ศีลกำลัง

    เมื่อพูดถึงศีลกำลัง เราคิดถึงพิธีกรรมที่มีพระสังฆราชเป็นผู้โปรดศีลนี้ และเป็นที่มาของพระคุณความช่วยเหลือ ซึ่งทำให้เราเข้มแข็งในการดำเนินชีวิตในแต่ละวัน    นั่นคือ เราจะคิดถึงพระคุณหรือพระพรของพระจิตเจ้า 7 ประการ
  ศีลกำลังจึงเป็น “เครื่องมือ” หรือ “อุปกรณ์” ที่สำคัญอย่างหนึ่งในชีวิตประจำวันของเราในการต่อสู้กับการประจญล่อลวง
    พระเยซูคริสตเจ้าทรงตั้งศีลกำลังและมอบอำนาจนี้ให้แก่บรรดาอัครสาวก (กจ 8  17-24)     อำนาจแห่งการโปรดศีลกำลังตามปกติจึงเป็นของพระสังฆราชเท่านั้น หรือ พระสังฆราชอาจมอบอำนาจนี้ให้พระสงฆ์องค์ใดองค์หนึ่งกระทำแทนเป็นครั้งๆ ไปก็ได้
    หลังจากที่ได้รับศีลล้างบาปแล้วบรรดาคริสตชนยังคงต้องเจริญชีวิตต่อไปในโลกและจะต้องเผชิญกับการประจญล่อลวงต่างๆ มากมาย    ด้วยเหตุนี้ องค์พระเยซูคริสตเจ้าจึงทรงตั้งศีลกำลังขึ้นเพื่ออัญเชิญพระจิตเจ้ามาประทับอยู่กับพวกเขา    เพื่อพวกเขาจะมีความเข้มแข็งในการต่อสู้กับการประจญล่อลวงต่างๆ ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว
    พระคุณของพระจิตเจ้าที่ทรงประทานให้แก่ผู้รับศีลกำลังสรุปได้ 7 ประการ คือ
•    พระดำริ    เป็นพระพรที่โปรดให้เรารู้และเข้าใจถึงความรักและพระเมตตาของพระเป็นเจ้า หรือ พูดง่ายๆ คือ ซึ้งในความรักของพระองค์นั่นเอง
•    สติปัญญา    เป็นพระพรที่โปรดให้เรามีความเข้าใจและยอมรับในข้อความเชื่อ รวมไปถึงกฎบทบัญญัติที่ต้องปฏิบัติ คือ การกระทำตามตามน้ำพระทัยของพระองค์
•    ความคิดอ่าน    เป็นพระพรที่โปรดให้เราได้ตัดสินใจอย่างถูกต้องตามน้ำพระทัยของพระองค์ในกรณีที่ยากลำบากหรือหมายถึงพระพรที่ทำให้เรามีมโนธรรมที่เที่ยงตรงนั่นเอง
•    กำลัง        คือ พระพรแห่งความกล้าหมายที่ทำให้เราเข้มแข็งในการต่อสู้กับการประจญล่อลวง กับศัตรูฝ่ายวิญญาณซึ่งหมายกถึงความโลภ โกรธ หลง และกิเลสตัณหาทีมีอยู่ในตัวเราเป็นสำคัญ
•    ความรู้    เป็นพระพรแห่งสติปัญญาที่ชักนำเราให้รู้แจ้ง เห็นจริง เข้าใจในคำสอนของพระศาสนจักรอย่างถูกต้อง
•    ความศรัทธา    เป็นพระพรที่โปรดให้เรามีความเชื่อ ความวางใจในพระเป็นเจ้าด้วยสิ้นสุดจิตใจ
•    ความยำเกรง    คือ พระพรที่โปรดให้เรารู้จักที่จะกราบนมัสการสรรเสริญพระเป็นเจ้า ระมัดระวังตน ไม่กระทำสิงที่ขัดเคืองพระทัยของพระองค์ และพยายามที่จะกระทำตามน้ำพระทัยเสมอ
สาระบางประการเกี่ยวกับศีลกำลังที่ควรทราบ
    1. ผู้โปรดศีลกำลัง    เป็นอำนาจหน้าที่โดยตรงของพระสังฆราช และพระสังฆราชอาจมอบอำนาจนี้ให้แก่พระสงฆ์องค์ใดองค์หนึ่งก็ได้
    2. ผู้รับศีลกำลัง    ปกติจะเป็นผู้ที่โตพอสมควรแล้ว โดยนิยมให้รับหลังที่ได้รับศีลมหาสนิทและศีลอภัยบาปแล้ว คือ อายุประมาณ 12 ปีขึ้นไป (ประมาณ ป.6) และนิยมโปรดศีลกำลังให้ทันที่พร้อมกับศีลล้างบาปในกรณีที่ผู้รับศีลล้างบาปเป็นผู้ใหญ่แล้ว
    3. พ่อแม่อุปถัมภ์    ตามประเพณีปฏิบัติจะมีพ่อแม่อุปถัมภ์สำหรับผู้รับศีลกำลัง เช่นเดียวกับเวลารับศีลล้างบาป ส่วนพ่อแม่อุปถัมภ์จะเป็นคนเดียวกันกับศีลล้างบาปหรือไม่ ไม่มีข้อกำหนดใดๆ คุณสมบัติต่างๆ ของพ่อแม่อุปถัมภ์ในศีลกำลังก็ทำนองเดียวกันกับศีลล้างบาป
    4. เครื่องหมายภายนอกและบทภาวนา    เครื่องหมายภายนอกที่สำคัญของศีลกำลัง คือ การปกมือของพระสังฆราชเหนือผู้รับศีล        หมายถึงการอัญเชิญพระจิตเจ้าเสด็จลงมาประทับในชีวิตของผู้รับศีล พร้อมทั้งคำภาวนาของพระสังฆราชขณะที่ปกมือเหนือผู้รับศีล และเครื่องหมายภายนอกที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การเจิมน้ำมันคริสมา บนหน้าผากของผู้รับศีล    ลักษณะทั้ง 2 ประการนี้ ยังมีความหมายถึงการแต่งตั้งให้เป็นทหารของพระคริสตเจ้า ที่จะต้องต่อสู้กับปีศาจ ความบาป และความไม่ดีต่างๆ อีกด้วย
    ก่อนที่จะรับศีลกำลังผู้รับศีลกำลังจึงต้องได้รับความรู้ความเข้าใจในศีลนี้อย่างดี และจะต้องเตรียมตัวอย่างดีด้วยการสวดภาวนา ฟื้นฟูจิตใจ ต้องอยู่ในสถานะพระหรรษทาน คือ ปราศจากบาป จึงต้องมีการรับศีลอภัยบาปเสียก่อน
    พระศาสนจักรมิได้บังคับว่าทุกคนจะต้องรับศีลกำลัง แต่อย่างไรก็ดีถ้าไม่มีเหตุผลหรืออุปสรรคใดๆ คริสตชนคาทอลิกทุกคนพึงรับศีลกำลัง เพราะจะมีพระพรที่จำเป็นมากมายสำหรับชีวิตดังได้กล่าวไปแล้ว    และศีลกำลังนี้เป็นศีลศักดิ์สิทธิ์ที่สามารถรับได้เพียงครั้งเดียวในชีวิต... ดังเหตุผลที่ได้กล่าวไปแล้วเช่นกัน

ที่มา : หนังสือ หลักธรรมคำสอนคาทอลิก (คุณพ่อวุฒิเลิศ แห่ล้อม)