ศิษย์พระคริสต์เจริญชีวิตประกาศข่าวดีใหม่
การประกาศข่าวดีใหม่ มีความหมายอย่างไรกับท่านบ้าง

1. ความหมายของ “การประกาศข่าวดีใหม่”
สมเด็จพระสันตะปาปากิตติคุณ เบเนดิกต์ ที่ 16 ทรงสอนว่า “การประกาศข่าวดีใหม่” หมายถึง คำเชิญชวนคริสตชนให้รื้อฟื้นความเชื่อใหม่อีกครั้ง เริ่มต้นจากจิตใจของพวกเราแต่ละคน การเริ่มต้นใหม่จะเกิดขึ้นเมื่อเราพร้อมที่จะแบ่งปันความเชื่อกับผู้อื่นในทางที่ไม่คุกคามหรือก้าวก่ายผู้อื่น แต่ด้วยการเชิญชวน
เนื่องจากวิทยาการและเทคโนโลยีเกิดขึ้นมากมาย สิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ ช่วยทำให้ชีวิตสะดวกสบายขึ้น แต่ความก้าวหน้านี้กลับไม่ได้สร้างความสุขให้กับเรา สังคมได้พาเราออกห่างจากหลักความเชื่อคริสตชน เราถูกห้อมล้อมด้วยสารทางโลกที่บอกกับเราว่า เราสร้างความจริงของเราได้ เราเข้าถึงจิตใจได้โดยไม่ต้องเคร่งครัดศาสนา สามารถทำอะไรก็ได้หากไม่ได้ทำร้ายใคร ยอมรับว่าพฤติกรรมหยาบคายเป็นสิ่งที่สนุกสนาน เงินทองและทรัพย์สินจะทำให้เรามีความสุข แต่ทั้งหมดนี้กลับนำไปสู่ “ความยากแค้น” มีธุรกิจมากมายแต่ไม่มีความหมาย มีกิจวัตรที่น่าเบื่อหน่าย และ “ไร้ซึ่งความชื่นชมยินดี”
พระเยซูเจ้าตรัสว่า เรามาเพื่อให้แกะมีชีวิต และมีชีวิตอย่างสมบูรณ์ (ยอห์น 10:10) พระเจ้าทรงรอคอยที่จะเติมเต็มความหมายและความหวังให้แก่เรา นี่คือจุดประสงค์ของการประกาศข่าวดีแบบใหม่

2. ความจริงที่เรากำลังเผชิญ
สมเด็จพระสันตะปาปากิตติคุณ เบเนดิกต์ ที่ 16 กล่าวว่า “วิกฤตที่เรากำลังเผชิญคือสัญญาณของการกีดกันพระเจ้าออกจากชีวิตประจำวัน ความเพิกเฉยต่อความเชื่อคริสตชน และความตั้งใจทำให้ความเชื่อหมดความสำคัญไปจากชีวิตที่แสดงออกมาภายนอก” พระองค์ทรงเล็งเห็นว่า นี่คือช่วงเวลาสำหรับการเริ่มต้นใหม่ ด้วยการรื้อฟื้นความเชื่อในหัวใจทั้งชาย-หญิง ด้วยพระหรรษทานและสรรพานุภาพของพระจิตเจ้า
การเริ่มต้นใหม่ต้องเริ่มจากจุดเล็กๆ ระดับท้องถิ่น เหมือนกับเมล็ดมัสตาร์ตเล็กๆ ที่กลายเป็นต้นไม้ใหญ่ พระองค์ทรงเห็นว่าพวกเราแต่ละคนมีความสามารถทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ให้สำเร็จลุล่วงด้วยการกระทำจากสิ่งเล็กๆ และการกระทำเล็กๆ ที่เราต้องทำคือการมองเข้าไปในใจของเรา การประกาศข่าวดีใหม่เริ่มจากการที่เรามองไปยังความสัมพันธ์ระหว่างเรากับพระเจ้าและพระศาสนจักรของพระองค์ เราต้องภาวนามากขึ้นหรือไม่ เราต้องการจะเป็นศิษย์ของพระองค์ในยุคสมัยใหม่นี้หรือไม่ เราจะต้องเปิดและน้อมรับการทำงานของพระจิตเจ้าในชีวิตและวัฒนธรรมของเรา เราต้องตระหนักว่า เมื่อไรก็ตามที่เราฟังพระสุรเสียงของพระเจ้า เราอาจถูกเรียกให้เปลี่ยนวิถีชีวิตก็เป็นได้

