สถานที่ศักดิ์สิทธิ์  ศาสนภัณฑ์  อาภรณ์ศักดิ์สิทธิ์  และอุปกรณ์อื่น ๆ  ที่ใช้เพื่อการประกอบพิธีกรรม

1. วัด  / โบสถ์   (ecclesia)
คำว่า วัด  มีที่มาจากคำภาษากรีก  ekklesia  ซึ่งหมายถึง  หมู่คณะที่ถูกเรียกให้มาชุมนุมกัน
วัดเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์  เป็นที่ประทับของพระเจ้า และเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรม  จึงถูกเรียงร้องให้ต้องรักษาบรรยากาศที่สงบ  และใช้วัดเพื่อกิจกรรมที่เหมาะสม  วัดทุกแห่ง ต้องได้รับการเสกหรืออภิเษกก่อนเสมอ    โครงสร้างทั้งภายนอกและภายในวัด ต้องถูกออกแบบอย่างรอบคอบ  คำนึงถึงการประกอบพิธีกรรม  และที่สำคัญเมื่อได้เข้าไปอยู่ในวัด จะต้องมีบรรยากาศที่สัมผัสได้ว่า นี่คือบ้านพระ

2. พระแท่น  (altare)
พระแท่น คือสัญลักษณ์อันเด่นชัดที่สุด  ที่หมายถึง องค์พระเยซูเจ้าที่ประทับอยู่กับชุมนุม และทรงเป็นประธานที่แท้จริง ผู้ทรงประกอบพิธีกรรม  พระแท่นจึงเป็นศูนย์กลางของพิธีกรรม  เมื่อเริ่มจะสร้างวัด จะต้องคิดถึง           พระแท่นก่อนเป็นอันดับแรก      พระแท่นประจำวัดของชุมชนจะต้องเป็นพระแท่นที่ติดอยู่ถาวรกับพื้น ไม่ใช่พระแท่นที่มีล้อเลื่อน หรือเคลื่อนที่ได้  (ที่อนุญาตให้ใช้ได้ในวัดน้อย หรือโรงสวด)  เป็นสัญลักษณ์ของ “ศิลาทรงชีวิต” (1ปต 2:4;เทียบ อฟ 2:20)  มีผ้าลินินสีขาวอย่างน้อย 1 ผืน  ที่ได้รับการเสกแล้วปูแท่นไว้เสมอ  จะงดใช้ผ้าปูแท่น เพียงครั้งเดียว คือ หลังมิสซาวันพฤหัสศักดิ์สิทธิ์
เมื่อไม่มีพิธีกรรม  ให้ใช้ผ้าอีกผืนหนึ่งคลุมแท่นไว้   จะเป็นผ้าสีเดียว   หรือถ้าจะรักษาธรรมเนียมดั้งเดิมที่ใช้สีตามเทศกาลหรือวันฉลองก็ได้      บนพระแท่นไม่ควรมีพลาสติกปูทับผ้าปูแท่น
เมื่อต้องถวายมิสซา นอกวัด  สามารถใช้โต๊ะแทนพระแท่นได้  แต่ต้องมีผ้าปู  และมีเวลาพอสมควรเพื่อเตรียมโต๊ะตัวนั้นสำหรับใช้ในพิธี
3. บรรณฐาน    (Ambo)
เป็นที่อ่านพระวาจา   ควรตั้งในตำแหน่งที่โดดเด่น และมีเพียงบรรณฐานเดียว  ก่อนใช้ต้องได้รับการเสก  มีธรรมเนียมที่จะตั้งบรรณฐานทางด้านซ้าย   (เมื่อเราหันหน้าหาพระแท่น) พิธีกรไม่ควรใช้บรรณฐานเพื่อการประกาศ     หากไม่เริ่มพิธี ณ ที่นั่งของประธาน   ก็อนุญาตให้เริ่มพิธีที่บรรณฐานได้    เคยมีธรรมเนียมตั้งเทียนหน้าบรรณฐาน  แต่ได้เลิกปฏิบัติกันแล้ว 
อาจตั้งดอกไม้พองาม  หรือมีผ้าห้อย (antependium) ที่มีลวดลายสอดคล้องกับที่ใช้ปูบนพระแท่นก็ได้ 
