แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอาทิตย์ที่ 19 เทศกาลธรรมดา

พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญลูกา (ลก 12:32-48)                                                                       

เวลานั้น พระเยซูเจ้าตรัสว่า ‘ฝูงแกะน้อยๆ เอ๋ย อย่ากลัวเลย’ เพราะพระบิดาของท่านพอพระทัยจะประทานพระอาณาจักรให้แก่ท่าน ‘จงขายทรัพย์สินของท่านและให้ทาน จงหาถุงเงินที่ไม่มีวันชำรุด จงหาทรัพย์สมบัติที่ไม่มีวันหมดสิ้นในสวรรค์ ที่นั่นขโมยเข้าไม่ถึงและแมลงขมวนไม่ทำลาย  เพราะทรัพย์สมบัติของท่านอยู่ที่ใด ใจของท่านก็จะอยู่ที่นั่นด้วย 

‘ท่านทั้งหลายจงคาดสะเอวและจุดตะเกียงเตรียมพร้อมไว้  จงเป็นเสมือนผู้รับใช้ที่กำลังคอยนายกลับจากงานสมรส เมื่อนายมาและเคาะประตูจะได้เปิดรับ  ผู้รับใช้เหล่านั้นเป็นสุข ถ้านายกลับมาพบเขากำลังตื่นเฝ้าอยู่ เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า นายจะคาดสะเอวพาผู้รับใช้เหล่านั้นไปนั่งโต๊ะและจะรับใช้เขาด้วย ไม่ว่านายจะมาเวลาสองยามหรือสามยาม ถ้าพบผู้รับใช้กำลังทำเช่นนี้ ผู้รับใช้เหล่านั้นก็เป็นสุข  พึงรู้ไว้เถิด ถ้าเจ้าของบ้านรู้ว่าขโมยจะมาเวลาใด เขาคงไม่ปล่อยให้ขโมยงัดแงะบ้านของตน  ท่านทั้งหลายจงเตรียมพร้อมไว้ เพราะบุตรแห่งมนุษย์จะเสด็จมาในเวลาที่ท่านมิได้คาดหมาย’  

เปโตรทูลว่า ‘ข้าแต่พระเจ้า พระองค์ตรัสอุปมานี้สำหรับพวกเราหรือสำหรับทุกคน’  องค์พระผู้เป็นเจ้าตรัสว่า ‘ใครเล่าเป็นผู้จัดการที่ซื่อสัตย์และรอบคอบซึ่งนายจะแต่งตั้งให้ดูแลผู้รับใช้อื่นๆ เพื่อปันส่วนอาหารให้ตามเวลาที่กำหนด  ผู้รับใช้คนนั้นเป็นสุข ถ้านาย กลับมาพบเขากำลังทำดังนี้  เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า นายจะแต่งตั้งเขาให้ดูแลทรัพย์สินทั้งหมดของตน  แต่ถ้าผู้รับใช้คนนั้นคิดว่า “นายจะมาช้า” และเริ่มตบตีผู้รับใช้ทั้งชายและหญิง กินดื่มจนเมามาย  นายของผู้รับใช้คนนั้นจะกลับมาในวันที่เขามิได้คาดหมาย ในเวลาที่เขาไม่รู้ นายจะแยกเขาออก ให้ไปอยู่กับพวกคนที่ไม่ซื่อสัตย์  

‘ผู้รับใช้ที่รู้ใจนายของตน แต่ไม่เตรียมพร้อมและไม่ทำตามใจนาย จะต้องถูกเฆี่ยนมาก แต่ผู้รับใช้ที่ไม่รู้ใจนาย แม้ทำสิ่งที่ควรจะถูกเฆี่ยน ก็จะถูกเฆี่ยนน้อย ผู้ใดได้รับฝากไว้มาก ผู้นั้นก็จะถูกทวงกลับไปมากด้วย’


ลก 12:22-34  การตัดสละตนเองจากสิ่งของโลกนี้หมายความว่าเราไม่กังวลต่อความต้องการพื้นฐานต่อไปแล้ว หากเราสนใจในความจำเป็นพื้นฐานอย่างพอประมาณโดยไว้ใจในพระเจ้าและแสวงหาพระประสงค์ของพระเจ้าอย่างจริงใจ เราก็มั่นใจได้ว่าพระองค์เองจะทรงดูแลในสิ่งที่เราต้องการ ความงดงามแห่งสิ่งสร้างของพระเจ้าล้วนเป็นพยานถึงการประทับอยู่และพระญาณเอื้ออาทรของพระองค์  

พระเจ้าทรงทำตามที่ทรงวางแผนไว้ – พระญาณเอื้ออาทรของพระเจ้า   

CCC ข้อ 305 พระเยซูเจ้าทรงเรียกร้องให้เรามอบความไว้วางใจเยี่ยงบุตรต่อพระญาณเอื้ออาทรของพระบิดาเจ้าสวรรค์ซึ่งเอาพระทัยใส่ต่อความต้องการแม้เล็กน้อยที่สุดของบรรดาบุตรของพระองค์ “ดังนั้น อย่ากังวลและกล่าวว่า ‘เราจะกินอะไร หรือจะดื่มอะไร’ [….] พระบิดาของท่านผู้สถิตในสวรรค์ทรงทราบแล้วว่าท่านต้องการทุกสิ่งเหล่านี้ จงแสวงหาพระอาณาจักรของพระเจ้าและความชอบธรรมของพระองค์ก่อน แล้วพระองค์จะทรงเพิ่มทุกสิ่งเหล่านี้ให้” (มธ 6:31-33)   


