แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันศุกร์ สัปดาห์ที่ 28 เทศกาลธรรมดา

พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญลูกา (ลก 12:1-7)                              

เวลานั้น ขณะที่ประชาชนนับพันๆ คนพากันเบียดเสียดจนเกือบจะเหยียบกัน พระเยซูเจ้าทรงเริ่มตรัสกับบรรดาศิษย์ก่อนว่า “จงระวังเชื้อแป้งของบรรดาชาวฟาริสี คือความหน้าซื่อใจคดของเขา ไม่มีสิ่งใดที่ปิดบังไว้จะไม่ถูกเปิดเผย ไม่มีสิ่งใดที่ซ่อนเร้นจะไม่มีใครรู้ เพราะฉะนั้น สิ่งที่ท่านกล่าวในที่มืดจะมีผู้ได้ยินในที่แจ้ง สิ่งที่ท่านกระซิบที่หูภายในห้องจะถูกประกาศบนดาดฟ้าของบ้าน”

“เรากล่าวแก่ท่านที่เป็นมิตรของเราว่า อย่าเกรงกลัวผู้ที่ฆ่าได้แต่กาย และหลังจากนั้นก็ไม่อาจทำอะไรได้อีก เราจะชี้ให้ท่านเห็นว่าท่านต้องเกรงกลัวผู้ใด จงเกรงกลัวผู้ที่ฆ่าแล้วยังมีอำนาจโยนท่านลงไปในนรกด้วย ใช่แล้ว เราบอกท่านทั้งหลาย จงเกรงกลัวผู้นี้เถิด นกกระจอกห้าตัวราคาขายสองบาทมิใช่หรือ แม้กระนั้นไม่มีนกสักตัวเดียวที่พระเจ้าทรงลืม ผมทุกเส้นบนศีรษะของท่านถูกนับไว้หมดแล้ว อย่าเกรงกลัวเลย ท่านมีค่ามากกว่านกกระจอกจำนวนมาก”


ลก 12:1-12  ในการกล่าวถึงเรื่องการเป็นศิษย์ พระคริสตเจ้าทรงสอนผู้ติดตามพระองค์ให้ละทิ้งทรัพย์สมบัติทั้งหมด เขาจะได้สละตนเองทั้งครบเพื่อการดำเนินชีวิตตามข้อเรียกร้องของพระวรสาร พระองค์ยังทรงเชื่อมโยงอีกว่า ผู้ใดที่ติดตามพระองค์จะได้รับความทุกข์ทรมานจากการถูกเบียดเบียนข่มเหง แต่เขาสามารถไว้วางใจว่า พระจิตเจ้าจะทรงช่วยเหลือและจะสอนพวกเขาว่าควรจะพูดอะไรเมื่อต้องปกป้องความเชื่อ ผู้ใดที่ยังรักษาความเชื่อไว้จะได้รับรางวัลทั้งในชีวิตนี้และในสวรรค์ อย่างไรก็ตาม ผู้ใดที่ทำบาปผิดต่อพระจิตเจ้า กล่าวคือ ผู้ที่ไม่ยอมรับและปฏิเสธพระเมตตาของพระเจ้าและพระพรแห่งการไถ่กู้ จะไม่ได้รับความรอดพ้น เพราะเหตุว่า การปฏิเสธพระเมตตาของพระเจ้าก็เท่ากับเป็นการปฏิเสธการไถ่กู้นั่นเอง

