แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

 เทววิทยาของพิธีกรรมวันพระเจ้า


การไปวัดวันพระเจ้า

173วันพระเจ้าหรือวันอาทิตย์มีบทบาทสำคัญมากในชีวิตจิตของคริสตชน เป็นวันที่สัตบุรุษจะได้สัมผัสลึกๆ ว่าการเป็นพระศาสนจักรนั้นหมายถึงอะไร หลายๆ ศาสนาต่างพากันอุทิศวันหนึ่งในรอบสัปดาห์ให้บรรดาศาสนิกชนของตนมาร่วมกันทำพิธีนมัสการและเป็นหนึ่งเดียวกันในฐานะที่เป็นชุมชนแห่งความเชื่อเดียวกัน  ชาวยิวถือวันเสาร์ และชาวมุสลิมเอาวันศุกร์  แต่บรรดาคริสตชนทั่วโลกถือเอาวันอาทิตย์เป็นวันของพระเจ้า การถือวันอาทิตย์เป็นวันพระเจ้านี้ทำให้พวกเขาแตกต่างจากผู้ที่นับถือศาสนาอื่น ในสมัยแรกๆพวกคนนอกศาสนาจึงพูดถึงพวก คริสตชนว่าเป็น “พวกวันอาทิตย์” วันอาทิตย์ในบริบทนี้มีอะไรบางอย่างที่จะต้องนำเอามาพูดว่าพวกเขาปฏิบัติกันอย่างไรในวันนี้ คือการเฉลิมฉลอง Dominicum ซึ่งเป็นนามที่ใช้แทนคำศีลมหาสนิท เพราะว่า Dominicum  ทำการฉลองกันในวันแรกของสัปดาห์ วันอาทิตย์จึงได้รับการขนานนามว่าเป็นวันของพระเจ้า (dies dominica) เพราะฉะนั้นจึงมีการเรียกวันอาทิตย์ในหลายๆภาษาว่าเป็นวัน domenica, domingo, demanche  วันของพระเจ้า (dies dominica) จึงเป็นวันสำหรับศีลมหาสนิท (Dominicum)

เป็นที่น่าเสียดายว่าสัญลักษณ์ของวันอาทิตย์ได้หายสาบสูญไปในหลายๆประเทศที่เคยเป็นคาทอลิกมาก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทวีปยุโรป เสียงระฆังโบสถ์เงียบหายไป วัดเหลือสัตบุรุษแค่ครึ่งเดียว เสื้อผ้าอาภรณ์ที่เคยสวมใส่กันอย่างสวยหรูในวันอาทิตย์ไม่มีให้เห็นกันอีกแล้ว และการรับประทานพร้อมหน้ากันภายในครอบครัววันอาทิตย์ก็ไม่มีให้เห็นอีกเช่นกัน สำหรับประเทศฟิลิปปินส์พระศาสนจักรยังสามารถที่จะภูมิใจได้และก็ต้องขอบคุณพระเจ้ารวมถึงพระสงฆ์ผู้ให้การอภิบาลด้วย ขนบธรรมเนียมคาทอลิกยังมีชีวิตและปฏิบัติกันดีอยู่ ถึงแม้จะไม่เข้มแข็งอย่างที่เราอยากให้มันเป็นก็ตามที ประสบการณ์ของข้าพเจ้าในวันอาทิตย์ในช่วงราวๆ ปี 1990 ในแถบหมู่เกาะแปซิฟิกตอนใต้ยังเป็นสิ่งที่ฝังจารึกอยู่ในความทรงจำของข้าพเจ้าจนยากที่จะลืมเลือน อย่างเช่นในเกาะซามัวตะวันตกสัตบุรุษแต่งตัวสีขาวแต่ละคนถือหนังสือพระคัมภีร์ (ปกแดงสำหรับคาทอลิกและปกดำสำหรับโปรเตสแตนต์นิกายเปรสไบเตเรียน) เดินเป็นแถวไปวัดเพื่อทำพิธีนมัสการในวันอาทิตย์ การเตรียมอาหารนั้นเขาทำกันในวันเสาร์และมีการจำกัดกันในเรื่องของการเดินทาง  การทานอาหารพร้อมหน้ากันในครอบครัวและการพักผ่อนตอนบ่ายคือส่วนหนึ่งของการปฏิบัติตนในวันพระเจ้า  แล้วในตอนเย็นยังมีการไปวัดกันอีกครั้งหนึ่งเพื่อการทำวัตร  มีครั้งหนึ่งที่ต้องปิดสนามบินในวันพระเจ้า  และสิ่งที่ไม่น่าเชื่อก็คือ  บรรดานักโทษได้รับอนุญาตให้กลับไปเยี่ยมครอบครัวได้ในวันพระเจ้าอีกด้วย


