แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

พระบิดาผู้ทรงสรรพานุภาพทรงเนรมิตฟ้าดิน (ปฐมกาล บทที่ 1,2)
    ความหมายของความเชื่อในข้อนี้ คือ ความเชื่อที่เรามีต่อพระเจ้าในความเป็น”บิดา” ของพระองค์
    สังเกตคือ คำว่า “สรรพานุภาพ” ซึ่งมาจากคำว่า “สรรพ + อานุภาพ” อันหมายถึงทรงอานุภาพทุกอย่างทุกประการ หรือ จะเรียกว่าทรงฤทธิ์ทุกประการก็ได้     กล่าวคือ พระองค์ทรงกระทำได้ทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่มีอะไรที่จะเกินเลยพระปรีชาสามารถของพระองค์ พระองค์ทรงอยู่เหนือความปรีชาสามารถทั้งหลาย เราไม่อาจจะหาผู้ใดมาเปรียบเทียบกับพระองค์ได้
    ส่วนคำ “เนรมิตฟ้าดิน” นั้น มีความหมายถึง ทรงสร้างทุกสิ่งทุกอย่างด้วยการบันดาลให้เกิดขึ้นทันทีทันใดไม่ต้องอาศัยตัวช่วยใดๆ ทั้งสิ้น
    คำว่า ฟ้า คือ ทุกสิ่งที่อยู่บนฟ้า ซึ่งในพระคัมภีร์หมายถึงดวงอาทิตย์ ดวงดาวต่างๆ จังมีการกล่าวถึงความสว่าง ฯลฯ เป็นต้น ส่วนคำว่า ดิน คือ หมายรวมถึงทุกสิ่งที่อยู่บนดินและใต้ดินด้วย ในพระคัมภีร์จึงพูดถึงน้ำ ทะเล พืช และสัตว์ทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นนกในอากาศ ปลาในน้ำ สัตว์บกทุกชนิด และที่สำคัญคือ “มนุษย์” ด้วย
    ในข้อความเชื่อนี้ จะเน้นให้เห็นถึงความสำคัญของการสร้างมนุษย์ โดยมีการกล่าวถึงการสร้างมนุษย์ของพระเจ้า ในลักษณะเป็นเรื่องราวตามประสามนุษย์ คือ การสร้างมนุษย์คู่แรก อาดัม-เอวา โดยการเล่าถึงรายละเอียดของการสร้างอาดัมว่า ทรงเอาดินมาปั้นเป็นมนุษย์และประทานลมปราณ ให้มีชีวิต จากนั้นก็สร้างเอวาด้วยการเอาส่วนของร่างกายอาดัม (ซี่โครง) มาทำเป็นร่างกายและประทานลมปราณให้มีชีวิต ให้อยู่ด้วยกันเป็นสามีภรรยา ให้มีความสุขทุกอย่าง คืออยู่ในสวนสวรรค์ (สวนเอเดน)
    ซึ่งความหมายก็คือ พระเจ้าทรงสร้างมนุษย์มาให้เป็นสิ่งสร้างที่มีคุณค่าสูงส่งที่สุด และดูเหมือนว่าทรงสร้างทุกสิ่งทุกอย่างมาก็เพื่อมนุษย์เพื่อทำให้มนุษย์จะได้มีความเป็นอยู่อย่างดี ให้มนุษย์ปกครองดูแลทุกสิ่งทุกอย่าง
    ที่สำคัญที่สุด คือ พระองค์ทรงสร้างมนุษย์มาและประทาน “สติปัญญา ความคิด” ให้กับมนุษย์ เหตุนี้มนุษย์จึงสามารถคิด ตัดสินใจ และเลือกกระทำสิ่งต่างๆ ได้ด้วยตัวเองคือ มี มโนธรรม รู้จักแยกแยะสิ่งผิดสิ่งถูก...และที่สำคัญที่สุด คือ สามารถบังคับตนเองได้ ตรงนี้เอง หมายถึง พระองค์ทรงประทาน เสรีภาพ ให้กับมนุษย์ ซึ่งทำให้มนุษย์เป็นสิ่งสร้างที่ประเสริฐที่สุดในบรรดาสิ่งสร้างทั้งหลาย
