พระศาสนจักร (Church)

พระศาสนจักรเป็นชุมชนของประชากรของพระเจ้า
ที่ได้รับบริการจากบรรดาพระสังฆราช พระสงฆ์และสังฆานุกร

church logo    บ่อยครั้งถือว่าพระศาสนจักรเป็นสถาบันที่ทั้งแข็งแกร่งและเปราะบางในเวลาเดียวกัน มั่นคงและทนทาน และการเรียกร้องด้านศีลธรรมและศาสนาค่อนข้างจะเกินไปหรือล้าหลังไปเลย ตลอดประวัติศาสตร์ พระศาสนจักรคาทอลิกและนิกายต่างๆต่างก็ประสบกับความตึงเครียด การแตกแยก และเป็นที่สะดุดด้วยกันทั้งนั้น แต่ก็ยังมีธรรมล้ำลึกของพระศาสนจักร ecclesia ในภาษาละตินและภาษากรีกบ่งบอกถึงการเป็น “ชุมชน”ที่ถูกเรียกให้มารวมกัน (จากคำกริยาภาษากรีกว่า ek-kaleein) กลุ่มแรกๆของ “ชุมชน” เหล่านี้อัน เป็นต้นกำเนิดของประชากรของพระเจ้า เกิดขึ้นที่ภูเขาซีนายหลังจากการหนีออกมาจากประเทศอียิปต์ (๑) ประกอบด้วยพิธีกรรมตามพันธสัญญา จากคำว่า leitourgia ในภาษากรีก ซึ่งรากศัพท์หมายความถึงการ บริการที่ให้แก่ชุมชนโดยสมาชิกคนหนึ่งหรือหลายคน ในกรณีนี้ พระเจ้าทรงเป็นบุคคลแรกที่ “ให้การบริการ” แก่ประชากรของพระองค์ก่อนที่พวกเขาจะ “ให้ถวายบริการ” แด่พระองค์ พิธีกรรมเป็นงานของพระเจ้าและของประชากรของพระองค์ ซึ่งได้รับการฟื้นฟูขึ้นใหม่ในพระธรรมใหม่ด้วยธรรมล้ำลึกแห่งการเสด็จมาของพระจิตเจ้า

    สัญลักษณ์อันแรกของคริสต์ศาสนาก็คือพระตรีเอกภาพ เราจึงกล่าวถึงปัจจัยหลักข้อนี้ตลอดหนังสือเล่มนี้เลยทีเดียว จึงได้เห็นว่าเอกลักษณ์ที่แท้จริงของพระศาสนจักรก็คือการเป็นหนึ่งเดียวของสัตบุรุษที่ผูกติดกับธรรมล้ำลึกแห่งพระตรีเอกภาพดังที่นักบุญอีเรเนอุส พระสังฆราชแห่งลีอองส์และมรณสักขีของศตวรรษที่สองได้ให้คำนิยามไว้ว่า “จึงเห็นได้ว่าพระศาสนจักรสากลก็คือประชากรที่เป็นหนึ่งเดียวมาจากการเป็นหนึ่งเดียวของพระบิดา พระบุตรและพระจิตเจ้า” (๒) วัดต่างๆจึงเป็นสถานที่ที่พระศาสนจักรมารวมกัน ในความรุ่งโรจน์ที่เห็นจากสถาปัตยกรรมนั้น หินที่ถูกตัดเป็นก้อนๆจำต้องรองรับสิ่งที่มีชีวิต
    ประชากรของพระเจ้ามีความสำคัญเป็นเบื้องต้นในพระศาสนจักร พวกเขาเป็นเจ้าสาวของพระเจ้าที่ได้รับเรียกให้เข้ามาสัมพันธ์กับพระเจ้าของตนซึ่งเราพบเห็นทั่วไปในพระคัมภีร์และใน บทเพลงของซาโลมอน ตามความหมายของพระธรรมใหม่เจ้าบ่าวของเจ้าสาวผู้นี้ก็คือ พระบุตรของพระเจ้าที่มาเกิดเป็นมนุษย์ซึ่งพระบิดาของพระองค์ท่านเองได้ทรงจัดเตรียมงานสมรสไว้ให้แล้ว (๓) ในหนังสือวิวรณ์ภาพลักษณ์นี้สัมพันธ์กับนครแห่งนั้น (๔) ซึ่งผิดจากหอบาแบลเป็นอย่างมากที่ช่างก่อสร้างต้องการที่จะมารวมกันเพื่อต่อสู้กับพระเจ้าและขัดสู้กับพระอาณาจักรของพระองค์ ส่วนพระศาสนจักรนั้นเป็นพระพรของพระเจ้าซึ่งมาจากสวรรค์และดังนั้นจึงกลายเป็น “เครื่องหมายและเครื่องมือของชุมชนของพระเจ้าไปพร้อมทั้งการทำให้มนุษย์เป็นหนึ่งเดียวมนุษย์ทุกคน
ด้วย” (LG.1)