ศีลกำลังในแผนการความรอดพ้น

CCC ข้อ 1287 ความสมบูรณ์ของพระจิตเจ้าเช่นนี้ต้องไม่คงอยู่เพียงกับพระเมสสิยาห์เท่านั้น แต่ต้องแบ่งปันกับประชากรทั้งหมดของพระเมสสิยาห์ด้วย พระคริสตเจ้าทรงสัญญาถึงการหลั่งของพระจิตเจ้านี้หลายครั้ง และทรงทำให้พระสัญญานี้สำเร็จเป็นครั้งแรกในวันปัสกา หลังจากนั้นในวันเปนเตกอสเตด้วยวิธีการที่ยิ่งใหญ่มากขึ้น บรรดาอัครสาวกซึ่งได้รับพระจิตเจ้าอย่างเต็มเปี่ยมเริ่มประกาศ “กิจการยิ่งใหญ่ของพระเจ้า” (กจ 2:11) และเปโตรก็ประกาศว่าการหลั่งพระจิตเจ้าลงมานี้เป็นเครื่องหมายของเวลาของพระเมสสิยาห์ ผู้ที่ขณะนั้นมีความเชื่อต่อการประกาศเทศน์สอนของบรรดาอัครสาวกรับศีลล้างบาป ก็ได้รับพระพรของพระจิตเจ้าด้วยเช่นเดียวกัน

ความหนักของบาป – บาปหนักและบาปเบา

CCC ข้อ 1864 “มนุษย์จะได้รับการอภัยบาปทุกชนิดรวมทั้งคำดูหมิ่นพระเจ้าด้วย แต่คำดูหมิ่นพระจิตเจ้าจะไม่ได้รับการอภัยเลย” (มธ 12:31) พระเมตตาของพระเจ้าไม่มีขอบเขต และผู้ที่จงใจไม่ยอมรับพระเมตตาของพระเจ้าโดยการเป็นทุกข์กลับใจ เขาย่อมไม่ยอมรับการอภัยบาปของตนและความรอดพ้นที่พระจิตเจ้านำมาให้ ความใจกระด้างเช่นนี้อาจนำไปจนถึงการไม่ยอมเป็นทุกข์กลับใจในวาระสุดท้ายและการถูกลงโทษตลอดนิรันดร


ลก 12:1  จงระวังเชื้อแป้ง... ความหน้าซื่อใจคด : พระคริสตเจ้าทรงสอนว่าบรรดาศิษย์ของพระองค์ ต้องไม่เหมือนกับชาวฟาริสี  คือต้องปฏิบัติในสิ่งที่ตนเองเทศน์สอน แบบอย่างของพวกเขาไม่ว่าจะดีหรือไม่ดีก็ตามล้วนจะแทรกซึมเข้าสู่สังคม เช่นเดียวกับเชื้อแป้งที่แทรกซึมเข้าไปในเนื้อแป้ง

งานธรรมทูต – ความจำเป็นสำหรับสากลภาพของพระศาสนจักร

CCC ข้อ 854 โดยพันธกิจของตน พระศาสนจักร “ดำเนินไปพร้อมกับมวลมนุษยชาติและประสบชะตากรรมเดียวกันร่วมกับโลกและเป็นประดุจวิญญาณของสังคมมนุษย์ที่ต้องรับการฟื้นฟูในพระคริสตเจ้าและเปลี่ยนให้เป็นครอบครัวของพระเจ้า” งานธรรมทูตจึงเรียกร้องให้มีความพากเพียร งานนี้เริ่มโดยการประกาศ พระวรสารแก่ประชากรและกลุ่มชนต่างๆ ที่ยังไม่มีความเชื่อในพระคริสตเจ้า ดำเนินต่อไปโดยตั้งชุมชนคริสตชนซึ่งเป็นเครื่องหมายการประทับอยู่ของพระเจ้าในโลก และตั้งพระศาสนจักรท้องถิ่น เริ่มกระบวนการเข้าสู่วัฒนธรรมเพื่อทำให้การประกาศข่าวดีอยู่ในวัฒนธรรมของประชากรเหล่านั้น แต่ก็อาจต้องประสบผลตรงกันข้าม “ส่วนที่เกี่ยวกับกลุ่มชนและประชากรนั้น พระศาสนจักรค่อยๆ เข้าถึงและแทรกซึมเข้าไปได้เท่านั้น และดังนี้จึงอาจนำเขาเข้ามาเป็นสากลหรือคาทอลิกได้อย่างสมบูรณ์”

“โปรดประทานอาหารประจำวันแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายในวันนี้”

