การมีส่วนร่วมการประกอบพิธีกรรมอย่างแข็งขันของประชาชน
    การมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันเป็นเสียงเรียกร้องของขบวนการพิธีกรรมในยุโรป ขบวนการพิธีกรรมแนะนำให้ประชาชนใช้หนังสือมิสซาเป็นเครื่องมือทางปฏิบัติเพื่อช่วยให้ประชาชนอ่านข้อความที่พระสงฆ์กำลังกล่าวหรืออ่านเป็นภาษาละตินจากหนังสือมิสซาเป็นภาษาของตน เรื่องนี้นับได้ว่าเป็นก้าวไปข้างหน้าหนึ่งก้าวแล้ว แต่ก็ยังไม่ใช่การมีส่วนร่วมของชุมชนอย่างแท้จริง

    เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน ค.ศ.1904 สมเด็จพระสันตะปาปาปีโอที่ 10 ในพระสมณสาสน์ ‘TRA LE SOLLECITUDINI’ ทรงคิดประดิษฐ์วลีหนึ่งที่ดึงดูดอย่างมาก เพื่อหมายถึงการที่สัตบุรุษมีส่วนร่วมในพิธีกรรมคือวลีว่า ‘actuosa partecipatio’  หรือ “การมีส่วนร่วมอย่างแข็งขัน” ขบวนการพิธีกรรมได้รับเอาวลีนี้มาเป็นธงของขบวนการ บรรดาพระสังฆราชผู้ร่วมประชุมสภาสังคายนาฯ ได้รับวลีนี้ และวลีนี้ก็ได้เป็นความคิดที่พบได้ตลอดเวลาในธรรมนูญเรื่องพิธีกรรม ความคิดนี้ได้รับการกล่าวถึงโดยใช้วิธีพูดต่างๆที่หลากหลาย เช่น “บรรดาผู้มีความเชื่อจะมีส่วนร่วมประกอบพิธีกรรมอย่างเต็มที่และอย่างแข็งขัน” (sc 14) , จะได้ร่วมกิจกรรมศักดิ์สิทธิ์อย่างรู้สำนึก อย่างเลื่อมใสศรัทธาและแข็งขัน” (SC 48), ทั้งในด้านจิตใจและภายนอก (SC 19) ฯลฯ
    สภาสังคายนาฯ ให้ความสำคัญอย่างมากแก่การที่ประชาชนมีส่วนร่วมพิธีกรรมอย่างแข็งขันจนเรื่องนี้กลายเป็นมาตรการของการปฏิรูปพิธีกรรม
    “การปรับปรุงแก้ไขและส่งเสริมพิธีกรรมต้องมีจุดประสงค์ก่อนอื่นหมด ที่จะให้ประชากรทั้งหมดร่วมพิธีกรรมอย่างเต็มที่และอย่างแข็งขัน เพราะพิธีกรรมเป็นบ่อเกิดแรกและจำเป็นที่ผู้มีความเชื่อจะตักตวงชีวิตจิตแบบคริสตชนอย่างแท้จริง ดังนั้น บรรดาผู้อภิบาลจึงต้องพยายามสุดความสามารถในงานอภิบาลทั้งหมด ที่จะให้ผู้มีความเชื่อได้รับการอบรมอย่างเหมาะสม” (SC 14)
    งานอภิบาลที่จำเป็นเพื่อให้สัตบุรุษมีส่วนร่วมมิสซาอย่างแข็งขัน นับเป็นงานที่เรียกร้องอย่างต่อเนื่อง พิธีกรรมของคริสต์ศาสนาไม่ใช่เรื่องการปฏิบัติตามลำดับของบทภาวนาและท่าทางต่างๆ ที่กำหนดไว้ และไม่เป็นเพียงการฝึกหัดคณะนักขับร้องให้รู้จักขับร้องบทเพลงเกรโกเรียนเท่านั้น หน้าที่แรกของบรรดาพระสงฆ์ก็คือการเตรียมประชาชนไว้สำหรับการมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันและมีประสิทธิผล
