แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันเสาร์ สัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์ คืนตื่นเฝ้า

พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญลูกา (ลก 24:1-12)                                                                                           

เวลานั้น ตั้งแต่เช้าตรู่วันต้นสัปดาห์ บรรดาสตรีนำเครื่องหอมที่เตรียมไว้มาที่พระคูหา เขาพบว่าก้อนหินถูกกลิ้งออกไปจากพระคูหาแล้ว เมื่อเข้าไปในพระคูหาก็ไม่พบพระศพของพระเยซู องค์พระผู้เป็นเจ้า ขณะที่บรรดาสตรีประหลาดใจกับเหตุการณ์นี้ บุรุษสองคนสวมเสื้อที่เป็นประกายรุ่งโรจน์ยืนอยู่ใกล้ๆ สตรีเหล่านั้นตกใจกลัวและก้มหน้าลงมองพื้นดิน แต่บุรุษทั้งสองคนพูดว่า “ทำไมท่านมองหาผู้เป็นในหมู่ผู้ตายเล่า พระองค์มิได้ประทับอยู่ที่นี่ พระองค์ทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว จงระลึกถึงพระวาจาที่พระองค์ตรัสกับท่านขณะที่ยังประทับอยู่ในแคว้นกาลิลีว่า บุตรแห่งมนุษย์จำต้องถูกมอบในมือของคนบาป จะต้องถูกตรึงกางเขนและจะกลับคืนพระชนมชีพในวันที่สาม” บรรดาสตรีจึงระลึกถึงพระวาจาของพระองค์ได้ 

เมื่อกลับจากพระคูหาแล้ว บรรดาสตรีเล่าเรื่องทั้งหมดนี้ให้อัครสาวกสิบเอ็ดคนและศิษย์ทุกคน สตรีเหล่านี้คือมารีย์ชาวมักดาลา โยอันนา และมารีย์มารดาของยากอบ สตรีอื่นๆ ที่ไปพร้อมกันก็ได้เล่าเรื่องนี้ให้อัครสาวกฟังด้วย แต่เขาคิดว่าถ้อยคำเหล่านี้เป็นเรื่องเหลวไหลและไม่เชื่อ

เปโตรวิ่งไปที่พระคูหา ก้มลงดู เห็นแต่ผ้าห่อพระศพเท่านั้น จึงกลับมาบ้านและประหลาดใจในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น


ลก 24:1  วันต้นสัปดาห์ : ด้วยเหตุที่พระคริสตเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพในวันแรกของสัปดาห์ (วันอาทิตย์) การกลับคืนชีพของพระองค์จึงทำให้รำลึกถึงการเนรมิตสร้างโลก ตั้งแต่ในสมัยแรกเริ่มแล้วที่บรรดาคริสตชนเฉลิมฉลองวันอาทิตย์เป็นวันขององค์พระผู้เป็นเจ้าและเป็นวันที่คริสตชนทำพิธีนมัสการพระเจ้า     

