แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอังคาร สัปดาห์ที่ 4 เทศกาลปัสกา

พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญยอห์น (ยน 10:22-30)                                

เวลานั้นเป็นเทศกาลฉลองพระวิหารที่กรุงเยรูซาเล็ม และเป็นฤดูหนาว พระเยซูเจ้าทรงพระดำเนินอยู่ในพระวิหารที่เฉลียงซาโลมอน ชาวยิวมาล้อมพระองค์ไว้ ทูลว่า “ท่านจะปล่อยให้ใจของพวกเราสงสัยอยู่นานเท่าใด ถ้าท่านเป็นพระคริสตเจ้า ก็จงบอกพวกเราให้ชัดเจนเถิด”

พระเยซูเจ้าตรัสตอบเขาว่า “เราบอกท่านทั้งหลายแล้วแต่ท่านไม่เชื่อ กิจการที่เราทำในนามของพระบิดาของเราก็เป็นพยานให้เรา แต่ท่านไม่เชื่อ เพราะท่านไม่ใช่แกะของเรา แกะของเราย่อมฟังเสียงของเรา เรารู้จักมัน และมันก็ตามเรา เราให้ชีวิตนิรันดรแก่แกะเหล่านั้น และมันจะไม่พินาศเลยตลอดนิรันดร ไม่มีใครแย่งชิงแกะเหล่านั้นไปจากมือเราได้ พระบิดาของเรา ผู้ประทานแกะเหล่านี้ให้เรา ทรงยิ่งใหญ่กว่าทุกคน และไม่มีใครแย่งชิงไปจากพระหัตถ์ของพระบิดาได้ เรากับพระบิดาเป็นหนึ่งเดียวกัน”


ยน 10:22-30 เทศกาลฉลองพระวิหารหรือฮานุกกะห์ ถือเป็นการถวายพระวิหารใหม่อีกครั้งหนึ่งโดยยูดาส มัคคาบี หลังจากได้ถูกทำลายโดยอันทิโอคัส เอปีฟาเนสที่ 4 ผู้นำของชาวเฮลเลนิสต์ (เทียบ 1 มคบ 4: 36-59; 2 มคบ 10: 1-8)  บอกพวกเราให้ชัดเจนเถิด : พระเยซูเจ้าทรงค่อนข้างระมัดระวังในการเปิดเผยตัวตนของพระองค์ในฐานะพระเมสสิยาห์ต่อพวกศัตรูของพระองค์ โดยทรงปรารถนาจะกระทำภารกิจในการเทศน์สอนของพระองค์ให้สำเร็จ ก่อนที่พระองค์จะต้องรับทรมานและตรึงกางเขน 

เครื่องหมายพระอาณาจักรของพระเจ้า

  CCC ข้อ 548 เครื่องหมายอัศจรรย์ที่พระเยซูเจ้าทรงกระทำเป็นพยานยืนยันว่าพระบิดาทรงส่งพระองค์มา เครื่องหมายอัศจรรย์เหล่านี้เชิญชวนให้ทุกคนมีความเชื่อในพระองค์ พระองค์โปรดให้ผู้ที่มีความเชื่อในพระองค์ได้รับตามที่ขอ อัศจรรย์จึงเสริมความเชื่อต่อพระองค์ผู้ทรงทำกิจการของพระบิดา กิจการเหล่านี้เป็นพยานยืนยันว่าพระองค์ทรงเป็นพระบุตรของพระเจ้า แต่อัศจรรย์เหล่านี้ก็อาจเป็นโอกาสความแคลงใจได้เหมือนกัน อัศจรรย์เหล่านี้ไม่มีเจตนาตอบสนองความมักรู้มักเห็นหรือความอยากดูมายากล แม้ทรงทำอัศจรรย์ที่ชัดเจนเช่นนี้แล้ว หลายคนก็ยังไม่ยอมรับพระองค์ และยังทรงถูกกล่าวหาว่าทรงทำเช่นนี้อาศัยอำนาจของปีศาจ

พระเยซูเจ้าและธรรมบัญญัติ

  CCC ข้อ 582 ยิ่งกว่านั้น พระเยซูเจ้ายังทรงปฏิรูปกฎเกี่ยวกับเรื่องอาหารมีมลทินหรือไม่มีมลทิน ที่เป็นเรื่องสำคัญในชีวิตประจำวันของชาวยิว ให้สมบูรณ์ขึ้น โดยทรงอธิบายความหมายในมุมมองของความเป็นเหมือน “ครูพี่เลี้ยง” ของกฎเหล่านี้ “สิ่งต่างๆ จากภายนอกที่เข้าไปในมนุษย์นั้นทำให้เขาเป็นมลทินไม่ได้ […] – ดังนี้ ทรงประกาศว่าอาหารทุกชนิดไม่เป็นมลทิน พระองค์ยังตรัสอีกว่า สิ่งที่ออกจากภายในมนุษย์นั้นแหละทำให้เขามีมลทิน จากภายใน คือจากใจมนุษย์นั้นเป็นที่มาของความคิดชั่วร้าย” (มก 7:18-21) พระเยซูเจ้าซึ่งทรงใช้อำนาจพระเจ้าอธิบายความหมายสุดท้ายของกฎเกณฑ์ต่างๆ จึงทรงขัดแย้งกับนักกฎหมายบางคนที่ไม่ยอมรับการอธิบายของพระองค์ ทั้งๆ ที่พระองค์ทรงทำเครื่องหมายอัศจรรย์เพื่อยืนยันพระวาจาที่ทรงสั่งสอน การเช่นนี้เห็นได้ชัดเป็นพิเศษในปัญหาเรื่องวันสับบาโต หลายครั้งพระเยซูเจ้าทรงใช้เหตุผลของบรรดาธรรมาจารย์เอง เพื่อชี้ให้เห็นว่าการรับใช้พระเจ้าและเพื่อนมนุษย์ไม่เป็นการผิดพระบัญญัติให้หยุดพักในวันสับบาโต เพราะพระองค์ทรงรักษาโรคในวันสับบาโต