วันอาทิตย์มีความสำคัญอะไรกันนักหนา และการปฏิบัติตนในวันอาทิตย์มีบทบาทสำคัญอะไรในชีวิตฝ่ายจิตของเราในฐานะที่เป็นคริสตชน? ธรรมนูญของพระศาสนจักรว่าด้วยจารีตพิธีกรรม (มาตรา 106) เตือนว่าวันอาทิตย์ วันพระเจ้า “ควรส่งเสริมสัตบุรุษให้มีความศรัทธา”  เหตุว่าในวันนี้  ตามธรรมเนียมปฏิบัติของคริสตชน พระคริสตเจ้าได้ทรงเสด็จกลับฟื้นชีพจากความตาย  ปรากฏพระองค์แก่บรรดาอัครสาวก และยังคงกระทำเช่นนี้เรื่อยมาในทุกๆ วันอาทิตย์  เมื่อคริสตชนพากันมานมัสการร่วมเป็นหนึ่งเดียวกัน จึงเป็นที่เข้าใจได้ว่าวันอาทิตย์เป็นวันที่พระสงฆ์มีงานมากที่สุด  และคงจะเป็นวันที่พวกเขาไม่มีโอกาสพักผ่อนเลย (ศัพท์ลาตินใช้คำว่า otium ซึ่งข้าพเจ้าตั้งใจหมายถึง ณ ที่นี้) และพวกเขาจะต้องเผชิญหน้ากับพระผู้ทรงเสด็จกลับฟื้นชีพด้วยการสวดภาวนาส่วนตัว สิ่งที่ค่อยยังชั่วหน่อยก็คือ คุณพ่อเจ้าอาวาสในบางภูมิภาคของโลกได้รับการชดเชยแทนการไม่ได้หยุดพักในวันอาทิตย์ ด้วยวันจันทร์ซึ่งพวกเขาจะได้พักผ่อนกันอย่างเต็มคราบ  ซึ่งก็อาจเป็นคำอธิบายได้ว่าเหตุในจึงไม่มีการโปรดศีลใดๆ หรือพิธีปลงศพในวันจันทร์สำหรับประเทศฟิลิปปินส์


คงจะเป็นประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อยหากจะตั้งข้อสังเกตว่า ระหว่างที่มีการประชุมสังคายนา  ผู้เข้าร่วมประชุมบางท่านเสนอว่า  วันนมัสการประจำสัปดาห์ควรจะเปลี่ยนเป็นวันอื่นที่เหมาะสมกว่า  อย่างเช่นหากเป็นวันศุกร์ก็น่าจะเหมาะสมดีสำหรับประเทศที่เป็นมุสลิม ซึ่งไม่ถือเอาวันอาทิตย์ว่าเป็นวันห้ามทำงาน ส่วนในพระศาสนจักรที่ยังเป็นสภาพมิสซังอยู่นั้น หากพระสงฆ์ว่างวันไหนวันนั้นก็น่าจะเหมาะสมดีสำหรับการนมัสการพระเจ้า แต่คณะกรรมาธิการแห่งสมัชชาตอบว่า ข้อบังคับให้ต้องไป “ร่วมมิสซา” อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้งเป็นเรื่องกฎหมายของพระศาสนจักรซึ่งสังคายนาไม่ควรที่จะไปต้องแตะ จะอย่างไรก็ดี วันอาทิตย์ยังคงจะต้องเป็นวันของพระเจ้าอยู่ดี  เพราะเหตุว่าเป็นวันที่พระคริสตเจ้าทรงเสด็จกลับฟื้นชีพจากความตาย ด้านหนึ่งเป็นเรื่องของกฎหมายพระศาสนจักร  ส่วนอีกด้านหนึ่งเป็นเรื่องเทวศาสตร์ของวันอาทิตย์


