แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอาทิตย์สัปดาห์ที่ 22 เทศกาลธรรมดา

พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญลูกา (ลก 14:1, 7-14)                                           

วันสับบาโตวันหนึ่ง พระเยซูเจ้าเสด็จไปเสวยพระกระยาหารที่บ้านของหัวหน้าชาวฟาริสีผู้หนึ่ง ผู้ที่อยู่ที่นั่นต่างจ้องมองพระองค์ พระเยซูเจ้าทรงสังเกตเห็นผู้รับเชิญต่างเลือกที่นั่งที่มีเกียรติ จึงตรัสเป็นอุปมากับเขาว่า  ‘เมื่อมีใครเชิญท่านไปในงานมงคลสมรส อย่าไปนั่งในที่ที่มีเกียรติ เพราะถ้ามีคนสำคัญกว่าท่านได้รับเชิญมาด้วย เจ้าภาพที่เชิญท่านและเชิญเขาจะมาบอกท่านว่า “จงให้ที่นั่งแก่ผู้นี้เถิด” แล้วท่านจะต้องอับอายไปนั่งที่สุดท้าย แต่เมื่อท่านได้รับเชิญ จงไปนั่งในที่สุดท้ายเถิด เพื่อเจ้าภาพที่เชิญท่านจะมาบอกท่านว่า “เพื่อนเอ๋ย จงไปนั่งในที่ที่ดีกว่านี้เถิด” แล้วท่านจะได้รับเกียรติต่อหน้าผู้ร่วมโต๊ะทั้งหลาย เพราะทุกคนที่ยกตนขึ้นจะถูกกดให้ต่ำลง แต่ทุกคนที่ถ่อมตนลงจะได้รับการยกย่องให้สูงขึ้น’

พระองค์ตรัสกับผู้ที่เชิญพระองค์ว่า ‘เมื่อท่านจัดเลี้ยงอาหารกลางวันหรืออาหารค่ำ อย่าเชิญมิตรสหาย พี่น้องหรือเพื่อนบ้านที่มั่งมี เพราะเขาจะเชิญท่านและท่านจะได้รับการตอบแทน แต่เมื่อท่านจัดงานเลี้ยง จงเชิญคนยากจน คนพิการ คนง่อย คนตาบอด แล้วท่านจะเป็นสุข เพราะคนเหล่านั้นไม่มีสิ่งใดตอบแทนท่านได้ ท่านจะได้รับการตอบแทนจากพระเจ้าเมื่อผู้ชอบธรรมกลับคืนชีวิต”


ลก 14:1-6  บรรดาธรรมาจารย์และชาวฟาริสีพยายามวางกับดักพระคริสตเจ้าด้วยการเชิญพระองค์ไปงานเลี้ยงมื้อค่ำในวันสับบาโต ณ ที่นั่นมีคนเป็นโรคบวมอยู่ ชาวยิวเชื่อกันว่าโรคนี้เป็นผลจากบาป ตามจารีตจึงถือว่าชายผู้นี้มีมลทิน พระคริสตเจ้ามิเพียงทรงรักษาเขาให้หายในวันสับบาโตเท่านั้นแต่ยังทรงสัมผัสเขาอีกด้วย ในสายตาของชาวฟาริสีถือว่าการกระทำทั้งสองนี้ขัดต่อกฎของวันสับบาโต ข้อโต้แย้งของพระคริสตเจ้าที่ทรงกล่าวถึงเรื่อง “บุตร หรือ โค” แสดงให้เห็นว่าสามารถทำกิจการดีในวันสับบาโตได้ถึงแม้อยู่ภายใต้กฎของชาวยิวก็ตาม    

พระเยซูเจ้าและอิสราเอล

CCC ข้อ 575 การกระทำและพระวาจาในหลายกรณีจึงเป็น “เครื่องหมายแห่งการต่อต้าน” สำหรับผู้นำทางศาสนาที่กรุงเยรูซาเล็ม ซึ่งพระวรสารของยอห์นเรียกบ่อยๆ ว่า “ชาวยิว” มากกว่าสำหรับสามัญชนประชากรของพระเจ้าโดยทั่วไป โดยแท้จริงแล้ว ความสัมพันธ์ของพระองค์กับชาวฟาริสีมิได้มีแต่ความขัดแย้งกันเสมอไปเท่านั้น ชาวฟาริสีบางคนทูลเตือนพระองค์ถึงอันตรายที่พระองค์กำลังจะต้องเผชิญ พระองค์ทรงกล่าวชมพวกเขาบางคน เช่นธรรมาจารย์ที่ มก 12:34 กล่าวถึง และหลายครั้งทรงรับเชิญไปเสวยพระกระยาหารที่บ้านของชาวฟาริสี พระองค์ทรงยืนยันคำสอนที่กลุ่มศาสนาพิเศษในประชากรของพระเจ้ากลุ่มนี้ยอมรับเป็นคำสอนของตน เช่นคำสอนเรื่องการกลับคืนชีพของผู้ตาย  รูปแบบต่างๆ เพื่อแสดงความเลื่อมใสศรัทธา (การให้ทานการอธิษฐานภาวนาและการจำศีลอดอาหาร และธรรมเนียมเรียกพระเจ้าเป็นพระบิดาและกำหนดว่าความรักต่อพระเจ้าและเพื่อนมนุษย์เป็นบทบัญญัติสำคัญที่สุด  

