ทำไมการรับขึ้นสวรรค์ (Assumption) ของพระนางมารีย์จึงเป็นข้อความเชื่อของพระศาสนจักร

CNS-BaltimoreBasilica-Assumption    การรับขึ้นสวรรค์ของพระนางพรหมจารีนั้นเป็นข้อความเชื่อท้ายสุดของพระศาสนจักร พระสันตะปาปาปีโอที่ 12 ทรงประกาศไว้เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ค.ศ. 1950 ความเชื่อเรื่องการรับขึ้นสวรรค์ของพระแม่มารีย์ในพระศาสนจักรนั้นมีมาตั้งแต่สมัยแรกๆ ให้เราเตือนตัวเราเองว่า ข้อความเชื่อนี้ซึ่งมีการประกาศอย่างเป็นทางการนั้นเป็นความเชื่อที่มีอยู่แล้ว    
    ในพันธสัญญาใหม่ มีคำลงท้ายเรื่องพระแม่มารีย์ว่าพระนางทรงประทับอยู่กับบรรดาอัครสาวกขณะที่สวดภาวนาอยู่ที่ห้องชั้นบนในกรุงเยรูซาเล็ม หลังจากที่พระคริสตเจ้าเสด็จสู่สวรรค์แล้ว” ทุกคนร่วมอธิษฐานภาวนาสม่ำเสมอเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันพร้อมกับบรรดาสตรีรวมทั้งมารีย์พระมารดาของพระเยซูเจ้า” (กจ 1:14) ในพันสัญญาใหม่ไม่มีการกล่าวถึงชีวิตบั้นปลายของพระนางมารีย์ สมกับความสุภาพถ่อมตนของพระนาง (ลก 1:48) ที่จางหายไปหลังจากเสร็จสิ้นภารกิจที่พระเจ้าทรงมอบหมายให้ เราจำต้องอาศัยข้อมูลจากธรรม-ประเพณีเรื่องวาระสุดท้ายของพระนางมารีย์

    ประการแรก ธรรมประเพณีมิได้กล่าวถึงสถานที่ฝังศพของพระนางมารีย์ บรรดาคริสตชนยุคแรกสนใจเรื่องหลุมฝังศพของบรรดามรณสักขี และนักบุญชายหญิงท่านอื่นๆ พวกเขาแสดงคารวะต่อพระธาตุของท่านเหล่านั้น ถ้าพวกเขาให้ความสนใจเรื่องหลุมฝังศพของบรรดานักบุญพวกเขาก็คงสนใจเรื่องพระศพของพระชนนีของพระคริสตเจ้า และสถานที่ฝังศพของพระนาง หลุมฝังศพของพระนางคงได้รับการเยี่ยมเยียนจากบรรดาคริสตชนในสมัยแรกอย่างไม่ขาดสาย และในที่สุดก็จะกลายเป็นปูชนียสถานของอาณาจักรคริสตชน แต่ธรรมประเพณีมิได้บันทึกเรื่องหลุมฝังศพของพระนางพรหมจารี เราจึงลงความเห็นจากสิ่งนี้ว่าร่างกายของพระนางนั้นไม่มีอยู่ในหลุมศพ ถึงแม้ว่าจะมีการฝังศพก็ตาม
    ความศรัธาต่อนางมารีย์นั้นมีอยู่ในพระศาสนจักรตั้งแต่สมัยแรก (theotokos) ได้รับการสนับสนุนอย่างเป็นทางการจากสภาสังคายนาเอเฟซัส (431) และสังคายนาแห่งคัลเซดอน (451) ในศตวรรษที่ 5 พระศาสนจักรตะวันออกได้จัดฉลองการรับขึ้นสวรรค์ของพระนางมารีย์เช่นเดียวกับวันฉลองอื่น ๆ ของพระนางมารีย์ ซึ่งเรียกว่าวันฉลอง “ระลึกถึงพระนางมารีย์” ในวันที่ 15 สิงหาคม ตรงกับวันเกิดใหม่ของบรรดามรณสักขีในสวรรค์ วันฉลองดังกล่าวเป็นที่รู้จักกันในนามของ “การบรรทม” ของพระนางมารีย์ ในศตวรรษที่ 7 กรุงโรมได้จัดวันฉลองดังกล่าว และในศตวรรษต่อมาก็เปลี่ยนวันฉลองการ “บรรทม” เป็นวันรับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ในสมณสมัยของพระสันตะปาปาอาเดรียนที่ 1 (ค.ศ. 772-795) บรรดาปิตาจารย์ที่เขียนเรื่องการรับเกียรติยกขึ้นสวรรค์นั้นมีนักบุญยอห์น ดามัสซีน (ค.ศ.675-750) ท่านประกาศยืนยันข้อความเชื่อนี้ไว้อย่างสง่างาม นักบุญองค์ต่อมาที่แสดงความศรัทธาต่อพระแม่รับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ก็คือ นักบุญอันตนแห่งปาดัว (ศตวรรษที่ 13)
