แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

หลักการมีชีวิตในศีลธรรมของคาทอลิก
แหล่งที่มา CCC 1691-2051

ถ้าฉันสามารถป้องกันหัวใจดวงหนึ่งมิให้แตกสลายได้
ฉันก็จะไม่มีชีวิตอยู่อย่างไร้ประโยชน์
ถ้าฉันสามารถช่วยชีวิตคนหนึ่งให้พ้นจากความเจ็บปวด
หรือช่วยบรรเทาความทุกข์ทรมานของคนหนึ่งได้
ฉันก็จะไม่มีชีวิตอยู่อย่างไร้ประโยชน์
- Emily Dickinson (เอมิลี ดิ๊กคินสัน)

เข็มกลัดรูปยิ้ม
6    สภาพห่างเหินที่น้อยที่สุดระหว่างคนสองคนคือ การยิ้ม  ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1963 บริษัทประกันภัยชื่อ the State Mutual Life Assurance เกิดปัญหาที่เกี่ยวกับความไว้วางใจ เพราะการรวมบริษัทเข้าด้วยกัน  ผู้บริหารจึงจ้างศิลปินคนหนึ่งชื่อ ฮาร์วีย์ บอล (Harvey Ball) ให้วาดรูปยิ้มเพื่อใช้ทำเข็มกลัด ที่จะช่วยเพิ่มความเบิกบานของพนักงานในสำนักงาน  เขาน่าจะวาดเพียงรูปยิ้ม โดยไม่มีอย่างอื่น คือ ไม่มีตา ไม่มีจมูก

“ผมต้องเลือกเอาแบบหนึ่ง” นายบอลกล่าว “ผมควรใช้วงเวียนและทำให้ดูเรียบร้อยที่สุด แต่ผมตัดสินใจวาดด้วยมือตัวเองเพื่อให้รูปยิ้มมีลักษณะพิเศษบางอย่าง”  เขาชอบรอยยิ้มที่โค้งเล็กน้อยของตน  แต่ก็มีปัญหาอยู่อย่างหนึ่ง คือ “รูปยิ้มที่คว่ำลงกลับเป็นรูปบึ้ง”  ดังนั้นเขาจึงเติมตาสองข้างและระบายรูปให้มีสีเหลือง  บริษัทประกันภัยทำเข็มกลัดรูปยิ้มในครั้งแรกจำนวนหนึ่งร้อยเม็ด  นายบอลได้รับค่าจ้าง 45 เหรียญสำหรับงานนี้  ทุกคนมีความสุข
    แต่สองสามปีต่อมา ผู้ผลิตสิ่งแปลกใหม่สองราย ได้นำข้อความว่า “ขอให้วันนี้เป็นวันที่ดีของคุณนะ” มารวมกับรูปใบหน้ายิ้ม และเรื่องต่อจากนี้ก็เป็นที่รู้กันทั่วไปคือ ได้มีการผลิตเข็มกลัดแบบนี้ออกมาประมาณห้าสิบล้านชิ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1971  ฮาร์วีย์ บอล ไม่เคยจดลิขสิทธิ์รูปหน้ายิ้มไว้เลย ดังนั้นเขาจึงไม่ได้รับเงินใดๆ อีกจากการผลิตเข็มกลัดรูปยิ้ม
    “เรื่องที่ผมไม่สามารถทำเงินจากรูปหน้ายิ้มได้จำนวนมาก มิใช่เรื่องที่ทำให้ยุ่งใจเลย  เงินมิใช่ทุกสิ่งทุกอย่าง คุณสามารถขับรถได้ครั้งละหนึ่งคันเท่านั้น  และคุณก็สามารถทานเนื้อสเต็กได้ครั้งละหนึ่งชิ้นเท่านั้น”
    เมื่อเร็วๆ นี้ ฮาร์วีย์ได้จัดงานฉลองวันเกิดครบรอบ 75 ปี  เขาได้เรียนรู้ว่า ความสุขนั้นมิได้อยู่ที่ขนมเค้กวันเกิด หรือการทำเงินล้านจากภาพไอคอนที่แสดงวัฒนธรรม เขาบอกว่า “คุณต้องรู้จักพิจารณาเรื่องความสุขอย่างถูกต้อง ชีวิตของผมเปลี่ยนไปเมื่อวันเสาร์ที่ 21 เมษายน 1945 เวลาบ่าย 4 โมง บนเกาะโอกินาวา  โชคดีจริงๆ! ลูกปืนใหญ่ของญี่ปุ่นลูกหนึ่งระเบิดขึ้นตรงหน้าผม  มันทำให้เพื่อนสองคนที่อยู่ทางด้านซ้าย กับผู้ชายคนหนึ่งที่อยู่ด้านหน้าของผมตาย ผู้ชายที่อยู่ทางด้านขวามือได้รับบาดเจ็บ ส่วนผมไม่ได้รับบาดเจ็บ  เหตุการณ์นี้ควรช่วยเปลี่ยนทัศนคติของคุณใช่ไหม  ในเวลานั้นผมเป็นสุขที่ยังมีชีวิตอยู่  และเวลานี้ผมคิดว่าการทำสิ่งที่ดีที่สุดเท่าที่คุณสามารถด้วยความรับผิดชอบนั่นแหละจะทำให้คุณมีความสุข” (เรียบเรียงจากบทความเรื่อง “Are You Happy Yet?” โดย Stan Grossfield จาก Boston Globe Sunday Magazine ฉบับวันที่ 19 มกราคม 1997, หน้า 14-15,66)