3. เริ่มด้วยใจของเราเองแล้วแบ่งปัน
การรื้อฟื้นความเชื่อใหม่เป็นการสร้างพันธกิจ ซึ่งหมายความว่าเราจะต้องจัดเวลาสำหรับการอ่าน การภาวนา การเรียน และการสะท้อนตน เราจะต้องเริ่มตั้งคำถามเกี่ยวกับสารที่เราได้รับมาทางโลก และเปรียบเทียบกับความจริงของพระวรสาร ซึ่งจะนำเราไปสู่การอุทิศตนให้มีบทบาทมากขึ้นในชุมชน เราจะได้รับพลังจากพระหรรษทานแห่งศีลศักดิ์สิทธิ์ เราจะค้นพบว่าทุกสิ่งในชีวิตเราเปลี่ยนไปเมื่อเราให้ความสำคัญกับพระเจ้ามากขึ้น
การรื้อฟื้นความเชื่อจะเติมเต็มเราด้วยความกระตือรือร้นใหม่ๆ เราจะตระหนักว่าเราถูกเรียกให้ประกาศข่าวดีแก่ผู้อื่น … จัดการกับคำถามที่เก่าที่สุดและลึกซึ้งที่สุดมาตั้งแต่เริ่มการมีอยู่ของมนุษย์ “ความหมายของความเจ็บปวด” เราอาจพบว่าสมาชิกในครอบครัว มิตรสหาย เพื่อนบ้านและเพื่อนร่วมงานสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงของเรา พวกเขาอาจเล่าปัญหาให้เราฟัง พวกเขายอมรับว่ากำลังหาความหมายและเป้าหมายของชีวิต เราสามารถยืนยันได้ว่าความสงบที่แท้จริงมาจากการใช้ชีวิตควบคู่ไปกับพระวรสาร
เรามีของขวัญและพรสวรรค์ที่สามารถแบ่งปันกับผู้อื่น เราอาจอยากช่วยเหลือผู้ที่โชคร้ายกว่าเรา เราอาจค้นพบความกล้าหาญที่จะปฏิเสธสิ่งที่ผิด และลุกขึ้นต่อสู้สำหรับสิ่งที่ถูกต้องและดีงาม เราอาจเริ่มเห็นตัวเราในฐานะธรรมทูตสมัยใหม่ที่ประกาศข่าวดีเกี่ยวกับพระเยซูคริสตเจ้าในทุกๆ สิ่งที่เราพูดและกระทำ

4. ศิลปะการใช้ชีวิต
1) การกลับใจ หมายความว่า เราตั้งคำถามว่าเรากำลังใช้ชีวิตอย่างไร ให้พระเจ้าทรงแสดงให้เราเห็นความจริง และเปลี่ยนแปลงทิศทางการใช้ชีวิต เราเริ่มที่จะมองโลกในมุมมองของพระเจ้า เราเลิกประพฤติตามการกระทำของโลก เราใช้ชีวิตด้วยมาตรฐานที่สูงกว่าด้วยการพึ่งพาพระเจ้า การให้อภัยและความรัก การกลับใจเป็นสิ่งสำคัญในการประกาศข่าวดี เพราะเป็นสิ่งที่ทำให้เราใช้ชีวิตอย่างคริสตชนที่ถูกต้องและทำให้เราได้แสดงให้ผู้อื่นเห็นถึง “ศิลปะการใช้ชีวิต”
2) พระเจ้าทรงอยู่ในฐานะพระบิดา พระบุตร และพระจิต เราเชื่อว่า พระเจ้ามีบทบาทในโลกและในชีวิตของเรา แต่แทนที่เราจะช่วยให้ผู้อื่นได้รู้จักกับพระเจ้า เราต้องสอนให้พวกเขาภาวนา เราต้องสนับสนุนให้พวกเขาฟังพระจิตเจ้าตรัสกับพวกเขาในความเงียบ เราต้องเชิญชวนให้พวกเขาสัมผัสถึงการดำรงอยู่ของพระเจ้าในพิธีบูชาขอบพระคุณ ในพระวาจาที่บันทึกอยู่ในพระคัมภีร์ และในการดำเนินชีวิตทุกๆ วันตามพระวาจา ผู้คนจะเริ่มมองเห็นการมีอยู่ของพระเจ้า

