พิธีกรรมประกอบด้วยส่วนที่พระเจ้าทรงกำหนด จึงเปลี่ยนแปลงไม่ได้ และประกอบด้วยส่วนที่เปลี่ยนแปลงได้ ส่วนนี้เมื่อเวลาล่วงไปอาจหรือต้องเปลี่ยนแปลง (SC 21)
    เครื่องหมายในพิธีกรรมมิได้ถูกพระเยซูคริสตเจ้าทรงกำหนดไว้ทุกอย่าง เครื่องหมายจำนวนมากถูกเพิ่มเข้ามาตลอดเวลาหลายศตวรรษ และอาจไม่เหมาะกับสมัยของเราแล้วก็เป็นได้ สภาสังคายนาจึงกล่าวว่า
    หลักการทางพิธีกรรมที่ว่า “มีบางอย่างเปลี่ยนแปลงไม่ได้ บางอย่างเปลี่ยนแปลงได้” และ “มีบางอย่างที่จำเป็นต้องปฏิบัติบางอย่างที่เลือกปฏิบัติได้” นับว่าเป็นก้าวสำคัญไปข้างหน้าจากหลักการของสภาสังคายนาที่เมืองเตร็นท์ที่ว่า “ทำได้ – ทำไม่ได้” ที่วางกฎเกณฑ์จารีตของพิธีต่างๆ โดยยึดหลักทางกฎหมายอย่างเคร่งครัด กำหนดลงไปเลยว่าจารีตพิธีแต่ละอย่างในพิธีกรรม “ทำได้หรือทำไม่ได้” บทภาวนา ท่าทาง ดนตรี ไม่ว่าจะเปลี่ยนแปลงได้หรือเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ถูกกำหนดไว้ในรายละเอียดทุกอย่าง และถ้าผู้ประกอบพิธีเปลี่ยนแปลงอะไรไปก็อาจทำให้การประกอบพิธีนั้น “ไม่ถูกต้อง” หรือ “ทั้งไม่ถูกต้องและเป็นโมฆะ”

    เราพบความแตกต่างอย่างมากในหนังสือมิสซาใหม่ ที่คำอธิบายพิธี (rubrics) มักจะบอกว่า “ผู้ประกอบพิธี อาจใช้ถ้อยคำเหล่านี้หรือที่คล้ายกันทักทายประชาชน” ฯลฯ ผู้ประกอบพิธีอาจเลือกบทมิสซาหรือบทอ่านแบบต่างๆได้ ฯลฯ ความรับผิดชอบของผู้ประกอบพิธีมิได้อยู่ที่ “การปฏิบัติตามจารีตพิธีที่กำหนดไว้ (ritus servandus) อย่างเคร่งครัด แต่อยู่ที่การประกอบพิธีอย่างที่ผู้ร่วมพิธีได้มีส่วนด้วยเต็มที่จริงๆ (นับได้ว่าเป็น “ศิลปะการประกอบพิธี” หรือ ars celebrandi”) แต่การเดินทางจาก ritus servandus (พิธีที่ต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด) ไปยัง ars celebrandi (ศิลปะการประกอบพิธี) นั้น นับว่าเป็นทางยาวและยากทีเดียว ธรรมนูญ SC กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงนี้ไว้สั้นๆ ดังนี้
    “ผู้มีความเชื่อจำเป็นต้องเตรียมจิตใจอย่างเหมาะสมเมื่อมาร่วมพิธีกรรม เพื่อจะได้รับผลอย่างเต็มประสิทธิภาพ จิตใจของเขาจะต้องสอดคล้องกับคำพูด เขาจะต้องร่วมมือกับพระหรรษทานจากเบื้องบน เพื่อจะไม่รับพระหรรษทานนั้นโดยไม่เกิดผล ดังนั้นผู้อภิบาลจึงจำเป็นต้องเอาใจใส่ในการประกอบพิธีกรรม ไม่เพียงแต่ปฏิบัติตามกฎเพื่อให้พิธีกรรมไม่เป็นโมฆะ หรือถูกต้องเท่านั้น แต่ยังต้องเอาใจใส่ให้ผู้มีความเชื่อมีส่วนร่วมในพิธีกรรมโดยมีความรู้ ร่วมพิธีอย่างแข็งขัน เพื่อจะได้รับผลจากพิธีกรรมนั้นด้วย” (SC11)
    จงสังเกตว่าทุกครั้งที่ธรรมนูญ SC กล่าวถึงหน้าที่ของพระสงฆ์ในการอบรมบรรดาผู้มีความเชื่อให้มีจิตตารมณ์พิธีกรรมนั้น เอกสารนี้จะเรียกเขาว่า “ผู้อภิบาล” (shepherds หรือ Pastor) คำแนะนำทั่วไปของหนังสือมิสซาจารีตโรมันยังกล่าวอีกว่า
    “พระสงฆ์ผู้อภิบาลยังต้องสอนอีกว่า ในการแจกจ่ายศีลศักดิ์สิทธิ์ พระศาสนจักรมีอำนาจกำหนดหรือเปลี่ยนแปลงระเบียบและเงื่อนไข เกี่ยวกับสิ่งของที่ใช้เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ที่ต่างกันโดยรักษาสาระสำคัญไว้ไม่เปลี่ยนแปลง ตามที่พระศาสนจักรเห็นว่าจะเหมาะสมยิ่งขึ้นเพื่อแสดงความเคารพต่อศีลศักดิ์สิทธิ์และเป็นประโยชน์มากขึ้นสำหรับผู้รับ พร้อมกันนั้นสัตบุรุษยังต้องได้รับคำแนะนำให้มีส่วนร่วมอย่างจริงจังมากขึ้นกับพิธีกรรม ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นเครื่องหมายแสดงอย่างชัดเจนยิ่งขึ้นว่าศีลมหาสนิทเป็นงานเลี้ยงจริงๆ” (RM28)