หลักศีลธรรมคาทอลิก คือ ชีวิตในพระคริสตเจ้า
    The World Database on Happiness บันทึกรายชื่อเอกสารที่มีเรื่องความสุขไว้ถึง 2,475 รายการ  มีทั้งที่เป็นหนังสือ, บทความวารสาร, วิทยานิพนธ์และรายงานการประชุม  จากการรวบรวมสิ่งที่ค้นพบสรุปได้ว่า (1) ความสัมพันธ์ใกล้ชิด รวมทั้งการสมรสที่มีความสุขและศาสนา เป็นองค์ประกอบสำคัญที่สุดในการได้รับความสุข  (2) ความมีเสน่ห์ของร่างกายไม่ได้เป็นหลักประกันการเป็นอยู่ที่ดีของแต่ละคน  (3) ความสุขเป็นสิ่งที่มนุษย์ปรารถนามากกว่าเป้าหมายทางสังคม เช่น สันติภาพและความเสมอภาค ที่มนุษย์ยึดมั่นอยู่ในใจ
    ภาคสามของหนังสือคำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก เกี่ยวกับการมีชีวิตในศีลธรรมของคาทอลิก ที่ได้ชื่อว่า “ชีวิตในพระคริสตเจ้า”  ตอนที่ 1 วางพื้นฐานของการมีชีวิตในศีลธรรม  ตอนที่ 2 เกี่ยวข้องกับพระบัญญัติสิบประการ  โดยเนื้อหาบอกไว้ชัดเจนว่าการดำเนินชีวิตอย่างมีศีลธรรมจะนำไปสู่การบรรลุความปรารถนาที่มนุษย์ต้องการอย่างยิ่งและความสุขที่เราทุกคนโหยหา  ในบทนี้เราพิจารณาเกี่ยวกับพื้นฐานของการมีชีวิตในศีลธรรม  บทต่อๆ ไปจะเกี่ยวกับเรื่องพระบัญญัติสิบประการ โดยเรียงตามลำดับ
    หนังสือคำสอนพระศาสนจักรคาทอลิกอธิบายองค์ประกอบพื้นฐาน 9 ประการ ซึ่งจะเป็นตัวสร้างสภาวะต่างๆ สำหรับการมีชีวิตในศีลธรรมและความสุขอันเป็นผลจากการดำเนินชีวิตเช่นนี้ ดังต่อไปนี้

พระฉายาลักษณ์ของพระเป็นเจ้า
    องค์ประกอบทั้งหลายในเรื่องหลักศีลธรรมเริ่มด้วยการเข้าใจตัวเราเองว่าเป็นพระฉายาลักษณ์ของพระเป็นเจ้า  แล้วการเป็นพระฉายาลักษณ์ของพระเป็นเจ้าหมายความว่าอะไร?  ลักษณะต่อไปนี้เป็นบางส่วนของคำตอบ
-    ข้าพเจ้ามีปัญญาที่สามารถรู้ความจริง รวมถึงความจริงขั้นสูงสุดเกี่ยวกับพระเป็นเจ้า และการรู้สำนึกในความเชื่อว่า พระเป็นเจ้าคือองค์ความจริง
-    ข้าพเจ้ามีความตั้งใจประการหนึ่งคือ จะรักสิ่งดีงามในโลก และสิ่งที่ดีอย่างแท้จริง นั่นคือพระเป็นเจ้า
-    ข้าพเจ้าได้รับพระพรแห่งเสรีภาพ ข้าพเจ้ามีเสรีที่จะกระทำสิ่งที่ควรกระทำ และมิใช่เพียงสิ่งที่ข้าพเจ้ายินดี
-    ข้าพเจ้ามักจะมีความว้าวุ่นใจเพราะบาปกำเนิด นี่หมายความว่าข้าพเจ้ามีช่วงเวลาที่รู้สึกลำบากใจ เพราะรู้ความจริงและต้องฝ่าฟันเพื่อความจริงนั้น  ข้าพเจ้าสังเกตการขัดแย้งหนึ่งภายในการตัดสินใจของข้าพเจ้า  บ่อยครั้งที่ข้าพเจ้าเลือกสิ่งที่ไม่ควร และไม่สามารถเลือกสิ่งที่ควร  ข้าพเจ้ามีความโน้มเอียงที่จะใช้ความมีเสรีภาพของข้าพเจ้าไปทางชั่วร้าย
-    ข้าพเจ้ามีชีวิตใหม่ในพระจิต เพราะศีลล้างบาปที่ข้าพเจ้าได้รับและการมีส่วนร่วมในศีลศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ   พระหรรษทานเหล่านี้ช่วยข้าพเจ้ามิใช่ เพื่อให้”เป็นพระฉายาลักษณ์”ของพระเป็นเจ้าเท่านั้น  แต่เพื่อให้ “ปฎิบัติ” ในฐานะรูปจำลองของพระเป็นเจ้า  อีกทั้งเอาชนะอุปสรรคต่างๆ ที่เกิดจากบาปกำเนิดและบาปที่มีอยู่ในปัจจุบันได้ด้วย
-    ข้าพเจ้ามีจุดหมายอยู่ที่ชีวิตอันรุ่งโรจน์ในสวรรค์
เพราะข้าพเจ้าเป็นพระฉายาลักษณ์ของพระเป็นเจ้า  ข้าพเจ้าจึงสามารถมีความสุขได้  ความสามารถรู้และรักได้ด้วยความสมัครใจเปิดโอกาสให้ข้าพเจ้าได้พบแหล่งที่มาของความชื่นชมยินดีที่ถาวรเพียงหนึ่งเดียว นั่นคือ ความสัมพันธ์กับพระเป็นเจ้าชั่วกาลนาน

ข้าพเจ้าถูกเรียกให้มามีความสุข
    องค์ประกอบประการที่สองมีอยู่ในเรื่องความสุขแท้จริง(the Beatitudes) (มธ 5:3-12) ในเรื่องความสุขอย่างแท้จริงแปดประการ พระเยซูเจ้าทรงเรียกเราให้มามีความสุข และทรงบอกวิธีการที่จะได้รับความสุขนั้นด้วย  ความสุขที่แท้จริงตามที่พระองค์ทรงสอนเป็นตัวกระตุ้นความมีศีลธรรมได้ดีที่สุด  พระเป็นเจ้าทรงปลูกฝังความปรารถนาที่จะเป็นสุขแต่กำเนิดไว้ในข้าพเจ้า  ข้าพเจ้าน่าจะค้นพบได้ว่าพระเป็นเจ้าเท่านั้นที่ทำให้ข้าพเจ้าพอใจได้  “พระเป็นเจ้าเจ้าข้า การที่ข้าพเจ้าคิดแสวงหาพระองค์ถูกต้องไหม?  เพราะในการแสวงหาพระองค์ พระเป็นเจ้าของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าแสวงหาชีวิตที่เป็นสุข  ขอให้ข้าพเจ้าได้มุ่งค้นหาพระองค์ เพื่อให้วิญญาณข้าพเจ้ามีชีวิต  เพราะว่าร่างกายของข้าพเจ้าได้รับชีวิตชีวาจากวิญญาณของข้าพเจ้า และวิญญาณของข้าพเจ้าได้รับความมีชีวิตชีวาจากพระองค์ (St. Augustine, Confession, 10,20)
    “เรื่องความสุขแท้จริงบอกให้เรารู้ว่าจุดหมายสุดท้ายซึ่งพระเป็นเจ้าทรงเรียกเราคือ พระอาณาจักรสวรรค์, การมองของพระเป็นเจ้า, การมีส่วนร่วมในพระธรรมชาติของพระเป็นเจ้า, ชีวิตนิรันดร, การเป็นบุตร, การพักผ่อนในพระเป็นเจ้า” (CCC 1726)
    พระเป็นเจ้าทรงสร้างเรามาในโลกนี้เพื่อให้รู้จัก, รัก และรับใช้พระองค์ และอยู่กับพระองค์ในสวรรค์  เรื่องความสุขแท้จริงช่วยเราให้ดำเนินชีวิตตามกระแสเรียกนี้  พระบัญญัติสิบประการ, บทเทศน์บนภูเขา และอำนาจสอนของพระศาสนจักร แสดงให้เรารู้วิธีดำเนินชีวิตที่จะได้รับความสุขแท้จริง  เนื่องจากความโน้มเอียงไปในทางบาปของเรา เราจึงไม่สามารถเป็นสุขอย่างสมบูรณ์ได้บนโลกนี้  แต่เราจะมีความปีติยินดีอย่างแท้จริงในสวรรค์