5. พระเยซู พระบุตรพระเจ้า
3) เราจะเข้าใจความสมบูรณ์ของพระเจ้าได้ผ่านทางพระเยซูเจ้าเท่านั้น พระเยซูเจ้าทรงเป็นมากกว่ามนุษย์ พระองค์ทรงเป็นพระบุตรของพระเจ้า และพระองค์ทรงเสนอหนทางที่นำไปสู่ความเป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้า และหนทางนี้อาจหมายถึงความทุกข์ยากลำบากของเรา
นี่เป็นหนทางที่มอบจุดหมายให้กับชีวิตของเรา พระเยซูเจ้าทรงประทานศีลศักดิ์สิทธิ์ให้กับเรา ซึ่งเติมเต็มเราด้วยพระหรรษทานที่เราต้องการเพื่อสานต่อการเดินทางในเส้นทางแห่งความเชื่อของเรา พระเยซูเจ้าทรงอยู่ที่ใจกลางของการประกาศพระวรสาร เป้าหมายของเราคือ การนำพระองค์ไปสู่ทุกๆ มุมของชีวิตเรา
4) ช่วยให้ผู้คนเข้าใจว่าเป้าหมายปลายทางของเราคือ ชีวิตนิรันดรร่วมกับพระเจ้า เราทุกคนถูกตัดสินว่าเราใช้ชีวิตอยู่บนโลกนี้อย่างไร ความอยุติธรรมบนโลกนี้จะถูกกำจัดไปสิ้น และพระเจ้าจะทรงกระทำทุกสิ่งให้ถูกต้อง เราจะเป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้าและคนที่เรารัก นี่เป็นสารแห่งความหวังที่จะบรรเทาความเจ็บปวดและขจัดความกลัวของเรา นี่เป็นสารที่ผู้คนทุกวันนี้ต้องการได้ยิน

6. ความมุ่งหมายของสมัชชาใหญ่ฯ 2015
ขณะที่กระแสของโลกและสังคมปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นบริโภคนิยม วัตถุนิยม ปัจเจกนิยมและสัมพัทธ์นิยม กำลังนำไปสู่สังคม “โลกีย์นิยม” อย่างรวดเร็วและรุนแรงมากขึ้น ดังนั้น สภาพชีวิตด้านศาสนาของชาวไทยโดยทั่วไป จึงแสดงออกเป็นการปฏิบัติศาสนกิจตามรูปแบบของความเคยชิน ที่เชื่อว่าจะปกป้องตนให้พ้นจากภยันตรายต่างๆ ตลอดจนเพื่อให้ได้บุญบารมี และตอบสนองความปรารถนาที่แต่ละคนต้องการในมิติต่างๆ ของชีวิต
ดังนั้น พระศาสนจักรคาทอลิกในประเทศไทยต้องมุ่งเจริญชีวิตเป็นศิษย์พระคริสต์ให้เข้มข้นกว่าที่เคย โดยมุ่งมั่นเดินสวนกระแสและปฏิเสธ “โลกีย์นิยม” ดังกล่าว และมุ่งฟื้นฟูการประกาศข่าวดีขึ้นใหม่ พระศาสนจักรจะต้องเป็นประจักษ์พยานที่เด่นชัดถึงความเป็นหนึ่งเดียวในการเจริญชีวิตที่มีพระคริสตเจ้าเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง เพื่อคริสตชนทุกคนสามารถเป็นเกลือดองแผ่นดินที่มีคุณภาพ และเปี่ยมด้วยแสงสว่างแท้ขององค์พระคริสตเจ้า อันเป็นแสงสว่างจากพระเจ้าองค์ความรักที่มอบให้แก่โลก (กฤษฎีกาสมัชชาใหญ่ 2015 ข้อ 4)

7. ศิษย์พระคริสต์
พระศาสนจักรคาทอลิกในประเทศไทยเชื่อมั่นและตระหนักว่าคริสตชนทุกคนโดยอาศัยศีลล้างบาป มีส่วนร่วมในชีวิตพระตรีเอกภาพ กลับกลายเป็นบุตรของพระบิดาเจ้า เป็นส่วนของพระกายทิพย์ของพระคริสตเจ้า (เทียบ 1คร.12) เป็นพระวิหารของพระจิตเจ้าผู้ทรงบันดาลให้เข้ามีส่วนร่วมในชีวิตของพระคริสตเจ้า เป็นกิ่งองุ่นที่ติดกับลำต้น (เทียบ ยน.15) ดังนั้น คริสตชนทุกคนจึงเป็นศิษย์ด้วยการดำเนินชีวิตสอดคล้องกับความเชื่อ โดยปฏิบัติตามพระวาจาพระเจ้า สำนึกถึงบทบาทสำคัญยิ่งในการประกาศข่าวดีตามพระบัญชาของพระเยซูคริสต์ (เทียบ มธ.28:19-20) เป็นประจักษ์พยานด้วยชีวิต ทำตามแบบอย่างของพระอาจารย์ด้วยการรักผู้อื่นก่อน จนผู้คนรอบข้างสัมผัส เข้าใจได้ถึงความรักของพระเจ้า และตอบรับความรักของพระองค์ (กฤษฎีกาสมัชชาใหญ่ 2015 ข้อ 5)

