แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันเสาร์ สัปดาห์ที่ 7 เทศกาลปัสกา

พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญยอห์น (ยน 21:20-25)                                                                                                 

เวลานั้น เปโตรเหลียวไปดู ก็เห็นศิษย์ที่พระเยซูเจ้าทรงรักตามมา เป็นคนที่เอนกายชิดพระอุระพระเยซูเจ้าในการเลี้ยงอาหารค่ำ และทูลถามพระองค์ว่า “พระเจ้าข้า ผู้ที่ทรยศพระองค์เป็นใคร” เมื่อเปโตรเห็นเขา ก็ทูลถามพระเยซูเจ้าว่า “คนนี้จะเป็นอย่างไร พระเจ้าข้า” พระเยซูเจ้าตรัสกับเขาว่า “ถ้าเราอยากให้เขาอยู่จนกว่าเราจะกลับมา ธุระอะไรของท่านเล่า ท่านจงตามเรามาเถิด” ดังนั้น จึงมีเรื่องที่เล่าลือกันไปทั่วในกลุ่มบรรดาพี่น้องว่าศิษย์คนนี้จะไม่ตาย แต่พระเยซูเจ้ามิได้ตรัสว่า “เขาจะไม่ตาย” แต่ตรัสว่า “ถ้าเราอยากให้เขาอยู่จนกว่าเราจะกลับมา ธุระอะไรของท่านเล่า”

นี่คือศิษย์ที่เป็นพยานถึงเรื่องราวเหล่านี้ และเขียนบันทึกไว้ พวกเรารู้ว่าคำพยานของเขานั้นเป็นความจริง ยังมีเรื่องราวอื่นๆ อีกมากมายที่พระเยซูเจ้าทรงกระทำ ซึ่งถ้าจะเขียนลงไว้ทีละเรื่องทั้งหมด ข้าพเจ้าคิดว่า โลกทั้งโลกคงไม่พอบรรจุหนังสือที่จะต้องเขียนนั้น


ยน 21:20-23 ยอห์นได้เพิ่มรายละเอียดเล็กน้อยนี้เพื่อขจัดข่าวลือที่แพร่สะพัดว่า เขาจะมีชีวิตรอดจนกว่าพระคริสตเจ้าจะเสด็จกลับมา อันที่จริงศิษย์ผู้เป็นที่รักได้ตายไปแล้ว โดยท่านได้มีชีวิตอยู่จนถึงปลายช่วงศตวรรษที่สอง แต่ท่านได้มีชีวิตยืนยาวกว่าอัครสาวกคนอื่นๆ ตามที่นักบุญอิเรเนอุสได้กล่าวไว้ (เทียบ Adversus Hære - ses, 2, 22, 5; 3, 3, 4) ตามความเชื่อจากธรรมประเพณี ยอห์นเป็นเพียงอัครสาวกเพียงคนเดียวที่ไม่ได้สิ้นชีวิตแบบมรณสักขี อย่างไรก็ตามบรรดาปิตาจารย์แห่งพระศาสนจักรได้ถือว่ายอห์นเป็นมรณสักขีด้วย เนื่องจากท่านได้รับการเบียดเบียนและการทรมานอย่างรุนแรงจากเงื้อมมือของชาวโรมัน อีกทั้งมีรายงานว่าท่านถูกโยนลงไปในหม้อน้ำมันเดือด แต่ท่านก็รอดชีวิตมาได้อย่างปาฏิหาริย์   

พระชนมชีพทั้งหมดของพระคริสตเจ้าเป็นพระธรรมล้ำลึก

  CCC ข้อ 515 พระวรสารเขียนขึ้นโดยคนรุ่นแรกๆ ที่เข้ามารับความเชื่อ และต้องการแบ่งปันความเชื่อนี้แก่ผู้อื่น เมื่อเขารู้โดยอาศัยความเชื่อว่าพระเยซูเจ้าคือใครแล้ว เขาก็อาจแลเห็นและช่วยให้ผู้อื่นลเห็นร่องรอยพระธรรมล้ำลึกเกี่ยวกับพระองค์ในพระชนมชีพบนแผ่นดินนี้ของพระองค์ได้ชัดเจน ทุกสิ่งทุกอย่างในพระชนมชีพของพระเยซูเจ้า ทุกสิ่งทุกอย่าง นับตั้งแต่ผ้าอ้อมที่หุ้มห่อพระวรกายเพื่อทรงสมภพ จนถึงน้ำองุ่นเปรี้ยวเมื่อทรงรับทรมาน ผ้าห่อพระศพในพระคูหา เมื่อทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว ล้วนเป็นเครื่องหมายถึงพระธรรมล้ำลึกของพระองค์ พระภารกิจและการอัศจรรย์ที่ทรงกระทำ พระวาจาที่ตรัสล้วนเปิดเผยว่า “ในพระองค์นั้น พระเทวภาพบริบูรณ์สถิตอยู่ในสภาพมนุษย์ที่สัมผัสได้” (คส 2:9) ดังนี้ มนุษยภาพของพระองค์จึงปรากฏเป็นเสมือน “ศีลศักดิ์สิทธิ์” นั่นคือ เครื่องหมายและเครื่องมือที่พระเทวภาพของพระองค์ทรงใช้นำความรอดพ้นมาประทานแก่มนุษยชาติ และปรากฏให้เห็นในพระชนมชีพในโลกนี้ นำเราเข้าไปสัมผัสกับพระธรรมล้ำลึกที่เรามองเห็นไม่ได้ว่าทรงเป็นพระบุตรของพระเจ้าและทรงรับพันธกิจมากอบกู้มนุษยชาติให้รอดพ้น

