แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

ศาสนบริการของคริสตชน: ศีลบวชและการบริการ
    บรรดาศิษย์เรียนรู้จากและพยายามเอาอย่างปรมาจารย์ของพวกเขา  ศิษย์ทั้งหลายของพระคริสต์ก็พยายามที่จะเป็นเหมือนพระเยซูคริสต์ด้วยการรักและรับใช้ผู้อื่นด้วยการเลียนแบบพระองค์
ศาสนบริการคืออะไร?
(CCC 1533; 1544-1545)
    ความรู้สึกที่มีเหมือนกันของคริสตชนทุกคนว่า ในชีวิตต้องทำงานที่พิเศษอย่างหนึ่ง นั่นคือ การทำงานในฐานะพระสงฆ์ ซึ่งหมายถึง การช่วยเหลือผู้อื่นในพระนามของพระคริสตเจ้า  ศาสนบริกร (minister) หมายถึง “บุคคลผู้ช่วยเหลือ” 

ศาสนบริการของคริสตชนหมายถึงการช่วยเหลือผู้อื่นแบบพระคริสตเจ้าและมีพระคริสตเจ้าเป็นต้นเหตุ  ผ่านทางศีลล้างบาป ศีลกำลังและศีลมหาสนิท สมาชิกทุกคนในพระศาสนจักรถูกเรียกร้องให้ช่วยเหลือผู้อื่นโดยการเอาอย่างพระเยซูเจ้า นี่เป็นกระแสเรียกสากลของศิษย์ทุกคน  พระเยซูเจ้าทรงให้อำนาจเราเพื่องานศาสนบริการ โดยส่งพระจิตเจ้ามาประทานพระพรที่จำเป็นสำหรับการดำเนินงานของพระเจ้าให้แก่เรา
แนวทางการทำศาสนบริการมีอะไรบ้าง?
(CCC 893; 901-903; 941)
    ศาสนบริการเกี่ยวข้องกับแนวทางช่วยเหลือผู้อื่นที่มีอยู่มากมายต่างๆกันไป  ภาระหน้าที่ของคริสตชนผู้ได้รับศีลล้างบาปทุกคนคือการนำคุณค่าต่างๆของความเป็นคริสตชนไปใช้ในชีวิตประจำวัน  นักบุญพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2 ได้เตือนคริสตชนทุกคนด้วยคำสอนเกี่ยวกับเรื่องความยุติธรรมทางสังคมของพระองค์ว่า พวกเขาจำเป็นต้องดำเนินชีวิตเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับคนยากจน  ฆราวาสมีบทบาทในการสร้างสันติภาพและความยุติธรรมให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ชีวิตของพวกเขาได้ดีกว่าบุคคลในฐานะอื่น
    นอกจากการให้ความช่วยเหลือกันในสังคมที่พวกเขาอยู่  คริสตชนคาทอลิกสามารถช่วยเหลือบรรดาสมาชิกของพระศาสจักรซึ่งเป็นเพื่อนๆได้ในหลายวิธี  รายการต่อไปนี้เป็นแนวทางที่ให้โอกาสอันมีความสำคัญสำหรับศาสนบริการ ซึ่งพระศาสนจักรสนับสนุนให้ฆราวาสเป็นผู้รับผิดชอบ ได้แก่
•    นักศาสนศาสตร์, ครูคำสอน, และครูต่างๆ
•    ศาสนบริกรด้านศีลศักดิ์สิทธิ์, ผู้อ่านพระคัมภีร์, ศาสนบริกรด้านดนตรีและศิลปะ, และศาสนบริกรด้านการต้อนรับด้วยความยินดี
•    ศาสนบริกรสำหรับผู้ป่วย, ผู้ป่วยติดบ้าน และผู้ไร้ความสามารถ
•    สมาชิกสภาอภิบาลและที่ปรึกษาด้านการเงินของวัด
•    ศาสนบริกรสำหรับผู้ที่แยกทางกันและหย่าร้างกัน
•    ศาสนบริกรสำหรับคนยากจน
ศาสนบริการของผู้ที่บวชคืออะไร?