8. ชุมชนศิษย์พระคริสต์
สถาบันต่างๆ ของพระศาสนจักรในรูปแบบหมู่คณะ ชุมชน องค์กร พระพรพิเศษ ขบวนการ สมาคม ฯลฯ ล้วนเป็นพระพรที่พระจิตเจ้าได้ทรงบันดาลให้เกิดขึ้นในพระศาสนจักร เพื่อความดีของพระศาสนจักรส่วนรวม ทั้งนี้เพื่อเข้าร่วมในพันธกิจประกาศข่าวดีแก่ประชาชนทุกภาคส่วน ในเมื่อพระศาสนจักรเป็นประชากรของพระเจ้าและมีธรรมชาติเป็นชุมชนแห่งความเชื่อ “ท่านทั้งหลายเป็นชาติที่ทรงเลือกสรรไว้ เป็นสมณราชตระกูล เป็นชนชาติศักดิ์สิทธิ์ เป็นประชากรที่เป็นกรรมสิทธิ์พิเศษของพระเจ้า” (1ปต.2:9)
ในวิถีชีวิตชุมชนคริสตชนย่อยที่มีบรรยากาศของอารยธรรมแห่งความรัก ซึ่งจะช่วยให้ทุกคนได้รับการฟื้นฟู มีความกระตือรือร้น เร่าร้อนในชีวิตความเชื่อ แสวงหาวิธีการและการแสดงออกในรูปแบบใหม่ เพื่อสรรพพร้อมที่จะเสวนากับโลกและสามารถเข้าร่วมในพันธกิจประกาศข่าวดีได้อย่างมีประสิทธิผล เพื่อพันธกิจร่วมกันในการประกาศข่าวดีอย่างมีเอกภาพ (กฤษฎีกาสมัชชาใหญ่ 2015 ข้อ 7)

9. พระเจ้าเปิดเผยพระองค์ทางพระบุตร
พระเยซูคริสต์ องค์ความรักที่มาจากพระเจ้าพระบิดา “ทรงสละพระองค์จนหมดสิ้น ทรงรับสภาพดุจทาส เป็นมนุษย์ดุจเรา” (ฟป.2:7) ทรงเจริญชีวิตอย่างยากจน และอยู่เคียงข้างคนบาปและคนต่ำต้อยทุกรูปแบบในสังคมร่วมสมัยกับพระองค์ ทรงยืนยันว่า ทรงพอพระทัยความ
เมตตากรุณา มากกว่าเครื่องบูชา (เทียบ มธ.12:7) ได้ทรงเติมเต็มธรรมบัญญัติเดิมด้วยบัญญัติใหม่แห่งความรัก “ให้ท่านทั้งหลายรักกันเหมือนดังที่เรารักท่าน” (ยน.15:12)
พระองค์ทรงสอนด้วยวาจาและกิจการที่ชัดเจน พระองค์ได้ทรงสถาปนาพระอาณาจักรพระเจ้าขึ้นในโลก ในหมู่ศิษย์ที่มีความรักและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ที่สุด ทรงพิสูจน์ให้เห็นว่าทรงรักเรามนุษย์มากเพียงใด โดยได้ทรงมอบชีวิตของพระองค์ ยอมรับความตายบนไม้กางเขน

10. พระเจ้าองค์ความรัก
พระเยซูคริสตเจ้านี้ จึงทรงเป็นต้นแบบชีวิตแห่งความรักและการอุทิศตนตามพระประสงค์ของพระบิดาอย่างสมบูรณ์ ที่มอบให้ไว้สำหรับเรา คริสตชนทุกคนได้เจริญชีวิตติดตามพระองค์ นอกจากนั้น พระองค์ทรงเป็นพระเจ้าองค์ความรัก ที่ยังคงประทับอยู่กับพระศาสนจักรในปัจจุบันและเสมอไป “ที่ใดมีสองหรือสามคนชุมนุมกันในนามของเรา เราอยู่ที่นั่นในหมู่พวกเขา” (มธ.18:20) เป็นพระเจ้าองค์ความรักที่ผู้คนสามารถสัมผัสรับรู้ถึงความรักของพระองค์ได้ ในชุมชนคริสตชนที่มีความรักและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน อาศัยการเป็นประจักษ์พยานด้วยชีวิตจริงและการแบ่งปันบอกเล่าประสบการณ์ชีวิตอารยธรรมแห่งความรักนี้แก่กันและกันและแก่ทุกคน เป็นแรงจูงใจภายในช่วยให้คริสตชนเติบโต เข้มแข็ง ก้าวออกสู่สังคมรอบข้างเพื่อนำเสนอพระเจ้าองค์ความรักพระองค์นี้แก่ผู้อื่น (กฤษฎีกาสมัชชาใหญ่ 2015 ข้อ 8)