CCC ข้อ 2832 ความใหม่ของพระอาณาจักรต้องช่วยให้พระจิตของพระคริสตเจ้าทำให้โลกนี้ฟูขึ้นเหมือนกับเชื้อแป้งในเนื้อแป้ง เรื่องนี้ต้องแสดงออกในการรื้อฟื้นความยุติธรรมให้เกิดขึ้นในความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและในสังคม ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและระหว่างชาติโดยไม่ลืมว่าโครงสร้างที่ยุติธรรมนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่มีมนุษย์ที่อยากเป็นคนยุติธรรม


ลก 12:2-3  ในการพิพากษาครั้งสุดท้าย ความคิดและการกระทำของเราทั้งหมดจะถูกเปิดเผย แล้วเราก็จะถูกตัดสินตามการกระทำของเรา

“เพื่อพิพากษาผู้เป็นและผู้ตาย”

CCC ข้อ 678 ในการเทศน์สอนประชาชน พระเยซูเจ้าทรงประกาศถึงการพิพากษาในวาระสุดท้ายตามแบบของบรรดาประกาศก และยอห์นผู้ประกอบพิธีล้าง ในเวลานั้นวิธีดำเนินชีวิตของแต่ละคนและความลับในใจจะถูกเปิดเผยแจ้งชัด เวลานั้น ความไม่เชื่ออย่างผิดๆ ที่คิดว่าพระหรรษทานที่พระเจ้าประทานให้นั้นไม่มีค่าอะไรจะถูกพิพากษาลงโทษ ท่าทีของเราต่อพี่น้องเพื่อนมนุษย์จะเปิดเผยให้เห็นว่าเรารับหรือผลักไสไม่ยอมรับพระหรรษทานและความรักของพระเจ้า ในวันสุดท้าย พระเยซูเจ้าจะตรัสว่า “ท่านทำสิ่งใดต่อพี่น้องผู้ต่ำต้อยที่สุดของเราคนหนึ่ง ท่านก็ทำสิ่งนั้นต่อเรา” (มธ 25:40)


ลก 12:6-7  หนังสือปฐมกาลได้เปิดเผยลำดับขั้นตอนของการสร้าง เพื่อให้ค่อยๆ บรรลุถึงความสมบูรณ์  พระเจ้าทรงดูแลสิ่งสร้างแม้เล็กที่สุดของพระองค์ฉันใด พระองค์ก็ทรงดูแลมนุษย์ซึ่งได้รับหน้าที่ปกครองสิ่งสร้างอื่นๆ และถูกสร้างมาตามพระภาพลักษณ์ของพระองค์มากกว่าฉันนั้น

พระเจ้าทรงทำตามที่ทรงวางแผนไว้ – พระญาณเอื้ออาทรของพระเจ้า

CCC ข้อ 302 สิ่งสร้างมีความดีและความสมบูรณ์ของตน แต่ก็หาได้เป็นอิสระโดยสิ้นเชิงจากพระหัตถ์ของพระเจ้า บรรดาสิ่งสร้างล้วนอยู่ “ในสภาวะการเดินทาง” (in statu viae) มุ่งไปรับความสมบูรณ์สูงสุดที่พระเจ้าทรงกำหนดไว้ แต่ยังไม่บรรลุถึง เราเรียกระบอบจัดการที่พระเจ้าทรงนำสิ่งสร้างทั้งมวลให้บรรลุถึงความสมบูรณ์นี้ว่า “พระญาณเอื้ออาทร” (providence)

“พระเจ้าทรงปกครองดูแลสิ่งทั้งมวลที่ทรงเนรมิตสร้างขึ้นนี้ด้วยพระญาณเอื้ออาทร ‘ซึ่งแผ่พลังไปทั่วทุกมุมโลก ปกครองทุกสิ่งอย่างดีเลิศ’ (เทียบ ปชญ 8:1) ‘ทุกสิ่งเปิดเผยอย่างชัดเจนต่อสายพระเนตรของพระองค์’ (ฮบ 4:13) รวมทั้งสิ่งต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจากการกระทำอย่างอิสระของสิ่งสร้างด้วย”  