(CCC 874-879)
    ศาสนบริกรผู้ได้รับการบวชรับภาระในศาสนบริการหนึ่งที่เป็นแบบแผนของพระศาสนจักร  พวกเขาได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้นำพระศาสนจักรโดยอาศัยศาสนบริการที่พิเศษประการหนึ่งอันเป็นการบริการชุมชนคริสตชนและเกี่ยวข้องกับทั่วโลก  ศาสนบริกรผู้ได้รับศีลบวชประกอบด้วย พระสังฆราช, พระสงฆ์, และสังฆานุกร   บทบาทพิเศษของพวกเขาคือการประกาศพระวาจาของพระเจ้าแก่มวลมนุษย์,  เป็นผู้นำชุมชนคริสตชนในการทำคารวะกิจ, และเป็นตัวอย่างในเรื่องกระแสเรียกสากลของคริสตชนให้บริการรับใช้ในแนวทางหนึ่งที่พิเศษ
ศีลศักดิ์สิทธิ์แห่งการเข้าร่วมในฐานันดรสงฆ์(ศีลบวช)คืออะไร?
(CCC 1536-1538; 1548-1553; 1591-1592)
    ศีลบวชสามารถเรียกได้ว่าเป็นศีลศักดิ์สิทธิ์แห่งศาสนบริการของคริสตชน  โดยการปกมือของพระสังฆราชผู้เป็นประธานและการภาวนาเพื่อการถวายตัว  ศีลศักดิ์สิทธิ์แห่งการเข้าร่วมในฐานันดรสงฆ์ให้บทบาทที่พิเศษในการรับใช้ภายในชุมชนคริสตชนแก่ผู้ชายบางคน  ศีลบวชทำให้ชีวิตของพระเยซูเจ้าในผู้ชายเหล่านี้ที่ถูกเรียกให้มารับใช้พระองค์และพระศาสนจักรของพระองค์เข้มแข็งขึ้น   ศีลศักดิ์สิทธิ์นี้ยังมอบพระหรรษทานแท้จริงนั่นคือความช่วยเหลือจากพระเจ้า ซึ่งให้สติปัญญาและความอดทนอันจำเป็นสำหรับการดำเนินชีวิตนักบวชแก่เขา  ในที่สุดพระศาสนจักรสอนว่า ศีลบวชก็เหมือนกับศีลล้างบาปและศีลกำลัง ให้ “สัญลักษณ์”ที่เป็นศีลศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งทำเครื่องหมายถาวรแก่ผู้ได้รับการบวชในฐานะสังฆานุกร, พระสงฆ์, หรือพระสังฆราช ที่ถือได้ว่าเป็นสัญลักษณ์อันมีชีวิต ซึ่งแสดงให้เห็นพระเยซูเจ้าและการกลับมาของพระองค์
บทบาทของสังฆภาพโดยศีลบวชในปัจจุบันคืออะไร?
(CCC 1546-1547)
    สังฆภาพโดยศีลบวชถูกมองว่าเกี่ยวข้องกับภาพลักษณ์ของสงฆ์, ประกาศก, และกษัตริย์ ซึ่งเป็นบทบาทที่พระเยซูเจ้าทรงทำให้สมบูรณ์  ศาสนบริกรผู้ได้รับศีลบวชมีกระแสเรียกพิเศษให้รวบรวมและนำประชากรซึ่งเป็นเหมือนสงฆ์ของพระเจ้าในการทำคารวะกิจ(พระสงฆ์), ประกาศพระวาจาของพระเจ้า(ประกาศก), และเลียนแบบชีวิตที่ทำการช่วยเหลือด้วยความเมตตาของพระเยซูเจ้า โดยช่วยเหลือประชากรของพระเจ้าและปฏิบัติตนเป็นเครื่องหมายหนึ่งของพระคริสตเจ้าที่อยู่ในโลก(กษัตริย์)
สังฆภาพโดยศีลบวชไม่ได้มีภาระเพียงแค่การเป็นตัวแทนของพระเยซูเจ้า ผู้ทรงเป็นศีรษะของพระศาสนจักร ต่อหน้าที่ประชุมของสัตบุรุษเท่านั้น แต่ยังปฏิบัติหน้าที่ในนามของพระศาสนจักรทั้งมวลเมื่อนำเสนอการอธิษฐานของพระศาสนจักรแด่พระเจ้า และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อถวายบูชามิสซา
                          -หนังสือคำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก, ข้อ 1552
พระสังฆราช พระสงฆ์ และสังฆานุกรมีหน้าที่อะไร?