วันขององค์พระผู้เป็นเจ้า

CCC ข้อ 1166 “ตามธรรมประเพณีที่สืบเนื่องมาจากอัครสาวก และมีต้นกำเนิดจากวันที่พระคริสตเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพ พระศาสนจักรเฉลิมฉลองพระธรรมล้ำลึกปัสกาทุกวันที่แปด ซึ่งเรียกได้อย่างถูกต้องว่า ‘วันขององค์พระผู้เป็นเจ้า’ หรือ ‘วันพระ’” วันกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้าในเวลาเดียวกันยังเป็น “วันแรกของสัปดาห์” เป็นการระลึกถึงวันแรกของการเนรมิตสร้าง และ “วันที่แปด” ที่พระคริสตเจ้า หลังจากการ “พักผ่อน” ของวันหยุดยิ่งใหญ่ ทรงเริ่มวัน “ที่องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงสร้าง” (สดด 118:24) “วันไม่มีเวลาเย็น” “การเลี้ยงอาหารค่ำขององค์พระผู้เป็นเจ้า” เป็นศูนย์กลางของวันนี้ เพราะในการเลี้ยงนี้ทั้งชุมชนของบรรดาผู้มีความเชื่อมาพบกับองค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพที่ทรงเชิญเขาทั้งหลายมาร่วมงานเลี้ยงของพระองค์ “วันขององค์พระผู้เป็นเจ้า วันแห่งการกลับคืนพระชนมชีพ วันของบรรดาคริสตชน เป็นวันของเรา วันนี้ถูกเรียกว่า “วันขององค์พระผู้เป็นเจ้า” เพราะในวันนี้องค์พระผู้เป็นเจ้าผู้พิชิตเสด็จขึ้นไปหาพระบิดา ถ้าบรรดาคนต่างศาสนาเรียกวันนี้ว่า “วันอาทิตย์” เราก็ยินดีเห็นด้วย เพราะแสงสว่างส่องโลกเกิดขึ้นในวันนี้ ดวงอาทิตย์แห่งความยุติธรรมซึ่งส่องรัศมีรักษาโรคให้หายได้ขึ้นมาในวันนี้”     

CCC ข้อ 1167 วันอาทิตย์เป็นวันดีที่สุดสำหรับการชุมนุมประกอบพิธีกรรม “เพื่อฟังพระวาจาของพระเจ้า และร่วมพิธีบูชาขอบพระคุณ ระลึกถึงพระทรมาน การกลับคืนพระชนมชีพและพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเยซูองค์พระผู้เป็นเจ้า และขอบพระคุณพระเจ้าผู้ทรงบันดาล ให้เราบังเกิดใหม่และมีความหวังที่จะมีชีวิตอาศัยการกลับคืนพระชนมชีพของพระเยซูคริสตเจ้าจากบรรดาผู้ตาย” “[ข้าแต่พระคริสตเจ้า] เมื่อข้าพเจ้าทั้งหลายคิดคำนึงถึงการอัศจรรย์รุ่งโรจน์และเครื่องหมายน่าพิศวงที่สำเร็จไปในวันอาทิตย์ศักดิ์สิทธิ์นี้ที่ทรงกลับคืนพระชนมชีพอย่างรุ่งโรจน์ ข้าพเจ้าทั้งหลายก็กล่าวว่า วันอาทิตย์เป็นวันที่ได้รับพระพร เพราะการเนรมิตสร้างได้เริ่มขึ้นในวันนี้.... รวมทั้งการไถ่โลก... การรื้อฟื้นมนุษยชาติขึ้นใหม่... ในวันนี้สวรรค์และแผ่นดินส่องแสงสว่างจ้าและโลกจักรวาลเต็มไปด้วยแสงสว่าง วันอาทิตย์เป็นวันที่ได้รับพระพร เพราะประตูสวรรค์ได้เปิดออกในวันนี้เพื่อให้อาดัมและทุกคนที่ถูกกันไว้เข้าไปได้โดยไม่ต้องกลัวสิ่งใด”    

วันที่ (พระคริสตเจ้า) ทรงกลับคืนพระชนมชีพ – การเนรมิตสร้างใหม่

CCC ข้อ 2174 พระเยซูเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพ “เช้าตรู่ของวันต้นสัปดาห์” (มก 16:2) ในฐานะที่เป็น “วันที่หนึ่ง” วันที่พระคริสตเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพจึงชวนให้เราคิดถึงการเนรมิตสร้างครั้งแรก ในฐานะที่ “วันที่แปด” ที่ตามหลังวันสับบาโต วันนี้จึงหมายถึงการเนรมิตสร้างครั้งใหม่ที่เริ่มขึ้นโดยการกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้า กลายเป็นวันแรกของวันทั้งหลายสำหรับคริสตชน เป็น “วันขององค์พระผู้เป็นเจ้า” (dies Dominica, he kyriake hemera) หรือ “Dominica” “เมื่อถึงวันอาทิตย์ พวกเราก็มาชุมนุมพร้อมกัน เพราะว่าวันนี้เป็นวันแรก [หลังวันสับบาโตของชาวยิว และยังเป็นวันแรก] ที่พระเจ้าทรงแยกวัตถุจากความมืด ทรงเนรมิตสร้างโลก และเพราะว่าพระเยซูคริสตเจ้า พระผู้ไถ่ของเราทรงกลับคืนพระชนมชีพในวันเดียวกันด้วย”  