วันอาทิตย์ในฐานะที่เป็นวันพระเจ้า

พระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่บันทึกไว้ว่าพระคริสตเจ้าทรงเสด็จกลับคืนชีพในวันอาทิตย์  วันแรกของสัปดาห์ และเป็นวันที่ 3 หลังจากวันที่พระองค์ทรงสิ้นพระชนม์ หลังจากที่ได้เสด็จกลับคืนชีพแล้ว พระองค์ได้ทรงปรากฏองค์มาเยี่ยมบรรดาอัครสาวกตามคำบอกเล่าโดยพระวรสารของนักบุญลูกาบทที่ 24  และของนักบุญยวง บทที่ 21  โดยมีการกล่าวว่าพระองค์ทรงประจักษ์มาในวันแรกของสัปดาห์ ดูเหมือนจะเป็นความรู้สึกของอัครสาวกว่าวันอาทิตย์ไม่ใช่เป็นเพียงวันที่จะต้องระลึกถึงการกลับคืนพระชนม์ชีพของพระคริสตเจ้าเท่านั้น แต่ยังจะต้องเป็นวันที่เราได้พบปะสัมผัสกับพระองค์ด้วย ในศตวรรษที่ 2 นักบุญจัสตินผู้เป็นมรณสักขีรายงานไว้ว่า  ในวันอาทิตย์ “เราทุกคนต่างพากันไปร่วมประชุมกัน  เพราะว่ามันเป็นวันที่พระเยซูคริสตเจ้าพระผู้ไถ่ของเราทรงฟื้นคืนชีพจากความตาย...และพระองค์ได้ทรงปรากฏให้บรรดาอัครสาวกและสานุศิษย์เห็น”  (Apology I, c. 67) ปกติเรามักถือกันว่าวันอาทิตย์คือวันแห่งการกลับฟื้นพระชนม์ชีพของพระคริสตเจ้า และเรามักจะเตือนบรรดาสัตบุรุษให้ไปวัดเพื่อทำการฉลองศีลมหาสนิทเพื่อเป็นการระลึกถึงการเสด็จกลับคืนชีพของพระคริสต์เจ้า แต่สำหรับเชิงอภิบาลคงจะเป็นประโยชน์ไม่น้อยเลย หากเราจะอธิบายว่าวันอาทิตย์ยังเป็นวันแห่งการปรากฏองค์ของพระเยซูคริสตเจ้าผู้ทรงกลับฟื้นชีพจากความตาย ในวันอาทิตย์พระคริสตเจ้าทรงปรากฏองค์ต่อบรรดาสัตบุรุษที่มาชุมนุมกันโดยอาศัยการประกาศพระวาจาและการบิปัง ศีลมหาสนิทในวันอาทิตย์จึงมิได้เป็นแต่เพียงการระลึกถึงการกลับคืนชีพของพระคริสตเจ้าเท่านั้น มันยังเป็นประสบการณ์แห่งการปรากฏองค์เสมอมาของพระคริสตเจ้าท่ามกลางสัตบุรุษที่มาชุมนุมกันอีกด้วย


พระคริสตเจ้าทรงปรากฏองค์มาหาศิษย์ของพระองค์อย่างไร? พระวรสารบอกเราว่า พระองค์ทรงปรากฏมาในพระวรกายที่ทรงกลับคืนชีพ พระองค์ทรงเดินผ่านประตูที่ปิดอยู่  และทันทีทันใดพระองค์ก็ทรงประทับอยู่ท่ามกลางพวกเขา พระองค์ทรงแสดงให้พวกเขาเห็นถึงเครื่องหมายแห่งการถูกตรึงบนไม้กางเขนของพระองค์ แล้วพระองค์ก็ทรงบอกโทมัสให้เอานิ้วมาสัมผัสกับรอยแผลที่ฝ่าพระหัตถ์และสีข้างของพระองค์ ความสำคัญแห่งการปรากฏองค์ในร่างกายของพระคริสตเจ้าไม่อาจที่จะมองข้ามหรือเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นไปได้ คำคมของแตร์ตุลเลี่ยนช่างเหมาะสมเสียจริงๆ  caro, salutis cardo (กายกลายเป็นหลักประกันแห่งความรอด) การประจักษ์ด้วยพระวรกายของพระองค์ในเวลาต่อมาคือรูปแบบของการชุมนุมกันในวันอาทิตย์  มีการประกาศพระวาจา และมีการบิปัง