4. ที่นั่งของประธาน
ประธานทำหน้าที่ในนามของพระเยซู   ที่นั่งของประธานจึงควรอยู่ในที่โดดเด่น  ให้ที่ชุมนุมมองเห็น  ที่นั่งนี้ควรสวยงาม  แต่ไม่ควรมีลักษณะเป็นเหมือนบัลลังก์  ที่นั่งของประธานควรได้รับการเสกเช่นเดียวกัน   เมื่อมีพิธีกรรมที่ประธานไม่ใช่พระสงฆ์หรือสังฆานุกร  (คือเป็นนักบวชหรือฆราวาส)  จะไม่นั่งที่เก้าอี้ของประธาน  ให้จัดเตรียมที่นั่งในตำแหน่งอื่นที่เหมาะสมแทน
ข้าง ๆ ที่นั่งของประธาน  มีที่นั่งเผื่อไว้สำหรับพระสงฆ์ผู้ร่วมฉลองพิธีกรรม รวมทั้งสังฆานุกร
5. ตู้ศีล   (tabernacle)
เมื่อมีตู้ศีลอยู่ในวัด  ตู้ศีลควรตั้งอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม  โดดเด่น และมีบริเวณเพียงพอต่อการเฝ้าศีลส่วนตัว   หากตู้ศีลอยู่ติดผนัง  ควรมีลักษณะยื่นออกมาจากผนัง   ตู้ศีลควรมีความสวยงาม   ทำจากวัสดุที่ทรงคุณค่า    จะต้องไม่เป็นวัสดุโปร่งใส   ระหว่างประกอบพิธีกรรม จะต้องไม่เปิดตู้ศีลไว้ (ยกเว้นในมิสซาวันพฤหัสศักดิ์สิทธิ์  ซึ่งตู้ศีลจะว่างเปล่า)   ภายในตู้ศีลให้ปูผ้าcorporal  ตู้ศีลต้องปิด ไม่คากุญแจไว้ตลอดเวลา และเก็บกุญแจไว้ในที่ที่เหมาะสม
ข้างตู้ศีล มีตะเกียง หรือไฟที่เปิดไว้ตลอดเวลา  เป็นธรรมเนียมที่ไฟหรือตะเกียงนั้น จะครอบด้วยกระจกสีแดง
6. กางเขน  (cross)
บนพระแท่น  หรือข้างพระแท่น  ต้องมีกางเขนที่มีรูปพระเยซูถูกตรึง(altar cross) ตั้งไว้เสมอ  ทั้งในมิสซาและนอกมิสซา  (ยกเว้น เมื่อมีการตั้งศีลฯ  ให้เก็บกางเขนดังกล่าวนี้    ควรมีกางเขนเดียว   หากหลังพระแท่นมีไม้กางเขนที่มีพระเยซูถูกตรึงอยู่แล้ว  ก็ไม่ต้องมีกางเขนอื่นอีก  กางเขนที่ใช้แห่ (processional cross)  เมื่อมาถึงพระแท่น  ผู้ช่วยพิธีนำไปเก็บในห้องsacristy หรือในที่ที่เหมาะสม 
การมีกางเขนนี้ในพิธีกรรม  โดยเฉพาะในพิธีมิสซา  ก็เพื่อเน้นย้ำว่า พิธีกรรมนี้เป็นบูชาของพระเยซู
7. เทียน 
เทียนที่ใช้สำหรับประกอบพิธีกรรม จะตั้งอยู่บนหรือข้างพระแท่นก็ได้   จำนวนของเทียน  ยังถือเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงระดับการของฉลอง  คือ 1 คู่ สำหรับมิสซาทั่วไป  2 คู่สำหรับวันฉลอง  3 คู่ สำหรับวันสมโภช   และเทียน 7 เล่ม สำหรับมิสซาที่พระสังฆราชเป็นประธาน  เทียนสำหรับประกอบพิธีกรรม ต้องเป็นเทียนสีขาว                 ไม่ต้องใช้สีเทียนตามสีของอาภรณ์พระสงฆ์   ตำแหน่งที่วางและความสูงของเทียนจะต้องไม่บดบังประธาน หรือทำให้ลำบากเมื่อต้องเดินรอบพระแท่น  มีธรรมเนียมการตั้งมาลา หรือหรีด ที่มีเทียนสี 4 เล่ม  ในช่วงเทศกาลเตรียมรับเสด็จฯ  จะไม่ตั้งมาลาหรือหรีดดังกล่าวแทนเทียนสีขาว   อนุญาตให้ตั้งใกล้ ๆ พระแท่นได้