เสรีภาพและความรับผิดชอบของมนุษย์
    องค์ประกอบประการที่สามในเรื่องหลักศีลธรรมของคริสตชน คือ การใช้เสรีภาพด้วยความรับผิดชอบ  พระเป็นเจ้าทรงสร้างเราให้เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีเหตุผล  ศักดิ์ศรีของมนุษย์ในฐานะบุคคล หมายความว่า เราสามารถคิดริเริ่มและควบคุมการกระทำของตนเองได้  เรามิใช่หุ่นยนต์ที่ถูกควบคุมโดยอำนาจจากภายนอกหรือแรงผลักดันภายในใจ  เป็นความจริงที่ว่ามีการบีบคั้นจากสังคม  และในบางกรณีเป็นแรงผลักดันจากภายในจิตใจ  ซึ่งบางครั้งสามารถครอบงำเรา โดยปกติเรามีเสรีที่จะกระทำเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว  เสรีภาพของเราก็มีมูลมาจากสติปัญญาและความตั้งใจของเรา
    “ลักษณะซึ่งถูกกล่าวโทษหรือความรับผิดชอบสำหรับการกระทำหนึ่ง อาจได้รับการลดทอนหรือการทำให้หมดไป เพราะความไม่รู้, การข่มขู่บังคับ, ความกลัว และองค์ประกอบอื่นๆ ที่เกี่ยวกับจิตใจหรือสังคม” (CCC 1746)
    เรายิ่งทำดีมากขึ้นเท่าใด เราก็ยิ่งเป็นอิสระมากขึ้นเท่านั้น เรายิ่งทำชั่วมากขึ้นเท่าใด เราก็ยิ่งเป็นทาสของบาปมากขึ้นเท่านั้น แล้วเราก็จะสูญเสียเสรีภาพ  เสรีภาพทำให้เรารู้จักรับผิดชอบพฤติกรรมของเรา  สิทธิการใช้เสรีภาพของเราโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องที่เกี่ยวกับศีลธรรมและศาสนา เป็นส่วนหนึ่งที่มิอาจแยกจากศักดิ์ศรีของเราในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง  เสรีภาพมิได้หมายถึง สิทธิที่จะพูดหรือทำทุกๆสิ่งที่เราพอใจ  แต่เป็นสิ่งที่เราควร ตามพระประสงค์ของพระเป็นเจ้า  มนุษย์ผู้มีเสรีอย่างแท้จริงโดยนัยนี้ มีโอกาสที่จะเป็นสุขมากที่สุด

หลักศีลธรรมเกี่ยวกับการกระทำของมนุษย์
    เราจะบอกได้อย่างไรว่าการกระทำใดถูกต้องตามหลักศีลธรรมอย่างแท้จริง?  องค์ประกอบประการที่สี่พยายามตอบปัญหานี้  การกระทำตามหลักศีลธรรมต้องประกอบด้วยสามส่วน คือ (1) การกระทำเอง  (2) เหตุจูงใจให้กระทำ  (3 ) สถานการณ์หรือสภาพแวดล้อม  ทั้งสามส่วนต้องดีเพื่อให้เกิดการกระทำที่ดี  กฎศีลธรรมอาจช่วยบอกเราได้ว่าการกระทำใดดีหรือเลว  การข่มขืนเป็นการกระทำผิด เช่นเดียวกับการทำแท้ง  การกระทำบางอย่างเห็นได้ชัดเจนเสมอว่าผิด เช่น ความชั่วร้ายโดยเจตนา นี่คือส่วนที่เป็นรูปธรรมของการกระทำตามหลักศีลธรรม
    ส่วนที่สองของการกระทำตามหลักศีลธรรม คือ ความตั้งใจ  อะไรบ้างเป็นความตั้งใจที่ผิดศีลธรรม? ตัวอย่างเช่น ความเกลียดชัง, ความโลภ, ความใคร่, ความอิจฉา, ความเกียจคร้าน, ความประสงค์ร้าย, ความสิ้นหวัง นี่คือนามธรรมของการกระทำที่ผิดศีลธรรม
    ส่วนที่สามของการกระทำตามหลักศีลธรรมคือ สถานการณ์หรือสภาพแวดล้อม  สภาพแวดล้อมทั้งหลายมีส่วนช่วยเพิ่มหรือลดคุณงามความดีหรือความเลวร้ายทางศีลธรรมของการกระทำ (เช่น ปริมาณสิ่งของที่ขโมย)  และยังลดหรือเพิ่มความรับผิดชอบทางศีลธรรมของผู้กระทำ (เช่น การกระทำด้วยความกลัวตาย)
    เพื่อให้การกระทำหนึ่งดีงามตามหลักศีลธรรม  ทุกส่วนจึงต้องดี เช่น ตัวการกระทำเอง, ความตั้งใจของผู้กระทำ และสภาพแวดล้อมต่างๆ  แต่ทว่าจุดหมายของการกระทำไม่สนับสนุนความถูกต้องให้กับวิธีกระทำ  เราไม่อาจกระทำชั่วเพื่อให้ความดีเกิดขึ้น

