ทำไมสตรีจึงไม่ได้รับศีลบวชเป็นพระสงฆ์ในพระศาสนจักรคาทอลิก


เราเรียนรู้จากหนังสือพระวรสารว่ามีสตรีจำนวนมากได้ติดตามองค์พระเยซูเจ้าเหมือนกับบรรดาอัครสาวก มีบางคนได้ติดตามพระองค์ไปเมื่อพระองค์เสด็จไปเทศนาสั่งสอนในสถานที่ต่างๆ “หลังจากนั้น พระเยซูเจ้าเสด็จไปตามเมืองและหมู่บ้านต่างๆ ทรงเทศน์สอนและประกาศข่าวดีถึงพระอาณาจักรของพระเจ้า อัครสาวกสิบสองคนอยู่กับพระองค์ รวมทั้งสตรีบางคน” (ลก 8:1-2)   
  • มีบอกไว้ว่า เมื่อพระเยซูเจ้าทรงถูกตรึงกางเขนนั้น บรรดาสตรีผู้ติดตามพระเยซูเจ้าเฝ้ามองดูเหตุการณ์อยู่ห่างๆ ยังมีบอกไว้อีกว่าในบรรดาสตรีที่ว่านี้มีบางคนคอยเอาใจใส่ดูแลพระองค์ขณะออกเทศน์สอนประชาชน “สตรีบางคนมองดูเหตุการณ์อยู่ห่างๆ ในจำนวนนี้มีมารีย์ชาวมักดาลา มารีย์มารดาของยากอบคนเล็ก และของโยเสทและสะโลเม สตรีเหล่านี้เคยติดตามรับใช้พระองค์เมื่อพระองค์ทรงอยู่ในแคว้นกาลิลี สตรีอื่นๆ อีกหลายคนซึ่งขึ้นมาที่กรุงเยรูซาเล็มพร้อมกับพระองค์ก็อยู่ที่นั่นด้วย”(มก 15:40-41, มธ 27:55-56, ลก 23:49)
พระเยซูเจ้าทรงสนิทกับมารธาและมารีย์ น้องสาวทั้งสองของลาซารัส “พระเยซูเจ้าทรงรักมารธากับน้องสาวและลาซารัส” (ยน 11:5)
วันต้นสัปดาห์ของชาวยิว บรรดาสตรีบางคนนำเครื่องหอมไปชโลมพระศพของพระคริสตเจ้าที่พระคูหา แต่พบว่าพระองค์ทรงเสด็จกลับคืนพระชนมชีพ (เทียบ ลก 23:55-60; 24:1)
  • หลังจากที่พระคริสตเจ้าทรงเสด็จขึ้นสวรรค์ไปแล้วนั้น ได้มีการชุมนุมกันของบรรดาอัครสาวกที่ห้องชั้นบนในกรุงเยรูซาเล็ม “พร้อมกับบรรดาสตรี รวมทั้งมารีย์พระมารดาของพระเยซูเจ้า ทุกคนร่วมอธิษฐานภาวนาสม่ำเสมอเป็นหนึ่งใจเดียวกัน” (กจ 1:12-14)
จากสิ่งที่พันธสัญญาใหม่บอกเราไว้นั้น เราได้เห็นแล้วว่าพระเยซูเจ้าทรงมีบรรดาสตรีที่เป็นศิษย์ติดตามพระองค์ เช่นเดียวกับบรรดาบุรุษที่เป็นศิษย์ติดตามพระองค์ พวกเขาติดตามพระองค์ไปเวลาที่พระองค์เสด็จไปเทศน์สอนตามที่ต่างๆ พวกเขาติดตามรับใช้พระองค์และก็อยู่ใกล้ๆ ขณะที่พระองค์ทรงถูกตรึงกางเขน พวกเขาได้ไปที่พระคูหาจึงพบว่าพระองค์ทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว พวกเขาร่วมอธิษฐานภาวนากับบรรดาอัครสาวกหลังจากที่พระองค์เสด็จขึ้นสวรรค์ไป แม้จะสนิทสนมกับพระคริสตเจ้า  แต่ไม่มีสตรีคนใดเลยแม้กระทั่งพระมารดาของพระองค์ได้อยู่ในเหตุการณ์สำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ วันที่พระองค์ทรงตั้งศีลมหาสนิท
