แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอาทิตย์ที่ 6 เทศกาลปัสกา

พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญยอห์น (ยน 14:23-29)                                                                                                     

เวลานั้น พระเยซูเจ้าตรัสตอบว่า “ผู้ใดรักเรา ผู้นั้นจะปฏิบัติตามวาจาของเรา พระบิดาของเราจะทรงรักเขา พระบิดาจะเสด็จพร้อมกับเรามาหาเขา จะทรงพำนักอยู่กับเขา ผู้ที่ไม่รักเรา ก็ไม่ปฏิบัติตามวาจาของเรา วาจาที่ท่านได้ยินนี้ไม่ใช่วาจาของเรา แต่เป็นของพระบิดา ผู้ทรงส่งเรามา เราบอกสิ่งเหล่านี้ให้ท่านฟัง ขณะที่เรายังอยู่กับท่าน แต่พระผู้ช่วยเหลือคือพระจิตเจ้า ที่พระบิดาจะทรงส่งมาในนามของเรานั้นจะทรงสอนท่านทุกสิ่ง และจะทรงให้ท่านระลึกถึงทุกสิ่งที่เราเคยบอกท่าน เรามอบสันติสุขไว้ให้ท่านทั้งหลาย เราให้สันติสุขของเรากับท่าน เราให้สันติสุขกับท่าน ไม่เหมือนที่โลกให้ ใจของท่านอย่าหวั่นไหว หรือมีความกลัวเลย ท่านได้ยินที่เราบอกกับท่านแล้วว่า เรากำลังจะไป และเราจะกลับมาหาท่านทั้งหลาย ถ้าท่านรักเรา ท่านคงยินดีที่เรากำลังไปเฝ้าพระบิดา เพราะพระบิดาทรงยิ่งใหญ่กว่าเรา และบัดนี้เราได้บอกท่านทั้งหลายก่อนที่เหตุการณ์จะเกิดขึ้น เพื่อว่าเมื่อเหตุการณ์เกิดขึ้นแล้ว ท่านจะเชื่อ” 


ยน 14:22-23  โลกรู้จักพระคริสตเจ้าก็จริง แต่ผู้รู้จักพระคริสตเจ้าอย่างใกล้ชิดนั้นคือผู้ตอบรับพระองค์ด้วยความรัก พระองค์ทรงเป็นความไพบูลย์ของการเปิดเผยของพระเจ้า และด้วยแสงสว่างแห่งความเชื่อเราสามารถเข้าใจถึงความจริงแห่งความเป็นพระเจ้าของพระองค์ได้  ยูดาส มิใช่ยูดาส อิสคาริโอท : พระวรสารฉบับอื่นใส่ชื่อว่ายูดาส อัครสาวกหรือธัดเดอัส เพื่อแยกแยะว่าเขาไม่ใช่ยูดาส ผู้ทรยศ  

พระราชกิจของพระเจ้าและพันธกิจของพระตรีเอกภาพ  

CCC ข้อ 260 จุดประสงค์สูงสุดของแผนการณ์กอบกู้ทั้งหมดของพระเจ้าคือการที่สิ่งสร้างทั้งปวงเข้ามารวมเป็นหนึ่งเดียวกับพระตรีเอกภาพอย่างสมบูรณ์ แต่ทว่าตั้งแต่บัดนี้แล้วเราได้รับเรียกมาให้พระตรีเอกภาพประทับอยู่ด้วย เพราะองค์พระผู้เป็นเจ้าตรัสว่า “ผู้ใดรักเรา ผู้นั้นจะปฏิบัติตามวาจาของเรา พระบิดาของเราจะทรงรักเขา พระบิดาจะเสด็จพร้อมกับเรามาหาเขา จะทรงพำนักอยู่กับเขา” (ยน 14:23)