8. ดอกไม้
การจัดดอกไม้ มอบถวายแด่พระเป็นกิจการที่ดี และมีความหมาย  แต่ควรจัดให้เหมาะสมกับโอกาส  ตามเจตนารมณ์ของพิธีต่าง ๆ ในรอบปีพิธีกรรม  ดอกไม้ยังแสดงถึงการเฉลิมฉลอง และบอกถึงระดับของการฉลองนั้น ๆ เช่นเดียวกัน   อย่างไรก็ตาม บริเวณพระแท่น ไม่ควรประดับดอกไม้มากเกินควร  จนบดบังพระแท่น
ตามคำแนะนำของพระศาสนจักร ไม่ควรใช้ดอกไม้หรือต้นไม้ที่ปลูกไว้ในกระถาง  และไม่ใช้ดอกไม้พลาสติกอย่างเด็ดขาด
9. ถ้วยกาลิกส์   (calice)
ถือเป็นภาชนะศักดิ์สิทธิ์ ที่มีความสำคัญ  ทำจากโลหะ  เคลือบสีทอง   ต้องเสกก่อนเสมอ  ควรหลีกเลี่ยงการใช้ถ้วยแก้ว หรือเซรามิก (แตกได้) รวมทั้งถ้วยที่ทำจากวัสดุที่ดูดซับเหล้าองุ่น  หรือเนื้อวัสดุอาจละลายผสมกับเหล้าองุ่นได้   หากถ้วยกาลิกส์ที่เคลือบสีทองไว้ เริ่มเก่าแล้ว  จำเป็นต้องเคลือบใหม่ 
10. จานรองศีล  (patena)
ใช้คู่กับถ้วยกาลิกส์   และต้องเสกก่อนเช่นเดียวกัน   โดยปกติ จานรองนี้ จะใช้วางแผ่นศีลแผ่นใหญ่  สำหรับประธาน  กรณีที่ใช้แผ่นศีลขนาดใหญ่พิเศษ  ก็ต้องจัดหาจานรองที่มีขนาดใหญ่พอด้วย
11. ผอบศีล  (ciborium)
ภาชนะศักดิ์สิทธิ์ที่ต้องเสกเช่นเดียวกัน  ใช้ใส่แผ่นปังแผ่นเล็ก  ผอบศีลควรทำจากวัสดุที่ทรงคุณค่าตามท้องถิ่นนั้น  ๆ  ไม่ใช้ภาชนะที่ใช้เพื่อการอื่น มาทำเป็นผอบศีล   ผอบศีลมีทั้งที่มีที่จับ  และที่มีลักษณะเป็นเหมือนชาม   กรณีที่ตั้งศีล โดยใช้ผอบศีลแทนรัศมี  ควรเลือกใช้ผอบศีลที่มีที่จับ   (การตั้งศีลโดยใช้ผอบศีล  จะตั้งเทียนเพียง 2 คู่  ถ้าใช้รัศมี จะตั้งเทียน  3 คู่)
12. ตลับใส่แผ่นศีล   (pyx)
ใช้สำหรับใส่แผ่นศีลเพื่อผู้ป่วย เสกก่อนใช้  ไม่ควรใช้กล่องพลาสติก หรือแม้กล่องโลหะที่ใช้เพื่อกิจการอื่นแทน
13. ชุดใส่น้ำและเหล้าองุ่น  (cruets)
ควรทำจากแก้ว หรือคริสตัล โปร่งใส  เพื่อมองเห็นภายในว่าบรรจุอะไร  หากเป็นวัสดุสีทึบ  ควรมีเครื่องหมายที่บ่งชี้ว่าสำหรับใส่เหล้าองุ่นหรือใส่น้ำ
14. ที่ล้างมือพระสงฆ์
ควรมีขนาดพอเหมาะ  ให้พระสงฆ์สามารถล้างมือได้    มีธรรมเนียมสำหรับพระสังฆราชจะใช้ เหยือกหรือโถน้ำสวยงาม  เพื่อเทน้ำ แทนการจุ่มมือ
15. เต้ากำยาน  (incense boat)