    ความเชื่อตามธรรมเนียมประเพณีเรื่องการับเกียรติยกขึ้นสวรรค์นั้นมีเหตุผลที่ยึดเป็นหลักได้อย่างชัดเจนที่ว่า พระเจ้าทรงเรียกพระนางมารีย์ให้เป็นพระชนนีของคริสตเจ้า จึงได้ชื่อว่าเป็นพระชนนีของพระเจ้า พระนางแต่ผู้เดียวได้รับพระหรรษทานมากมายและเป็นอิสระจากผลของบาป จึงเป็นอิสระจากการเน่าเปื่อยของร่างกาย “ท่านเป็นฝุ่นดิน และจะกลับไปเป็นฝุ่นดินอีก” (ปฐก 3:19) ซึ่งเป็นผลมาจากบาป
    ก่อนที่จะให้คำจำกัดความในเรื่องนี้ พระสันตะปาปาปีโอที่ 12 ได้ออกพระสมณสาสน์เรื่อง  Deiparae Virginnis  โดยขอให้บรรดาพระสังฆราช คณะสงฆ์และฆราวาส นำความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้มาแสดงให้พระองค์ทราบ คำตอบของพระศาสนจักรสากลนั้นเห็นด้วยกับคำจำกัดความดังกล่าวอย่างท่วมท้น จึงชัดเจนว่าความเชื่อทั่วไปของสัตบุรุษ (sensus fidelium) นั้น บ่งชัดว่าพระแม่มารีย์ได้รับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ทั้งร่างกาย ในพระธรรมนูญเรื่อง Munificentissimus Deus ให้คำจำกัดความเรื่องการรับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ของพระนางมารีย์ พระสันตะปาปาได้ประกาศว่า “เราขอประกาศยืนยันเรื่องนี้ว่าเป็นข้อความเชื่อที่พระเจ้าทรงเผยแสดงให้ทราบว่า พระมารดาผู้นิรมลของพระเจ้าคือพระนางมารีย์พรหมจารีเสมอนั้น ได้บรรลุถึงบั้นปลายชีวิตบนโลกนี้และได้รับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ทั้งร่างกายและวิญญาณอย่างรุ่งเรือง” (Denzinger-Schomnetzer, 3903)  คำจำกัดความนี้มิได้กล่าวถึงเรื่องพระแม่มารีย์ทรงมรณกรรมก่อนได้รับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ จึงเห็นได้ชัดว่า พระ-สันตะปาปาทรงใช้คำว่า “ได้บรรลุถึงบั้นปลายชีวิตบนโลกนี้” เพื่อเปิดโอกาสให้บรรดานักเทววิทยาทำการพิสูจน์กัน
    ยอห์น เฮนรี่ นิวแมน ได้เสนอ 4 แนวทางที่มีเหตุผลในการยอมรับการได้รับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ ดังนี้ คือ
ก) พระบุตรของพระแม่มารีย์ทรงรักพระนางมากกว่าที่จะปล่อยให้ร่างของพระนางคงอยู่ในหลุม
ข) มิใช่แค่เพราะรักพระนางเท่านั้น แต่ยังเป็นเพราะพระนางทรงศักดิ์สิทธิ์ สูงส่ง เปี่ยมด้วยพระหรรษทาน มีบุญยิ่งกว่าหญิงใดๆ พระองค์จึงทรงยกพระนางขึ้นสวรรค์ทั้งร่างกาย
ค) ไม่มีการกล่าวถึงในประเพณีใดๆ ที่เกี่ยวกับหลุมศพที่เกี่ยวข้องกับพระนางมารีย์
ง) เอลียาห์ผู้รับใช้ของพระเจ้าได้รับการยกขึ้นสวรรค์ทั้งร่างกาย (พกษ 2:11) พระคริสตเจ้าคงไม่ปฏิเสธสิทธิพิเศษนี้สำหรับพระมารดาของพระองค์ ซึ่งเป็นผู้เหมาะสมเป็นอย่างยิ่ง