แต่การประจักษ์ของพระคริสตเจ้าที่มีผลต่อเนื่องกับการนมัสการพระเจ้าของเราในวันอาทิตย์นั้นถูกบันทึกโดยพระวรสารของนักบุญลูกาในบทที่ 24 วรรค 13-15 ศิษย์สองคนหมดกำลังใจ เพราะเหตุการณ์ในวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์จึงออกเดินทางจากนครเยรูซาเล็มโดยมุ่งหน้าไปยังเมืองเอมมาอุสเพื่อที่จะกลับบ้าน  วันนั้นเป็นวันอาทิตย์วันแรกของสัปดาห์และเป็นวันที่สามหลังจากวันที่พระเยซูถูกตรึงบนไม้กางเขน พระคริสตเจ้าทรงร่วมเดินทางไปกับพวกเขาโดยที่พวกเขาจำพระองค์ไม่ได้ พอตกเย็นเมื่อเดินทางไปถึงเอมมาอุสศิษย์ทั้งสองจึงเชิญหรืออาจขอร้องให้พระองค์ร่วมรับประทานอาหารเย็นกับพวกเขา เมื่อนั่งที่โต๊ะเรียบร้อยแล้วพระองค์ทรงหยิบปังขึ้น ทรงอธิษฐาน บิออก และมอบปังให้แก่เขาทั้งสอง ณ บัดดลนั้นตาเขาก็สว่างขึ้นมาทันที  พวกเขาจำพระองค์ได้เพราะการหักปังนั่นเอง พวกเขาจึงเข้าใจอำนาจแห่งคำพูดของพระองค์ที่ทรงมีต่อพวกเขา “เราไม่รู้สึกว่าดวงใจของเราลุกเป็นไฟดอกหรือในขณะที่พระองค์ทรงสนทนากับเราระหว่างทางและทรงอธิบายพระคัมภีร์ให้เรา?” ศิษย์ทั้งสองคุ้นเคยกับสไตล์ส่วนตัวที่พระเยซูทรงใช้เมื่อพระองค์ทรงเทศนาและบิปังในอาหารมื้อค่ำ พระเยซูทรงปฏิบัติเช่นเดียวกันครั้งแล้วครั้งเล่าเป็นเวลา 3 ปี ก่อนที่พวกเขาจะได้ทำการเลี้ยงอาหารค่ำมื้อสุดท้าย ความคุ้นเคยทำให้พวกเขาจำพระคริสตเจ้าได้  และสำหรับสัตบุรุษของเราทุกวันนี้จะให้มันแตกต่างไปจากสิ่งนี้ได้อย่างไร? คำพูดที่ชินหูและสัญลักษณ์ที่ชินตาในพิธีบูชาขอบพระคุณควรไหมที่จะเป็นเครื่องหมายที่แน่นอน เพื่อที่พวกเราจะได้ตระหนักดีถึงการประทับอยู่ของพระคริสตเจ้าท่ามกลางเรา?   