    “บรรดาผู้อภิบาลต้องมีความกระตือรือร้นและพากเพียรที่จะให้การอบรมด้านพิธีกรรมแก่ผู้มีความเชื่อ เพื่อเขาจะร่วมพิธีกรรมได้อย่างแข็งขันทั้งในด้านจิตใจและภายนอก โดยคำนึงถึงอายุ สภาพความเป็นอยู่ วิถีชีวิต และระดับความรู้ทางศาสนาของผู้ได้รับการอบรม ถ้าบรรดาผู้อภิบาลทำเช่นนี้ได้ เขาก็จะปฏิบัติหน้าที่สำคัญยิ่งประการหนึ่งให้สำเร็จในฐานะเป็นผู้แจกจ่ายธรรมล้ำลึกของพระเจ้าอย่างซื่อสัตย์ ในเรื่องนี้เขาจะต้องนำประชากรที่เขาอภิบาลดูแล ไม่ใช่ด้วยคำพูดเท่านั้น แต่โดยแบบอย่างที่ดีด้วย” (SC 19)
    บรรดาพระสังฆราชผู้ร่วมประชุมสภาฯ เป็นผู้อภิบาลประชากร ซึ่งเป็นประดุจฝูงแกะที่องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงมอบหมายไว้แก่ท่าน (เราอย่าลืมว่าบรรดาพระสังฆราชผู้ร่วมประชุมสภาฯ ส่วนใหญ่เป็นพระสังฆราชประจำสังฆมณฑล ซึ่งต่างก็มีสังฆมณฑลที่ต้องปฏิบัติงานรับใช้จริงๆ) รู้ดีถึงปัญหาแท้จริงด้านงานอภิบาลในเขตวัดต่างๆ จึงแสดงให้เห็นจิตตารมณ์ด้านการอภิบาลไว้บ่อยมากในเอกสารที่ออกมา พร้อมทั้งเสนอแนะวิธีการทางปฏิบัติเพื่อให้การปฏิรูปได้บรรลุผลด้วย
    “เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมพิธีกรรมอย่างแข็งขัน ควรเอาใจใส่ให้สัตบุรุษมีส่วนในการขับร้องต้อนรับ การตอบรับ การขับร้องเพลงสดุดี บทสร้อย บทเพลงสรรเสริญต่างๆ รวมทั้งกิจการ อากัปกิริยาและอิริยาบถของร่างกาย ให้ทุกคนเงียบสงบด้วยความเคารพในเวลาที่เหมาะสมด้วย”  (SC 30)
    เป็นเวลาหลายศตวรรษ ทั้งในยุโรปและในที่อื่นๆของโลกที่ซึ่งมิชชันนารีชาวยุโรปนำประเพณีจากบ้านของตนไปให้ บรรดาสัตบุรุษเป็นเพียงผู้เฝ้าดู ผู้รับฟังเท่านั้นในมิสซา การปฏิรูปใหม่ต้องนับว่าเป็นการท้าทายใหญ่ยิ่งสำหรับบรรดาสัตบุรุษที่ยินดีไปโบสถ์ในวันอาทิตย์ เพื่อมีเวลาเงียบสงบหลังจากอาทิตย์หนึ่งของชีวิตที่มีแต่การงาน เขาย่อมรู้สึกว่ามิสซาแบบใหม่นี้เรียกร้องมากเกินไป เขารู้สึกทั้งไม่สบายใจและวอกแวกเมื่อต้องขับร้องเพลงพร้อมกันเป็นภาษาของชาวบ้าน ฟังพระวาจาของพระเจ้าพร้อมกัน เขารู้สึกว่าตนถูกบังคับให้ออกจากมุมส่วนตัวของตน และถูกโยนเข้าไปชุมชนพร้อมกับความรับผิดชอบร่วมกัน เป็นเวลาหลายสิบปี พวกเขาได้มาร่วมมิสซาด้วยกันแต่ก็ไม่ได้มีความสัมพันธ์กันเป็นชุมชน การ “ฟังมิสซา” ได้กลายเป็นการเฉลิมฉลองส่วนรวมไปในทันทีทันใด จำเป็นต้องมีความรู้ด้านชีวิตจิตแบบใหม่ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้การอบรมใหม่ด้านพิธีกรรมเพื่อช่วยประชาชนให้รับบทบาทของตนในชุมชนที่กำลังประกอบพิธีกรรมให้เป็นการเฉลิมฉลองได้