“ข้าแต่พระเจ้าของข้าพเจ้า พระตรีเอกภาพที่ข้าพเจ้ากราบนมัสการ โปรดช่วยข้าพเจ้าให้ลืมตนเองอย่างสมบูรณ์เพื่อจะวางตนในพระองค์ได้อย่างมั่นคงและมั่นใจประหนึ่งว่าวิญญาณข้าพเจ้าอยู่ในนิรันดรภาพแล้ว ขออย่าให้สิ่งใดมารบกวนสันติของข้าพเจ้าและดึงข้าพเจ้าไปจากพระองค์ ข้าแต่พระเจ้าของข้าพเจ้าผู้ไม่ทรงเปลี่ยนแปลง แต่ขอให้เวลาทุกขณะนำข้าพเจ้าเข้าในพระธรรมล้ำลึกของพระองค์ลึกซึ้งยิ่งขึ้น โปรดบันดาลให้วิญญาณข้าพเจ้าอยู่ในสันติ โปรดให้วิญญาณข้าพเจ้าเป็นสวรรค์ของพระองค์ เป็นที่ประทับซึ่งทรงรักของพระองค์ เป็นที่พักผ่อนของพระองค์ โปรดอย่าให้ข้าพเจ้าทอดทิ้งพระองค์ไว้โดดเดี่ยวที่นั่นเลย แต่ขอให้ข้าพเจ้าอยู่ที่นั่นกับพระองค์อย่างสมบูรณ์ ให้ข้าพเจ้าตื่นเฝ้าพระองค์อย่างสมบูรณ์ด้วยความเชื่อ กราบนมัสการพระองค์อย่างสมบูรณ์ มอบตนเองให้ทรงเนรมิตสร้างอย่างสมบูรณ์”    

การกลับคืนพระชนมชีพเป็นเหตุการณ์โลกุตระ (transcendent event)

CCC ข้อ 647 เพลงประกาศสมโภชปัสกาคืนวันเสาร์ศักดิ์สิทธิ์ที่ขึ้นต้นเป็นภาษาละตินว่า “Exsultet”ขับร้องว่า “คืนนี้ช่างเป็นคืนแสนสุขแท้ เป็นคืนเดียวที่ได้รับพระพรให้รู้กำหนดเวลาที่พระคริสตเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพจากแดนผู้ตาย” อันที่จริง ไม่มีผู้ใดเป็นพยานที่เห็นการกลับคืนพระชนมชีพโดยตรงและไม่มีผู้นิพนธ์พระวรสารท่านใดกล่าวถึงรายละเอียดของเหตุการณ์นี้ ไม่มีผู้ใดกล่าวได้ว่าพระคริสตเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพอย่างไร ประสาทสัมผัสของเรายิ่งไม่อาจเข้าถึงสาระสำคัญที่สุดของเหตุการณ์นี้ คือการผ่านไปยังชีวิตอีกแบบหนึ่งได้เลย การกลับคืนพระชนมชีพเป็นเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่เห็นได้จากเครื่องหมายที่ว่าพระคูหาว่างเปล่าและบรรดาอัครสาวกพบพระคริสตเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพได้แล้วจริงๆ ถึงกระนั้น เหตุการณ์นี้ก็ยังอยู่เหนือและยิ่งใหญ่กว่าประวัติศาสตร์ ยังคงเป็นหัวใจของธรรมล้ำลึกแห่งความเชื่ออยู่ต่อไป เพราะเหตุนี้  พระคริสตเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้วจึงไม่ทรงสำแดงพระองค์แก่โลก แต่ทรงสำแดงพระองค์แก่บรรดาศิษย์ “แก่ผู้ที่เดินทางจากแคว้นกาลิลีมายังกรุงเยรูซาเล็มพร้อมกับพระองค์ และบัดนี้เขาทั้งหลายเป็นพยานยืนยันถึงพระองค์ต่อหน้าประชาชน” (กจ 13:31)    

พระเยซูเจ้าทรงสอนให้อธิษฐานภาวนา

CCC ข้อ 2615 ยิ่งกว่านั้น เมื่อการอธิษฐานภาวนาของเรารวมกับการอธิษฐานภาวนาของพระเยซูเจ้าแล้ว พระบิดายังประทาน “ผู้ช่วยเหลืออีกองค์หนึ่ง […] เพื่อจะอยู่กับท่านตลอดไป คือพระจิตแห่งความจริง” (ยน 14:16-17) มิติใหม่ประการนี้ของการอธิษฐานภาวนาและเงื่อนไขปรากฏให้เห็นอยู่ตลอดคำปราศรัยอำลาของพระเยซูเจ้า ในพระจิตเจ้า การอธิษฐานภาวนาของคริสตชนเป็นความสัมพันธ์ความรักกับพระบิดา ไม่เพียงผ่านทางพระคริสตเจ้าเท่านั้น แต่ยังในพระองค์อีกด้วย “จนถึงบัดนี้ ท่านยังไม่ได้ขอสิ่งใดในนามของเราเลย จงขอเถิด แล้วท่านจะได้รับ เพื่อความยินดีของท่านจะสมบูรณ์” (ยน 16:24)    