11. การพบปะกับพระคริสตเจ้า
ด้วยการประกาศยืนยันเจตนารมณ์พร้อมด้วยความพยายามปฏิบัติตามบัญญัติใหม่แห่งความรักที่ว่า “นี่คือบทบัญญัติของเรา ให้ท่านทั้งหลายรักกันเหมือนดังที่เรารักท่าน” (ยน.15:12) อย่างมั่นคงต่อเนื่องเสมอ รวมทั้งรื้อฟื้นขึ้นใหม่ทุกครั้งที่จำเป็น วิถีชีวิตคริสตชนรูปแบบนี้จะสามารถถ่ายทอดบรรยากาศอารยธรรมแห่งความรักที่ทำให้ผู้เข้าร่วมในชุมชนดังกล่าว สัมผัสและรับรู้ความรักของพระเจ้าที่มีอยู่ในความสัมพันธ์ต่อกันระหว่างพวกเขาได้
ในทางชีวิตจิต ประสบการณ์ทำนองนี้คือการสัมผัสพระเจ้าองค์ความรัก “พระเยซูคริสตเจ้าผู้กลับคืนพระชนม์ชีพแล้ว” และยังคงประทับอยู่กับพระศาสนจักรต่อไป การพบปะส่วนบุคคล (แบบตัวต่อตัว) กับพระเยซูคริสตเจ้า (Personal encounter with Christ) นี้ คือเงื่อนไขสำคัญอันจะขาดมิได้ในชีวิตความเชื่อคริสตชน เมื่อเขาได้ลองจุ่มชีวิตลงในความรักของพระเจ้าโดยเข้าร่วมในชุมชนคริสตชนย่อยที่มีบรรยากาศอารยธรรมแห่งความรัก และได้เริ่มเจริญชีวิตตามบทบัญญัติแห่งความรักของพระคริสตเจ้า จนเกิดเป็นประสบการณ์ความเชื่อ ได้พบพระคริสตเจ้า ได้สัมผัสความรักของพระองค์แล้ว การกลับใจจะเกิดตามมา เขาเองจะเปิดใจไตร่ตรองชีวิตของตน สำนึกในสภาพจริง ความกลวง ความว่างเปล่า ความล้มเหลว ความผิดพลาดบกพร่อง ความท้อใจในอดีต และจะก้าวเข้าสู่การตัดสินใจครั้งสำคัญยิ่งในชีวิต ที่จะเป็นการตอบรับและจัดให้พระเจ้าองค์ความรักที่เขาได้สัมผัส เป็นเป้าหมายแรกและสำคัญสูงสุดของชีวิตเขา (กฤษฎีกาสมัชชาใหญ่ 2015 ข้อ 9-11)

12. หล่อเลี้ยงชีวิตความเชื่อ
พระเยซูคริสตเจ้าองค์ความรักของพระเจ้าที่พระบิดาเจ้าโปรดประทานแก่มนุษย์ชาติพระองค์นี้ เราพบได้อย่างแท้จริงในพระธรรมล้ำลึกปัสกาแห่งการสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขนและการกลับคืนพระชนม์ชีพของพระองค์
พระศาสนจักรตอบสนองความรักของพระเจ้าด้วยการเจริญชีวิตในความรักและความสนิทสัมพันธ์ด้วยชีวิตจิตแห่งความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน (Spirituality of Communion) โดยมีพระเยซูคริสตเจ้าผู้กลับคืนพระชนม์ชีพประทับท่ามกลางและเป็นพลังยิ่งใหญ่ ก่อเกิดการรวมตัวกันเป็นชุมชนคริสตชน เป็นพระศาสนจักรที่มีชีวิตชีวา มีการร่วมชุมนุมพบปะกันอย่างต่อเนื่องอยู่เสมอในรูปแบบชุมชนคริสตชนย่อยที่มีอารยธรรมแห่งความรักเป็นสายสัมพันธ์ (BEC) และมีการรวมตัวกันเป็นชุมชนความเชื่อ โดยทางศีลล้างบาป คริสตชนแต่ละคนเป็น “ศิษย์ธรรมทูต” ตามคำสั่งของพระเยซูเจ้า “ท่านทั้งหลายจงไปสั่งสอนนานาชาติให้มาเป็นศิษย์ของเรา” (มธ.28:19) คือเป็นทั้งศิษย์และธรรมทูตด้วยชีวิตความเป็นอยู่ของตนทั้งครบ ไม่ว่าจะอยู่ในสถานภาพใดในพระศาสนจักร หรือมีความรู้ความเข้าใจเรื่องความเชื่อในระดับใด ดังนั้นทุกคนจำเป็นต้องได้รับการอภิบาลช่วยเหลือให้เจริญชีวิตในอารยธรรมแห่งความรัก ด้วยวิถีชีวิตชุมชนคริสตชนย่อย อันเป็นวิถีทางหลักที่พระศาสนจักรคาทอลิกประเทศไทยเลือกใช้เป็นแนวการดำเนินชีวิตใหม่ของคริสตชนคาทอลิกไทย... เป็นการร่วมสร้างพระอาณาจักรพระเจ้าขึ้นในโลก พระอาณาจักรแห่งความจริงความยุติธรรม ความรัก ความเมตตาและสันติสุข เพราะนี่คือการเปิดขอบฟ้าใหม่ เป็นขอบฟ้าที่กว้างไกลของงานประกาศข่าวดีสู่ปวงชนทั้งมวล โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวไทยอีกจำนวนมากที่กำลังรอรับฟังข่าวดีนี้อยู่ (กฤษฎีกาสมัชชาใหญ่ 2015 ข้อ 12-13)