    น่าจะกล่าวที่นี่ถึงกระบวนการยากลำบากที่ธรรมนูญเรื่องพิธีกรรมต้องผ่านในการถกเถียงกันอย่างร้อนแรงทั้งในระดับคณะกรรมาธิการและในการประชุมใหญ่ของบรรดาพระสังฆราชที่ร่วมประชุม ให้เรามาดูวิธีการที่สภาสังคายนาฯ ลงคะแนนเกี่ยวกับบทที่ 2 (เรื่องการปฏิรูปมิสซา) และบทที่ 3 (เรื่องการปฏิรูปศีลศักดิ์สิทธิ์อื่นๆและสิ่งคล้ายศีล) ซึ่งต้องการคะแนนเสียง 2 ใน 3 ของที่ประชุม
    บรรดาพระสังฆราชผู้ร่วมประชุมอาจลงคะแนน “เห็นด้วย” (placet) หรือ “เห็นด้วยโดยมีข้อแม้” (placet iuxta modum) หรือ “ไม่เห็นด้วย” (non placet) ในวันที่ 14 ตุลาคม ค.ศ.1963 พระสังฆราชที่ร่วมประชุมต้องลงคะแนนสำหรับบทที่ 2 มีพระสังฆราชเข้าประชุม 2,242 องค์อยู่ในที่ประชุม จึงต้องการคะแนน “เห็นด้วย”  จำนวน 1,495 คะแนน ผลการลงคะแนนออกมาดังนี้ “เห็นด้วย” จำนวน 1,417 คะแนน “เห็นด้วยโดยมีข้อแม้” 781 คะแนน “ไม่เห็นด้วย”36 คะแนน และมีคะแนนเสีย 8 คะแนน คะแนน “เห็นด้วย” ไม่ถึงจำนวน 2 ใน 3 ของที่ประชุม บทที่ 2 งต้องเขียนขึ้นใหม่และมีการถกเถียงกันอีก การลงคะแนนสำหรับบทที่ 3 เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม ค.ศ.1963 คือ 1,130 “เห็นด้วย” 1,054 “เห็นด้วยโดยมีข้อแม้” 30 “ไม่เห็นด้วย” และ 3 คะแนนเสีย คะแนนจำนวนไม่ถึง 2 ใน 3 ของจำนวนพระสังฆราช 2,242 องค์ที่ลงคะแนน บทที่ 3 ก็ไม่ได้รับการรับรองและต้องถกเถียงกันอีกเช่นเดียวกันการลงคะแนนครั้งสุดท้ายสำหรับธรรมนูญเรื่องพิธีกรรมเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม ค.ศ.1963 คือ 2,147 “เห็นด้วย” 4 “ไม่เห็นด้วย” นี่จึงเป็นตัวอย่างน่าประทับใจของการทำงานร่วมกันเป็นคณะ (collegiality) โดยแท้จริง เมื่อบรรดาพระสังฆราชจากทั่วโลกมาชุมนุมพร้อมกันกับสมเด็จพระสันตะปาปา พระสังฆราชแห่งโรม สามารถมีความเห็นร่วมกันในที่สุดเพื่อลงคะแนนรับรองธรรมนูญเรื่องพิธีกรรม ซึ่งกลายเป็นแผนแม่บทของการศึกษาพิธีกรรมและเป็นแรงผลักดันสำคัญของการปฏิรูปพิธีกรรมจารีตโรมัน