CCC ข้อ 303  พยานหลักฐานจากพระคัมภีร์กล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า ความเอาพระทัยใส่ของพระญาณเอื้ออาทรนั้นเป็นรูปธรรมและทันเหตุการณ์ พระเจ้าเอาพระทัยใส่ต่อทุกสิ่ง ตั้งแต่สิ่งเล็กน้อยที่สุดในโลกรวมไปถึงเหตุการณ์ยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ พระคัมภีร์ยืนยันอย่างแข็งขันว่าพระเจ้าทรงควบคุมเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น “พระเจ้าของเราประทับอยู่ในสวรรค์ พระองค์ทรงทำทุกสิ่งตาม พระประสงค์” (สดด 115:3) และยังกล่าวถึงพระคริสตเจ้าอีกว่า “เมื่อพระองค์ทรงปิด ก็ไม่มีผู้ใดเปิดได้” (วว 3:7) “ในใจมนุษย์มีแผนการมากมาย แต่พระประสงค์ขององค์พระผู้เป็นเจ้าจะตั้งมั่นอยู่อย่างมั่นคง” (สภษ 19:21)

CCC ข้อ 304 เราจึงเห็นว่าพระจิตเจ้าซึ่งเป็นผู้แต่งเอกของพระคัมภีร์มักจะยกให้เหตุการณ์ต่างๆ เป็นการกระทำของพระเจ้าอยู่บ่อยๆ โดยไม่กล่าวถึงสาเหตุทุติยภูมิ การกล่าวเช่นนี้ไม่ถือว่าเป็น “วิธีโบราณ” แต่เป็นวิธีการลึกซึ้งเพื่อเตือนให้ระลึกถึงการที่พระเจ้าทรงอำนาจสูงสุดเหนือประวัติศาสตร์และโลกนี้และดังนี้เพื่ออบรมสั่งสอนให้ไว้วางใจในพระองค์ บทภาวนาในหนังสือเพลงสดุดีนับว่าเป็นสถานศึกษายิ่งใหญ่สอนความไว้วางใจเช่นนี้

CCC ข้อ 305 พระเยซูเจ้าทรงเรียกร้องให้เรามอบความไว้วางใจเยี่ยงบุตรต่อพระญาณเอื้ออาทรของพระบิดาเจ้าสวรรค์ซึ่งเอาพระทัยใส่ต่อความต้องการแม้เล็กน้อยที่สุดของบรรดาบุตรของพระองค์ “ดังนั้น อย่ากังวลและกล่าวว่า ‘เราจะกินอะไร หรือจะดื่มอะไร’ [...] พระบิดาของท่านผู้สถิตในสวรรค์ทรงทราบแล้วว่าท่านต้องการทุกสิ่งเหล่านี้ จงแสวงหาพระอาณาจักรของพระเจ้าและความชอบธรรมของพระองค์ก่อน แล้วพระองค์จะทรงเพิ่มทุกสิ่งเหล่านี้ให้” (มธ 6:31-33)

พระญาณเอื้ออาทรและสาเหตุทุติยภูมิ

CCC ข้อ 306 พระเจ้าทรงเป็นเจ้านายสูงสุดแห่งแผนการของพระองค์ แต่เพื่อจะทรงทำให้แผนการนั้นเป็นจริง พระองค์ยังทรงใช้ความร่วมมือของสิ่งสร้างด้วย การทรงทำเช่นนี้ไม่เป็นเครื่องหมายแสดงความอ่อนแอ แต่เป็นเครื่องหมายแสดงความยิ่งใหญ่และความดีของพระเจ้าผู้ทรงสรรพานุภาพ เพราะพระเจ้ามิได้เพียงประทานให้สิ่งสร้างมีความเป็นอยู่เท่านั้น แต่ยังประทานให้สิ่งเหล่านี้มีศักดิ์ศรีที่จะปฏิบัติงานเองได้ด้วย ให้สิ่งหนึ่งเป็นสาเหตุและบ่อเกิดของอีกสิ่งหนึ่งได้ และดังนี้จึงเป็นผู้ร่วมงานทำให้แผนการของพระองค์ประสบความสำเร็จ

