บทที่ 4
เหตุสำคัญที่ทำให้ครอบครัวแตกแยก


broken-family-300x212    ถึงแม้ว่าจะมีการให้พันธสัญญากันอย่างเป็นทางการ และการแต่งงานนี้ก็ถูกต้องตามกฎหมายพระศาสนจักรแล้ว ก็ยังปรากฏว่ามีคู่แต่งงานจำนวนไม่น้อยที่ต้องแยกกันเลิกรากันไป    และหลายคนก็ไปแต่งงานใหม่ ทั้งๆ ที่ก่อนจะแต่งงานกันนั้นได้มีการเรียนรู้กันมาพอสมควรแล้วก็ตาม
    ทั้งนี้ เป็นเพราะความเป็นมนุษย์ที่มีข้อขาดตกบกพร่องอยู่เสมอ และถ้าไม่ระมัดระวังปล่อยให้ข้อขาดตกบกพร่องนั้นเกิดขึ้นโดยไม่มีการเอาใจใส่ควบคุมดูแลหรือขจัดมันออกไป ในที่สุดก็จะนำมาซึ่งการแตกแยกกันในที่สุด

    1. “ไปกันไม่ได้” เป็นเหตุผลหลักที่จะได้ยินคู่แต่งงานกล่าวเสมอ ทั้งๆ ที่ก่อนแต่งงานรักกันปานจะกลืนกิน มิหนำซ้ำอยู่กันมาตั้งสิบกว่าปีแล้ว มีลูกสองสามคนแล้ว.....
    ความหมายของไปกันไม่ได้ ก็คือ ทัศนะไม่ตรงกัน มีเหตุให้ต้องขัดใจกัน ทะเลาะกันอยู่เสมอ เรียกว่าเป็นเรื่องนิสัยส่วนตัวของกันและกันนั่นแหละ เป็นเรื่องระหว่าง 2 คน มิได้มีคนอื่นมายุ่งเกี่ยวแต่ประการใด    ถ้าจะให้บอกว่าทำไมไปกันไม่ได้ สรุปได้ทันทีว่า ความรักที่แท้จริงที่เคยมีนั้นมันจืดจางหรือจะพูดง่ายๆ ก็คือ “ตัดใจไม่ได้ ทำใจไม่เป็น” นั่นเอง     สิ่งที่ตามมาคือ ยึดมั่นถือมั่น ฉันถูก ดังนั้น เธอต้องผิด ต่างคนต่างไม่ยอม เอาแต่ใจตัวเอง การให้ชีวิตแก่กันและกันเป็นอันจบลง
    ถ้าจะถามว่า “แล้วจะทำอย่างไร?” ตอบได้อย่างเดียวว่า เริ่มต้นใหม่ หันไปทบทวนสมัยเมื่อรักกันใหม่ๆ ยิ่งเมื่อมีลูกมีเต้าแล้วยิ่งต้องรักกันให้มากยิ่งขึ้น... สิ่งที่พูดนี้คือทฤษฎี แต่ขอยืนยันว่าเป็นทฤษฎีที่ต้องปฏิบัติให้ได้ และยังไม่เคยเห็นมีทฤษฎีอื่นใดจะดีกว่านี้... และที่สำคัญต้องขอพระพรความช่วยเหลือจากพระด้วยเสมอ
    2. “ปัญหาทางเศรษฐกิจ” เรื่องนี้สำคัญด้วย การเป็นครอบครัวต้องมีการบริหารจัดการเรื่องราวต่างๆ มากมาย เพื่อให้ครอบครัวดำเนินไปได้อย่างดี คือ ต้องมีการวางแผนครอบครัว การจับจ่ายใช้สอย โดยทั่วไปแล้วส่วนใหญ่อยู่ในภาวะดิ้นรน เพื่อสร้างความมั่นคงในครอบครัว    ต้องมีสิ่งที่จำเป็นในการดำรงชีวิตตามแก่อัตภาพ    คำว่า ตามแก่อัตภาพ คือ ให้เหมาะสมกับความเป็นจริงในชีวิต    ในเรื่องของการกินการอยู่ หรือ ที่เรียกอีกอย่างว่า “พอเพียง” กับความจำเป็นนั่นเอง ตรงนี้จึงทำให้นึกถึงทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงซึ่งทุกคนทราบดีอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าจะนำไปปฏิบัติกันได้แค่ไหนเท่านั้นเอง