วันของพระหรรษทานและการหยุดงาน 

CCC ข้อ 2184 เช่นเดียวกับที่พระเจ้า “ทรงหยุดพักในวันที่เจ็ดจากงานทั้งหมดที่ทรงกระทำ” (ปฐก 2:2) ชีวิตของมนุษย์ก็ย่อมมีจังหวะการทำงานและการพักผ่อนสลับกันไปด้วย การกำหนดวันขององค์พระผู้เป็นเจ้ามีไว้ก็เพื่อช่วยให้ทุกคนมีเวลาว่างและพักผ่อนเพียงพอเพื่ออนุญาตให้เขาเสริมสร้างชีวิตครอบครัว วัฒนธรรม สังคม และศาสนาได้    

CCC ข้อ 2185 ในวันอาทิตย์และวันฉลองบังคับอื่นๆ บรรดาผู้มีความเชื่อจะต้องละเว้นไม่ทำงานหรือกิจกรรมที่ขัดขวางคารวกิจที่จำเป็นต้องถวายแด่พระเจ้า ขัดต่อความยินดีที่เป็นวันขององค์พระผู้เป็นเจ้าโดยเฉพาะ ขัดต่อการปฏิบัติงานแสดงเมตตาจิตและการพักผ่อนจิตใจและร่างกาย แต่ความจำเป็นของครอบครัวหรือผลประโยชน์สำคัญด้านสังคมเป็นข้อแก้ตัวที่ถูกต้องเกี่ยวกับบัญญัติเรื่องการพักผ่อนวันอาทิตย์ แต่ผู้มีความเชื่อก็จะต้องเอาใจใส่ไม่ให้ข้อแก้ตัวที่ถูกต้องเหล่านี้ทำให้เกิดนิสัยที่มีผลร้ายต่อศาสนกิจ ต่อชีวิตครอบครัวหรือต่อสุขภาพ “ความรักต่อความจริงย่อมแสวงหาการพักผ่อนที่ศักดิ์สิทธิ์ ความจำเป็นของความรักย่อมรับการทำงานที่ถูกต้อง”     

วันสับบาโต

CCC ข้อ 2190 วันสับบาโต ซึ่งระลึกถึงการเนรมิตสร้างโลกสำเร็จลง ถูกแทนโดยวันอาทิตย์ ซึ่งระลึกถึงการเนรมิตสร้างใหม่ที่เริ่มจากการกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้า    

“วันขององค์พระผู้เป็นเจ้า”

CCC ข้อ 2191 พระศาสนจักรเฉลิมฉลองการกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้าในวันที่แปด ซึ่งสมควรแล้วที่จะรับนามว่า “วันขององค์พระผู้เป็นเจ้า” (dies Domini – Dominica)    

CCC ข้อ 2192 วันขององค์พระผู้เป็นเจ้า – หรือ วันอาทิตย์ – […] ต้องถือว่าเป็นวันฉลองสำคัญกว่าเพื่อนในพระศาสนจักรสากล และเป็นวันฉลองบังคับ” “ในวันอาทิตย์และวันฉลองบังคับอื่นๆ บรรดาผู้มีความเชื่อจะต้องไปร่วมพิธีมิสซา”    