จากภาพของงานสมรสนี้ นักบุญเปาโลได้เพิ่มภาพของพระกายทิพย์ของพระคริสต์ ที่พระคริสต์ทรง เป็นศีรษะและชาวเราเป็นอวัยวะส่วนต่างๆ (๕) เพราะเหตุนี้เองจึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการจัดองค์กรให้กับประชากรของพระเจ้าเพื่อให้แต่ละคนได้ทำหน้าที่ตามบทบาทของตน ดังเช่นอวัยวะต่างๆในร่างกายและฐานันดรของพระสังฆราชรวมกันอยู่รอบๆพระสันตะปาปาเป็นผู้ให้บริการ “เพราะพวกท่านข้าพเจ้าจึงเป็นพระสังฆราช แต่พร้อมกับพวกท่านข้าพเจ้าก็เป็นเพียงคริสตชนคนหนึ่งเท่านั้น” นักบุญออกุสติน พระสังฆราชแห่งฮิปโปกล่าวกับสัตบุรุษของท่าน สัญลักษณ์ที่ขานรับกันทั้งสองนี้ยืนยันให้เห็นว่าการเป็นหนึ่งเดียวระหว่างพระคริสต์กับพระศาสนจักรนั้นลึกซึ้งแค่ไหน ธรรมล้ำลึกแห่งงานสมรสนี้ทำให้ชุมชนคริสตชนกลายเป็น “พระบุตรที่เต็มเปี่ยม” พระวิหารของพระจิต บังเกิดจากพระบิดาซึ่งพวกเขาเรียกขานว่า อับบา (“ปาปา”ในภาษาอาร์เมเนียน)
    พระคริสต์ทรงมอบพระศาสนจักรของพระองค์แก่นักบุญเปโตร แม้ว่าบรรดาคริสตชนรุ่นแรกๆถูกเบียดเบียนในอาณาจักรโรมันก็ตาม แต่นักบุญเปโตรก็ได้ปฏิบัติตามพันธกิจของท่านด้วยการเดินทางไปกรุงโรมและอยู่ที่นั่นจนกระทั่งท่านเองก็ถูกประหารเพราะความเชื่อ เพราะเหตุนี้เองจึงเชื่อว่านักบุญเปโตรเป็นพระสังฆราชองค์แรกแห่งกรุงโรมและผู้สืบตำแหน่งของท่านก็ได้รับนามนี้ด้วยเช่นกัน เมื่อพระจักรพรรดิ์คอนสตันตินเองกลับใจมานับถือคริสตศาสนา (ค.ศ.312-313) และพระสังฆราชแห่งกรุงโรมปฏิบัติหน้าที่ของท่าน ณ วัดนักบุญยอห์นในลาเตรันนั้น หลุมฝังศพของนักบุญเปโตรที่วาติกันก็เริ่มได้รับการเคารพบูชา และไม่นานพระวิหารยิ่งใหญ่ก็ได้ถูกสร้างขึ้นในที่เดียวกันซึ่งได้รับการปรับปรุงให้สวยงามยิ่งขึ้นตลอดเวลาหลายศตวรรษ พระสังคายนากาลเชดอน (ค.ศ.450-451) ได้ประกาศยืนยันการเป็นเอกของพระสังฆราชแห่งกรุงโรมพร้อมทั้งมอบพันธกิจแห่งการทำให้พระศาสนจักรเป็นหนึ่งเดียวให้แก่ท่านด้วย และดังนั้นก็ได้ทำให้เมืองหลวงของจักรวรรดิตะวันตกซึ่งสั่นสะเทือนเพราะการบุกรุกของพวกป่าเถื่อนกลายเป็นเมืองหลวงของโลกคริสตชน