13. กลุ่มเป้าหมายเพื่อการฟื้นฟู
“คริสตชนที่มาร่วมพบปะเป็นประจำและผู้ที่มาชุมนุมกันในวันพระเจ้า” พระศาสนจักรจำเป็นต้องเอาใจใส่อภิบาลพวกเขาเหล่านี้ให้ได้รับการหล่อเลี้ยงด้วยพระวาจา ศีลศักดิ์สิทธิ์ และการเข้าร่วมชุมนุมเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในชุมชนความเชื่อ ร่วมอธิษฐานภาวนาพร้อมกันเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เพื่อให้พวกเขาได้เติบโตในความเชื่ออย่างแท้จริงจนสามารถตอบสนองความรักของพระเจ้าได้ดียิ่งขึ้น พร้อมเจริญชีวิตเป็นแบบอย่าง เป็นแสงสว่าง และกล้าหาญที่จะออกไปเป็น “ศิษย์ธรรมทูต” ที่เข้มแข็ง กระตือรือร้นในการประกาศข่าวดีด้วยความชื่นชมยินดีเสมอ… และปรารถนาที่จะผูกมัดตนเองกับพระคริสตเจ้า เป็นหนึ่งเดียวกับสมาชิกของพระศาสนจักร เพื่อพร้อมที่จะดำเนินชีวิตเป็นเกลือดองแผ่นดิน เป็นแสงสว่างส่องโลก และเป็นเชื้อแป้งที่มีคุณภาพมากขึ้นต่อไป
หน้าที่สำคัญของฆราวาสทั้งหญิงและชายก็คือการประกาศพระคริสตเจ้าด้วยชีวิต และพันธกิจที่เป็นประจักษ์พยานท่ามกลางโลก ดำรงชีวิตและบอกเล่าเรื่องพระเยซูคริสตเจ้าในครอบครัว ในสังคมและในงานอาชีพ โดยมุ่งนำความรักและความเมตตาของพระเจ้าไปสู่สังคม
ต้องให้เด็กและเยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมมากที่สุดในชีวิตของพระศาสนจักร เสริมชีวิตชีวาแก่กลุ่มงานรับใช้ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้พวกเขาได้สัมผัสและมีส่วนริเริ่มงานธรรมทูตในสังฆมณฑลหรือในสถานที่อื่นๆ ซึ่งนับเป็นความงดงามที่จะช่วยให้บรรดาเยาวชนบรรลุวุฒิภาวะทางความเชื่อ พร้อมเป็น “ผู้จาริกประกาศความเชื่อ” มีความชื่นชมยินดีที่จะนำพระเยซูเจ้าไปตามท้องถนน ตามสี่แยกและในทุกมุมโลก (กฤษฎีกาสมัชชาใหญ่ 2015 ข้อ 16,20,21)

14. วัดและชุมชนวัด
วัดต้องเป็นสถานที่อภิบาลคริสตชนให้ดำเนินชีวิตในความรักกันฉันพี่น้อง และเพาะบ่มให้คริสตชนเข้าใจและดำเนินชีวิตด้วยความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในพระศาสนจักรให้มากขึ้น ชุมชนวัดจะต้องมีส่วนรับผิดชอบในงานประกาศข่าวดีแก่ทุกคน มีพันธกิจให้การศึกษาอบรมอย่างต่อเนื่องโดยตรงแก่บรรดาคริสตชน อบรมสั่งสอนสัตบุรุษให้ฟังและดำเนินชีวิตตามพระวาจาของพระเจ้า ให้มีความสนิทสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพระองค์ในพิธีกรรม ในการสวดภาวนาส่วนตัวและส่วนรวม และรับใช้ทุกคนโดยเฉพาะผู้ที่ถูกทอดทิ้ง (กฤษฎีกาสมัชชาใหญ่ 2015 ข้อ 22)