มโนธรรมทางศีลธรรม
    องค์ประกอบประการที่ห้าในเรื่องคำสอนด้านศีลธรรมของคริสตชน  คือ การพัฒนามโนธรรมทางศีลธรรมที่ถูกต้อง มโนธรรมคืออะไร?
    “มโนธรรม เป็นการวินิจฉัยของวิจารณญาน ซึ่งบุคคลใช้เพื่อจำแนกแยกแยะคุณภาพทางศีลธรรมของการกระทำที่เป็นรูปธรรม (CCC 1796)
    การมีมโนธรรมที่ดีต้องผ่านการฝึกฝนและการอบรมตลอดชีวิต  พระวาจาของพระเป็นเจ้าเป็นแสงที่สำคัญซึ่งให้ความสว่างแก่มโนธรรมของเรา  เราต้องทำความเข้าใจพระวาจาให้ถ่องแท้ ด้วยความเชื่อและการภาวนา พร้อมกับนำไปปฏิบัติ  มโนธรรมของเรายังได้รับความรู้จากคำแนะนำอันรอบคอบของผู้อื่น, ความประพฤติที่ดีของพวกเขา และคำสั่งสอนอันทรงอำนาจของพระศาสนจักร  การตรวจสอบมโนธรรมอย่างสม่ำเสมอโดยอาศัยความช่วยเหลือจากพรต่างๆ ของพระจิตจะช่วยเราพัฒนามโนธรรมที่สามารถเข้าใจศีลธรรมได้
    มโนธรรมที่ได้รับการหล่อหลอมมาอย่างดี จะวินิจฉัยเรื่องทั้งหลายได้ถูกต้องตามวิจารณญานและความดีงามแท้จริงที่พระปรีชาญาณของพระเป็นเจ้าประสงค์  ทุกครั้งที่เราพบกับการเลือกซึ่งเกี่ยวกับศีลธรรม มโนธรรมของเราอาจวินิจฉัยได้ถูกต้องตามวิจารณญานและบัญญัติของพระเป็นเจ้า  หรือในทางตรงกันข้ามอาจวินิจฉัยผิดไปจากวิจารณญานและบัญญัติของพระเป็นเจ้า
    “มนุษย์ไม่จำเป็นต้องทำตามการวินิจฉัยของมโนธรรมของเขาทุกครั้งไป  มโนธรรมอาจยังอยู่ในความเขลาหรือทำการวินิจฉัยผิดพลาด  ความไม่รู้และความผิดพลาดเช่นนั้นไม่ได้รับการยกเว้นความผิดเสมอไป” (CCC 1800-01) ผู้ศึกษาเรื่องนี้ควรอ่านคำสอนพระศาสนจักรคาทอลิกข้อ 1790-94

การปฏิบัติคุณธรรม
    ถ้าเราต้องการเป็นผู้มีความสุข เราต้องเป็นคนมีศีลธรรม  และถ้าเราต้องการเป็นคนมีศีลธรรม เราก็ต้องปฏิบัติคุณธรรมแบบมนุษย์และคุณธรรมทางเทววิทยา นี่คือองค์ประกอบประการที่หก   คุณธรรมแบบมนุษย์เป็นนิสัยของปัญญาและเจตนา ที่ดูแลพฤติกรรมของเราและควบคุมอารมณ์ของเรา  คุณธรรมเหล่านี้นำทางความประพฤติของเราให้สอดคล้องกับความเชื่อและวิจารณญาน   คุณธรรมบางประการที่ว่านี้ได้แก่อะไรบ้าง?  คุณธรรมแบบมนุษย์ประกอบด้วย การมีวินัยในตนเอง, ความเห็นอกเห็นใจ, ความรับผิดชอบ, มิตรภาพ, การทำงาน, ความกล้าหาญ, ความพากเพียร, ความซื่อสัตย์ และความจงรักภักดี  ตามคำสั่งสอนที่สืบต่อกันมา เราจัดกลุ่มคุณธรรมเหล่านี้ไว้ใน “คุณธรรมหลัก” ที่ประกอบด้วย ความรอบคอบ, ความยุติธรรม, ความกล้าหาญ และความพอดี
    เราจะมีคุณธรรมเหล่านี้ได้อย่างไร?  วิธีที่หนึ่งคือ การฟังเรื่องราวของคนมีคุณธรรมซึ่งเร้าใจให้เราปฏิบัติตามคุณธรรมนั้น  วิธีที่สองคือแบบอย่างที่ดีของบุคคลอื่นผู้กระตุ้นเราให้เลียนแบบคุณธรรมทั้งหลาย  วิธีที่สามคือการศึกษาถึงคุณค่าแห่งคุณธรรมและวิธีการที่จะได้คุณธรรมเหล่านั้นมา  วิธีที่สี่คือการทำซ้ำแล้วซ้ำอีกตามธรรมเนียมปฏิบัติจนกระทั่งซึมเข้าสู่ลักษณะนิสัยและพฤติกรรมของเรา  วิธีที่ห้าคือความตั้งใจประพฤติคุณธรรมและความพากเพียรแสวงหาคุณธรรมทั้งหลาย  วิธีที่หกคือการภาวนา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การภาวนาต่อพระจิตเพื่อวอนขอพระพรเจ็ดประการ ให้ช่วยเหลือเรา คือ พระดำริ, สติปัญญา, ความคิดอ่าน, ความเข้มแข็ง, ความรู้, ความศรัทธา และความยำเกรงพระเป็นเจ้า
    นอกจากนั้นเรายังควรปฏิบัติคุณธรรมทางเทววิทยา คือ ความเชื่อ, ความหวัง และความรัก อันเป็นพรที่พระเป็นเจ้าทรงประทานให้โดยตรง และจัดการเราให้มีความสัมพันธ์อันสำคัญแก่ชีวิตกับสามพระบุคคลแห่งพระตรีเอกภาพ  เหตุที่ได้ชื่อว่าคุณธรรมทางเทววิทยาเพราะคุณธรรมทั้งสามนำทางเราอย่างชัดเจนสู่ความเชื่อและความหวังในพระเป็นเจ้า และการยอมทำตามแผนการของพระองค์ด้วยความรัก  คุณธรรมทางเทววิทยามีผลต่อคุณธรรมทางศีลธรรมทั้งหมด, การยกระดับคุณธรรมทั้งหมดขึ้นสู่ระดับพระเจ้า พร้อมด้วยการเพิ่มความมั่นคงและประสิทธิผลของคุณธรรมทั้งหลายในชีวิตของเรา