ใช้ใส่ผงกำยาน  ปกติจะมีลักษณะเข้าชุดกับหม้อไฟ  ควรตรวจสอบว่าผงกำยานไม่เกาะติดเป็นก้อน  มีช้อนเพื่อใช้ตัก
16. หม้อไฟ (thurible)
ปัจจุบันมีหม้อไฟหลายแบบ ทั้งเป็นที่มีโซ่เส้นเดียวและที่มีหลายเส้น แต่ที่เหมาะสำหรับสำหรับใช้ คือมีโซ่                4 เส้น
17. เทียนสำหรับนำขบวนแห่
ควรมีที่ตั้งเทียนที่สูงพอสมควร   และเทียนมีขนาดใหญ่-สูง   ให้ดูสวยงามเมื่ออยู่ในขบวนแห่  เคียงข้างกางเขน  เทียนสำหรับแห่นี้  เมื่อมาถึงพระแท่น  ให้นำเทียนไปวางบนโต๊ะที่วางภาชนะศักดิ์สิทธิ์  (credence) หรือที่อื่นที่เหมาะสม    บางแห่งวางที่หน้าหรือข้างพระแท่น  ซึ่งทำได้ ถ้ามีบริเวณเพียงพอ
18. ที่วางหนังสือ
อาจจะใช้ที่วางหนังสือที่ปรับระดับได้ ทำด้วยไม้หรือโลหะ มีความสวยงาม   หรืออาจจะใช้หมอนที่ใช้สำหรับการนี้โดยเฉพาะก็ได้  (บางแห่งมีธรรมเนียมใช้หมอนตามสีของวันฉลอง)   โดยปกติสนับสนุนให้เริ่มพิธี ณ             ที่นั่งของประธาน หรือที่บรรณฐาน  ซึ่งถ้าปฏิบัติเช่นว่านี้  ในภาควจนพิธีกรรม  ยังไม่ควรวางที่วางหนังสือหรือหมอนรองบนพระแท่น  ให้ยกมาพร้อมหนังสือ และภาชนะอื่น ๆ  เมื่อเริ่มภาคบูชาขอบพระคุณ
19. ผ้ารองถ้วยกาลิกส์   (corporal)
เป็นผ้าศักดิ์สิทธิ์ ที่ต้องเสกก่อนใช้  ขาดไม่ได้สำหรับพิธีมิสซา และการตั้งศีลฯ   เป็นผ้าลินินสีขาว  รูปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส   เมื่อพับแล้วจะแบ่งเป็นเก้าช่อง  มีรูปกางเขนปักด้วยด้ายสีแดง ในช่องกลางของแถวล่างสุด                   ผ้าผืนดีต้องให้ความสำคัญ ให้สะอาดอยู่เสมอ   เพื่อแสดงออกถึงความเคารพต่อศีลมหาสนิท การซักผ้าผืนนี้  และผ้าศักดิ์สิทธิ์อื่น ๆ  ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของพระศาสนจักร ซึ่งมีธรรมเนียมซักน้ำแรก ใน sacrarium  หรืออาจจะใช้ภาชนะอื่นแทน และเทน้ำแรกลงพื้นดินโดยตรง    
ในพิธีกรรมหรือนอกพิธีกรรม เมื่อจะวางผอบศีลหรือถ้วยพระโลหิตบนโต๊ะ หรือในที่พักศีล  จะต้องปูผ้าผืนนี้ก่อนเสมอ
20. ผ้าเช็ดถ้วยกาลิกส์  (purificator)
ถือเป็นผ้าศักดิ์สิทธิ์ที่ต้องเสกก่อนใช้เช่นเดียวกัน   เป็นผ้าลินินสีขาว  รูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า พับ3 ตามแนวนอน แล้วพับครึ่ง  เมื่อมีพระสงฆ์ช่วยส่งศีลจำนวนมาก  ให้เตรียมผ้านี้ สำหรับให้พระสงฆ์เช็ดมือ ไม่ควรใช้ผ้าผืนนี้ซ้ำโดยไม่ได้ซัก ควรเปลี่ยนผ้าใหม่ทุกครั้ง แม้จะเป็นพระสงฆ์คนเดียวกันที่ถวายมิสซา