  CCC ข้อ 583 เช่นเดียวกับบรรดาประกาศกที่มาก่อนหน้าพระองค์ พระเยซูเจ้าทรงแสดงความเคารพอย่างลึกซึ้งต่อพระวิหารที่กรุงเยรูซาเล็ม ที่นั่น โยเซฟและพระนางมารีย์นำพระองค์ไปถวายหลังจากทรงสมภพได้สี่สิบวัน เมื่อทรงพระชนมายุสิบสองพรรษาพระองค์ทรงตัดสินพระทัยค้างอยู่ในพระวิหารเพื่อทรงเตือนบิดามารดาให้ระลึกว่าพระองค์จำเป็นต้องทำธุรกิจของ พระบิดา ทุกปีในช่วงเวลาที่ทรงพระชนมชีพซ่อนเร้น พระองค์เสด็จขึ้นไปที่นั่นอย่างน้อยในเทศกาลปัสกา ช่วงเวลาที่ทรงเทศน์สอนประชาชนดูเหมือนจะถูกกำหนดโดยช่วงเวลาที่เสด็จขึ้นไปกรุงเยรูซาเล็มในโอกาสฉลองสำคัญของชาวยิว

พระธรรมล้ำลึก

  CCC ข้อ 593 พระเยซูเจ้าทรงให้ความเคารพต่อพระวิหาร เสด็จขึ้นไปที่นั่นในวันสมโภชที่ชาวยิวต้องเดินทางไปร่วม และยังทรงมีความรักอย่างยิ่งต่อที่ประทับของพระเจ้าในหมู่มนุษย์แห่งนี้ พระวิหารยังแจ้งล่วงหน้าถึงพระธรรมล้ำลึกของพระองค์ พระองค์ทรงแจ้งล่วงหน้าว่าพระวิหารจะถูกทำลาย แต่การที่ทรงแจ้งล่วงหน้าเช่นนี้เป็นการแจ้งถึงการสิ้นพระชนม์ของพระองค์และการเข้าสู่ยุคใหม่ของประวัติศาสตร์ความรอดพ้น ซึ่งในยุคใหม่นี้พระกายของพระองค์จะเป็นพระวิหารสมบูรณ์ที่สุด


ยน 10: 30  เรากับพระบิดาเป็นหนึ่งเดียวกัน : คำกล่าวนี้เป็นส่วนหนึ่งของการเปิดเผยสารัตถะของพระตรีเอกภาพอย่างค่อยเป็นค่อยไปของพระคริสตเจ้า ก่อนหน้านี้พระคริสตเจ้าทรงเรียกพระเจ้าว่าเป็นพระบิดาของพระองค์ และตอนนี้ทรงยืนยันว่าพระองค์กับพระบิดาทรงเหมือนกันและเป็นหนึ่งเดียวกัน คำยืนยันนี้แสดงให้เห็นว่าพระคริสตเจ้าทรงอยู่ร่วมในความเป็นหนึ่งเดียวกับพระบิดา แม้ว่าจะเป็นพระบุคคลที่แตกต่างกัน ในงานเลี้ยงอาหารค่ำมื้อสุดท้าย พระคริสตเจ้าตรัสถึงพระจิตเจ้า ด้วยเหตุนี้จึงเป็นการเปิดเผยว่าพระเจ้าทรงเป็นพระตีเอกภาพ เราสามารถรู้ถึงหลักคำสอนเรื่องพระตรีเอกภาพนี้ได้ ก็เฉพาะแสงสว่างแห่งการเปิดเผยของพระเจ้าเท่านั้น

 

พระเยซูเจ้าและความเชื่อของอิสราเอลในพระเจ้าและพระผู้ไถ่กู้หนึ่งเดียว

  CCC ข้อ 590 ถ้าพระเยซูเจ้าทรงเป็นพระเจ้าจริงๆ เท่านั้น พระองค์จึงทรงอาจเรียกร้องได้อย่างเต็มที่ว่า “ผู้ใดไม่อยู่กับเรา ย่อมเป็นปฏิปักษ์กับเรา” (มธ 12:30) เช่นเดียวกับเมื่อตรัสว่าทรง “ยิ่งใหญ่กว่าประกาศกโยนาห์ […] ยิ่งใหญ่กว่ากษัตริย์ซาโลมอน” (มธ 12:41-42) หรือยิ่งใหญ่กว่าพระวิหาร เมื่อทรงชวนให้ระลึกว่ากษัตริย์ดาวิดทรงเรียกพระเมสสิยาห์ว่า ‘องค์พระผู้เป็นเจ้า’ ของพระองค์ เมื่อทรงยืนยันว่า “ก่อนอับราฮัมจะเกิด เราเป็น” (ยน 8:58) และยังตรัสอีกว่า “เรากับพระบิดาเป็นหนึ่งเดียวกัน” (ยน 10:30)

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)