แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอาทิตย์ที่ 34 สมโภชพระเยซูเจ้า กษัตริย์แห่งสากลจักรวาล  

พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญลูกา (ลก 23:35-43)                        

เวลานั้น ประชาชนยืนดูอยู่ที่นั่น ส่วนบรรดาผู้นำเยาะเย้ยพระองค์ว่า “เขาช่วยคนอื่นให้รอดพ้นได้ ก็ให้เขาช่วยตนเองซิ ถ้าเขาเป็นพระคริสต์ผู้ที่พระเจ้าทรงเลือกสรร” แม้แต่บรรดาทหารก็เยาะเย้ยพระองค์ด้วย เขานำเหล้าองุ่นเปรี้ยวเข้ามาถวาย พลางกล่าวว่า “ถ้าท่านเป็นกษัตริย์ของชาวยิว ก็จงช่วยตนเองให้รอดพ้นซิ” มีคำเขียนไว้เหนือพระองค์ว่า “ผู้นี้คือกษัตริย์ของชาวยิว”

ผู้ร้ายคนหนึ่งที่ถูกตรึงบนไม้กางเขน พูดดูหมิ่นพระองค์ว่า “แกเป็นพระคริสต์ไม่ใช่หรือ จงช่วยตนเองและช่วยเราให้รอดพ้นด้วยซิ” แต่อีกคนหนึ่งดุเขา กล่าวว่า “แกไม่เกรงกลัวพระเจ้าหรือที่มารับโทษเดียวกันกับท่านผู้นี้ สำหรับพวกเราก็ยุติธรรมแล้ว เพราะเรารับโทษสมกับการกระทำของเรา แต่ท่านผู้นี้มิได้ทำผิดเลย” แล้วเขาทูลว่า “ข้าแต่พระเยซู โปรดทรงระลึกถึงข้าพเจ้าด้วยเมื่อพระองค์จะเสด็จสู่พระอาณาจักรของพระองค์” พระองค์ตรัสตอบเขาว่า “เราบอกความจริงกับท่านว่า วันนี้ ท่านจะอยู่กับเราในสวรรค์” 


ลก 23:38  ในการตรึงกางเขนของชาวโรมัน พวกเขามักติดป้ายที่บ่งบอกถึงข้อกล่าวหาของอาชญากร  


ลก 23:39-43  เรื่องราวนี้แสดงให้เห็นว่าเมื่อบุคคลหนึ่งยอมรับโทษที่ตนได้ทำด้วยความเต็มใจเป็นคุณค่าที่สามารถช่วยชดเชยได้ ซึ่งก็คือคุณค่าแห่งการไถ่กู้ อีกทั้งยังหมายถึงการพิพากษาส่วนบุคคลทันทีหลังความตายและการพิพากษาครั้งสุดท้ายที่วิญญาณจะได้รับความรอดพ้นหรือไปสู่ความพินาศด้วย

พระคริสตเจ้า   

CCC ข้อ 440 พระเยซูเจ้าทรงรับการประกาศแสดงความเชื่อของเปโตรซึ่งยอมรับพระองค์เป็นพระเมสสิยาห์ พร้อมกับทรงแจ้งถึงพระทรมานที่กำลังจะมาถึงของ “บุตรแห่งมนุษย์” พร้อมกันนั้นยังทรงเปิดเผยความหมายแท้จริงของการทรงเป็นกษัตริย์-พระเมสสิยาห์อีกด้วยว่าทรงเป็น “บุตรแห่งมนุษย์” โลกุตระผู้ซึ่ง “ลงมาจากสวรรค์” (ยน 3:13) และในพันธกิจการกอบกู้ยังทรงเป็นผู้รับใช้ผู้รับทรมาน “บุตรแห่งมนุษย์มิได้มาเพื่อให้ผู้อื่นรับใช้ แต่มาเพื่อรับใช้ผู้อื่น และมอบชีวิตของตนเป็นสินไถ่เพื่อมนุษย์ทั้งหลาย” (มธ 20:28) เพราะเหตุนี้ ความหมายแท้จริงของการเป็นกษัตริย์ของพระองค์จึงปรากฏชัดเจนเมื่อจะทรงถูกตรึงบนไม้กางเขน หลังจากที่ทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้วเท่านั้นเปโตรจะประกาศให้ประชากรรู้ได้ว่าทรงเป็นกษัตริย์ “ขอให้เผ่าพันธุ์อิสราเอลทั้งมวลรู้แน่เถิดว่าพระเจ้าทรงแต่งตั้งพระเยซูผู้นี้ที่ท่านทั้งหลายนำไปตรึงบนไม้กางเขน ให้เป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าและพระคริสตเจ้า” (กจ 2:36)    

