เน่าเปื่อยอีก [...] ผู้ตายจะกลับคืนชีพอย่างไม่เน่าเปื่อย [...] ร่างกายที่เน่าเปื่อยได้นี้จะต้องสวมใส่ความไม่เน่าเปื่อยและร่างกายที่ต้องตายนี้จะต้องสวมใส่ความไม่รู้จักตาย” (1คร 15:35-37, 42, 52-53)   


มก 9:13  ประกาศกเอลียาห์ได้มาแล้ว : บรรดาประกาศกได้ทำนายว่า เอลียาห์จะกลับมา (เทียบ มลค 3:1-2; 4:5) ก่อนที่พระเมสสิยาห์จะเสด็จมา พระคริสตเจ้าทรงระบุอัตลักษณ์ของเอลียาห์กับยอห์น บัปติสต์ ซึ่งเป็น “จิตวิญญาณ” ของเอลียาห์ที่กลับมาอยู่ในยอห์น ผู้ประกาศถึงการเสด็จมาของพระคริสตเจ้า     

ผู้นำให้อธิษฐานภาวนา – พยานห้อมล้อมอยู่จำนวนมาก

CCC ข้อ 2684 ในความสัมพันธ์กับบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ ตลอดเวลาในประวัติศาสตร์ของพระศาสนจักรได้มีการพัฒนา แนวชีวิตจิต (spiritualities) หลายแบบด้วยกัน พรพิเศษส่วนตัวของพยานคนหนึ่งถึงความรักของพระเจ้าต่อมวลมนุษย์อาจได้รับการถ่ายทอดมา เช่น “จิตตารมณ์” ของประกาศกเอลียาห์ถูกถ่ายทอดแก่เอลีชาและแก่ยอห์นผู้ทำพิธีล้าง เพื่อบรรดาศิษย์จะได้มีส่วนใน จิตตารมณ์นี้ด้วย แนวชีวิตจิตแบบหนึ่งยังอาจเกิดขึ้นได้จากการรวมกันของขบวนการต่างๆด้านพิธีกรรมและเทววิทยา และเป็นพยานถึงการนำความเชื่อเข้าสู่วัฒนธรรมในสภาพแวดล้อมเฉพาะของสังคมและประวัติศาสตร์ของผู้คน แนวชีวิตจิตแบบต่างๆ ของคริสตชนมีส่วนในธรรมประเพณีการอธิษฐานภาวนาที่มีชีวิตชีวาและเป็นผู้นำที่จำเป็นสำหรับบรรดาผู้มีความเชื่อ แนวชีวิตจิตเหล่านี้ แม้จะมีคุณสมบัติแตกต่างกันอย่างมาก ก็ล้วนเป็นแสงสว่างบริสุทธิ์เดียวกันของพระจิตเจ้า “พระจิตเจ้าเป็นที่อยู่ของบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์จริงๆ และผู้ศักดิ์สิทธิ์ก็เป็นที่ประทับเฉพาะของพระจิตเจ้าด้วย เพราะเขามอบตนเพื่ออยู่กับพระเจ้า จึงได้ชื่อว่าที่ประทับของพระองค์”  

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)