ทำไมต้องมีศาสนบริการของพระศาสนจักร

  CCC ข้อ 878 ในที่สุด ศาสนบริการศีลศักดิ์สิทธิ์ของพระศาสนจักรยังมีลักษณะเฉพาะส่วนบุคคลด้วย ถ้าบรรดาศาสนบริกรของพระคริสตเจ้าทำงานร่วมกัน เขาก็ยังทำงานเป็นการส่วนตัวด้วย เขาแต่ละคนได้รับเรียกมาเป็นการส่วนตัว “ท่านจงตามเรามาเถิด” (ยน 21:22) เพื่อว่าในพันธกิจส่วนรวม เขาแต่ละคนจะได้เป็นพยานส่วนตัว รับผิดชอบเป็นการส่วนตัวเฉพาะพระพักตร์พระองค์ผู้ประทานพันธกิจให้เขาทำงาน “ในพระบุคคลของพระองค์” และเพื่อผู้อื่น “ข้าพเจ้าล้างท่านเดชะพระนามพระบิดา...” “ข้าพเจ้าอภัยบาปท่าน...”

  CCC ข้อ 879 ศาสนบริการศีลศักดิ์สิทธิ์ในพระศาสนจักรจึงเป็นศาสนบริการที่ทำในพระนามพระคริสตเจ้า การนี้มีลักษณะเป็นส่วนตัวและส่วนรวม ลักษณะนี้สำเร็จเป็นจริงระหว่างคณะพระสังฆราชกับพระประมุขผู้สืบตำแหน่งของนักบุญเปโตร และในความสัมพันธ์ระหว่างความรับผิดชอบด้านอภิบาลของพระสังฆราชสำหรับพระศาสนจักรท้องถิ่นของตนกับความเอาใจใส่ส่วนรวมที่คณะพระสังฆราชต้องมีต่อพระศาสนจักรสากล


ยน 21:22  จงตามเรามาเถิด : การเรียกบรรดาศิษย์ของพระคริสตเจ้านั้นแผ่ขยายมาถึงตัวเราเองด้วยเช่นเดียวกัน การเรียกให้มาเป็นศิษย์นี้รวมไปถึงผู้ที่เป็นพระสงฆ์ นักบวช และฆราวาส อย่างสอดคล้องกับสถานภาพของแต่ละคน

  CCC ข้อ 878 อ่านเพิ่มเติมด้านบน (ยน 21:20-23)


ยน 21:24-25 ยอห์นยืนยันถึงการเป็น “สาวกที่พระเยซูเจ้าทรงรัก” ดังที่เห็นได้จากพระวรสารของท่าน และอีกครั้งหนึ่งในตอนท้ายของบทก่อนหน้านั้น ยอห์นทำให้เห็นอย่างชัดเจนมากว่า ยังมีอะไรอีกมากมายที่จะบอกเกี่ยวกับชีวิตของพระคริสตเจ้า มากกว่าสิ่งที่บันทึกไว้แล้วในพระวรสารเสียอีก (เทียบ ยน 21:30)

การเทศน์สอนของบรรดาอัครสาวก......