CCC ข้อ 2193 นอกจากนั้น ในวันอาทิตย์และวันฉลองบังคับอื่นๆ บรรดาผู้มีความเชื่อ […] ยังต้องหยุดงานและธุรกิจอื่นๆ ที่ขัดขวางไม่ให้ถวายคารวกิจแต่พระเจ้า ขัดกับความยินดีของวันขององค์พระผู้เป็นเจ้า หรือไม่อนุญาตให้พักผ่อนร่างกายและจิตใจได้”   

CCC ข้อ 2194 ระเบียบการเรื่องวันอาทิตย์ช่วยให้ทุกคน “มีโอกาสพักผ่อนและมีเวลาว่างเพียงพอสำหรับชีวิตครอบครัว เพื่อประกอบกิจกรรมทางวัฒนธรรมและศาสนาได้ด้วย”    

CCC ข้อ 2195 คริสตชนแต่ละคนต้องหลีกเลี่ยงที่จะขอร้องโดยไม่จำเป็นให้ผู้อื่นทำงานที่อาจขัดขวางไม่ให้เขาถือกฎวันขององค์พระผู้เป็นเจ้าได้   


ลก 24:5-6  ทำไมท่านมองหาผู้เป็นในหมู่ผู้ตายเล่า : แม้ว่าคูหาที่ว่างเปล่าไม่ได้เป็นข้อพิสูจน์ที่โต้แย้งไม่ได้ของการกลับคืนพระชนมชีพของพระเยซูเจ้า แต่ก็สามารถเป็นเครื่องหมายที่สำคัญของเหตุการณ์นี้ได้      

พระกายคริสตเจ้าในพระคูหา  

CCC ข้อ 626 ในเมื่อ “เจ้าชีวิต” ซึ่งถูกประหาร ทรงเป็นบุคคลเดียวกับ “ผู้เป็นผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว”[518]จึงจำเป็นที่พระบุคคลพระบุตรของพระเจ้าต้องคงอยู่ต่อไปเพื่อรับพระวิญญาณและพระกายที่ความตายได้แยกออกจากกันกลับคืนมา: “ดังนั้น แม้พระคริสตเจ้าในฐานะมนุษย์ได้สิ้นพระชนม์ พระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์แยกจากพระกายไร้มลทิน แต่พระเทวภาพมิได้แยกจากทั้งพระวิญญาณและพระกายโดยวิธีใดเลย และดังนี้พระบุคคลหนึ่งเดียวก็มิได้ถูกแบ่งแยกเป็นสองบุคคล ทั้งพระกายและพระวิญญาณมีความเป็นอยู่ด้วยกันในพระบุคคลของพระวจนาตถ์มาตั้งแต่ต้น และแม้จะถูกแยกจากกันเมื่อสิ้นพระชนม์ ทั้งพระกายและพระวิญญาณก็มีพระบุคคลของพระวจนาตถ์เพียงหนึ่งเดียวตลอดเวลาซึ่งทำให้ทรงดำรงอยู่ต่อไป”    

เหตุการณ์ตามประวัติศาสตร์และเหนือธรรมชาติ

CCC ข้อ 639 พระธรรมล้ำลึกการกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงและแสดงให้เห็นได้ทางประวัติศาสตร์ตามที่พันธสัญญาใหม่เป็นพยานได้ ตั้งแต่ราวปี ค.ศ. 56 แล้ว นักบุญเปาโลเขียนข้อความนี้ถึงชาวโครินธ์ว่า “ข้าพเจ้ามอบธรรมประเพณีสำคัญที่สุดให้ท่าน เป็นธรรมประเพณีที่ข้าพเจ้าได้รับมาอีกทอดหนึ่ง คือ พระคริสตเจ้าได้สิ้นพระชนม์เพราะบาปของเราตามที่มีเขียนไว้ในพระคัมภีร์ และทรงถูกฝังไว้ พระองค์ทรงกลับคืนพระชนมชีพในวันที่สามตามความในพระคัมภีร์ และทรงแสดงพระองค์แก่เคฟาส แล้วจึงทรงแสดงพระองค์แก่อัครสาวกสิบสองคน” (1 คร 15:3-5) อัครสาวกท่านนี้กล่าวถึงธรรมประเพณีมีชีวิต (ซึ่งหมายความว่าผู้ถ่ายทอดธรรมประเพณีนี้ยังมีชีวิตอยู่) ที่ท่านเองได้เรียนรู้หลังจากที่ท่านได้กลับใจขณะเดินทางไปยังกรุงดามัสกัส    