15. วิถีชุมชนวัด
พระศาสนจักรคาทอลิกในประเทศไทย ตระหนักและยอมรับว่า “วิถีชุมชนวัด” หรือ “วิถีชีวิตชุมชนคริสตชน” เป็นวิถีหลักในการดำเนินชีวิตที่เน้นมิติความเป็น “ชุมชน” หรือ “หมู่คณะ” เป็นพระศาสนจักรในบริบทของชาวเอเชียและประเทศไทย สะท้อนภาพความเป็นชุมชนของพระศาสนจักรในยุคแรกๆ ที่ดำเนินชีวิตตามพระวาจาด้วยจิตตารมณ์แห่งความรัก มีพระคริสตเจ้าเป็นศูนย์กลาง รวมตัวกันเพื่อภาวนา อ่านพระคัมภีร์ ร่วมพิธีกรรม เรียนรู้คำสอนและเจริญชีวิตพระวาจา แบ่งปันประสบการณ์ชีวิตความเชื่อของตนและของชุมชนในมิติต่างๆ มีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน มีการแบ่งปัน และการรับใช้ซึ่งกันและกัน จนเป็นที่นิยมเลื่อมใสของประชาชน (เทียบ กจ. 2: 47; 3: 33; 5: 13)
วิถีชุมชนวัดต้องเป็นเครื่องหมายที่มีชีวิตชีวาของพระศาสนจักรและเป็นเครื่องมือในการอบรม การฟื้นฟูชีวิตและพันธกิจการประกาศข่าวดีด้วยการอุทิศตนทำงานเพื่อสังคม เอาใจใส่ผู้ยากไร้ ผู้สนใจที่ต้องการรู้จัก

17. พระศาสนจักรที่ยากจนเพื่อคนยากจน
พระศาสนจักรต้องเลือกอยู่ข้างคนยากจนเป็นอันดับแรก เรื่องนี้จะต้องเป็น “เทววิทยาชีวิต” (Theology of life) ของพระศาสนจักรมากกว่าเป็นเพียงความคิดหรืองานบริการสังคม การเลือกเช่นนี้เป็นวิถีชีวิตของพระศาสนจักรที่ต้องไม่เปลี่ยนแปลงเป็นอื่น เรื่องนี้สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส ทรงเลือกที่จะฟื้นฟูพระศาสนจักรอย่างจริงจังให้อยู่ข้างคนยากจน โดยให้พระศาสนาจักรดำเนินชีวิตยากจนเพื่อคนยากจน พระคริสตเจ้าทรงเป็นต้นแบบที่ล้ำค่าที่สุดในเรื่องการถ่อมพระองค์ลงมา ทรงบังเกิดอย่างยากจน ทรงทิ้งความร่ำรวยสูงสุด ลงมารับสภาพดุจทาสเป็นมนุษย์เหมือนเรา และทรงรักมนุษย์จนกระทั่งยอมสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน เพื่อกอบกู้พวกเขาให้รอดพ้นพระศาสนจักรต้องไม่สะสมความร่ำรวย และสถาบันของพระศาสนจักรต้องเป็นประจักษ์พยาน ต้องปรับเปลี่ยนตนเองให้มีพื้นที่ที่เปิดกว้างต้อนรับคนยากจน พระสังฆราช พระสงฆ์ นักบวชและคริสตชนทุกคนต้องเลือกที่จะนำเนินชีวิตอย่างเรียบง่าย สมถะ พอเพียง มีเมตตากรุณา รักและรับใช้ อยู่เคียงข้างคนจน เน้นความยุติธรรมในสังคม กล้าละทิ้งความสะดวกสบายและความมั่นคงส่วนตน เพื่อเป็นประจักษ์พยานที่มีประสิทธิภาพและประกาศข่าวดีได้อย่างแท้จริง (กฤษฎีกาสมัชชาใหญ่ 2015 ข้อ 26)