ลก 12:33  จงขายทรัพย์สินของท่านและให้ทาน : พระเยซูเจ้าทรงเชื้อเชิญเราให้บรรลุถึงความยากจนฝ่ายจิต ซึ่งเป็นการตัดสละจากสิ่งฝ่ายวัตถุของโลกนี้ โดยขจัดสิ่งฟุ่มเฟือยเกินความจำเป็นและไม่สะสมสิ่งฝ่ายวัตถุ การเป็นศิษย์ของพระองค์เรียกร้องการรู้จักให้ทานด้วยใจกว้าง    

การมีจิตใจยากจน

CCC ข้อ 2545 คริสตชนผู้มีความเชื่อทุกคนต้องเอาใจใส่ “จัดลำดับความรักของตนให้ถูกต้อง เพื่อมิให้การใช้สิ่งของต่างๆ ทางโลกและการติดใจกับทรัพย์สมบัติซึ่งตรงข้ามกับจิตตารมณ์ความยากจนตามพระวรสารขัดขวางเขาไม่ให้บรรลุถึงความรักที่สมบูรณ์ได้”    


ลก 12:35-48  การคาดสะเอว (เอาชายเสื้อคลุมคาดไว้ที่เข็มขัดเพื่อความสะดวกในการทำกิจกรรมต่างๆ) และการถือตะเกียงจุดไว้เป็นเครื่องหมายของการเตรียมพร้อมและการเฝ้าระวัง พระคริสตเจ้าทรงให้บรรดาศิษย์ของพระองค์เตรียมตนให้พร้อมเช่นนี้ตลอดเวลาเพราะไม่มีใครทราบว่าจะต้องตายเมื่อใด แต่ละคนมีกระแสเรียกเฉพาะที่ต้องทำให้สำเร็จไปอย่างแข็งขันในชีวิตนี้ด้วยความรักและด้วยจิตตารมณ์แห่งการรับใช้ ผู้รับใช้ที่คิดว่าอีกนานกว่านายจะกลับมาจึงไม่ทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายอย่างขยันขันแข็ง เขาจะถูกลงโทษอย่างหนักเมื่อนายกลับมา นี่หมายความว่าความล้มเหลวของการดำเนินชีวิตตามพระวรสารจะทำให้เสียโอกาสแห่งความสุขทั้งในชีวิตนี้และชีวิตหน้า แต่สำหรับผู้เตรียมตัวให้พร้อมตลอดเวลาจะได้รับรางวัลยิ่งใหญ่เมื่อนายจะกลับมา   

เมื่อประสบความยากลำบากที่จะอธิษฐานภาวนา

CCC ข้อ 2730 ถ้าพิจารณาด้านบวก การต่อสู้กับจิตใจของเราที่ต้องการควบคุมและเป็นเจ้าของของเราก็คือการคอยเฝ้าระวัง ความตั้งใจ เมื่อพระเยซูเจ้าทรงย้ำถึงการเฝ้าระวัง พระองค์ทรงหมายถึงพระองค์เสมอ หมายถึงการเสด็จมาของพระองค์ หมายถึงวันสุดท้ายและหมายถึงแต่ละวัน หมายถึง “วันนี้” พระองค์ตรัสถึงเจ้าบ่าวที่มาเวลาเที่ยงคืน แสงสว่างที่จะต้องไม่ดับก็คือแสงของความเชื่อ “ใจข้าพเจ้าคิดถึงพระวาจาที่ว่า ‘จงแสวงหาใบหน้าของเราเถิด’” (สดด 27:8) 

  “โปรดช่วยข้าพเจ้าไม่ให้แพ้การประจญ” (ตามตัวอักษรว่า “อย่านำข้าพเจ้าทั้งหลายเข้าไปในการประจญ”)  

CCC ข้อ 2849 การต่อสู้เช่นนี้และชัยชนะเช่นนี้ย่อมเป็นไปไม่ได้นอกจากด้วยการอธิษฐานภาวนา อาศัยการอธิษฐานภาวนา พระเยซูเจ้าทรงพิชิตมารผจญตั้งแต่แรก รวมทั้งในการต่อสู้กับการทนทุกข์ทรมานครั้งสุดท้าย ในการวอนขอพระบิดาของเราครั้งนี้ พระคริสตเจ้าทรงรวมเราไว้กับการต่อสู้กับการทนทุกข์ครั้งสุดท้ายของพระองค์ด้วย มีการกล่าวอยู่ตลอดเวลาให้เรามีใจตื่นเฝ้าระวัง ร่วมกับการตื่นเฝ้าระวังของพระองค์ การตื่นเฝ้าเป็น “การคอยเฝ้าระวังจิตใจ” และพระเยซูเจ้าทรงวอนขอพระบิดาให้ทรงเฝ้ารักษาพวกเราไว้ในพระนามของพระองค์ พระจิตเจ้าทรงพยายามปลุกเร้าเราไว้ตลอดเวลาให้คอยตื่นเฝ้าเช่นนี้ คำขอข้อนี้มีความหมายจริงจังเป็นพิเศษในความสัมพันธ์กับการผจญในการต่อสู้ครั้งสุดท้ายของเราในโลกนี้ คำวอนขอข้อนี้วอนขอให้เรามีความยืนหยัดมั่นคงจนถึงวาระสุดท้าย “ดูเถิด เรามาเหมือนขโมย ผู้ที่ตื่นเฝ้า....ย่อมเป็นสุข” (วว 16:15)    

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)