พิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณ (Mass)
มิสซาเป็นการรื้อฟื้นการถวายบูชาของพระคริสต์
และโดยทางการรับศีลมหาสนิทก็เปิดโอกาสให้เราได้เข้าสู่ธรรมล้ำลึกแห่งความรอด

    มิสซาทำให้การบูชาแต่ครั้งเดียวของพระบุตรของพระเจ้าดำรงคงอยู่ต่อไปชั่วกัปชั่วกัลป์ ตามที่เราได้อธิบายมาแล้วว่าเป็นกุญแจเข้าสู่การไถ่กู้ของเรา เป็นศานติบูชาซึ่งทำให้การถวายบูชาของพระคริสต์เกิดเป็นจริงขึ้นมาได้และอยู่ในหัวใจของชีวิตคริสตชน ประกอบด้วยพิธีกรรมที่ใช้คำพูด พร้อมด้วยการขับร้อง การภาวนาและบทอ่านต่างๆ จากพระคัมภีร์ และพิธีกรรมขอบพระคุณซึ่งปังและน้ำองุ่นได้รับการแปรสภาพบนพระแท่น (หรือ “เปลี่ยนสาระ”) เป็นพระกายและพระโลหิตของพระคริสต์

    มิสซาเป็นการชิมล่วงหน้าของการถวายบูชาของพันธสัญญาใหม่ซึ่งวันก่อนสิ้นพระชนม์พระคริสต์ทรงมีพระประสงค์ที่จะฉลองปัสกาของชาวยิวพร้อมกับบรรดาศิษย์ของพระองค์ (๑) พระองค์ทรงปฏิบัติตามพิธีกรรมปกติในการกินปัสกา มิสซาของคริสตชนได้ปรับปรุงบทภาวนาและการปฏิบัติหลายอย่างของพวกยิวมาใช้ เป็นต้นการอวยพร (Berakoth) ที่โต๊ะอาหารซึ่งเป็นต้นตอของบทขอบพระคุณและการให้ความหมายใหม่แก่สิ่งเหล่านี้
    ตามธรรมเนียม ประธานของการเลี้ยงปัสกาต้องอธิบายความหมายของพิธีกรรมในขณะที่รับประทานเนื้อลูกแกะเพื่อระลึกถึงการหนีออกจากประเทศอียิปต์ ดังนั้นพระเยซูจึงได้ทรงอธิบายแก่บรรดาศิษย์ของพระองค์ว่าพระองค์ทรงเป็นลูกแกะปัสกาที่แท้จริง เป็นพระองค์ที่ “ทรงยกบาปของโลก” (๒) เวลาที่เริ่มรับประทานอาหารจานหลัก ประธานก็ให้พร ในภาษากรีกคำว่า Eucharistia “การขอบพระคุณ” แก่ขนมปังที่ไร้เชื้อ ในช่วงนี้เองที่พระเยซูทรงเสกขนมปังให้เป็นพระกายของพระองค์ “นี่คือกายของเราที่ถูกมอบเพื่อท่านทั้งหลาย” พร้อมกับทรงเสริมว่า “จงทำดังนี้เพื่อระลึกถึงเรา” พิธีกรรมรำลึกของอิสราเอลนี้มีความหมายกว้างกว่าการรำลึกถึงธรรมดา เพราะนำเอาอดีตเข้ามาใส่ปัจจุบันและแม้กระทั่งชิมลางอนาคตด้วย ราวกับสามมิติด้านเวลาของโลกนี้ถูกรวมเข้าหากัน เมื่อร่วมในการขอบพระคุณ (มิสซา) คริสตชนกลายเป็นผู้ร่วมในเหตุการณ์การตรึงกางเขน ขณะร่วมพิธีมิสซาของพระศาสนจักรในขณะปัจจุบัน ตามพิธีกรรมซึ่งจะคงอยู่ “จนกว่าพระองค์จะเสด็จกลับมา” (1 คร.11:26) ศีลบวชเปิดโอกาสให้พระสงฆ์เสกขนมปังและเหล้าองุ่น เมื่อทำเช่นนี้ท่านก็รื้อฟื้นการถวายบูชาของพระคริสต์อย่างมีประสิทธิภาพดังที่ พระเยซูได้ทรงชิมลางในวันก่อนรับมหาทรมาน
    ความเชื่อคาทอลิกยอมรับว่าปังเปลี่ยนเป็นพระกายของพระเยซูจริงๆ และเหล้าองุ่นเปลี่ยนเป็นพระโลหิตของพระองค์ ด้วยวิธีนี้ ที่โต๊ะจัดเลี้ยงอาหารค่ำมื้อสุดท้ายและบนพระแท่นของเราพระเยซูประทับอยู่จริงๆในสภาพของสัญลักษณ์และเครื่องหมายภายนอกของผู้ถูกถวายบูชา เพราะพระกายและพระโลหิตของพระองค์ถูกแยกออกจากกัน (แสดงถึงสิ้นพระชนม์) สิ่งนี้ทำให้เผชิญหน้ากับธรรมล้ำลึกของการไถ่กู้ของเราเนื่องจากปัจจัยที่สัมผัสได้นี้ได้รองรับพระคริสต์ผู้ทรงชีวิตและสิริรุ่งโรจน์ให้เราสัมผัสได้ ในตอนสรุปของบทขอบพระคุณสัตบุรุษที่มาชุมนุมกันก็ยอมรับธรรมล้ำลึกแห่งข้อสัญญา ซึ่งได้รับการรื้อฟื้นบนพระแท่นด้วยเสียงขานรับอย่างสง่าว่า “อาแมน” แล้วสวดบทภาวนาขององค์พระผู้เป็นเจ้า (ข้าแต่พระบิดา)เป็นบทภาวนาของลูกๆที่ได้ คืนดีกับพระบิดาของตนโดยถวายบูชาของพระบุตรผู้เสด็จมาบังเกิดเป็นมนุษย์ แล้วนั้นก็มีพิธีแสดงความเป็นมิตรต่อกันอันเป็นการแสดงถึงการคืนดีระหว่างพี่น้อง