    ในช่วงเวลา 50 ปีที่ผ่านมา เราได้เห็นว่ามีการโต้เถียง กล่าวหา และแก้ข้อกล่าวหากันต่างๆ ตลอดมา บางคนยังมีความเสียดายคิดถึง “ช่วงเวลาดีๆแต่ก่อนโน้น” เมื่อทุกคนต้องปฏิบัติตาม ritus servandus (จารีตพิธีที่กำหนดไว้ให้ต้องปฏิบัติ) และทุกคนต้องปฏิบัติตามการปฏิบัติแบบเดียวเหมือนกันก็พอแล้วเพื่อสร้างเอกภาพและความกลมกลืน หลังจากวาติกันที่ 2 ความกระตือรือร้นในการปฏิรูปและโอกาสที่จะดัดแปลงจารีตพิธี การเข้าสู่วัฒนธรรม การฟื้นฟูและสร้างสรรค์ก่อให้เกิดเหตุการณ์ต่างๆที่เป็นข้ออ้างได้ง่ายๆ ที่จะกล่าวหาว่า การปฏิรูปพิ ธีกรรมเป็น “การทดลองที่ไร้ระเบียบ” ซึ่งได้ถูกสื่อต่างๆเผยแพร่และขยายความ มักจะถูกใช้บ่อยๆ (และยังถูกใช้อยู่) เพื่อบรรยายถึงสถานการณ์ในท้องถิ่นต่างๆ ในแต่ละที่ ข้อความนี้ก็มีความหมายแตกต่างกัน บางแห่งข้อความนี้อาจหมายถึงการอ่านข้อความโบราณที่อยู่นอกพระคัมภีร์ หรืออาจหมายถึงการใช้ขนมปังมีเชื้อในมิสซา ในอีกที่หนึ่ง การไม่ขับร้องหรือการอ่านบทเพลงเริ่มพิธีก็ถูกเรียกว่า “การทดลองที่ไร้ระเบียบ” แล้ว
    ข้าพเจ้ายังจำได้ว่า ผู้คนรู้สึกสะดุดใจอย่างมากเมื่อวารสารฉบับหนึ่งพิมพ์เผยแพร่รูปภาพแรกๆของผู้คนที่รับศีลมหาสนิทในมือ ไม่ใช่บนลิ้น เหตุการณ์นี้นับว่าเป็นเรื่องสะดุดใจจริงๆ และช่วยให้วารสารนั้นทำเงินได้ไม่น้อยทีเดียว
    ข้าพเจ้าเชื่อว่า การกลับไปอ่านธรรมนูญเรื่องพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ อาจช่วยเราให้แลเห็นเจตนารมณ์ดั้งเดิมของการปฏิรูปและมีความเข้าใจร่วมกันได้ เราอาจไม่เห็นด้วยกับวิธีการที่เจตนาดั้งเดิมนี้ถูกนำมาปฏิบัติในบางกรณี แต่นั่นก็ไม่อาจเป็นเหตุผลถูกต้องที่จะปฏิเสธไม่ยอมรับการปฏิรูป หรือที่ร้ายกว่านั้นถ้าเราจะปฏิเสธไม่ยอมรับการปฏิรูปตั้งแต่ต้นโดยตัดสินไว้ล่วงหน้าแล้วว่าการปฏิรูปจะก่อให้เกิดการปฏิบัติไม่ถูกต้องต่างๆ
    มีเรื่องหนึ่งที่เราต้องเรียนรู้จากการทดลองนำพิธีกรรมเข้าสู่วัฒนธรรมและการดัดแปลงพิธีกรรม เรื่องนี้เป็นงานที่ยากมากและต้องการความเชี่ยวชาญ ความรู้ทั้งในเรื่องพิธีกรรมและวัฒนธรรม รวมทั้งการสนับสนุนจากชุมชนด้วย ที่สำคัญกว่าหมด ชุมชนท้องถิ่นต้องยอมรับและทำให้การนี้เป็นวิธีการตามธรรมชาติมากเพื่อสื่อคำสอนของพระคริสตเจ้า
    50 ปีนับเป็นเวลาที่สั้นมาก ถ้อยคำของธรรมนูญ SC ยังสดใหม่และเป็นแรงบันดาลใจในเรื่องนี้ ถ้อยคำเหล่านี้แสดงให้เห็นอย่างดีถึงเจตนารมณ์ของการให้อิสระและความนับถือต่อชุมชนท้องถิ่นที่สภาสังคายนาฯต้องการ
    “ในเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับความเชื่อหรือคุณประโยชน์ส่วนรวมของทั้งชุมชน พระศาสนจักรไม่ปรารถนาที่จะวางข้อบังคับให้ปฏิบัติแบบเดียวกันอย่างเคร่งครัด แม้ในเรื่องพิธีกรรม ยิ่งกว่านั้น พระศาสนจักรยังเคารพและส่งเสริมคุณลักษณะและพรสวรรค์เฉพาะของเชื้อชาติและประชากรต่างๆ สิ่งใดในขนบธรรมเนียมของชนชาติเหล่านี้ที่ไม่ยึดติดกับการถือนอกรีตหรือความหลงผิดอย่างแยกไม่ออก พระศาสนจักรก็ยินดีให้คุณค่าและถ้าทำได้ยังช่วยบำรุงรักษาไว้เป็นอย่างดีด้วย ยิ่งกว่านั้น บางครั้งพระศาสนจักรยังรับเข้ามาใช้ในพิธีกรรม ถ้าขนบธรรมเนียมนั้นประสานกลมกลืนกับจิตตารมณ์แท้จริงของพิธีกรรม” (SC 37)