เรื่องราวเอมมาอุสคือภาพลักษณ์ของการเฉลิมฉลองศีลมหาสนิทในวันอาทิตย์สำหรับศิษย์รุ่นแรกของพระคริสตเจ้า พิธีประกอบด้วยการอ่านพระคัมภีร์และการบิปัง เมื่อผู้ประกอบพิธีอ่านและอธิบายพระวาจาต่อที่ชุมนุม พวกเขาก็จะเห็นด้วยสายตาแห่งความเชื่อว่าเป็นพระคริสตเจ้าเองที่ทรงประกาศพระวรสารแก่พวกเขา เฉกเช่นที่พระองค์ทรงได้กระทำในระหว่างการเดินทางไปเมืองเอมมาอุส และเมื่อพระสงฆ์หยิบปังและถ้วยเหล้าองุ่นขึ้นมา กล่าวขอบพระคุณ และแจกจ่ายให้กับสัตบุรุษ พวกเขาก็เข้าใจด้วยความเชื่อเช่นเดียวกันว่าพระคริสตเจ้าเองเป็นผู้ที่บิปัง เหมือนกับที่พระองค์ทรงกระทำในบ้านของศิษย์สองคนนั้น เรื่องราวเอมมาอุสดูเหมือนจะบอกเราว่า การเฉลิมฉลองของบรรดาคริสตชนที่เป็นหลักของวันอาทิตย์คือศีลมหาสนิท ในขณะที่พระคริสตเจ้าผู้ทรงฟื้นชีพทรงตรัสกับพวกเขาโดยอาศัยการประกาศพระวาจาของพระเจ้า และประทานพระองค์แก่พวกเขาในศีลศักดิ์สิทธิ์แห่งพระกายและพระโลหิตของพระคริสตเจ้า


นับตั้งแต่โบราณกาลมาแล้วการถือวันอาทิตย์เป็นวันของพระเจ้าจะควบคู่กันเสมอกับการเฉลิมฉลองศีลมหาสนิท สำหรับคริสตชนยุคต้นๆ วันอาทิตย์เป็นวันของพระเจ้าและจะถือว่าวันนั้นไม่ได้ปฏิบัติกันอย่างถูกต้องหากไม่มีการเฉลิมฉลองศีลมหาสนิท พูดอีกอย่างหนึ่งคือ การเฉลิมฉลองศีลมหาสนิทนั่นเองที่ทำให้วันอาทิตย์เป็นวันของพระเจ้า  ศีลมหาสนิทคือเอกลักษณ์หนึ่งเดียวและหนทางเดียวของพระศาสนจักร ในการำลึกถึงการกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้าในวันอาทิตย์ รวมถึงการที่จะมีประสบการณ์ครั้งแล้วครั้งเล่ากับการประทับอยู่ของพระองค์ในพระวาจาและในศีลศักดิ์สิทธิ์ เราได้รับการบอกกล่าวว่าในศตวรรษที่ 2 บรรดามรณสักขีชาวอาบีธีเนียนได้ทำการขอร้องผู้คุมอนุญาตพวกเขาให้ทำการเฉลิมฉลองศีลมหาสนิทในวันอาทิตย์ในคุก มิฉะนั้นแล้วพวกเขาจะใช้วันของพระเจ้าอย่างไรโดยที่ไม่ได้รับประสบการณ์กับการประทับอยู่ของพระองค์ในศีลศักดิ์สิทธิ์? บรรดาคริสตชนจะพากันยึดถือเอาวันของพระเจ้าเป็นวันที่มีความสำคัญสูงสุดเสมอ  จนว่าพวกเขาไม่มีทางที่จะจงใจละเลยมันไปได้  นั่นคือการเฉลิมฉลองศีลมหาสนิท  แม้จะเป็นช่วงเวลาแห่งการเบียดเบียน หรือแม้พวกเขาจะอยู่ท่ามกลางวัฒนธรรมหรือสังคมต่างด้าวชาวต่างแดนที่เป็นศัตรูกับความเชื่อของตน มีเรื่องเล่ามากมายเกี่ยวกับคริสตชนที่ถูกเบียดเบียนแต่ก็แอบรวมตัวกันอย่างลับๆ ในวันอาทิตย์เพื่อที่จะทำการเฉลิมฉลองศีลมหาสนิททั้งที่ต้องเสี่ยงกับชีวิต  พวกเขาเหล่านี้คือประจักษ์พยานที่น่าประทับใจเป็นอย่างยิ่งสำหรับเรา