พระคูหาว่างเปล่า  

CCC ข้อ 640 “ทำไมท่านมองหาผู้เป็นในหมู่ผู้ตายเล่า? พระองค์มิได้ประทับอยู่ที่นี่ พระองค์ทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว” (ลก 24:5-6) ในบรรดาเหตุการณ์ของวันปัสกา รายละเอียดประการแรกที่พบได้ก็คือ พระคูหาว่างเปล่า เรื่องนี้ในตัวเองไม่เป็นข้อพิสูจน์โดยตรง การที่พระศพของพระคริสตเจ้าไม่อยู่ในพระคูหาอาจได้รับคำอธิบายอย่างอื่นก็ได้ ถึงกระนั้นพระคูหาที่ว่างเปล่าก็ยังเป็นเครื่องหมายสำคัญสำหรับทุกคน การที่บรรดาศิษย์พบพระคูหาว่างเปล่าก็เป็นก้าวแรกเพื่อจะยอมรับความจริงเรื่องการกลับคืนพระชนมชีพ โดยเฉพาะในกรณีของบรรดาสตรีผู้ศักดิ์สิทธิ์ แล้วในกรณีของเปโตร ศิษย์ “ที่พระเยซูเจ้าทรงรัก” (ยน 20:2) ยืนยันว่าตนเข้าไปในพระคูหา ได้เห็น “ผ้าพันพระศพวางอยู่ที่พื้น” (ยน 20:6) และมีความเชื่อ ข้อความนี้ชวนให้คิดว่าเขาได้พบว่าการที่พระวรกายไม่อยู่แล้วในพระคูหาว่างเปล่าไม่อาจเป็นการกระทำของมนุษย์ได้ และพระเยซูเจ้ามิได้เพียงแต่ทรงกลับมาทรงพระชนมชีพเหมือนมนุษย์ทั่วไปดังเช่นในกรณีของลาซารัส     

การแสดงองค์ของพระเยซูเจ้าหลังจากทรงคืนพระชนมชีพ

CCC ข้อ 641 มารีย์ชาวมักดาลาและบรรดาสตรีผู้ศักดิ์สิทธิ์ซึ่งตั้งใจมาที่พระคูหาเพื่อชโลมพระศพของพระเยซูเจ้า ที่ถูกฝังอย่างเร่งรีบเพราะวันสับบาโตเริ่มแล้วตั้งแต่เย็นวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์เป็นคนกลุ่มแรกที่พบพระเยซูเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว ดังนี้ บรรดาสตรีเหล่านี้จึงเป็นคนแรกที่บอกข่าวการกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้าแก่บรรดาอัครสาวกเอง หลังจากนั้นพระเยซูเจ้าทรงแสดงพระองค์ ก่อนอื่นแก่เปโตร แล้วจึงทรงแสดงพระองค์แก่อัครสาวกสิบสองคน ดังนั้นเปโตรที่พระคริสตเจ้าทรงเรียกมาให้เสริมความเชื่อของบรรดาพี่น้องจึงเห็นพระองค์ผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพก่อนพี่น้องคนอื่น และบรรดาศิษย์ก็ประกาศตามคำยืนยันของเขาว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้วจริงๆ และทรงสำแดงพระองค์แก่ซีโมน” (ลก 24:34)    