ความเข้าใจในเรื่องบาป
    การพูดเกี่ยวกับหลักศีลธรรมและหลีกเลี่ยงการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องบาปน่าจะเป็นสิ่งไร้สาระ  ความเข้าใจในเรื่องบาปเป็นองค์ประกอบประการที่เจ็ดของคำสอนเกี่ยวกับหลักศีลธรรมในหนังสือคำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก  เมื่อนานมาแล้วในวัฒนธรรมของเราได้มีการปฏิเสธเรื่องบาป ซึ่งเป็นเหตุให้จิตแพทย์ ชื่อ คาร์ล เมนนิงเกอร์(Karl Menninger) เขียนหนังสือขึ้นมาเล่มหนึ่ง เรื่อง “สิ่งใดที่กลายเป็นบาป(Whatever Became of Sin)”  เขาเขียนไว้ว่า ในเวลาที่มนุษย์ยอมรับการกระทำบาปของตน, ไปสารภาพกับพระสงฆ์ และได้รับการอภัยบาปแล้ว เมื่อนั้นบาปได้กลายเป็นอาชญากรรมอย่างหนึ่งที่ถูกนำขึ้นสู่การตัดสินและลงโทษโดยการจำคุกหรือประหารชีวิต  ในที่สุดบาปก็กลายเป็นโรคประสาทชนิดหนึ่ง หรือโรคจิตชนิดหนึ่งซึ่งถูก “สารภาพ” กับจิตแพทย์และได้รับการรักษาด้วยการบำบัด
    เขาได้แสดงให้เห็นว่าความเชื่อปรัมปราเรื่องนี้ผิดจริงๆ และชี้แจงเหตุที่ควรทำให้ความสับสนนี้เกิดความกระจ่าง  ใช่,คนป่วยโรคจิตควรไปหานักบำบัด และอาชญากรควรไปยังห้องพิจารณาตัดสินคดีความ แต่คนบาปควรยอมรับความผิดทางจิตวิญญาณของตนต่อผู้มีอำนาจแท้จริง และรับการอภัยโทษพร้อมกับการยกบาป
    หนังสือคำสอนพระศาสนจักรคาทอลิกเห็นด้วยเต็มที่กับความคิดนี้  การเอาความสำนึกเรื่องบาปกลับคืนมาเป็นการกระทำที่มีการมองสิ่งต่างๆตามความเป็นจริงทางศีลธรรม ซึ่งทำให้เรามีกระบวนการตัดสินตนเองอย่างซื่อตรง ทั้งยังมีโอกาสได้รับการไถ่ด้วย  ถ้าไม่มีบาปแล้วทำไมจึงเรียกพระเยซูเจ้าว่าพระผู้ไถ่  และทำไมพระองค์จึงต้องทนทรมานอย่างมากบนไม้กางเขนเพื่อเรา?  ทำไมพระองค์จึงต้องกลับคืนพระชนมชีพจากความตายเพื่อให้เราได้มีชีวิตใหม่และพระหรรษทานมากมายซึ่งช่วยเราให้ออกห่างจากบาป?
    บาปคืออะไร? บาปคือคำพูด, ความคิด, การกระทำ หรือความปรารถนาที่ขัดต่อกฎบัญญัติของพระเป็นเจ้า และทำลายความสัมพันธ์ระหว่างเรากับพระองค์และเพื่อนมนุษย์  บาปเป็นการกระทำโดยความไม่เชื่อฟังพระเป็นเจ้า และขัดแย้งกับวิจารณญาน  บาปทำลายธรรมชาติของมนุษย์และทำร้ายความเป็นหนึ่งเดียวกับเพื่อนมนุษย์
    การกระทำบาปหนักคือ การที่เรากระทำบางสิ่งโดยรู้และตั้งใจที่จะต่อต้านกฎบัญญัติของพระเป็นเจ้าอย่างรุนแรง และขัดแย้งกับจุดหมายสุงสุดของเรา  บาปหนักทำลายความรักซึ่งเราต้องการเพื่อความสุขนิรันดร  ถ้าเราไม่สำนึกผิดถึงบาปหนัก เราก็จะประสบความตายนิรันดร
    บาปเบาคือ ความไม่เรียบร้อยทางศีลธรรม ซึ่งเราสามารถควบคุมได้ด้วยความรัก(charity)ที่บาปเบายังยอมให้คงอยู่ในจิตใจของเรา  การทำบาปซ้ำแล้วซ้ำอีก แม้เป็นบาปเบาก็ตามจะทำให้เกิดกิเลสต่างๆในตัวเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บาปต้นเจ็ดประการ คือ จองหอง, อิจฉา, ลามก, โมโห, เกียจคร้าน, ความตะกละ และความโลภ (อ่านเพิ่มเติมในหนังสือคำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก 1846-76 และบทที่เกี่ยวกับศีลอภัยบาป พร้อมทั้งทบทวนเนื้อหาเรื่องบาปกำเนิด เพื่อเสริมสิ่งที่ได้กล่าวไว้ในบทเรียนนี้)