21. แผ่นแข็งปิดถ้วยกาลิกส์  (palla)
เป็นผ้าลินินสีขาวรูปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส  มีแผ่นกระดาษแข็ง หรือไม้อยู่ด้านใน   ที่ผืนผ้าปักเป็นลวดลายที่เกี่ยวข้องกับสัญลักษณ์ทางพิธีกรรม   ไม่จำเป็นต้องหุ้มพลาสติก   จุดมุ่งหมายของการใช้แผ่นแข็งนี้ ก็คือ ใช้ปิดถ้วยกาลิกส์ เพื่อกันฝุ่น หรือสิ่งแปลกปลอมตกลงไป
22. ผ้าเช็ดมือพระสงฆ์ 
ไม่นับรวมเป็นผ้าศักดิ์สิทธิ์  อย่างไรก็ตามถือเป็นเรื่องน่าชม ที่จะใช้ผ้าลินินสีขาวเช่นเดียวกัน ไม่ควรเป็นสีอื่น ไม่ควรมีลวดลาย  (การล้างมือของพระสงฆ์ เป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรม มีบทภาวนาควบคู่ไปด้วย)  ผ้าผืนนี้จะพับ 4 ตามแนวนอน แล้วพับครึ่ง
23. อัลบา (alba)
อัลบา แปลว่า  สีขาว  จึงหมายถึงความบริสุทธิ์   ถือเป็นอาภรณ์พิธีกรรม ต้องเสกก่อนใช้ โดยทั่วไปจะใช้พร้อมกับรัดประคด แต่ถ้าอัลบามีรูปทรงที่ใส่ได้พอดีตัว  ไม่ต้องใช้รัดประคดก็ได้
24. รัดประคด (cincture)
เป็นเชือกผ้า  ใช้เพื่อให้ชุดอัลบาเข้ารูปทรงสวยงาม  โดยทั่วไปจะใช้รัดประคดสีขาว แต่หากจะใช้สีตามวันฉลองก็ได้
25. สโตลา  (stole, stola)
เป็นผืนผ้าห้อย  นับเป็นอาภรณ์ศักดิ์สิทธิ์ ที่ต้องเสกเช่นเดียวกัน
สโตลาที่ใช้คู่กับกาสุลา จะมีสีที่สอดคล้องกัน และไม่มีลวดลาย    ส่วนสโตลาที่ใช้เพื่อใส่โดยไม่สวมกาสุลา  (อนุญาต เมื่อมีจำนวนพระสงฆ์ร่วมสหบูชามิสซาจำนวนมาก)  จะมีลวดลายที่สอดคล้องกับพิธีกรรม  ผืนผ้ากว้างและยาวกว่าสโตลาที่ใส่กับกาสุลา  อย่างไรก็ตาม ไม่ควรยาวจนเกินพอดี    ความหมายประการหนึ่งของ สโตลา คืออำนาจหน้าที่ของศาสนบริกร (ที่ได้รับศีลบวช)  จึงสังเกตว่า การสวมสโตลาของพระสงฆ์ และสังฆานุกรจึงไม่เหมือนกัน  เพราะสังฆานุกรมีอำนาจหน้าที่ไม่เท่าพระสงฆ์
26. กาสุลา  (Casula)
เป็นเสื้อชั้นนอกที่พระสงฆ์สวมทับเสื้ออัลบา สำหรับถวายบูชามิสซา  กาสุลาเป็นอาภรณ์ที่สวมเต็มตัวด้านบน  สวมทางศีรษะเหมือนเสื้อที่ทำจากผ้าขนาดใหญ่และเจาะรูไว้สวมศีรษะ เนื่องจากเสื้อหุ้มห่อผู้สวมใส่และป้องกันเขาไว้เหมือนบ้านเล็ก ๆ หรือเต๊นท์ เป็นอาภรณ์ที่พระสังฆราชและพระสงฆ์สวมเวลาประกอบพิธีมิสซา เป็นเครื่องหมายแสดงว่าผู้ประกอบพิธีที่สวมกาซูลา ได้ "สวม" พระคริสต์เพื่อกระทำการแทนพระองค์ระหว่างถวายบูชา