CCC ข้อ 642 เหตุการณ์ใดๆ ไม่ว่าที่เกิดขึ้นในช่วงวันฉลองปัสกานี้ล้วนมีส่วนเกี่ยวข้องกับอัครสาวกแต่ละคน – โดยเฉพาะกับเปโตร – ในการก่อสร้างยุคใหม่ซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อเช้าวันปัสกา ในฐานะพยานถึงพระผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพ ท่านเหล่านี้จึงยังคงเป็นเสมือนฐานศิลาของพระศาสนจักรของพระองค์ ความเชื่อของชุมชนผู้มีความเชื่อกลุ่มแรกตั้งมั่นอยู่บนการเป็นพยานยืนยันของบางคนที่บรรดาคริสตชนรู้จักดีในสมัยนั้นและส่วนใหญ่ก็ยังมีชีวิตอยู่ในหมู่พวกเขาด้วย บรรดา “พยานถึงการกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้า” ก่อนอื่นหมดจึงได้แก่เปโตรและอัครสาวกทั้งสิบสองคน แต่ก็ไม่เพียงแต่เขาเหล่านี้เท่านั้น เปาโลยังกล่าวถึงกลุ่มบุคคลที่มีจำนวนมากกว่าห้าร้อยคนที่พระเยซูเจ้าทรงแสดงพระองค์แก่พวกเขาพร้อมกัน โดยเฉพาะแก่ยากอบและแก่อัครสาวกทุกคน     

CCC ข้อ 643 ต่อหน้าพยานเหล่านี้ เป็นไปไม่ได้ที่จะอธิบายการกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้าว่าไม่ได้อยู่ในระบบทางกายภาพ และไม่ยอมรับว่าการกลับคืนพระชนมชีพเป็นเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะเห็นได้ว่าความเชื่อของบรรดาศิษย์ได้ถูกทดสอบอย่างหนักจากพระทรมานและการสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขนของพระอาจารย์ ทั้งๆ ที่พระองค์ทรงแจ้งไว้ล่วงหน้าแล้ว ความสะเทือนใจที่เกิดจากพระทรมานนี้หนักหนาสาหัสจนว่าบรรดาศิษย์ (อย่างน้อยบางคนในพวกเขา) มิได้เชื่อทันทีเมื่อได้รับข่าวการกลับคืนพระชนมชีพ แทนที่จะเล่าว่ากลุ่มบรรดาศิษย์มีประสบการณ์เข้าฌานชิดสนิทกับพระเจ้า พระวรสารทุกฉบับกล่าวว่าพวกเขารู้สึกท้อแท้ (“ใบหน้าเศร้าหมอง” - ลก 24:17) และมีความกลัว ดังนั้น เขาจึงไม่เชื่อบรรดาสตรีผู้ศักดิ์สิทธิ์ที่กลับมาจากพระคูหา และคิดว่าถ้อยคำของพวกเธอ “เป็นเรื่องเหลวไหล” (ลก 24:11)เมื่อพระเยซูเจ้าทรงแสดงพระองค์แก่บรรดาอัครสาวกสิบเอ็ดคนตอนเย็นวันปัสกา พระองค์จึง “ทรงตำหนิพวกเขาที่ไม่ยอมเชื่อและมีใจแข็งกระด้างเพราะไม่ยอมเชื่อผู้ที่เห็นพระองค์เมื่อทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว” (มก 16:14)    

ความหมายและความสำคัญด้านการไถ่กู้ของการกลับคืนพระชนมชีพ  

CCC ข้อ 652 การกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้าเป็นการทำให้พระสัญญาของพันธสัญญาเดิมสำเร็จเป็นจริง รวมทั้งพระสัญญาที่พระเยซูเจ้าทรงสัญญาไว้ขณะที่ทรงพระชนมชีพในโลกนี้ด้วย ข้อความที่ว่า “ตามความในพระคัมภีร์” แสดงว่าการกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้าทำให้คำพยากรณ์เหล่านี้สำเร็จเป็นความจริง    

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)