ความสำนึกในเรื่องชุมชนและความยุติธรรมในสังคม
    องค์ประกอบประการที่แปดสำหรับชีวิตในศีลธรรมของคริสตชนคือ การรู้สำนึกคุณความดีของชุมชนมนุษย์ของเราพร้อมกับมนุษย์ทุกคน และกระแสเรียกให้ทำงานของเราเพื่อเสริมสร้างอาณาจักรที่มีความรัก, ความยุติธรรม และความเมตตากรุณาของพระคริสตเจ้า  พระตรีเอกภาพ คือ ความเป็นหนึ่งเดียวกันของสามพระบุคคลที่มีความรักสมบูรณ์เป็นเครื่องผูกมัด  บนแผ่นดินนี้เราถูกเรียกให้มารวมตัวกันเป็นชุมชนท่ามกลางมวลมนุษย์ มีความเป็นหนึ่งเดียวกันด้วยความรัก  ในแง่หนึ่งภาพความเป็นหนึ่งเดียวกันนี้ก็สะท้อนให้เห็นจิตใจของพระเป็นเจ้า
    สิ่งที่ควรเกี่ยวโยงกับเรื่องชุมชนมนุษย์นี้ จึงควรเป็นการเคารพศักดิ์ศรีของมนุษย์แต่ละคนอย่างลึกซึ้ง  ทุกรัฐบาลและสถาบันอื่นที่เกี่ยวข้องกับสังคมควรช่วยเหลือ พร้อมกับเพิ่มพูนคุณธรรมและศักดิ์ศรีของบุคคล  สังคมมีหน้าที่รับผิดชอบการสร้างภาวะที่เอื้อต่อการงอกงามแห่งคุณธรรม และลำดับแห่งคุณค่าต่างๆ ซึ่งให้ความสำคัญกับคุณค่าทางจิตวิญญาณเป็นอันดับแรก เหนือกว่าคุณค่าใดๆทางร่างกายและทางความรู้สึก
    รัฐกับเจ้าหน้าที่ของรัฐต้องยึดถือธรรมชาติของมนุษย์เป็นหลัก ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับระเบียบที่พระเป็นเจ้าทรงจัดไว้ด้วย  อำนาจทางการเมืองต้องถูกใช้เพื่อความดีส่วนรวมของสังคม และเพื่อให้บรรลุเป้าหมายหนึ่ง  อำนาจนี้ควรมีวิธีการที่ชอบด้วยศีลธรรม ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับการสร้างสภาพการณ์ต่างๆในสังคมที่ทำให้ประชาชนสามารถใช้เสรีภาพของตนได้อย่างถูกต้อง  ทุกสิ่งที่เกี่ยวข้องกับชุมชนมนุษย์ก็ได้รับการมุ่งหมายให้ส่งเสริมความดีส่วนรวม
    ความดีส่วนรวมประกอบด้วย “สภาพการณ์ทั้งหมดโดยรวมในสังคม ซึ่งอำนวยให้หมู่คณะและสมาชิกแต่ละคนบรรลุถึงผลแห่งการปฏิบัติของตนได้อย่างสมบูรณ์ และง่ายยิ่งขึ้น” (พระศาสนจักรในโลกสมัยนี้ ข้อ 26:1) (CCC 1924)
    ความยุติธรรมทางสังคมเรียกร้องให้ประชาชนสามารถจัดตั้งสมาคมต่างๆ เพื่อกระทำการจนบรรลุถึงเป้าหมายของพวกเขา  ความประสงค์แห่งความยุติธรรมนี้ประกอบด้วย สิทธิมนุษยชนอันชอบธรรมและความเสมอภาคของมนุษย์ ซึ่งมาจากความเข้าใจถึงศักดิ์ศรีของมนุษย์  เราแต่ละคนควรนึกถึงผู้อื่นเหมือนกับเป็น “ตัวเองอีกคนหนึ่ง”  การแสวงหาความยุติธรรมทางสังคมจะต้องค้นหาวิธีการลดความไม่เสมอภาคทางสังคมและเศรษฐกิจที่มีมากเกินไป  ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับมนุษย์ทุกคนเป็นลักษณะหนึ่งของความเป็นหนึ่งเดียวกันของบุคคล และเป็นคุณธรรมประการหนึ่งของคริสตชน  พระเป็นเจ้าทรงเรียกเราให้มาแบ่งปันคุณความดีทั้งฝ่ายจิตใจและวัตถุแก่กันและกัน

กฎและพระหรรษทาน
    แผนการช่วยให้รอดพ้นของพระเป็นเจ้าผ่านทางกฎและพระหรรษทาน จัดเป็นองค์ประกอบประการที่เก้าสำหรับการมีชีวิตในศีลธรรมของคริสตชน  ในบัญญัติของพระเป็นเจ้า พระองค์ทรงสอนเราให้รู้วิถีทางสู่ความสุขในสวรรค์ และวิถีทางมากมายที่มีความชั่วร้ายซึ่งเราต้องหลีกหนี  กฎธรรมชาติ คือ วิถีทางของเราที่จะได้มีส่วนร่วมในคุณความดีและปรีชาญาณของพระเป็นเจ้า อีกทั้งแสดงถึงศักดิ์ศรีของมนุษย์เรา และสร้างพื้นฐานสำหรับสิทธิและหน้าที่ทั้งหลาย  เนื่องจากกฎธรรมชาติมีส่วนร่วมในกฎบัญญัติของพระเป็นเจ้า จึงเป็นสิ่งที่มีอยู่อย่างมั่นคงในประวัติศาสตร์ และยังคงใช้เป็นฐานอันมั่นคงของกฎศีลธรรมและกฎหมายบ้านเมือง
    พระคัมภีร์ไบเบิลภาคพันธสัญญาเดิมมีขั้นแรกของกฎที่จะได้รับการเปิดเผย ซึ่งถูกสรุปไว้ในพระบัญญัติสิบประการ  กฎนี้เตรียมโลกให้พร้อมรับพระวรสาร เราเรียกกฎใหม่นี้ว่า พระหรรษทานของพระจิต ซึ่งเราได้รับโดยอาศัยความเชื่อในพระเยซูคริสต์  ลักษณะสำคัญของพระหรรษทานที่ได้ปรากฏอยู่ในบทเทศน์บนภูเขาของพระคริสตเจ้า (มธ 7-9)  เราได้รับพระหรรษทานเหล่านี้โดยการมีส่วนร่วมในศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆอย่างกระตือรือร้น
    เนื่องจากการช่วยให้รอดพ้นซึ่งพระเยซูเจ้าทรงกระทำสำเร็จด้วยการสิ้นพระชนม์ และการกลับคืนพระชนมชีพของพระองค์  พระจิตจึงสามารถทำให้เรามีส่วนร่วมในชีวิตของพระเป็นเจ้า  พระจิตทรงทำให้เราออกห่างจากบาปและมุ่งไปหาพระเป็นเจ้าได้โดยใช้ผลการช่วยให้รอดพ้นของพระคริสต์  การช่วยให้รอดพ้นนี้ยังได้ชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า การทำให้ชอบธรรม(justification) ซึ่งรวมถึงการให้อภัยบาปต่างๆ และการทำให้จิตวิญญาณของเราได้อยู่กับพระเป็นเจ้า
    เรามิอาจกล่าวได้อย่างหนักแน่นว่า การช่วยให้รอดพ้นและการทำให้ชอบธรรมที่เราได้รับ มาจากพระธรรมล้ำลึกปัสกา คือ การสิ้นพระชนม์และการกลับคืนพระชนมชีพของพระเยซูคริสตเจ้า  ทั้งนี้เพราะ การดำเนินชีวิตในศีลธรรมของคริสตชนจะประสบผลสำเร็จได้ต้องอาศัยการกระทำด้วยความรักและความเมตตาซึ่งมีอำนาจสูงสุดนี้, ที่เป็นความประสงค์ของพระบิดา, สำเร็จได้โดยพระคริสต์ และกลายเป็นประโยชน์แก่เราโดยกิจการของพระจิตในพระศาสนจักรและศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ  เพลงสรรเสริญซึ่งเป็นที่ชื่นชอบอย่างกว้างขวางชื่อ “พระคุณพระเจ้า(Amazing Grace)” เตือนเราให้รู้สึกว่า บาปไม่ได้เป็นจุดสนใจที่สำคัญสำหรับการมีชีวิตในศีลธรรม  ถึงแม้การมีอยู่และอิทธิพลของบาปจะส่งผลร้ายต่อโลกอย่างมหาศาล  หนังสือคำสอนพระศาสนจักรคาทอลิกยกระดับความคิดของเราให้รับรู้อย่างถูกต้องเกี่ยวกับพลังแห่งพระเมตตาซึ่งหลั่งไหลออกมาเป็นพระหรรษทานที่ทำให้ศักดิ์สิทธิ์  พระหรรษทานนี้หุ้มห่อเรา, นำหน้า, ตระเตรียม และชักจูงการตอบสนองอย่างอิสระของเราต่อความรักของพระเป็นเจ้า  พระเป็นเจ้าประทานพระหรรษทานนี้แก่เราด้วยความเต็มใจ เพราะพระองค์ทรงรักเรา
    สรุปได้ว่า เราควรได้รับการช่วยให้รอดพ้น ก็เพราะพระเป็นเจ้าทรงตั้งใจที่จะให้เรามีส่วนในงานแห่งพระหรรษทานนี้  ความเหมาะสมของเราจึงขึ้นอยู่กับพระหรรษทานของพระเป็นเจ้าเป็นอันดับแรก  และอันดับที่สองคือ การร่วมมือกับพระหรรษทานที่เราได้รับ  ในทำนองเดียวกันเราต้องกล่าวว่า เราไม่ควรได้รับพระหรรษทานเบื้องต้นที่ทำให้เกิดการกลับใจ นี่คือ กิจการอิสระที่เป็นความกรุณาของพระจิต

