เทววิทยาและหลักความเชื่อ (Theology – Dogma)
พัฒนาการของเทววิทยาเกิดจากความพยายามที่จะอธิบายหลักความเชื่อ โดยอาศัยเหตุผล โดยถือว่า “ความเชื่อ” (Faith) และ “เหตุผล” (Reason) เป็นสิ่งที่เสริมกันได้ อย่างไรก็ดี ในศตวรรษแรกๆ นี้ เทววิทยาเป็นการไตร่ตรองประสบการณ์ชีวิตของผู้ที่เชื่อ เป็นปรีชาญาณ (Wisdom) ซึ่ง “เหตุผล” อาจช่วยให้เข้าถึงได้แต่เพียงขั้นต้นเท่านั้น แต่เนื่องจากยังไม่มีใครบอกได้ว่า “หลักเหตุผล” ใดช่วยเสริมและ  “หลักเหตุผลใด” ขัดแย้ง จึงเกิดความขัดแย้งระหว่างผู้ที่พยายามพัฒนาแนวคิดทางเทววิทยา โดยอาศัยปรัชญาแนวต่างๆ เข้ามาช่วย สำนักสำคัญที่อันติโอคและที่อเล็กซานเดรียต่างก็มีแนวคิด และการตีความของตนเอง

ประเพณีศาสนาคริสต์ถือว่าความเชื่อไม่เป็นแต่เพียงความรู้สึกไว้วางใจในพระเจ้า แต่เป็นการยอมมอบถวายตนเอง รับสัจธรรมที่พระองค์ทรงเปิดเผยโดยไม่มีเงื่อนไข การเปิดเผยของพระองค์ดำเนินมานับแต่แรกเริ่มดังที่ปรากฏในพระคัมภีร์ไบเบิล ซึ่งสมบูรณ์ในการปรากฏมาของพระเยซูคริสต์ แต่กระนั้นก็ดี  พระศาสนจักรซึ่งพระเยซูคริสต์ได้ทรงตั้งขึ้นและมอบหมายหน้าที่ในการประกาศสัจ-ธรรมนี้ ก็มีหน้าที่ “ถ่ายทอด” ให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ ทั้งนี้โดยเชื่อว่าพระจิตของพระเจ้าทรงนำพระศาสนจักรมิให้ผิดพลาดได้
พัฒนาการของเทววิทยา และหลักความเชื่อเกิดจากความพยายามตีความประการหนึ่ง และจากการตอบโต้การโจมตีและเพื่อแก้ไขความผิด (Heresy) อีกประการหนึ่ง หลักความเชื่อ (Dogma) หมายถึง ใจความแห่งความเชื่อซึ่งได้รับการบัญญัติขึ้นมาเป็นรูปแบบโดยอาศัยแนวคิดนามธรรม ซึ่งพระศาสนจักรประกาศให้ทุกคนเชื่อ
“รูปแบบโดยอาศัยแนวคิดนามธรรม” หมายถึงรูปแบบที่ใช้ภาษาปรัชญาเป็นหลัก โดยนำเอาสัจธรรมที่มีอยู่แล้วในพระคัมภีร์ไบเบิล ซึ่งใช้ภาษาเรียบง่ายไม่ซับซ้อนมาให้ความหมายด้วยภาษาปรัชญา เพื่อให้เกิดความชัดเจนและลึกซึ้งยิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น ในพันธสัญญาใหม่พูดถึงพระบิดาซึ่งเป็นพระเจ้า และพระบุตร ซึ่งเป็นพระเจ้าด้วยในเวลาเดียวกัน ก็มีการใช้ศัพท์ที่เป็นนามธรรมภาษากรีกว่า “Logos” ซึ่งแปลว่าคำพูด พระวาจา เพื่อหมายความว่าพระเยซูทรงเป็นพระวาจาของพระเจ้า พระเจ้าตรัสกับมนุษย์ทางพระเยซูคริสต์ผู้ทรงเป็นพระเจ้าด้วย เซนต์ยอห์นซึ่งถือว่าเป็นนักเทววิทยาด้วยได้เป็นผู้เริ่มใช้คำนี้ในพระวรสาร และจดหมายของท่านแล้ว ต่อมาได้มีการพัฒนาแนวคิดนี้เพื่อตอบคำสอนที่พระศาสนจักรเห็นว่าผิด โดยเฉพาะในสังคายนาเมืองนิเชอา (325) ซึ่งได้ประกาศว่า พระบุตร (พระเยซูคริสต์) ทรงเป็น Homoousis (ภาษากรีก แปลว่า ทรงมีธรรมชาติเดียวกับพระ-บิดา)
เทววิทยาได้พัฒนาเข้าสู่ความเป็น “ศาสตร์” ด้วยการหาอรรถาธิบายเกี่ยวกับหลักความเชื่อต่างๆ ซึ่งค่อยๆ ทวีมากขึ้น โดยเฉพาะในระยะ 7 ศตวรรษแรก ซึ่งส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับหลักความ-เชื่อที่ว่าด้วยพระตรีเอกภาพ (Trinity) และที่เกี่ยวกับพระคริสต์ (Christology)