(CCC 1554-1571; 1594)
    พระสังฆราช พระสงฆ์ และสังฆานุกร คือสามตำแหน่งในงานศาสนบริการของผู้ได้รับศีลบวชของพระศาสนจักร  เราพูดถึงพระสังฆราชว่าเป็นผู้สืบตำแหน่งอัครสาวก  พระสังฆราชท้องถิ่น(เป็นที่รู้จักในฐานะ “สมณประมุข” ของสังฆมณฑล) เป็นผู้ตรวจตราดูแลชุมชนของพระศาสนจักรท้องถิ่น และเป็นสัญลักษณ์ความเป็นหนึ่งเดียวของพระศาสนจักร  การอภิเษกพระสังฆราชให้เกียรติท่านอย่างเป็นทางการว่าได้รับศีลศักดิ์สิทธิ์แห่งการเข้าร่วมฐานันดรสงฆ์อย่างสมบูรณ์ คือมีหน้าที่รับผิดชอบการสั่งสอน, การปกครอง, และการประกอบพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์อย่างเต็มที่   ความรับผิดชอบหลักของพระสังฆราชคือ การเทศน์สอนพระวรสาร, ตรวจสอบการจัดการเกี่ยวกับศีลศักดิ์สิทธิ์, และให้ความช่วยเหลือผู้ขัดสนในสังฆมณฑลของท่าน  บ่อยครั้งที่ประมุขหรือผู้นำของสังฆมณฑลจะมีพระสังฆราชผู้ช่วย เพื่อช่วยเหลือท่านในการปฏิบัติภารกิจของท่านให้ลุล่วง
    พระสังฆราชบวชพระสงฆ์เพื่อให้ช่วยทำงานของท่านให้สำเร็จ ทั้งในด้านการเทศน์สอนพระวรสาร,  การดูแลอภิบาลสัตบุรุษ, และการประกอบพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์  สังฆานุกรร่วมงานกับพระสังฆราชและพระสงฆ์ในการประกอบพิธีกรรม, การส่งเสริมความเป็นหนึ่งเดียวกัน, การเทศน์สอนพระวรสาร, การล้างบาป, การเป็นพยานและการอวยพรคู่บ่าวสาวในพิธีสมรส, การเป็นประธานในพิธีปลงศพ และงานด้านสังคมของพระศาสนจักร
การประกอบพิธีศีลบวชมีขั้นตอนอย่างไร?
(CCC 1572-1574; 1597)
    การประกอบพิธีศีลศักดิ์สิทธิ์แห่งการเข้าร่วมฐานันดรสงฆ์มี 3 รูปแบบ คือ การประกอบพิธีเพื่อบวชพระสังฆราช พระสงฆ์ และสังฆานุกร  รูปแบบพิธีทั้งสามมีลักษณะคล้ายกันมาก   โดยปกติการบวชจะมีขึ้นในระหว่างพิธีมิสซา โดยมีพระสังฆราชองค์เดียวหรือหลายองค์เป็นผู้ประกอบพิธี   ส่วนผู้ร่วมพิธีก็คือ ประชากรของพระเจ้าซึ่งศาสนบริกรผู้ได้รับศีลบวชถูกเรียกมาเพื่อให้ทำหน้าที่ช่วยเหลือกลุ่มคริสตชนและมนุษย์ทั้งมวลในทุกที่
    ในการบวชพระสงฆ์ ผู้สมัครจะถูกเรียกชื่อให้มายังหน้าพระแท่นหลังจบภาควจนพิธีกรรม  พระสังฆราชจะสอบถามเกี่ยวกับความตั้งใจของพวกเขาในการให้ความร่วมมือดูแลประชากรของพระเจ้า โดยการประกอบพิธีศีลศักดิ์สิทธิ์, การเทศน์สอนพระวรสาร, และในการอุทิศชีวิตเพื่อพระอาณาจักรของพระเจ้า  เครื่องหมายที่มองเห็นได้ที่แสดงถึงการบวชคือ การปกมือเหนือผู้รับศีลบวชโดยพระสังฆราชผู้ท่องบทภาวนาสำหรับการเสก เพื่อวอนขอพระเจ้าให้ประทานพระจิตเจ้าและพระพรต่างๆ สำหรับศาสนบริการในฐานะสงฆ์
    มือของพระสงฆ์ผู้ได้รับการบวชใหม่ถูกเจิมด้วยน้ำมัน และได้รับมอบเครื่องหมายที่แสดงถึงภาระหน้าที่ของสงฆ์ (ได้แก่ เสื้อกาซูลา ถ้วยกาลิกษ์ที่บรรจุน้ำและเหล้าองุ่น และจานรองที่มีแผ่นปังซึ่งจะต้องเสกวางอยู่) มีการแลกเปลี่ยนเครื่องหมายที่แสดงถึงสันติ  พิธีดำเนินต่อไปโดยพระสงฆ์ใหม่ประกอบพิธีร่วมกับพระสังฆราชและพระสงฆ์ที่เป็นเพื่อนของท่าน
อะไรคือเหตุผลสำหรับการถือโสดของพระสงฆ์?