การไตร่ตรองจากหนังสือคำสอน
1.    พระศาสนจักรให้คำแนะนำด้านศีลธรรมซึ่งมั่นใจได้แก่เราอย่างไร?
“พระสันตะปาปาแห่งกรุงโรม และบรรดาพระสังฆราชในฐานะอาจารย์แท้จริงเทศน์สอนความเชื่อซึ่งต้องเชื่อและนำไปใช้ในการดำเนินชีวิตตามศีลธรรมแก่ประชากรของพระเป็นเจ้า  พวกท่านยังมีหน้าที่ให้ความเห็นในเรื่องที่เป็นปัญหาทางศีลธรรมซึ่งเกี่ยวกับกฎธรรมชาติและวิจารณญาน  ความไม่รู้พลั้งแห่งพระอาจารยานุภาพของบรรดาผู้อภิบาลครอบคลุมองค์ประกอบต่างๆ ของข้อความเชื่อทั้งปวง รวมถึงคำสอนด้านศีลธรรมด้วย  และหากปราศจากสิ่งเหล่านี้ ความจริงแห่งความเชื่อที่ช่วยให้รอดพ้นก็ไม่สามารถได้รับการรักษา, อธิบายให้ความกระจ่าง หรือปฏิบัติตามได้” (CCC 2050-51)
2.    การตัดสินใจทางศีลธรรมอย่างถูกต้องจำเป็นสำหรับความรอดพ้นอย่างไร?
“ทางของพระคริสตเจ้า ‘นำเราไปสู่ชีวิต’ หนทางตรงข้าม ‘นำไปสู่หายนะ’ (มธ 7:13 เทียบ ฉธบ 30:15-20)  นิทานเปรียบเทียบในพระวรสารเรื่องทางสองแพร่งยังคงปรากฏอยู่ในคำสอนของพระศาสนจักรเสมอ  เป็นเรื่องที่แสดงให้เห็นความสำคัญของการตัดสินใจทางศีลธรรมเพื่อความรอดพ้นของเรา อันเปรียบได้กับการเลือกทางเดิน โดยมีสองทางให้เลือก ทางหนึ่งนำไปสู่ชีวิต อีกทางหนึ่งนำไปสู่ความตาย และทางสองสายนี้มีความแตกต่างกันมาก (Didache 1,1;SCh 248,140)” (CCC 1696)
3. อะไรคือองค์ประกอบสำคัญที่ช่วยเราปลูกฝังมโนธรรมของเรา?
“...มโนธรรมของแต่ละคนควรหลีกเลี่ยงการจำกัดตัวเองอยู่กับการพิจารณาตัดสินทางศีลธรรมเฉพาะการกระทำที่เป็นของตนโดยมโนธรรมของตนอย่างไม่สนใจผู้ใดเลย  อันที่จริงมโนธรรมควรนำเอาความดีทุกประการ ดังที่ปรากฏในกฎศีลธรรม ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องธรรมชาติและเรื่องที่ได้รับการเปิดเผย ทั้งที่อยู่ในบัญญัติของพระศาสนจักร และในคำสั่งสอนที่เชื่อถือได้ของผู้มีอำนาจสั่งสอนซึ่งเกี่ยวกับปัญหาต่างๆ ทางศีลธรรมมาใช้พิจารณาด้วย  มโนธรรมและวิจารณญานของแต่ละคนไม่ควรมีลักษณะขัดแย้งกับกฎศีลธรรม หรือพระอาจารยานุภาพของพระศาสนจักร” (CCC 2039)