    เรื่องเศรษฐกิจนี้จะถูกทำลายและล่มจมในที่สุด ถ้าหากปรากฏว่ามีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดหรือทั้ง 2 ฝ่ายติดการพนัน    รับรองได้ว่าร้อยทั้งร้อย ต้องแยกทางกัน ครอบครัวแตกแยกอย่างไม่ต้องสงสัย    นอกจากนั้น “ยาเสพติด” ก็จะเป็นตัวบ่อนทำลายครอบครัวได้อย่างมีประสิทธิภาพทีเดียว ที่หนักหน่อยก็เป็นประเภทยาบ้า เฮโรอีน มอร์ฟีน ที่รองๆ ลงมาก็มีสุรา เบียร์ ที่มีปัญหาอยู่บ้างแต่ไม่มากนัก คือ “บุหรี่” เพราะอีกฝ่ายหนึ่งจะทนกลิ่นเหม็นไม่ได้ก็มีเหมือนกัน
    ถามว่าแล้วต้องแก้อย่างไร ข้อนี้ไม่ขอตอบเพราะเชื่อว่าทุกคนรู้ดีอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าทำอย่างไรให้ปลอดจากการพนันและยาเสพติด ทุกชนิดให้ได้มากกว่า ซึ่งประเด็นนี้ตอบได้เลยว่า มันอยู่ที่ “ใจ”
    3. “มือที่สาม” คำว่ามือที่สาม หมายถึงใครก็ได้ที่ไม่ใช่คู่ชีวิต 2 คนนั้น อาจจะเป็นพ่อแม่ญาติผู้ใหญ่ พี่น้อง เพื่อนสนิทมิตรสหาย เจ้านายหรือ ผู้ไม่ปรารถนาดีทั้งหลาย ฯลฯ มีคู่แต่งงานสามี-ภรรยาหลายคู่ต้องเลิกกันไปเพราะ “มือที่สาม” ที่เด่นชัดหน่อย ถือว่าตรงๆ เลยก็คือ “กิ๊ก” หรือ ภาษาชาวบ้านแบบตรงประเด็นคือ “ชู้” นั่นเอง    อันนี้ ทุกคนเข้าใจได้โดยไม่ต้องอธิบาย หลายครั้งมีการฆ่ากัน ทำร้ายกัน ก็มีให้เห็นอยู่บ่อยๆ มีเหมือนกันที่พอกลับเนื้อกลับตัวได้ก็คืนดีกันอย่างเก่า
    มือที่สามเป็นผู้ประสงค์ดี แต่วิธีการไม่เหมาะ ก็มีไม่น้อย เช่น พ่อแม่รักลูกมาก ลูกแต่งงานไปแล้วยังไม่ยอมปล่อยให้เขามีอิสระเท่าที่ควร เข้าไปเจ้ากี้เจ้าการกับชีวิตของเขา    ด้วยความรักความห่วงใย หรือ บางครั้งก็ “หวง” ลูกชายจนเกิดกรณี “แม่ผัว-ลูกสะใภ้” นำมาเป็นละครน้ำเน่าให้ชมกันจนติดงอมแงม ตอนหลังข่าวดูละครไปก็วิจารณ์ไป ทางที่ดีน่าจะมองดูตัวเองบ้างนะว่าเราเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า? นี่เลยทำให้เห็นประโยชน์ของละครน้ำเน่าว่าเข้าท่าเหมือนกันเนอะ...
    บางครั้งเพื่อนๆ ของเรารักและหวังดีต่อเราจริงๆ เห็นแฟนเราไปเดินกับใครเข้า ก็รีบโทรศัพท์มารายงาน ทำให้เราต้องออกอาการเหมือนกัน ส่วนใครจะออกอาการแค่ไหนนั้น ก็สุดแล้วแต่ใครจะ “มีสติ” ได้หนักแน่นกว่ากันจริงมั้ย...
    เกี่ยวกับเรื่องมือที่สามนี้ เขาบอกว่าเราต้องมั่นใจว่าคู่ชีวิตของเรานั้นสำคัญที่สุด เพราะเราอยู่ด้วยกัน เป็นคนคนเดียวกัน ดังที่เขามักจะเปรียบเทียบ ดังนั้น ต้องให้ความสำคัญให้มากๆ ต้องให้เกียรติกัน คนอื่นจะว่าอย่างไร บอกอย่างไรให้ฟังไว้และนำมาคุยกัน ทำความเข้าใจกันให้ได้ด้วยเหตุผล อย่าใช้อารมณ์ตัดสินเป็นอันขาด เวลาที่เราเป็นทุกข์ด้วยเหมือนกัน ตัวอย่าง เช่น เวลาโกรธกันไม่พูดกัน เชื่อหรือไม่ว่าทั้ง 2 คน อยากจะพูดกันจะตายไป เพียงแต่ว่ารอให้อีกฝ่ายหนึ่ง “ง้อก่อน” เท่านั้นเอง จริงหรือเปล่า?