แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันพฤหัสบดี สมโภชการบังเกิดของนักบุญยอห์น ผู้ทำพิธีล้าง

พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญลูกา (ลก 1:57-66, 80)                                          

เวลานั้น เมื่อครบกำหนดคลอด นางเอลีซาเบธให้กำเนิดบุตรชายคนหนึ่ง เพื่อนบ้านและบรรดาญาติรู้ว่าองค์พระผู้เป็นเจ้าทรงแสดงพระกรุณายิ่งใหญ่ต่อนาง จึงมาร่วมยินดีกับนาง

  เมื่อเด็กเกิดได้แปดวัน เพื่อนบ้านและญาติพี่น้องมาทำพิธีสุหนัตให้ เขาต้องการเรียกเด็กว่าเศคาริยาห์ตามชื่อบิดา แต่มารดาของเด็กค้านว่า “ไม่ได้ เขาจะต้องชื่อยอห์น” คนเหล่านั้นจึงพูดกับนางว่า “ท่านไม่มีญาติคนใดมีชื่อนี้” เขาเหล่านั้นจึงส่งสัญญาณถามบิดาของเด็กว่าต้องการให้บุตรชื่ออะไร เศคาริยาห์ขอกระดานแผ่นหนึ่งแล้วเขียนว่า “เขาชื่อยอห์น” ทุกคนต่างประหลาดใจ ทันใดนั้นเศคาริยาห์ก็กลับพูดได้อีก เขาจึงกล่าวถวายพระพรพระเจ้า เพื่อนบ้านทุกคนต่างรู้สึกกลัว และเรื่องทั้งหมดนี้ได้เล่าลือกันไปทั่วแถบภูเขาของแคว้นยูเดีย ทุกคนที่ได้ยินเรื่องนี้ต่างก็แปลกใจและถามกันว่า “แล้วเด็กคนนี้จะเป็นอะไร” เพราะพระหัตถ์ขององค์พระผู้เป็นเจ้าอยู่กับเขา 

  เด็กนั้นเจริญเติบโตขึ้น จิตใจของเขาเข้มแข็งขึ้นด้วย เขาอาศัยอยู่ในถิ่นทุรกันดารจนถึงวันที่เขาแสดงตนแก่ประชากรอิสราเอล


ลก 1:57  เราเฉลิมฉลองการบังเกิดของนักบุญยอห์น ผู้ทำพิธีล้าง ในวันที่ 24 มิถุนายนของทุกปี นอกจากพระคริสตเจ้าและพระนางมารีย์แล้ว ท่านเป็นเพียงบุคคลเดียวที่ได้ฉลองการบังเกิดในปีพิธีกรรม 


ลก 1:59-66  เป็นประเพณีของครอบครัวชาวยิวที่จะตั้งชื่อบุตรชายในช่วงพิธีสุหนัตหลังจากเขาเกิดได้แปดวันแล้ว การเข้าพิธีสุหนัตบ่งบอกถึงการเริ่มต้นของบุตรที่จะเข้าสู่พันธสัญญาของอิสราเอล 

พระธรรมล้ำลึกปฐมวัยของพระเยซูเจ้า

  CCC ข้อ 527 การรับพิธีสุหนัตของพระเยซูเจ้าในวันที่แปดหลังจากทรงสมภพ เป็นเครื่องหมายว่าพระองค์ทรงเข้ามาเป็นลูกหลานของอับราฮัม เป็นสมาชิกของประชากรที่พระเจ้าทรงทำพันธสัญญาด้วย ทรงอยู่ใต้ธรรมบัญญัติเพื่อทรงมีส่วนร่วมในคารวกิจของอิสราเอลตลอดพระชนมชีพของพระองค์ เครื่องหมายนี้บอกล่วงหน้าถึงศีลล้างบาป ซึ่งเป็นเสมือน “พิธีสุหนัตที่มาจากพระคริสตเจ้า”

เครื่องหมายและสัญลักษณ์

  CCC ข้อ 1150 เครื่องหมายของพันธสัญญา ประชากรที่พระเจ้าทรงเลือกสรรได้รับสัญลักษณ์พิเศษที่เป็นลักษณะเฉพาะหมายถึงชีวิตด้านพิธีกรรมของเขา พิธีกรรมเหล่านี้จึงไม่เป็นเพียงการฉลองวัฏจักรของจักรภพและเหตุการณ์ทางสังคม แต่เป็นเครื่องหมายของพันธสัญญา เป็นสัญลักษณ์ถึงพระราชกิจยิ่งใหญ่ที่พระเจ้าทรงกระทำเพื่อประชากรของพระองค์ ในบรรดาเครื่องหมายด้านพิธีกรรมเหล่านี้ของพันธสัญญาเดิมเราอาจคิดถึงพิธีสุหนัต การเจิมและมอบถวายบรรดากษัตริย์และสมณะ การปกมือ การถวายบูชา และโดยเฉพาะการฉลองปัสกา พระศาสนจักรมองเห็นการเกริ่นล่วงหน้าถึงศีลศักดิ์สิทธิ์ของพันธสัญญาใหม่ในเครื่องหมายเหล่านี้


  ลก 1:67-80  บทเพลงของเศคาริยาห์ เรียกว่า เพลงสรรเสริญ มาจากคำแรกของการแปลจากภาษาลาติน กล่าวสรรเสริญความซื่อสัตย์ของพระเจ้าต่อพระสัญญาของพระองค์กับชาวอิสราเอล เพลงสรรเสริญนี้ใช้ในการสวดภาวนาเวลาเช้าของการทำวัตรสรรเสริญพระ ซึ่งเป็นบทภาวนาอย่างเป็นทางการของพระศาสนจักร

ข่าวดี – พระเจ้าทรงส่งพระบุตรของพระองค์

  CCC ข้อ 422 “แต่เมื่อถึงเวลาที่กำหนดไว้ พระเจ้าทรงส่งพระบุตรของพระองค์ให้มาบังเกิดจากหญิงผู้หนึ่งเกิดมาอยู่ใต้ธรรมบัญญัติ เพื่อทรงไถ่ผู้ที่อยู่ใต้ธรรมบัญญัติ และทำให้เราได้เป็นบุตรบุญธรรม” (กท 4:4-5) นี่เป็น “ข่าวดีเรื่องพระเยซูเจ้าเป็นพระคริสต์ พระบุตรของพระเจ้า” พระเจ้าเสด็จเยี่ยมประชากรของพระองค์ทรงทำให้พระสัญญาที่ทรงทำไว้แก่อับราฮัมและบุตรหลานสำเร็จลง พระเจ้าทรงทำเช่นนี้เหนือความคาดหมายทั้งหลาย คือทรงส่งพระบุตรสุดที่รักของพระองค์

ยอห์น ผู้นำหน้าพระคริสตเจ้า ประกาศก และผู้ประกอบพิธีล้าง

  CCC ข้อ 717 “พระเจ้าทรงส่งชายผู้หนึ่งมา เขาชื่อยอห์น” (ยน 1:6) ยอห์น “ได้รับพระจิตเจ้า” เต็มเปี่ยม “ตั้งแต่ยังอยู่ในครรภ์ของมารดา” (ลก 1:15) จากพระคริสตเจ้าที่พระนางพรหมจารีมารีย์ เพิ่งทรงปฏิสนธิเดชะพระจิตเจ้า ดังนี้ “การเยี่ยมเยียน” นางเอลีซาเบธของพระนางมารีย์จึง เป็นการที่พระเจ้าทรงเยี่ยมเยียนประชากรของพระองค์

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)