การเชื่อมโยงกับครอบครัว
    ความเป็นครอบครัวหนึ่งถูกนำไปเกี่ยวพันกับการศึกษาอบรมด้านศีลธรรมและการเติบโตทางศีลธรรมส่วนบุคคล, คู่สมรสต่อคู่สมรสและพ่อแม่ต่อลูกๆ ด้วยวิธีการอย่างหนึ่งอย่างใดเสมอ   การช่วยกันและกันให้เป็นบุคคลที่มีศีลธรรมแบบคริสตชน เป็นหนทางที่ดีที่สุดสู่ความสำเร็จสมปรารถนาและความสุขบนแผ่นดินนี้ รวมทั้งความบรมสุขในสวรรค์  จงจำไว้ว่า

เราเป็นพระฉายาลักษณ์ของพระเป็นเจ้า

ความปรารถนาความสุขเป็นตัวกระตุ้นสำคัญยิ่งสำหรับการเป็นคนมีศีลธรรม

การได้คุณธรรมเป็นสิ่งจำเป็น

ความเชื่อในพระเมตตาของพระเป็นเจ้า และผลการช่วยให้รอดพ้นของพระคริสต์ปล่อยเราเป็นอิสระจากบาป โดยอาศัยศีลศักดิ์สิทธิ์แห่งการคืนดี

การปลูกฝังมโนธรรมประกอบด้วยการดำเนินชีวิตตามกฎธรรมชาติ และกฎที่ได้รับการเปิดเผย พร้อมกับความเต็มใจรับการแนะนำจากผู้มีอำนาจสอนของพระศาสนจักรเสมอ

ความเชื่อ, การภาวนา และกิจการของพระจิตทำให้ “แอกเบา และภาระหนักเป็นเรื่องที่ง่าย”

วิถีชีวิตที่มีคุณธรรมควรเป็นเรื่องที่เราต้องใส่ใจเป็นพิเศษก่อนเรื่องใดๆ  การช่วยกันและกันให้เติบโตในคุณธรรมเป็นสิ่งสำคัญพอๆ กับการเรียนรู้ตลอดชีวิต และการข้ามถนนอย่างปลอดภัย  การมีชีวิตในศีลธรรมเป็นการผจญภัยอย่างหนึ่ง ที่มีความเบิกบานใจในการเดินทาง และรู้สึกเป็นสุขในความสำเร็จ  เรามิได้ดำเนินชีวิตในศีลธรรมด้วยตัวเราเอง  พระจิตทรงดำรงชีวิตและทรงช่วยเหลือมากมายเพื่อให้เราประสบผลสำเร็จในการแสวงหาของเรา และทรงกระทำมากกว่าที่เรานึกฝัน เพื่อให้เรามั่นใจในความก้าวหน้าทางศีลธรรมของเรา
1.    หนังสือคำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก บอกอะไรคุณเกี่ยวกับการเป็นพระฉายาลักษณ์ของพระเป็นเจ้า?  ทำไมเรื่องนี้จึงสำคัญสำหรับการดำเนินชีวิตในหลักศีลธรรม?  ทำไมเราจึงสามารถพูดได้ว่าความปรารถนาความสุขเป็นตัวกระตุ้นที่ดีเยี่ยมสำหรับการเปลี่ยนแปลงไปเป็นบุคคลที่มีศีลธรรม?
2.    คุณมีความคิดเรื่องบาปอย่างไร?  คุณจะบรรยายความเกี่ยวพันระหว่างความคิดเรื่องบาปกับพระกรุณาของพระเป็นเจ้า และการช่วยให้รอดพ้นของพระคริสตเจ้าอย่างไร?  คุณได้รับประโยชน์จากศีลศักดิ์สิทธิ์แห่งการคืนดีมากเพียงใด?
3.    คุณตรวจสอบมโนธรรมของคุณอย่างไร?  คุณได้ทำอะไรบ้างเพื่อปลูกฝังมโนธรรมที่ถูกต้อง?  มีกระแสวัฒนธรรมใดบ้างที่บั่นทอนความมีศีลธรรม?

คำภาวนาในครอบครัว
    ข้าแต่พระบิดาผู้ทรงเปี่ยมด้วยความรัก และความกรุณา พระองค์ประทานพระบัญญัติสิบประการที่ภูเขาซีนายแก่เรา เพื่อเป็นสิ่งชี้นำด้านศีลธรรมสำหรับการดำเนินชีวิตของเรา  แล้วความสัมพันธ์ของเรากับพระองค์จะได้แน่นแฟ้นขึ้นและสมบูรณ์ในที่สุด  พระเยซูเจ้าผู้เป็นพระบุตรของพระองค์ประทานบทเทศน์บนภูเขา เพื่อให้เราเข้าใจแนวความคิดเกี่ยวกับกฎใหม่ของพระองค์ ซึ่งมุ่งหมายให้เรามีความคิดที่ถูกต้อง และนำเราสู่ความชื่นชมยินดีบางส่วนในปัจจุบัน  และความบรมสุขในสวรรค์  ขอพระองค์ทรงส่งพระจิตมายังครอบครัวของเรา เพื่อนำเราออกห่างจากบาป มุ่งสู่วิถีชีวิตที่มีคุณธรรมซึ่งปรับเปลี่ยนเราให้เป็นเหมือนพระคริสต์  และเตรียมเราสำหรับชีวิตนิรันดรกับพระองค์  เราสรรเสริญพระองค์ สำหรับพระพรอันยิ่งใหญ่นี้  และขอพระองค์โปรดให้เรายังคงตอบรับพระองค์เสมอไปด้วยเถิด

อรรถาธิบายคำ
คุณธรรมแบบมนุษย์(Human Virtues):  คุณธรรมแบบมนุษย์ เป็นนิสัยของปัญญาและเจตนาที่จะดูแลพฤติกรรม และควบคุมอารณ์ของเรา
คุณธรรมหลัก(Cardinal Virtues):  คุณธรรมหลัก ประกอบด้วยความรอบคอบ, ความยุติธรรม, ความกล้าหาญ และความพอดี  คุณธรรมแบบมนุษย์เหล่านี้นำความประพฤติของเราไปตามความเชื่อและวิจารณญาน
คุณธรรมทางเทววิทยา(Theological Virtues):  คุณธรรมทางเทววิทยา ประกอบด้วย ความเชื่อ ความหวัง และความรัก เป็นพระพรของพระจิต ซึ่งมุ่งให้เรามีความเชื่อและความหวังในพระเป็นเจ้า  พร้อมทั้งความรักที่จะอุทิศตนแด่พระองค์  คุณธรรมทางเทววิทยายกระดับคุณธรรมหลักให้สูงขึ้นและทำให้สมบูรณ์