    แล้วผู้เข้าร่วมประชุมร่วมรับเครื่องบูชานี้ที่โต๊ะบูชา ด้วยการเคารพต่อขั้นตอนที่ได้จัดการไว้ล่วงหน้า เมื่อเรารับพระกายและพระโลหิตของพระคริสต์เราก็ค่อยๆ เข้าสู่ความสนิทสัมพันธ์กับพระบุตรผู้ที่ “พระบิดาผู้ ทรงชีวิตทรงส่งมาและเรามีชีวิตเพราะบิดาฉันใด ผู้ที่กินเนื้อของเราก็มีชีวิตเพราะเราฉันนั้น” (ยน.6:57) คริสตชนเป็นหนึ่งเดียวกับพระเยซูคริสต์ โดยทางพระองค์คริสตชนสามารถที่จะมีส่วนในการเป็นหนึ่งเดียวของพระตรีเอกภาพนั่นเอง
    ดังนั้นในบรรดาศีลศักดิ์ทั้งหมด ศีลมหาสนิทเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับพระศาสนจักร ตามคำกล่าวที่ตกทอดมาถึงเราว่า “พระศาสนจักรสร้างศีลมหาสนิท ศีลมหาสนิทสร้างพระศาสนจักร” โดยทางศาสนบริการของพระสงฆ์ มิสซาจึงเป็นการเฉลิมฉลองการถวายบูชาที่มีลักษณะเฉพาะในทุกสถานที่ ในทุกกลุ่มนักบวชและทุกชุมนุม การเฉลิมฉลองซึ่งเป็นการบอกเล่าที่สำคัญเกี่ยวกับสิ่งที่พระเจ้าได้ทรงกระทำเพื่อเราและสิ่งที่จะทรงกระทำต่อไปเพื่อเสริมสร้างและบำรุงรักษาให้พระศาสนจักรเป็นหนึ่งเดียวกัน
    เมื่อเป็นเช่นนี้สัตบุรุษควรมาร่วมมิสซาวันอาทิตย์เพราะเป็นวันที่องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงคืนชีพ ในระหว่างการรับศีลมหาสนิทสมาชิกคนหนึ่งของพระกายทิพย์ของพระคริสต์ได้รับประกันว่า  “รับสิ่งที่ทรงเป็น” โดยอ้างประโยคที่มีความหมายของนักบุญออกัสติน ยิ่งไปกว่านั้นพระสงฆ์ควรถวายมิสซาทุกวัน และถ้าเป็นไปได้ควรให้มีสัตบุรุษร่วมมิสซาด้วย  การทำวัตรเกี่ยวกับหัวข้อศีลมหาสนิทควรเป็นส่วนหนึ่งของกิจศรัทธาประจำวันของนักบวชทั้งหญิงและชายอีกด้วย คริสตชนที่ใจร้อนรนจะกล่าวซ้ำคำที่มรณสักขีท่านหนึ่งของอาบีเตนา (ประเทศตูนีเซีย)กล่าวในเดือนกุมภาพันธ์ปี ค.ศ.304 ว่า “เราไม่สามารถมีชีวิตอยู่โดยปราศจากมื้ออาหารขององค์พระผู้เป็นเจ้าได้”
    ธรรมประเพณีที่เก่าแก่มากของพระศาสนจักร คือการยอมรับของถวายจากสัตบุรุษผู้ขอให้พระสงฆ์ผู้เป็นประธานเสนอความปรารถนาของตนที่พระแท่นในระหว่างมิสซา การกระทำนี้ไม่ควรที่จะตีความว่าเป็นการตีราคาศีลศักดิ์สิทธิ์ เพราะการประกอบศีลศักดิ์สิทธิ์เพื่อเงิน (Simony) ถูกห้ามปรามอย่างแข็งขันจากพระสันตะปาปาในสมัยกลางและโดยพระสังคายนาแห่งเตรน มิสซานั้นล้ำค่าและจุดประสงค์สากลอยู่เหนือกว่าจุดประสงค์ส่วนตัวใดๆทั้งสิ้น เป็นเพียงแต่การให้เกียรติศาสนบริการของพระสงฆ์ผู้ยินยอมที่จะถวายมิสซาเพื่อจุดประสงค์พิเศษ (จึงได้รับอนุญาตให้รับค่าตอบแทนนี้เพื่อจุดประสงค์เดียวของแต่ละมิสซาเท่านั้น)


(๑)    “พระองค์ตรัสกับเขาว่า “เราปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะกินปัสกาครั้งนี้ร่วมกับท่านก่อนจะรับทรมาน” (ลก.22:15)
(๒)    พระองค์ผู้ที่ได้รับการป่าวประกาศยอห์น บัปติสต์ ยน.1:29-36