ยน 14:23  เราจะ... พำนักอยู่กับเขา : ผู้รักพระคริสตเจ้าและปฏิบัติพระบัญญัติของพระองค์ พระตรีเอกภาพจะพำนักอยู่ในวิญญาณของเขาโดยทางพระหรรษทาน ด้วยเหตุผลนี้เองร่างกายของเราจึงถูกเรียกว่าพระวิหารของพระจิตเจ้า   

CCC ข้อ 260 (ดูเพิ่มเติมด้านบน ยน 14:22-23)   

CCC ข้อ 2615 (ดูเพิ่มเติมด้านบน ยน 14:22-23)      


ยน 14:26  ห้าสิบวันหลังจากการกลับคืนพระชนมชีพจากความตายของพระคริสตเจ้า พระจิตเจ้าได้เสด็จมาเหนือบรรดาอัครสาวกในวันเปนเตกอสเต พระองค์ทรงส่องสว่างบรรดาอัครสาวก สั่งสอนพวกเขาเกี่ยวกับทุกสิ่งที่พวกเขายังเข้าใจไม่ชัดเจนในระหว่างการปฏิบัติศาสนบริการของพระคริสตเจ้า ประทานพละกำลังแก่พวกเขาในอธิบายและเทศน์สอนพระวาจาของพระเจ้า ประทานความอดทนและกำลังใจในการเผชิญหน้ากับการเบียดเบียนและความยากลำบาก อำนาจสั่งสอนของพระศาสนจักรอยู่ภายใต้การนำของพระจิตเจ้า ดังนั้นพระวรสารของพระคริสตเจ้าที่ถูกเทศน์สอนจึงสอดคล้องกับพระดำริของพระองค์โดยปราศจากความผิดพลั้งใดๆ สำหรับทุกยุคทุกสมัย โดยทางพระศาสนจักรพระจิตเจ้าทรงทำให้พระคริสตเจ้าประทับอยู่และทำให้การพลีบูชาแห่งความรอดพ้นในพิธีกรรมกลับกลายเป็นจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในศีลมหาสนิท    

อำนาจสอนของพระศาสนจักร (Magisterium Ecclesiae)

CCC ข้อ 85 “หน้าที่ที่จะตีความหมายพระวาจาของพระเจ้าที่บันทึกไว้และที่ได้รับถ่ายทอดต่อกันมาทางวาจาได้อย่างถูกต้องนั้น พระศาสนจักรผู้มีอำนาจสอนเท่านั้นได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่นี้ และใช้อำนาจนี้ในพระนามของพระเยซูคริสตเจ้า” ซึ่งได้แก่พระสังฆราชที่มีความสัมพันธ์กับพระสังฆราชแห่งกรุงโรมผู้สืบตำแหน่งของนักบุญเปโตร     

CCC ข้อ 86 “อำนาจสั่งสอนนี้มิได้อยู่เหนือพระวาจาของพระเจ้า แต่รับใช้พระวาจา สอนแต่ความจริงที่ได้รับถ่ายทอดมา ในฐานะที่ความจริงนี้ได้รับมอบมาจากพระเจ้าโดยมีพระจิตเจ้าทรงช่วยเหลือ ผู้มีอำนาจสอนจึงต้องรับฟังพระวาจาด้วยความศรัทธา เก็บรักษาพระวาจาไว้ด้วยความเคารพ และอธิบายพระวาจาด้วยความซื่อสัตย์ และตักตวงเอาความจริงทุกข้อจากคลังแห่งความเชื่อหนึ่งเดียวนี้มาแสดงให้เห็นว่าเป็นข้อความจริงที่พระเจ้าทรงเผยให้เราต้องเชื่อ”    

CCC ข้อ 87 บรรดาผู้มีความเชื่อซึ่งระลึกถึงพระวาจาที่พระคริสตเจ้าตรัสกับบรรดาอัครสาวกว่า “ผู้ใดฟังท่าน ผู้นั้นฟังเรา” (ลก 10:16) ยอมรับคำสั่งสอนและกฎเกณฑ์ที่บรรดาผู้อภิบาลมอบให้เขาในรูปแบบต่างๆ อย่างว่านอนสอนง่าย   

