การประจญมาจากไหน ?


temptation    1. จากภายนอก  
        1.1 เกิดจากเพื่อน สังคมที่ทำงาน สภาพแวดล้อมรอบบ้าน ฯลฯ
        1.2 เกิดจากผู้ที่รักเรา เช่นเรามีกระแสเรียกที่จะทำงานช่วยเหลือผู้ป่วยเป็นโรคติดต่อร้ายแรง แต่ถูกพ่อแม่ห้ามปรามด้วยความรักและห่วงใย
        1.3 เกิดจากการตามกระแส ชอบลองดี แข่งกันเลว มักเกิดกับพวกวัยรุ่น
    2. จากภายใน  
        2.1 เกิดจากความคิด ความปรารถนา และจุดอ่อนของเราแต่ละคน  เราจึงต้องพยายามค้นให้พบจุดอ่อนของเราแล้วเฝ้าระวังไว้ให้ดี
        2.2 เกิดจากพรสวรรค์และจุดแข็ง ซึ่งทำให้เรามั่นใจตัวเองมากเกินไป และตั้งตัวอยู่ในความประมาท

การประจญเกิดขึ้นเมื่อใด ?

  • พระวรสาร 3 ฉบับเน้นเหมือนกันว่าการทดลองของพระเยซูเจ้าเกิดขึ้นทันทีหลังรับพิธีล้างจากยอห์น  โดยเฉพาะมาระโกระบุไว้ชัดเจนว่า “ทันใดนั้น พระจิตเจ้าทรงดลให้พระองค์เสด็จเข้าไปในถิ่นทุรกันดาร” (มก 1:12)
  • เป็นความจริงว่าเมื่อชีวิตของเราขึ้นสู่จุดสูงสุดหรือผ่านเหตุการณ์สำคัญที่สุดแล้ว จะเกิดปฏิกิริยาตอบโต้ และส่วนใหญ่มักเป็นภัยมากกว่าเป็นคุณ เหมือนดอกไม้ไฟที่ขึ้นสู่จุดสูงสุดและสว่างไสวที่สุดแล้วก็จะดับมืดและร่วงตกลงมา
  • พระเยซูเจ้าก็เช่นกัน พระองค์พึ่งจะได้รับเกียรติสูงสุด โดยพระจิตเจ้าที่เสด็จมาในรูปของนกพิราบทรงรับรองพระองค์ว่า “เป็นบุตรสุดที่รัก” ของพระบิดา  และทันทีเป็นพระจิตเจ้าอีกเช่นกันที่ทรงนำพระองค์สู่ถิ่นทุรกันดารและการทดลอง
  • เราจึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษเมื่อประสบความสำเร็จ หรือขึ้นสู่จุดสูงสุดในชีวิต !!
  • และอย่าคิดว่าพระเยซูเจ้าทรงถูกทดลองในถิ่นทุรกันดารครั้งเดียวแล้วจบเลย  ลูกาเล่าว่า “เมื่อปีศาจทดลองพระองค์ทุกวิถีทางแล้ว จึงแยกจากพระองค์ไป  รอจนกว่าจะถึงเวลาที่เหมาะสม” (ลก 4:13)
  • ที่เมืองซีซารียาแห่งฟิลิป หลังจากพระองค์ตรัสทำนายถึงพระทรมานแล้ว เป็นเปโตรศิษย์เอกนั่นเองที่คัดค้านวิถีทางของไม้กางเขน และชักชวนพระองค์ให้เลือกหนทางที่สบายกว่าและมีเกียรติมากกว่า จนพระองค์ทรงดุว่า “เจ้าซาตาน ถอยไปข้างหลัง” (มธ 16:21-23)
  • เมื่อใกล้วาระสุดท้าย พระองค์กล่าวกับพวกศิษย์ว่า “ท่านทั้งหลายเป็นผู้ที่ยืนหยัดอยู่กับเราในการทดลองที่เราได้รับ” (ลก 22:28)
  • และที่หนักสุดคือบนภูเขามะกอก เมื่อพระองค์ทรงภาวนาว่า “พระบิดาเจ้าข้า ถ้าพระองค์มีพระประสงค์ โปรดทรงนำถ้วยนี้ไปจากข้าพเจ้าเถิด” (ลก 22:39-46)
  • แสดงว่าพระองค์ทรงถูกทดลองตลอดชีวิต !!!
  • เมื่อเป็นเช่นนี้เราจึงต้อง “เฝ้าระวังตลอดชีวิต”  ไม่ใช่หลงผิดตั้งหน้าตั้งตาบำเพ็ญตบะหรือทำการใด ๆ เพื่อให้บรรลุถึงขั้นที่เรียกว่าจิตว่าง “ปลอดจากการทดลอง”  เพราะพระเยซูเจ้าเองก็ไม่เคยและไม่ทรงพยายามด้วยที่จะบรรลุถึงขั้นนี้


วิธีต่อสู้กับการประจญ
     1. เคารพตนเอง ลองถามตัวเองว่า “คนอย่างฉันน่ะหรือจะทำสิ่งแบบนี้”
     2. คิดถึงศักดิ์ศรีของบรรพบุรุษ ของวัด สถาบัน ประเทศชาติ ฯลฯ
     3. คิดถึงคนที่เรารักและคนที่รักเรา “ถ้าติดคุก แล้วใครจะเลี้ยงดูลูกเมียล่ะ ?”
     4. คิดว่าเรากำลังอยู่ต่อหน้าพระเยซูเจ้าเสมอ “ถ้าพระองค์อยู่ต่อหน้าเรา เราจะกล้าทำสิ่งนี้หรือ ?”

การป้องกันเชิงรุก
ให้ถือหลักว่า “การหนี” หรือ “การตั้งรับ” มีแต่ทรงกับทรุด เพราะฉะนั้นเราต้อง
     1. คิดดี
     2. ทำดี
    หากเรากำลัง “คิดดี” และ “ทำดี” อยู่  ย่อมเป็นไปไม่ได้เลยที่จะมีสิ่งใดมาชักนำเราให้ “คิดชั่ว” หรือ “ทำชั่ว” ได้
    นี่คือวิธี “ป้องกัน” การประจญที่ดีที่สุด !