  CCC ข้อ 76 ตามพระบัญชาขององค์พระผู้เป็นเจ้า การถ่ายทอดพระวรสารสำเร็จไปด้วยสองวิธี ได้แก่ด้วยวาจา “บรรดาอัครสาวกประกาศสอนด้วยวาจา ให้แบบฉบับและวางกฎเกณฑ์ถ่ายทอดสิ่งที่ท่านได้รับมาจากพระวาจา จากการร่วมชีวิตอย่างใกล้ชิดกับพระคริสตเจ้า และจากกิจการที่ทรงกระทำ หรือจากที่ท่านได้เรียนรู้มาจากการดลใจของพระจิตเจ้าสืบต่อมา” ด้วยข้อเขียน “บรรดาอัครสาวกและผู้อยู่ใกล้ชิดกับท่าน ซึ่งได้รับการดลใจจากพระจิตเจ้าองค์เดียวกัน ยังได้บันทึกสารเรื่องความรอดพ้นนี้ลงไว้เป็นลายลักษณ์อักษรอีกด้วย”

มีบ่อเกิดเดียวร่วมกัน....

  CCC ข้อ 80 “ธรรมประเพณีศักดิ์สิทธิ์และพระคัมภีร์จึงมีความเกี่ยวข้องและมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดเพราะทั้งสองมาจากพระเจ้าซึ่งเป็นบ่อเกิดเดียวกัน รวมเป็นหนึ่งเดียวกัน และมุ่งไปยังจุดหมายเดียวกัน” ทั้งสองทำให้พระธรรมล้ำลึกของพระคริสตเจ้าอยู่ในพระศาสนจักรและบังเกิดผลพระองค์ทรงสัญญาว่าจะประทับอยู่กับบรรดาศิษย์ “ทุกวันตลอดไปตราบจนสิ้นพิภพ” (มธ 28:20)

  CCC ข้อ 81 “พระคัมภีร์คือพระวาจาของพระเจ้าที่ได้รับการบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรโดยการดลใจของพระจิตเจ้า” “ส่วนธรรมประเพณีศักดิ์สิทธิ์ถ่ายทอดพระวาจาของพระเจ้าที่พระคริสตเจ้าและพระจิตเจ้ามอบไว้กับบรรดาอัครสาวก ให้กับผู้สืบตำแหน่งของท่านอย่างครบครัน เพื่อให้พระจิตเจ้าแห่งความจริงทรงส่องสว่างให้ท่านเหล่านั้นสามารถใช้การประกาศสั่งสอนของตนรักษาพระวาจานั้นไว้อย่างซื่อสัตย์ อธิบายและเผยแผ่ทั่วไปทุกแห่งหน”

  CCC ข้อ 82 ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าพระศาสนจักรผู้ได้รับมอบหมายให้ถ่ายทอดและอธิบายการเปิดเผยความจริง “มิได้พึ่งพระคัมภีร์อย่างเดียวเพื่อจะได้แน่ใจถึงความจริงทั้งหมดที่พระเจ้าทรงเผยให้ทราบ เราจึงต้องรับและให้ความเคารพนับถือทั้งพระคัมภีร์และธรรมประเพณีศักดิ์สิทธิ์ด้วยความจงรักภักดีและความเคารพเท่าเทียมกัน”

ธรรมประเพณีจากบรรดาอัครสาวกและธรรมประเพณีของพระศาสนจักร

  CCC ข้อ 83 ธรรมประเพณีที่เรากล่าวถึงที่นี่มาจากบรรดาอัครสาวกและถ่ายทอดเรื่องราวที่เขาเหล่านั้นได้รับมาจากคำสั่งสอนและพระแบบฉบับของพระเยซูเจ้า รวมทั้งเรื่องราวที่พระจิตเจ้าทรงสอนเขาด้วย ในความเป็นจริง บรรดาคริสตชนรุ่นแรกยังไม่มีพันธสัญญาใหม่ที่เขียนเป็นลายลักษณ์อักษร และพันธสัญญาใหม่นั้นเองก็เป็นพยานยืนยันถึงกระบวนการของธรรมประเพณีที่มีชีวิตนี้

จากธรรมประเพณีนี้ เราต้องแยกแยะ “ธรรมประเพณีต่างๆ” ที่เกี่ยวกับเทววิทยา ระเบียบปฏิบัติ พิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ และกิจศรัทธาที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาต่อมาของพระศาสนจักรท้องถิ่นต่างๆ ทุกสิ่งเหล่านี้เป็นรูปแบบเฉพาะที่ “ธรรมประเพณี” ใหญ่รับมาเพื่อปรับตัวให้เข้ากับสถานที่และเวลาที่แตกต่างกัน เมื่อพิจารณาถึงธรรมประเพณีใหญ่นี้โดยมีผู้มีอำนาจสอนของพระศาสนจักรคอยแนะนำ ธรรมประเพณีหลากหลายเหล่านี้อาจได้รับการเก็บรักษาไว้ ปรับปรุงเปลี่ยนแปลง หรือแม้แต่ทิ้งไปเลยด้วย

  CCC ข้อ 515 อ่านเพิ่มเติมด้านบน (ยน 21:20-23)

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)