พระจิตเจ้าทรงเปิดเผยพระบิดาและพระบุตร 

CCC ข้อ 243 ก่อนฉลองปัสกา พระเยซูเจ้าทรงแจ้งให้บรรดาสาวกรู้ว่าพระองค์จะทรงส่ง “พระผู้บรรเทา” (หรือ “พระผู้แก้ต่าง”) มา คือพระจิตเจ้า พระจิตเจ้าพระองค์นี้ซึ่งทรงปฏิบัติพระภารกิจตั้งแต่ทรงเนรมิตสร้างโลกแล้ว หลังจากนั้นยัง “ดำรัสทางประกาศก” บัดนี้พระจิตเจ้าจะประทับอยู่กับและในบรรดาศิษย์ เพื่อทรงสอนพวกเขา และนำเขา “ไปสู่ความจริงทั้งมวล” (ยน 16:13) ดังนั้น พระจิตเจ้าจึงทรงเป็นอีกพระบุคคลหนึ่งที่ทรงได้รับการเปิดเผยว่าทรงมีความสัมพันธ์กับพระเยซูเจ้าและกับพระบิดา    

CCC ข้อ 244 จุดเริ่มนิรันดรของพระจิตเจ้าได้รับการเปิดเผยจากการที่พระองค์ท่านถูกส่งมาในกาลเวลา พระบิดาทรงส่งพระจิตเจ้ามายังบรรดาอัครสาวกและพระศาสนจักรในพระนามของพระบุตรและจากองค์พระบุตรโดยตรงหลังจากที่พระบุตรเสด็จกลับไปหาพระบิดาแล้ว การส่งพระบุคคลของพระจิตเจ้าลงมาหลังจากที่พระเยซูเจ้าทรงได้รับพระสิริรุ่งโรจน์แล้วเป็นการเปิดเผยพระธรรมล้ำลึกเรื่องพระตรีเอกภาพโดยสมบูรณ์    

การเปิดเผยจากพระจิตเจ้า

CCC ข้อ 263 พันธกิจของพระจิตเจ้า ซึ่งพระบิดาทรงส่งมาในพระนามของพระบุตรและพระบุตรทรงส่งมา “จากพระบิดา” (ยน 15:26) คือทรงเปิดเผยว่าทรงเป็นพระเจ้าหนึ่งเดียวกันกับ พระบิดาและพระบุตร “ทรงรับการถวายสักการะและพระสิริรุ่งโรจน์ร่วมกับพระบิดาและพระบุตร”   

พระเยซูคริสตเจ้า

CCC ข้อ 729 เมื่อถึงเวลาที่พระเยซูเจ้าจะทรงรับพระสิริรุ่งโรจน์เท่านั้น พระองค์ทรงสัญญาว่าพระจิตเจ้าจะเสด็จมา ทั้งนี้ก็เพราะว่าการสิ้นพระชนม์และการกลับคืนพระชนมชีพจะเป็นการทำให้พระสัญญาแก่บรรดาบรรพบุรุษเป็นความจริง พระบิดาจะประทานพระจิตแห่งความจริง “พระผู้ช่วยเหลือ” (Parakletos) อีกองค์หนึ่งตามคำอธิษฐานของพระเยซูเจ้า พระบิดาจะประทานพระองค์ในพระนามของพระเยซูเจ้า พระเยซูเจ้าจะทรงส่งพระองค์มาจากพระบิดา เพราะพระองค์ทรงสืบเนื่องมาจากพระบิดา พระจิตเจ้าจะเสด็จมา เราจะรู้จักพระองค์ พระองค์จะอยู่กับเราตลอดไป จะทรงพำนักอยู่กับเรา จะทรงสอนทุกสิ่งแก่เรา และจะทรงช่วยให้เราระลึกถึงทุกสิ่งที่พระเยซูเจ้าได้ตรัสไว้และจะทรงเป็นพยานถึงพระองค์ พระจิตเจ้าจะทรงนำเราไปพบความจริงทุกข้อและจะทรงบันดาลให้พระคริสตเจ้าทรงรับพระสิริรุ่งโรจน์ พระองค์จะทรงแสดงให้โลกเห็นความหมายของบาป ของความถูกต้อง และของการตัดสิน    