เสื้อกาสุลา ยังเป็นสัญลักษณ์แห่งความรักเมตตา ซึ่งครอบคลุมคุณธรรม ทุกอย่าง มีศักดิ์ศรี มีเกียรติเหนือสิ่งอื่นใด เพราะเสื้อนี้คลุมทับ เสื้อ และเครื่องหมายอื่น ๆ ทุกชิ้นไว้ เสื้อกาสุลา ไม่เพียงแต่หมายถึงความรักเมตตาเท่านั้น ต่อมา ยังหมายถึงคุณธรรมอื่น ๆ ด้วย เป็นต้นว่า ความยุติธรรม ความ ศักดิ์สิทธิ์ของพระสงฆ์ ความเป็น            ผู้มีใจซื่อบริสุทธิ์ พระคุณของ พระจิต ความกล้าหาญในการป้องกันความเชื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแบกแอก (แอก = ภาระ) อัน “ อ่อนนุ่ม และเบา ” ของ พระคริสตเจ้า เพื่อติดตามพระองค์ไป นอกนั้นยังมีความหมายถึง ความเป็นหนึ่งเดียวกันของพระศาสนจักรอีกด้วย  
26. แผ่นปัง  (hostia)
เป็นปังไร้เชื้อ  (ไม่ผสมสิ่งใด) ทำจากข้าวสาลีแท้ โดยทั่วไปจะทำเป็นสองขนาด  สำหรับพระสงฆ์ขนาดใหญ่  และสำหรับสัตบุรุษจะขนาดเล็ก  ปังแผ่นใหญ่ที่เตรียมไว้สำหรับพระสงฆ์ผู้เป็นประธาน  รวมทั้งพระสงฆ์ผู้ร่วมที่อยู่ซ้ายขวา  ไม่ควรตัดแบ่งครึ่งไว้ก่อน    ถือเป็นหน้าที่ของประธานที่บิพระกาย (ปังที่เสกแล้ว) แล้วแบ่งให้พระสงฆ์ท่านอื่น
เป็นธรรมเนียมปฏิบัติ  ที่จะให้นักบวชในอาราม เป็นผู้ผลิตแผ่นปัง 
ในกรณีที่ปรารถนาจะใช้ปังไร้เชื้อที่มีรูปทรงเป็นก้อน  เพื่อหักแบ่ง เหมือนในพิธีดั้งเดิม  ต้องมั่นใจว่า ปังที่จัดทำนั้นมีคุณสมบัติเหมาะสม
การเก็บแผ่นปังควรเก็บในภาชนะที่รักษาสภาพของแผ่นปังได้  และมีลักษณะที่เหมาะสมด้วย
27. เหล้าองุ่น (wine, vinum)
พระศาสนจักรเรียกร้องอย่างหนักแน่น ให้ใช้เหล้าองุ่นแท้ (เทียบ ลก 22:18) (ไม่เกิน 20 ดีกรี)   ไม่มีอนุญาตให้ใช้เหล้าอื่น ๆ แทน   ควรเก็บเหล้าองุ่นให้มีสภาพสมบูรณ์  ใช้ภาชนะ หรือขวดที่เหมาะสม  สามารถเลือกใช้เหล้าองุ่นแดงหรือเหล้าองุ่นขาวได้    เป็นที่สังเกตว่าเหล้าองุ่นที่ผลิตและมีขายทั่วไป  จะไม่ใช่เหล้าองุ่นแท้ ตามคุณสมบัติที่พิธีกรรมเรียกร้อง  จึงควรใช้เหล้าองุ่นที่พระศาสนจักร หรือพระสังฆราชท้องถิ่นรับรองแล้วเท่านั้น
หากเหล้าองุ่นเปลี่ยนสภาพแล้ว  (มีรสเปรี้ยว) ไม่ควรใช้   และถ้ามีตะกอน ควรกรองให้สะอาดก่อน
หากมีผู้ป่วยที่ปรารถนาจะรับศีล  แต่รับพระกายไม่ได้   จำเป็นต้องรับพระโลหิต ก็สามารถทำได้ โดยพระสงฆ์นำพระโลหิตที่เสกในมิสซาของวันนั้น บรรจุในบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสม และปลอดภัย  อย่างไรก็ตามถ้าต้องเก็บพระโลหิตไว้ในตู้ศีล หรือที่อื่นใด  จะต้องมั่นใจว่า สภาพของพระโลหิตจะยังคงสมบูรณ์