CCC ข้อ 307 พระเจ้ายังประทานความสามารถให้มนุษย์มีส่วนในพระญาณเอื้ออาทรของพระองค์ด้วย โดยทรงมอบให้เขารับผิดชอบในการทำให้โลกอยู่ใต้อำนาจและเป็นนายปกครองโลก ดังนี้ พระเจ้าโปรดให้มนุษย์เป็นสาเหตุที่มีความเข้าใจและอิสระเสรีที่จะทำให้งานเนรมิตสร้างสำเร็จบริบูรณ์และทำให้สิ่งสร้างมีความกลมกลืนอย่างสมบูรณ์เพื่อความดีของตนเองและของเพื่อนมนุษย์ มนุษย์ในฐานะผู้ร่วมงานตามพระประสงค์ของพระเจ้าก็ยังอาจสมัครใจเข้ามาร่วมแผนงานของพระเจ้าได้อาศัยการกระทำ การอธิษฐานภาวนา และแม้กระทั่งอาศัยความทุกข์ทรมานของตนได้บ่อยๆ โดยไม่รู้ตัว ดังนี้ เขาจึงกลายเป็น “ผู้ร่วมงาน [...] ของพระเจ้า” (1คร 3:9) เพื่อพระอาณาจักรของพระเจ้าอย่างสมบูรณ์

CCC ข้อ 308 ความจริงที่ว่าพระเจ้าทรงทำงานในการงานทุกอย่างของสิ่งสร้างของพระองค์นี้ แยกไม่ออกจากความเชื่อในพระเจ้าผู้ทรงเนรมิตสร้าง พระองค์ทรงเป็นสาเหตุปฐมภูมิ (causa prima – primary cause) และทรงปฏิบัติงานในและอาศัยสาเหตุทุติยภูมิ (causae secundae – secondary causes) “พระเจ้าทรงทำงานในท่าน เพื่อให้ท่านมีทั้งความปรารถนาและความสามารถที่จะทำงานตามพระประสงค์” (ฟป 2:13) ความจริงข้อนี้ไม่เพียงแต่ไม่ทำให้ศักดิ์ศรีของสิ่งสร้างลดลง แต่ยังทำให้ศักดิ์ศรีนี้เพิ่มขึ้น สิ่งสร้างที่เกิดขึ้นมาจากความว่างเปล่าโดยพระอานุภาพพระปรีชา และพระทัยดีของพระเจ้านั้น ไม่อาจทำอะไรได้ถ้าถูกตัดขาดจากพระเจ้า “เพราะสิ่งสร้างย่อมสูญหายไปถ้าไม่มีพระผู้สร้าง” ยิ่งกว่านั้นสิ่งสร้างเหล่านี้ไม่อาจบรรลุถึงจุดหมายสุดท้ายของตนได้ถ้าไม่มีพระหรรษทานคอยช่วยเหลือ

โลกที่เราแลเห็น

CCC ข้อ 342 ลำดับความใหญ่น้อยของสิ่งสร้างทั้งหลายแสดงให้เห็นโดยลำดับของการสร้าง “หกวัน” ที่เริ่มจากสิ่งที่สมบูรณ์น้อยกว่าไปยังสิ่งที่สมบูรณ์มากกว่า พระเจ้าทรงรักทุกสิ่งที่ทรงเนรมิตสร้างมา และทรงเอาพระทัยใส่ดูแลสิ่งสร้างทุกสิ่งเหล่านี้แม้กระทั่งนกกระจอก ถึงกระนั้น พระเยซูเจ้ายังตรัสว่า “ท่านมีค่ามากกว่านกกระจอกจำนวนมาก” (ลก 12:7) หรือ “มนุษย์คนหนึ่งย่อมมีค่ากว่าแกะมากนัก” (มธ 12:12)

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)