18. รักษ์สิ่งสร้าง
พระเจ้าทรงมอบหมายให้มนุษย์มีหน้าที่รักษาดูแลโลกและสรรพสิ่งซึ่งเป็น “บ้านส่วนรวม” (Our common home) ของมนุษยชาติ (เทียบ ปฐก 1 ดู Laudatosi) ดังนั้น มนุษย์จึงต้องทำงานร่วมกับพระผู้สร้าง สานต่อกิจการสร้างโลกโดยทำให้สิ่งสร้างสมบูรณ์ มั่นคงและเติบโตอยู่เสมอ เราจึงมีหน้าที่ต้องเคารพและสำนึกรู้คุณต่อพระผู้สร้าง โดยไม่ละเมิดหรือทำลายระบบนิเวศและความงดงามของโลก มีการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติแบบมีส่วนร่วม โดยเอาใจใส่ทำนุบำรุงดูแลและเยียวยาสภาพแวดล้อมด้วยโลกทัศน์และภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อให้เกิดความสมดุลทางธรรมชาติอย่างยั่งยืน เป็นหน้าที่สำคัญของพระศาสนจักรที่จะต้องรับผิดชอบ เอาใจใส่ดูแล รณรงค์ ส่งเสริม ปลูกฝัง และเรียกร้องให้คริสตชนและทุกภาคส่วนของสังคม ตระหนักถึงพันธกิจแห่งการคุ้มครองรักษาโลกใช้ทรัพยากรต่างๆ อย่างคุ้มค่าโดยคำนึงถึงความดีงามส่วนรวม ทั้งในปัจจุบันและอนาคต (กฤษฎีกาสมัชชาใหญ่ 2015 ข้อ 28)

19. คริสตชนฆราวาสได้รับการอบรมต่อเนื่อง
คริสตชนฆราวาสเป็นประชากรส่วนใหญ่ของพระศาสนจักร เป็นส่วนของพระกายพระคริสตเจ้า ต้องได้รับการอบรมด้านความเชื่อ โดยมีกระบวนการอบรมอย่างต่อเนื่องทั้งในด้านความรู้ การดำเนินชีวิต และการปฏิบัติพันธกิจเพื่อการประกาศข่าวดี ซึ่งรวมถึงการศึกษาอบรมและฝึกปฏิบัติการภาวนาโดยเน้นเรื่องจิตภาวนา การประกาศข่าวดีกับพี่น้องต่างความเชื่อ ความเข้าใจและการมีส่วนร่วมในพิธีกรรมอย่างมีชีวิตชีวา กระบวนการรับผู้ใหญ่เข้าเป็นคริสตชน (RCIA) ฯลฯ เพื่อให้พวกเขาได้มีประสบการณ์พบปะส่วนบุคคลกับพระเยซูคริสตเจ้า พวกเขาได้รับกระแสเรียกให้ต้องมีบทบาทและมีส่วนร่วมอย่างสำคัญในการประกาศข่าวดีเพื่อถ่ายทอดความเชื่อ อีกทั้งเข้าร่วมในพันธกิจของพระศาสนจักรทุกภาคส่วน ดังนั้น พระศาสนจักรคาทอลิกในประเทศไทยต้องมุ่งสร้าง สนับสนุน ส่งเสริมและพัฒนาฆราวาสให้เข้มแข็งมากขึ้น อย่างต่อเนื่องและเป็นระบบกว่าเดิม (กฤษฎีกาสมัชชาใหญ่ 2015 ข้อ 36 - 37)

20. รู้จักใช้เทคโนโลยีและการสื่อสาร
เทคโนโลยีและการสื่อสารเป็นของประทานจากพระเจ้า เป็นเครื่องมือเพื่อรับใช้การประกาศข่าวดี สื่อสังคมทำให้เกิดชุมชนในรูปแบบเครือข่ายสังคมที่กว้างใหญ่ไพศาล ดังนั้นสมาชิกของพระศาสนจักรต้องเรียนรู้เข้าใจและใช้โอกาสที่เปิดกว้างนี้เพื่อเป็นประโยชน์ในการอภิบาล การประกาศข่าวดี และรับการถ่ายทอดความเชื่อและชีวิตจิตพระศาสนจักรต้องเดินเคียงข้างกับประชากร เป็นมโนธรรม เป็นผู้นำและผู้สอน ให้พวกเขาเข้าใจและเข้าถึงสื่อต่างๆ อย่างมีสติ ชาญฉลาดและรอบคอบ ให้คริสตชนทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กๆ และเยาวชน เข้าใจรู้จักเลือกรับหรือปฏิเสธเนื้อหาที่สื่อนำเสนอ สามารถใช้สื่อเพื่อประกาศข่าวดี อย่างไรก็ตาม การสื่อสารที่ทรงประสิทธิภาพมากที่สุดยังคงได้แก่การสื่อด้วยชีวิตที่เป็นประจักษ์พยานพระวรสาร (กฤษฎีกาสมัชชาใหญ่ 2015 ข้อ 39)