(CCC 1579-1580; 1599)
    กฎหมายพระศาสนจักรเรียกร้องให้พระสงฆ์และพระสังฆราชของพระศาสนจักรโรมันคาทอลิกไม่แต่งงาน ซึ่งเป็นที่รู้จักในชื่อการถือโสด   พระสงฆ์สัญญาที่จะทำตามระเบียบนี้อย่างอิสระเพื่อแสดงถึงความเต็มใจรับใช้ทั้งพระเจ้าและประชากรของพระองค์
การได้รับเรียกให้อุทิศตนด้วยหัวใจที่ไม่แบ่งแยกแด่องค์พระผู้เป็นเจ้าและ “การงานขององค์พระผู้เป็นเจ้า”  พวกเขาก็มอบตนเองอย่างครบถ้วนแด่พระเจ้าและมวลมนุษย์  การถือโสดคือเครื่องหมายแสดงถึงชีวิตใหม่เพื่อการรับใช้ซึ่งเป็นสิ่งที่ศาสนบริกรของพระศาสนจักรได้รับการเสก และการถือโสดด้วยการยอมรับจากใจที่ยินดีก็ประกาศพระอาณาจักรของพระเจ้าอย่างสง่างาม
                            -หนังสือคำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก, ข้อ 1579
กระแสเรียกนักบวชคืออะไร?
(CCC 914-933)
    กระแสเรียก(vocation) หมายถึง “การเรียก”(calling) เป็นการเชื้อเชิญจากพระเจ้าให้มารับหน้าที่รับใช้ในลักษณะพิเศษแบบหนึ่ง  บางคนถูกเรียกให้รับใช้พระเจ้าในฐานะบุคคลที่แต่งงาน, คนโสด, พระสงฆ์, หรือนักบวช   สำหรับส่วนที่สำคัญสุดในประวัติศาสตร์ศาสนาคริสต์ก็คือ ผู้ชายบางคน (นักบวชชายหรือพระสงฆ์ของคณะนักบวช) และผู้หญิง (นักบวชหญิงหรือนักพรต) ได้ถวายตัวเองแด่พระเจ้า และงานแห่งพระอาณาจักรของพระเจ้า โดยการให้คำสัญญาว่าจะถือความยากจน, ความบริสุทธิ์, และความนบนอบ
    จากการสัญญาว่าจะถือความยากจน ผู้ที่ดำเนินชีวิตนักบวชก็พยายามทำตัวให้เป็นอิสระจากสิ่งของของโลก เพื่อพวกเขาจะสามารถเป็นส่วนหนึ่งของบุคคลที่มีความสำคัญอย่างแท้จริง นั่นคือพระเยซูเจ้า โดยการสัญญาว่าจะถือความบริสุทธิ์ เพื่อเป็นเกียรติแก่พระวรสาร  นักบวชจึงกลายเป็นเครื่องหมายให้โลกได้เห็นว่า พวกเขาเป็นทั้งของพระเจ้าและของมวลมนุษย์ในเวลาเดียวกัน  โดยทางการปฏิญาณถือความนบนอบ นักบวชยอมมอบตัวเองให้รับใช้หมู่คณะของตน ซึ่งต่อมาก็คือการอุทิศตัวให้กับการรับใช้กลุ่มคริสตชน  การให้คำสัญญาในสามเรื่องนี้เป็นวิธีการที่ดีซึ่งช่วยให้ผู้ปฏิบัติตามคำสัญญานี้มีเวลาสำหรับการใช้ชีวิตที่กระตือรือร้นในการภาวนาและการรับใช้ในพระศาสนจักรของพระเจ้ามากขึ้น