    ตามพระคัมภีร์เราทราบดีว่า มนุษย์ได้ใช้เสรีภาพอย่างผิดพลาด จึงถูกลงโทษ กล่าวคือ มนุษย์ได้ฝ่าฝืนคำสั่งของพระเจ้าด้วยการรับประทานผลไม้จากต้นที่ต้องห้าม หลังจากที่ถูกปีศาจล่อลวง เพราะอยากเป็นใหญ่เท่าพระเจ้า...ถือเป็นบาปจองหอง    ซึ่งเป็นที่มาของความอ่อนแอในมนุษย์ตามมาอีกมากมาย...เหตุนี้มนุษย์ จึงต้องถูกลงโทษด้วยการถูกขับไล่จากสวนสวรรค์ ต้องตกระกำลำบากและต้องตาย
    ถึงตรงนี้เราต้องทราบเสียก่อนว่า ภาพของเรื่องราวการสร้างมนุษย์นี้ เป็นการเล่าเรื่องราวแบบมนุษย์ ทั้งนี้ เพื่อให้มนุษย์เข้าใจได้ในระดับหนึ่งว่า มนุษย์มาจากพระเจ้า ซึ่งถือเป็น “แก่น” ของความเชื่อ ส่วนเรื่องราวที่เล่านั้นเป็นเพียงวิธีที่จะสื่อให้ทราบเท่านั้น มิใช่แก่นของความเชื่อ ดังนั้น เราจะเชื่อตามเรื่องราวที่เล่าว่า มีอาดัม-เอวา จริงๆ มีการทำผิดคำสั่งของพระเป็นเจ้าด้วยการกินผลไม่...หรือไม่ จึงไม่ใช่สิ่งที่เราต้องเชื่อ เพราะพระเป็นเจ้าอาจจะสร้างมนุษย์มาด้วยวิธีใดก็ได้...อาจจะใช้ทฤษฎีวิวัฒนาการของชาร์ล ดาร์วินก็ได้ ซึ่งก็มิได้ขัดกับข้อความเชื่อนี้ เพราะไม่ว่ามนุษย์จะวิวัฒนาการมาจากอะไร พระองค์ทรงเป็นผู้สร้างสิ่งนั้นมาอยู่ดี...
    เช่นเดียวกับคำว่า “สวนสวรรค์” หรือ “สวนเอเดน” นั้น ก็เป็นการสร้างภาพแห่งความสุขที่เข้าใจได้ง่ายๆ ส่วนความเชื่อที่เป็นแก่นแท้ก็คือ “สภาพของการเป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้า”     เมื่อเป็นเช่นนี้ การถูกไล่ออกจากสวนสวรรค์จึงหมายถึง การถูกตัดสัมพันธ์จากพระเจ้า อันเป็นเหตุแห่งความทุกข์ยากและความตายที่ตามมานั่นเอง
    และนี่เองที่เป็นที่มาของ “บาปกำเนิด” เป็นคำตอบที่ทำให้เราเข้าใจว่าทำไม มนุษย์เราเมื่อเกิดมาทุกคนจึงมี “บาป” ติดตัวมา หมายถึง ทำไมเราจึงมีความโน้มเอียงในการกระทำผิดทำสิ่งที่ไม่ดี        ที่เรียกว่า บาปกำเนิด ก็เพราะว่า มันเป็นผลที่เกิดกับมนุษย์อันสืบเนื่องมาจากการที่บรรพบุรุษของเรากระทำผิด
    ถ้าจะพอให้เข้าใจเรื่องบาปกำเนิดได้บ้าง ก็ให้เราคิดถึง ชีวิตของคนคนหนึ่งที่เคยมีบรรพบุรุษร่ำรวย มีชื่อเสียงเกียรติยศ ยิ่งใหญ่ในสังคม แต่วันหนึ่งเกิด “ล้มละลาย”  จึงพบกับความทุกข์ยากลำบากและแน่นอน ความทุกข์ยากลำบากนั้น มันย่อมมีผลต่อลูกหลานที่เกิดมาภายหลังอย่างไม่ต้องสงสัย
    อย่างไรก็ตาม ด้วยความรักที่พระองค์ทรงมีต่อมนุษย์ที่ทรงสร้างมานี้ พระองค์ทรงรักมนุษย์อยู่แม้พวกเขาจะทำผิดและถูกลงโทษ...พระองค์จึงทรงประทาน “พันธสัญญา” ที่จะประทานพระผู้กอบกู้มนุษย์ ให้พ้นจากความทุกข์ยากและความตาย กล่าวคือ พระองค์จะทรงให้มีผู้หนึ่งมานำมนุษย์กลับไปเป็นหนึ่งเดียวกับพระองค์อีกครั้งหนึ่ง