  • นักบุญมัทธิว มาระโก และลูกา ได้กล่าวถึงเหตุการณ์นี้ว่า พระเยซูเจ้าทรงรับประทานอาหารค่ำมื้อสุดท้ายกับบรรดาอัครสาวกสิบสองคน “ครั้งถึงเวลาค่ำ พระองค์ประทับร่วมโต๊ะกับศิษย์ทั้งสิบสองคน” (มธ 26:20) “ครั้นถึงเวลาค่ำ พระองค์เสด็จมาพร้อมกับบรรดาอัครสาวกสิบสองคน” (มก 14:17) “เมื่อถึงเวลา พระเยซูเจ้าประทับที่โต๊ะพร้อมกับบรรดาอัครสาวก” (ลก 22:14)
บุรุษเหล่านี้คือบุคคลที่พระเยซูเจ้าทรงเลือกเป็นพิเศษจากบรรดาศิษย์ของพระองค์ เพื่อตั้งเป็นกลุ่มพิเศษที่เรียกว่า “อัครสาวก” ครั้งนั้น พระองค์เสด็จขึ้นไปบนภูเขาเพื่ออธิษฐานภาวนา และทรงอธิษฐานภาวนาต่อพระเจ้าตลอดทั้งคืน ครั้นถึงรุ่งเช้า พระองค์ทรงเรียกบรรดาศิษย์เข้ามาแล้วทรงคัดเลือกไว้สิบสองคน ประทานนามว่า “อัครสาวก” (ลก 6:12-13)
  • พระเยซูเจ้าทรงเลือกศิษย์ 12 คน เป็นพิเศษให้เข้าร่วมในการเฉลิมฉลองศีลมหาสนิท ซึ่งไม่ใช่ศิษย์คนอื่นๆ ซึ่งเป็นชายและไม่ใช่ศิษย์ที่เป็นหญิง ทั้งๆ ที่พวกเขาเหล่านี้รวมกลุ่มอย่างใกล้ชิดกับพระองค์ มีแต่เพียงบรรดาอัครสาวกเท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมเฉลิมฉลองศีลมหาสนิท ซึ่งพระเยซูเจ้าตรัสว่า “จงทำดังนี้เพื่อระลึกถึงเราเถิด” (ลก 22:19) บรรดาพระสังฆราช ผู้สืบตำแหน่งต่อจากบรรดาอัครสาวก และบรรดาพระสงฆ์ผู้ร่วมงานกับบรรดาพระสังฆราช มีส่วนร่วมในบทบาทศาสนบริการของบรรดาอัครสาวก
ความเข้าใจของพระศาสนจักรตั้งแต่สมัยบรรดาอัครสาวกจนถึงปัจจุบันคือ พระคริสตเจ้าไม่ทรงประสงค์ให้มีการบวชสตรีเป็นพระสงฆ์ คำถามที่ว่าทำไมจึงไม่ให้สตรีบวชเป็นพระสงฆ์พึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ แน่นอนว่าทั้งในปัจจุบันและในอนาคต พระศาสนจักรซึ่งได้รับการชี้นำจากพระคัมภีร์เป็นหลักฐานและธรรมประเพณีซึ่งปฏิบัติต่อเนื่องกันมากว่า 2000 ปี ก็ยังคงยึดถือว่าไม่มีการให้สตรีบวชเป็นพระสงฆ์
  • การให้พระสงฆ์ถือโสดนั้นเกิดจากกฎข้อบังคับของพระศาสนจักรตะวันตก พระศาสนจักรตะวันออกทั้งคาทอลิกและออร์โธด็อกซ์อนุโลมให้พระสงฆ์แต่งงานได้ แต่เรื่องการบวชสตรีเป็นพระสงฆ์นั้น บรรดาคริสตจักรตะวันออกเห็นด้วยกับพระศาสนจักรตะวันตกโดยสิ้นเชิงว่าสตรีนั้นไม่ควรได้รับศีลบวช มิใช่แค่เรื่องกฏข้อบังคับในการให้ถือโสดเท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องการถือตามพระประสงค์ของพระคริสตเจ้า และตามแผนงานที่ทรงให้ไว้กับพระศาสนจักร