พระจิตเจ้าทรงเชิญชวนให้ระลึกถึงพระธรรมล้ำลึกของพระคริสตเจ้า

CCC ข้อ 1099 พระจิตเจ้าและพระศาสนจักรร่วมงานด้วยกันเพื่อให้พระคริสตเจ้าและผลงานไถ่กู้ของพระองค์ปรากฏในพิธีกรรม พิธีกรรมเป็นการระลึกถึงพระธรรมล้ำลึกแห่งความรอดพ้น โดยเฉพาะพิธีบูชาขอบพระคุณ และคล้ายๆ กันในศีลศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ ด้วย พระจิตเจ้าผู้ทรงชีวิตทรงให้พระศาสนจักรระลึกถึงทุกสิ่งที่พระคริสตเจ้าทรงกระทำไว้     

CCC ข้อ 1100 พระวาจาของพระเจ้า ก่อนอื่น พระจิตเจ้าทรงปลุกชุมชนที่ประกอบพิธีกรรมให้ระลึกถึงเหตุการณ์การไถ่กู้ ประทานชีวิตแก่พระวาจาที่รับการประกาศให้เป็นที่ยอมรับและถูกนำมาใช้ในชีวิต “พระคัมภีร์มีความสำคัญอย่างยิ่งในการประกอบพิธีกรรม เพราะพระคัมภีร์เป็นที่มาของบทอ่านที่อ่านและอธิบายในบทเทศน์ และของเพลงสดุดีที่ใช้ขับร้อง คำอธิษฐานภาวนา บทวอนขอ และบทเพลงสรรเสริญในพิธีกรรม ล้วนได้รับแรงบันดาลใจและเจตนารมณ์จากพระคัมภีร์ทั้งสิ้น กิจกรรมและสัญลักษณ์ต่างๆ ในพิธีกรรมก็ได้รับความหมายมาจากพระคัมภีร์ด้วย”    

CCC ข้อ 1101 พระจิตเจ้าประทานความเข้าใจพระวาจาของพระเจ้าด้านจิตใจแก่ผู้อ่านและผู้ฟังตามสภาพจิตใจของเขา อาศัยถ้อยคำ การกระทำและสัญลักษณ์ที่รวมกันเป็นโครงสร้างของการประกอบพิธีกรรม พระจิตเจ้าทรงจัดให้บรรดาผู้มีความเชื่อและศาสนบริกรมีความสัมพันธ์ที่มีชีวิตกับพระคริสตเจ้า พระวจนาตถ์และภาพลักษณ์ของพระบิดา เพื่อความหมายของสิ่งต่างๆ ที่เขาได้ฟัง ได้พิจารณาและกระทำในการประกอบพิธีจะได้ซึมซาบเข้าไปในชีวิต

การประกอบพิธีศีลสมรส    

CCC ข้อ 1623 ธรรมประเพณีของพระศาสนจักรละตินเข้าใจว่าคู่สมรส ในฐานะศาสนบริกรพระหรรษทานของพระคริสตเจ้า เป็นผู้ประกอบพิธีศีลสมรสแก่กันเมื่อแสดงความสมัครของตนต่อหน้าพระศาสนจักร ส่วนในธรรมประเพณีของพระศาสนจักรจารีตตะวันออก พระสงฆ์ – พระสังฆราชหรือพระสงฆ์ – เป็นพยานถึงการแสดงความสมัครใจที่คู่สมรสแสดงให้เห็น แต่การอวยพรจากพระสงฆ์หรือพระสังฆราชก็จำเป็นด้วยเพื่อให้พิธีมีผลใช้บังคับ    


ยน 14:27-31  พระคริสตเจ้าประทานสันติสุขเหนือสันติสุขใดๆ ที่โลกสามารถให้ได้ ซึ่งไม่เป็นเพียงแค่การไร้ซึ่งสงครามหรือการรุกรานเท่นั้น แต่เป็นการประทานพละกำลังและความเบิกบานใจของพระเจ้าให้อย่างต่อเนื่อง  เราทำ... เรารักพระบิดา : การนอบน้อมเชื่อฟังพระบัญญัติของพระเจ้าเป็นการทดสอบถึงความรักต่อพระบิดาเจ้า  