    กระนั้นก็ดีคริสตชนก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการแตกแยกที่น่าเจ็บปวดได้ นับตั้งแต่ปีค.ศ. 1054 เป็นต้นมา ศาสนจักรออร์ธอดอกซ์ได้ประกาศตัวไม่ยอมขึ้นกับกรุงโรมแม้ว่าความเชื่อและการปฏิบัติศาสนกิจ ของพวกเขาแทบจะเป็นแบบเดียวกันก็ตาม ศาสนจักรที่เกิดขึ้นเพราะการปฏิรูปของ ลูเธอร์และคาลแวงยิ่งดึงตัวออกห่างไกลจากพระศาสนจักรคาทอลิก ในขณะที่สหัสวรรษที่สามกำลังคืบคลานเข้ามานี้ พระสันตะปาปา ยอห์น ปอลที่ 2 ได้ทรงรณรงค์เพื่อขอให้มีการเป็นหนึ่งเดียวของพระศาสนจักร ด้วยการอุทิศตนให้แก่การเป็นหนึ่งเดียวของคริสต์ศาสนาในสมณสาสน์สากลเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 1995 ทรงนำทางด้วยแบบฉบับ ทรงขอร้องให้ชาวเราสารภาพสิ่งที่ทำให้เราแยกออกจากการเป็นหนึ่งเดียว ให้เราเพิ่มการเสวนาและการภาวนาให้มากขึ้นและให้ดำเนินชีวิตของการเป็นหนึ่งเดียวเสียตั้งแต่บัดนี้กับทุกคนที่เชื่อถึงพระเยซูคริสตเจ้า
    คำคุณศัพท์ “คาทอลิก” หมายถึงกระแสเรียกสากลของพระศาสนจักร เพราะว่า “สากล” ก็คือความหมายที่แท้จริงของคำนี้ในภาษากรีก (Katholikos มาจากคำว่า Kath-holou “ตามที่ทุกคน”) ข้อความเชื่อในบทข้าพเจ้าเชื่อถึงพระเป็นเจ้า (Credo) ที่ว่าด้วยพระศาสนจักรกล่าวไว้อย่างชัดเจนถึงการเรียกร้องความเป็นหนึ่งเดียวกัน “ข้าพเจ้าเชื่อถึงพระศาสนจักรหนึ่งเดียว ศักดิ์สิทธิ์สากลและสืบมาจากอัครสาวก” การเป็นหนึ่งเดียวของคริสต์ศาสนามุ่งที่จะได้คืนมาซึ่งธรรมล้ำลึกสากลอันนี้ของพระศาสนจักร เนื่องจากคำว่า oikoumene ในภาษากรีกหมายความว่า “โลกที่มีคนอาศัย” (จากคำว่า oikos “บ้าน”) และถ้าขยายความก็จะเป็นจักรวาลทั้งครบที่เรารู้จัก
    วัดต่างๆที่อยู่ในเมืองและหมู่บ้านของเรานั้นเป็นสัญลักษณ์ของการเป็นหนึ่งเดียวของชุมชน ยอดสูงของวัดชี้ถึงสวรรค์แสดงออกมาซึ่งความปรารถนาแสวงหาพระเจ้า พระศาสนจักรตะวันออกชอบโดมซึ่งเป็นสัญลักษณ์โค้งของสวรรค์ที่ให้การคุ้มครองและยิ่งไปกว่านั้นยังหมายถึง ความรักอ่อนโยนของพระเจ้าที่ห่อหุ้มเราไว้


(๑)    “แล้วพระเจ้าประทานแผ่นหินสองแผ่นแก่ข้าพเจ้า พระองค์ทรงจารึกไว้ด้วยพระหัตถ์ถึงข้อความที่ตรัสจากกลางเพลิงในวันที่ท่านทั้งหลายชุมนุมกันที่ภูเขา” (ฉธบ.9:10)
(๒)    อ้างจากตอนต้นของกฤษฏีกาว่าด้วยพระศาสนจักรของสังคายนาวาติกัน 2 (ข้อ 4)
(๓)    “อาณาจักรสวรรค์เปรียบได้กับพระมหากษัตริย์พระองค์หนึ่งซึ่งทรงจัดงานอภิเษกสมรสให้แก่พระราชโอรส” (มธ.22:2)
(๔)    “ข้าพเจ้าเห็นนครศักดิ์สิทธิ์ คือนครเยรูซาเล็มใหม่ลงมาจากสวรรค์ลงมาจากรพะเจ้า เตรียมพร้อมเหมือนกับเจ้าสาวที่แต่งตัวรอเจ้าบ่าว” (วว.21:2)    
(๕)    1 คร.12:12-26