พระเยซูเจ้าและธรรมบัญญัติ  

CCC ข้อ 582 ยิ่งกว่านั้น พระเยซูเจ้ายังทรงปฏิรูปกฎเกี่ยวกับเรื่องอาหารมีมลทินหรือไม่มีมลทิน ที่เป็นเรื่องสำคัญในชีวิตประจำวันของชาวยิว ให้สมบูรณ์ขึ้น โดยทรงอธิบายความหมายในมุมมองของความเป็นเหมือน “ครูพี่เลี้ยง” ของกฎเหล่านี้ “สิ่งต่างๆ จากภายนอกที่เข้าไปในมนุษย์นั้นทำให้เขาเป็นมลทินไม่ได้ […] – ดังนี้ ทรงประกาศว่าอาหารทุกชนิดไม่เป็นมลทิน พระองค์ยังตรัสอีกว่า สิ่งที่ออกจากภายในมนุษย์นั้นแหละทำให้เขามีมลทิน จากภายใน คือจากใจมนุษย์นั้นเป็นที่มาของความคิดชั่วร้าย” (มก 7:18-21) พระเยซูเจ้าซึ่งทรงใช้อำนาจพระเจ้าอธิบายความหมายสุดท้ายของกฎเกณฑ์ต่างๆ จึงทรงขัดแย้งกับนักกฎหมายบางคนที่ไม่ยอมรับการอธิบายของพระองค์ ทั้งๆ ที่พระองค์ทรงทำเครื่องหมายอัศจรรย์เพื่อยืนยันพระวาจาที่ทรงสั่งสอน การเช่นนี้เห็นได้ชัดเป็นพิเศษในปัญหาเรื่องวันสับบาโต หลายครั้งพระเยซูเจ้าทรงใช้เหตุผลของบรรดาธรรมาจารย์เอง เพื่อชี้ให้เห็นว่าการรับใช้พระเจ้าและเพื่อนมนุษย์ไม่เป็นการผิดพระบัญญัติให้หยุดพักในวันสับบาโต เพราะพระองค์ทรงรักษาโรคในวันสับบาโต   

พระเยซูเจ้าและความเชื่อของอิสราเอลในพระเจ้าและพระผู้ไถ่กู้หนึ่งเดียว

CCC ข้อ 588 พระเยซูเจ้าทรงทำให้ชาวฟาริสีไม่พอใจเมื่อเสวยร่วมโต๊ะกับคนเก็บภาษีและคนบาป อย่างคุ้นเคยเช่นเดียวกับเมื่อทรงร่วมโต๊ะกับพวกเขา พระเยซูเจ้าทรงยืนยันไม่เห็นด้วยกับ “ผู้ที่ภูมิใจว่าตนเป็นผู้ชอบธรรมและดูหมิ่นผู้อื่น” (ลก 18:9) ตรัสว่า “เราไม่ได้มาเพื่อเรียกคนชอบธรรม แต่มาเพื่อเรียกคนบาปให้กลับใจ” (ลก 5:32) พระองค์ยังทรงก้าวไปไกลยิ่งกว่านั้นอีก เมื่อทรงประกาศอย่างเปิดเผยต่อหน้าชาวฟาริสีว่า ในเมื่อมนุษย์ทุกคนเป็นคนบาป พวกเขาที่คิดว่าตนไม่ต้องการ การกอบกู้ย่อมทำตนเป็นคนตาบอด


ลก 14:7-14  พระคริสตเจ้าทรงสอนผู้ฟังพระองค์เกี่ยวกับเรื่องความสุภาพถ่อมตนและความใจกว้างในการทำกิจเมตตา โดยทรงเน้นไม่ให้แสวงหาทั้งชื่อเสียงเกียรติยศหรือรางวัลตอบแทนใดๆ 

การอธิษฐานภาวนาในฐานะของประทานจากพระเจ้า

CCC ข้อ 2559 “การอธิษฐานภาวนาเป็นการยกความคิดจิตใจขึ้นหาพระเจ้าหรือเป็นการวอนขอ พระเจ้าประทานให้เราตามพระทัยพระองค์” เพื่ออธิษฐานภาวนาเราพูดจากอะไร จากความยิ่งใหญ่ของเราและจากความปรารถนาอันสูงส่งของเรา หรือ “จากเหวลึก” (สดด 130:1) ของจิตใจต่ำต้อยและเป็นทุกข์ ผู้ที่ถ่อมตนลงย่อมได้รับการยกย่อง ความสุภาพถ่อมตนเป็นรากฐานของการอธิษฐานภาวนา “เราไม่รู้ว่าจะต้องอธิษฐานภาวนาขอสิ่งใดที่เหมาะสม” (รม 8:26) ความสุภาพถ่อมตนเป็นการเตรียมตนเพื่อรับสิ่งที่เราวอนขอมาโดยไม่ต้องมีอะไรแลกเปลี่ยน มนุษย์เป็นเหมือนขอทานเฉพาะพระพักตร์พระเจ้า

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)