พระชนมชีพทั้งหมดของพระคริสตเจ้าเป็นของถวายแด่พระบิดา   

CCC ข้อ 606 พระบุตรของพระเจ้าซึ่งเสด็จลงมาจากสวรรค์ไม่ใช่เพื่อปฏิบัติตามพระทัยของพระองค์เอง แต่เพื่อปฏิบัติตามพระทัยของพระผู้ทรงส่งพระองค์มา “เมื่อเสด็จมาในโลกตรัสว่า […] ข้าพเจ้ามาเพื่อปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระองค์ […] โดยพระประสงค์นี้เอง เราทั้งหลายได้รับความศักดิ์สิทธิ์เดชะการถวายพระวรกายของพระองค์เป็นการบูชาที่พระเยซูคริสตเจ้าทรงกระทำแต่เพียงครั้งเดียวโดยมีผลตลอดไป” (ฮบ 10:5-10) นับตั้งแต่วาระแรกที่ทรงรับสภาพมนุษย์ พระบุตรทรงรับเอาแผนการไถ่กู้ของพระเจ้ามาเป็นพันธกิจของพระองค์ “อาหารของเราคือการทำตามพระประสงค์ของพระผู้ทรงส่งเรามา และการประกอบภารกิจของพระองค์ให้สำเร็จลุล่วงไป” (ยน 4:34) การถวายบูชาของพระเยซูเจ้า “เพื่อ(ชดเชยบาปของมนุษย์)ทั้งโลกด้วย” (1 ยน 2:2) จึงเป็นการแสดงถึงความสัมพันธ์ความรักของพระองค์กับพระบิดา “พระบิดาทรงรักเราเพราะเราสละชีวิตของเรา” (ยน 10:17) “โลกจะต้องรู้ว่ารักพระบิดาและรู้ว่าพระบิดาทรงบัญชาให้เราทำอย่างไร เราก็ทำอย่างนั้น”(ยน 14:31)   

สันติภาพ 

CCC ข้อ 2305 สันติภาพในโลกนี้เป็นภาพและผลของสันติภาพของพระคริสตเจ้า ผู้ทรงเป็น “เจ้าแห่งสันติ” (อสย 9:5) ของพระเมสสิยาห์ เดชะพระโลหิตที่ทรงหลั่งบนไม้กางเขน พระองค์ทรงขจัดการเป็นศัตรูกันเดชะพระองค์ ทรงทำให้มนุษย์คืนดีกับพระเจ้าและทรงบันดาลให้พระศาสนจักรเป็นศีลศักดิ์สิทธิ์แห่งเอกภาพของมนุษยชาติและความสัมพันธ์ของเขากับพระเจ้า “พระองค์คือสันติของเรา” (อฟ 2:14) และทรงประกาศว่า “ผู้สร้างสันติย่อมเป็นสุข” (มธ 5:9)    


ยน 14:28  พระบิดาทรงยิ่งใหญ่กว่าเรา : พระคริสตเจ้าทรงกล่าวอ้างอิงถึงพระธรรมชาติมนุษย์ของพระองค์ ในฐานะพระบุคคลหนึ่งในพระตรีเอกภาพ พระองค์ทรงเท่าเสมอกับพระเจ้าและทรงเป็นพระเจ้าด้วย ในฐานะมนุษย์แท้พระองค์สิ้นพระชนม์และกลับคืนพระชนมชีพจากความตายเพื่อจะเสด็จสู่สวรรค์ยังพระบิดาเจ้า สูตรประกาศความเชื่อโบราณฉบับอาธานาเซียนยืนยันว่าพระคริสตเจ้า “ทรงเท่าเสมอกับพระบิดาในพระธรรมชาติพระเจ้าของพระองค์ แต่น้อยกว่าพระบิดาในพระธรรมชาติมนุษย์ของพระองค์”      

พระตรีเอกภาพ

CCC ข้อ 266 “ความเชื่อคาทอลิกคือ เรากราบนมัสการพระเจ้าหนึ่งเดียวในพระตรีเอกภาพ และกราบนมัสการพระตรีเอกภาพในเอกภาพ โดยไม่นำพระบุคคลทั้งสามมาปะปนกัน และไม่แยก พระธรรมชาติ(หนึ่งเดียวของทั้งสามพระบุคคล) พระบุคคลของพระบิดาไม่ใช่พระบุคคลของพระบุตรและของพระจิตเจ้า แต่พระบิดา พระบุตรและพระจิตเจ้าทรงมีพระธรรมชาติพระเจ้าหนึ่งเดียวกัน ทรงพระสิริรุ่งโรจน์เท่ากัน และทรงพระมหิทธิภาพนิรันดรร่วมกัน”    

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)