พระเจ้าทรงมีพระบุตรแต่องค์เดียวคือพระคริสตเจ้า พระองค์มิได้มีบุตรสาว พระบุคคลที่สองแห่งพระตรีเอกภาพทรงรับสภาพมนุษย์เพื่อมอบชีวิตของพระองค์เพื่อไถ่กู้มนุษยชาติ พระสงฆ์ถวายบูชามิสซาเป็นการระลึกถึงการพลีพระชนมชีพของพระคริสตเจ้า อย่างที่พระเจ้าทรงเลือกให้พระบุตรกระทำการไถ่กู้มนุษยชาติ พระคริสตเจ้าก็ทรงเลือกบรรดาบุรุษให้รื้อฟื้นการถวายบูชาของพระองค์ในศีลมหาสนิท พระสงฆ์ซึ่งเป็นชายเหมือนพระคริสตเจ้าจึงเป็นเครื่องหมายศักดิ์สิทธิ์ของการถวายบูชาขอบพระคุณ นี่คือแผนการของพระเจ้าในการไถ่กู้มนุษยชาติ
  • คงจะเป็นเรื่องประหลาดที่เราถามว่าทำไมพระคริสตเจ้าจึงทรงกระทำเช่นนี้ ไม่กระทำเช่นนั้น ทำไมพระองค์จึงมีศิษย์สิบสองคนเป็นอัครสาวก และทำไมพระองค์จึงไม่ทรงอนุญาตให้สตรีรับศีลบวชเป็นพระสงฆ์ จริงๆ แล้วน่าจะถามว่าทำไมพระเจ้าจึงทรงเรียกชาวยิวให้เป็นประชากรของพระองค์มิใช่ชาวกรีก หรือชาวโรมัน วิธีการของพระเจ้านั้นมิใช่วิธีการของเรา วิธีการของพระเจ้านั้นเรามิอาจหยั่งรู้ได้
การไม่อนุญาตให้สตรีรับศีลบวชเป็นพระสงฆ์นั้นมิได้ละเมิดศักดิ์ศรีของสตรีแต่อย่างใด ดังที่เราได้ทราบมาแล้วว่าบรรดาสตรีซึ่งติดตามพระเยซูเจ้าก็เป็นส่วนหนึ่งของผู้มีความใกล้ชิดกับพระองค์ ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในมวลมนุษยชาติคือ สตรี พระนางพรหมจารี “ที่ปราศจากมลทินบาปใดๆ ทางธรรมชาติ” สิ่งที่เราพึงสังเกตคือ พระเจ้าทรงประทานบทบาทหน้าที่ที่แตกต่างกันให้กับมนุษย์ทั้งชายและหญิง (ชายให้กำเนิดบุตรมิได้) พระองค์ทรงประสงค์ให้ชายทำหน้าที่สงฆ์
  • “แต่เมื่อแรกสร้างโลกนั้น พระเจ้าทรงสร้างมนุษย์ให้เป็นชายและหญิง” (มก 10:6) ทั้งคู่มีบทบาทหน้าที่เสริมประกอบกันในการดำเนินชีวิตมนุษย์ ยังเห็นได้อีกในเรื่องการไถ่กู้มนุษยชาติที่พระคริสตเจ้าทรงเป็นพระผู้ไถ่ และพระนางมารีย์มีส่วนร่วมในงานไถ่กู้นี้โดยรับเป็นมารดาของพระผู้ไถ่ และมีส่วนร่วมในพระมหาทรมานของพระคริสตเจ้าทางจิตใจ เรื่องนี้ยังสะท้อนให้เห็นว่าพระศาสนจักรจักรมีส่วนร่วมในงานไถ่กู้ และงานเสริมสร้างความศักดิ์สิทธิ์ ผู้ชายมีหน้าที่ในการเป็นพระสงฆ์ และผู้หญิงมีหน้าที่แบบสตรี ดูแลบุตรแบบมารดาเหมือนอย่างพระนางมารีย์ทรงทำหน้าที่นั้น
อาจอ้างได้ว่าพระเยซูเจ้าทรงได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมของท้องถิ่นที่ดูถูกสตรี จึงไม่ได้อนุญาตให้สตรีรับศีลบวชเป็นพระสงฆ์ แต่เราทราบว่าพระเยซูเจ้ามิได้ต่อต้านวัฒนธรรมของสมัยนั้น เช่นพระองค์เสด็จไปรับประทานอาหารกับพวกคนเก็บภาษี ทรงฝ่าฝืนการถือกฎวันสับบาโต และทรงสนทนากับสตรีชาวสะมาเรีย ในเมื่อพระองค์ทรงยอมให้สตรีสนิทสนมด้วยนั้นควรยอมให้สตรีเป็นพระสงฆ์ แต่เราได้ทราบมาแล้วว่านี่มิใช่แผนการของพระองค์ที่จะให้สตรีบวชเป็นพระสงฆ์