feast-of-holy-familyการนมัสการรูปปั้นหรือสิ่งของ คิดว่ามีคุณค่าและพลังเหนือธรรมชาตินั้น เป็นการนับถือเทวรูป เนื่องจากว่า ควรจะถวายเกียรติแด่พระเจ้าเที่ยงแท้แทนที่จะถวายเกียรติแด่วัตถุสิ่งของ ดังนั้นจึงถือว่าเป็นการนับถือเทวรูป  เช่น การบูชาพระอาทิตย์ หรือการบูชาพระจันทร์ ชาวอิสราแอลที่ถวายบูชารูปโคทองคำ (อพย 32) นั้น ถือว่าเป็นการนับถือเทวรูปอย่างที่ชนชาวคานาอันถวายนมัสการรูปพระบาอัล ผู้เขียนบทเพลงสดุดีได้กล่าวถึงพระเท็จเทียมต่างๆ ไว้ว่า “รูปเคารพของบรรดาประชาชาติทำด้วยเงินและทองคำ สร้างขึ้นด้วยฝีมือมนุษย์ รูปเหล่านี้มีปากแต่พูดไม่ได้ มีตาแต่มองไม่เห็น” (สดด 115:4-5)

พระบัญญัติของพระเจ้านั้นได้ทรงห้ามมิให้นับถือเทวรูป “ท่านต้องไม่ทำรูปเคารพสำหรับตน ไม่ว่าจะเป็นรูปสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งอยู่ในท้องฟ้าเบื้องบน หรือซึ่งอยู่ในแผ่นดินเบื้องล่าง หรือซึ่งอยู่ในน้ำใต้แผ่นดิน ท่านต้องไม่กราบไหว้รูปเคารพหรือนมัสการรูปเหล่านั้น” (อพย 20:4-5, ฉธบ 5:8-9) ชาวยิวนั้นมีผู้นับถือเทวรูปอยู่ล้อมรอบจึงต้องปกป้องตัวเองมิให้หลงไปนับถือเทวรูป จึงต้องมีการเน้นย้ำห้ามใช้รูปเคารพต่างๆ

นี่คือการที่เราต้องเข้าใจพระบัญญัติของพระเจ้าในบริบทที่กำหนดบัญญัติไว้เช่นนั้น คงไม่ถูกต้องที่จะสรุปว่า โดยทางพระบัญญัติดังกล่าวนี้ พระเจ้าทรงห้ามมิให้มีภาพศักดิ์สิทธิ์ทั้งหมด การใช้รูปจำลองแสดงถึงพระเจ้าเที่ยงแท้ ถึงพระเยซูคริสตเจ้าหรือบรรดานักบุญนั้น มิได้เกิดมาจากข้อห้ามดังกล่าวนี้ เนื่องจากมิได้เป็นการเคารพรูปพระเท็จเทียม เราเก็บรักษารูปภาพของคนที่เรารักที่ไม่อยู่หรือตายจากไปแล้วมิใช่หรือ รูปภาพหรือรูปแกะสลักนั้นเป็นการจำลองภาพของคนที่เรามิได้เห็นอีกแล้วแต่ก็ยังเคารพรัก ภาพจำลองนั้นเป็นสิ่งธรรมชาติสำหรับมนุษย์ และได้เริ่มใช้มาตั้งแต่ยุคที่มนุษย์อาศัยอยู่ในถ้ำแล้ว

อย่างไรก็ตาม ในประวัติพระศาสนจักร ได้มีช่วงเวลา (ศตวรรษที่ 3-9) อันเป็นช่วงที่บางส่วนของพระศาสนจักรตะวันออกเลิกใช้รูปปฏิมาและทำลายทิ้งไป (Iconoclasm) ด้วยเหตุผลว่า ส่วนใหญ่นั้นเป็นการเข้าใจผิด คิดว่าหมายถึงพระคริสตเจ้าที่มีการจำลองแบ่งส่วนความเป็นมนุษย์ออกจากความเป็นพระเจ้าของพระองค์ สภาสังคายนาแห่งนิเชครั้งที่ 2 (ค.ศ. 787) ได้ระบุไว้ว่า ภาพลักษณ์ต่างๆ นั้นสมควรได้รับการเคารพนับถือ

สภาสังคายนาวาติกันที่ 2 ก็ได้ยืนยันเรื่องนี้ไว้ว่า “ยังมีการตั้งรูปศักดิ์สิทธิ์ต่างๆไว้ในวัด   เพื่อให้คริสตชนได้แสดงความเคารพ เรื่องนี้ให้ยึดถือปฏิบัติได้ต่อไป” (Constitution on the Sacred Liturgy 125)

รูปภาพ รูปปั้นต่างๆ นั้นยังมีคุณค่าทางการใช้สอน ในยุคกลาง ก่อนค้นพบเรื่องการตีพิมพ์นั้น ได้มีการใช้สื่อรูปแกะสลักและหน้าต่างกระจกสีในวัดและในอาสนวิหาร เพื่อประชาชน โดยเฉพาะผู้ไร้การศึกษา มาเรียนรู้เรื่องข้อความเชื่อ อย่างที่ เอมิลี มาลี ได้ให้ข้อสังเกตไว้ว่า “ศิลปะยุคกลางนั้นเป็นสื่อช่วยสอนคำสอนในทุกเรื่องที่มนุษย์จำเป็นต้องรู้ คือประวัติศาสตร์โลกตั้งแต่เริ่มการสร้าง ข้อความเชื่อทางศาสนา แบบอย่างชีวิตของบรรดานักบุญ คุณธรรมต่างๆ แนวทางวิทยาศาสตร์ ศิลปะและวิชาชีพต่างๆ ทั้งหมดนี้เป็นสื่อช่วยสอนโดยอาศัยหน้าต่างกระจกสีของวัด หรือโดยอาศัยรูปปั้นต่างๆ ที่ประตูทางเข้า” (The Gothic Image Collins-Fontana, 1961 P.VII) การศึกษาสมัยใหม่นั้นให้ความสำคัญอย่างมากกับเรื่องสื่อการสอนที่เป็นวีดีทัศน์

เพราะว่าอาศัยการดูการแสดงถึงพระคริสตเจ้า พระนางพรหมจารีมารีอา หรือนักบุญ รูปภาพนั้นช่วยให้เราตระหนักถึงสิ่งที่เรามองไม่เห็น มีจุดประสงค์อยู่สองประการ ประการแรกนั้นเป็นสื่อช่วยสอน คือภาพนั้นบอกเราถึงตัวบุคคลที่จำลองออกมา ประการที่สองเป็นการให้เกียรติบุคคลที่เราปรารถนาจะให้เกียรติ การให้ความเคารพรูปภาพนั้นมิได้หมายถึงการเคารพรูปภาพนั้น แต่เป็นการเคารพบุคคลที่เป็นภาพจำลองออกมา

แม้ชาวคริสต์บางนิกายผู้เคร่งศาสนาจะเลิกใช้รูปภาพแล้วก็ตาม แต่ก็มีที่นิยมใช้ในศาสนาต่างๆ เช่น ศาสนาฮินดู พุทธศาสนา เช่นเดียวกับศาสนาคาทอลิก