การพิพากษาทีละคน

CCC ข้อ 1021 ความตายทำให้ชีวิตของมนุษย์ในฐานะที่เป็นเวลาเปิดไว้เพื่อจะรับหรือไม่ยอมรับพระหรรษทานที่พระเจ้าทรงเปิดเผยให้เห็นในพระคริสตเจ้า พันธสัญญาใหม่กล่าวถึงการพิพากษาโดยเฉพาะเมื่อกล่าวถึงการพบกับพระคริสตเจ้าเมื่อจะเสด็จมาเป็นครั้งที่สอง แต่หลายครั้งก็ยังกล่าวถึงการตอบแทนการกระทำของแต่ละคนทันทีหลังจากความตายโดยสัมพันธ์กับกิจการและความเชื่อของเขา นิทานเปรียบเทียบเรื่องยาจกลาซารัส และพระดำรัสของพระคริสตเจ้ากับโจรที่กลับใจบนไม้กางเขน เช่นเดียวกับข้อความอื่นอีกหลายตอนในพันธสัญญาใหม่กล่าวถึงชะตากรรมสุดท้ายของวิญญาณ ซึ่งอาจแตกต่างกันสำหรับแต่ละคน 

การป้องกันตัวที่ถูกกฎหมาย  

CCC ข้อ 2266 รัฐต้องพยายามตอบสนองความจำเป็นที่จะต้องดูแลผลประโยชน์ส่วนรวมเพื่อป้องกันการแพร่ขยายของวิธีการกระทำของผู้ที่ทำลายสิทธิของผู้อื่นและกฎพื้นฐานของความสัมพันธ์สาธารณะ ผู้มีอำนาจปกครองบ้านเมืองมีสิทธิและหน้าที่จะลงโทษตามอัตราส่วนความหนักเบาของความผิด การลงโทษมีเจตนาแรกเพื่อซ่อมแซมความเสียหายที่เกิดจากความผิด เมื่อผู้ทำผิดยินดีรับโทษด้วยเต็มใจ การลงโทษย่อมมีค่าเป็นการชดเชย ดังนั้น การลงโทษ นอกจากจากจะเป็นการปกป้องและป้องกันความปลอดภัยของสังคมและบุคคลแล้ว ยังมีเจตนาที่เป็นโอสถบำบัดรักษา ต้องช่วยนำการแก้ไขมาให้ผู้กระทำผิดเท่าที่จะทำได้ด้วย    

พระเยซูเจ้าทรงฟังคำอธิษฐานภาวนาของเรา

CCC ข้อ 2616 พระเยซูเจ้าทรงรับฟังการอธิษฐานภาวนาต่อพระองค์แล้วตั้งแต่ในเวลาที่ทรงเทศน์สอนประชาชน ผ่านทางเครื่องหมายที่เกริ่นล่วงหน้าแล้วถึงอานุภาพของการสิ้นพระชนม์และการกลับคืนพระชนมชีพของพระองค์ พระเยซูเจ้าทรงฟังคำอธิษฐานภาวนาด้วยความเชื่อที่แสดงออกด้วยคำพูด (จากคนโรคเรื้อน จากไยรัส จากหญิงชาวคานาอัน จากโจรกลับใจ) หรือที่แสดงออกเงียบๆ (จากคนที่แบกคนอัมพาตเข้ามา จากหญิงตกเลือดที่มาสัมผัสฉลองพระองค์ ด้วยน้ำตาและเครื่องหอมของหญิงคนบาป) การพร่ำขอของคนตาบอดว่า “โอรสของกษัตริย์ดาวิดโปรดเมตตาเราเถิด” (มธ 9:27) หรือ “ข้าแต่พระเยซู โอรสของกษัตริย์ดาวิดเจ้าข้า โปรดเมตตาข้าพเจ้าเถิด” (มก 10:47) ซึ่งจะถูกรับไว้ในธรรมประเพณีต่อมาที่เรียกว่า การอธิษฐานภาวนาต่อพระเยซูเจ้า คือวลีว่า “ข้าแต่พระเยซู ข้าแต่พระคริสตเจ้า ข้าแต่พระบุตรของพระเจ้า พระเจ้าข้า โปรดทรงพระเมตตาต่อข้าพเจ้าคนบาปด้วยเถิด” พระเยซูเจ้าทรงตอบการอธิษฐานภาวนาที่อ้อนวอนพระองค์ด้วยความเชื่อเสมอ โดยทรงรักษาโรคหรือประทานอภัยบาป “จงไปเป็นสุขเถิด ความเชื่อของลูกช่วยลูกให้รอดพ้นแล้ว” นักบุญออกัสตินสรุปสามมิติของการอธิษฐานภาวนาของพระเยซูเจ้าไว้อย่างน่าฟังว่า “พระองค์ทรงอธิษฐานภาวนาเพื่อเราในฐานะพระสงฆ์ของเรา ทรงอธิษฐานภาวนาในตัวเรา ในฐานะที่ทรงเป็นศีรษะของเรา ทรงรับคำอธิษฐานภาวนาจากเรา ในฐานะที่ทรงเป็นพระเจ้าของเรา ดังนั้น เราจงยอมรับเสียงของเราในพระองค์ และเสียงของพระองค์ในเรา” 

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)