ดังนั้นจึงพอที่จะทำให้เราเข้าใจได้ว่าเหตุใดธรรมนูญว่าด้วยพิธีกรรม (มาตรา 106) จึงยืนยันว่า “ในวันนี้สัตบุรุษของพระคริสตเจ้าต้องมารวมตัวกัน เพื่ออาศัยการฟังพระวาจาของพระและมีส่วนร่วมในศีลมหาสนิท พวกเขาจะได้รำลึกถึงมหาทรมาน การเสด็จกลับคืนพระชนมชีพ  และพระสิริมงคลของพระเยซูคริสตเจ้า” ขออนุญาตหยิบยกเอาคำพูดในย่อหน้าที่ 180 แห่งเอกสารของการประชุมสมัยสามัญครั้งที่ 2 ของสภาพระสังฆราชฟิลิปปินส์ที่เน้นเรื่องความสำคัญของการเฉลิมฉลองศีลมหาสนิทในวันอาทิตย์สักหน่อย เอกสารดังกล่าวระบุว่า “สำหรับสัตบุรุษส่วนใหญ่ มันคือโอกาสสำคัญ (คงจะเป็นโอกาสเดียวกระมัง) ที่พวกเขาจะได้มีประสบการณ์กับพระศาสนจักร มันยังเป็นโอกาสเดียวในรอบสัปดาห์ที่สัตบุรุษส่วนใหญ่จะได้รับอาหารบำรุงชีวิตจิตบ้าง”  การไปวัดวันอาทิตย์ไม่เป็นเพียงแต่การรำลึกถึงการกลับฟื้นพระชนม์ชีพของพระคริสตเจ้าเท่านั้น ไม่ได้เป็นโอกาสที่จะทำให้สัตบุรุษได้มีโอกาสพบกับพระคริสตเจ้าผู้ทรงเสด็จกลับเป็นขึ้นมาเท่านั้น  มันยังเป็นโอกาสให้สัตบุรุษได้มีประสบการณ์แห่งการเป็นพระศาสนจักรอีกด้วย  วันอาทิตย์เป็นวันหนึ่งในรอบสัปดาห์ที่บรรดาสัตบุรุษต่างพากันมาชุมนุมกันที่วัดในฐานะที่เป็นพระศาสนจักร  เพื่อที่จะฟังพระวาจาของพระเจ้าและมีส่วนร่วมในการบิปัง ซึ่งยังผลให้พวกเขามีประสบการณ์ร่วมกันในฐานะที่เป็นชุมชนแห่งผู้มีความเชื่อถึงการประจักษ์ของพระคริสตเจ้าโดยอาศัยศีลศักดิ์สิทธิ์

วันอาทิตย์ในฐานะที่เป็นวันแรกและวันที่แปด

วรรณกรรมของปิตาจารย์ (ธรรมนูญว่าด้วยพิธีกรรมก็เช่นเดียวกัน) เรียกวันอาทิตย์ว่าเป็นวันที่แปด  ถึงแม้ว่าจะมีเพียง 7 วันในหนึ่งสัปดาห์โดยมีวันอาทิตย์เป็นวันแรก ธรรมเนียมประเพณีของคริสตชนตั้งแต่ศตวรรษที่ 4 ก็เรียกวันอาทิตย์ว่าเป็นวันที่แปดของสัปดาห์เช่นกัน นี่หมายความว่าในรอบหนึ่งสัปดาห์ วันอาทิตย์เป็นทั้งวันเริ่มต้น (วันแรก) ของสัปดาห์และวันที่ถัดไปจากวันเสาร์ ซึ่งวันเสาร์เป็นวันที่เจ็ด วันที่แปดยังอาจหมายถึงการต่อรอบสัปดาห์ให้อยู่นอกระบบของเวลา ในมิติของการเสด็จกลับฟื้นพระชนม์ชีพของพระคริสตเจ้า  เราอาจเข้าใจได้ว่าวันที่หนึ่งและวันที่แปดหมายความว่ารอบสัปดาห์เริ่มและปิดลงด้วยวันของพระ เราอาจกล่าวในรูปของสัญลักษณ์ด้วยก็ได้ว่า รอบสัปดาห์ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งชีวิตของเราในโลกนี้เริ่มและจบลงด้วยธรรมล้ำลึกปัสกา ข้าพเจ้าก็รู้ตัวดีเหมือนกันว่าการกล่าวของข้าพเจ้าในครั้งนี้อาจสร้างความสับสนมากขึ้นแทนที่จะช่วยทำให้มันกระจ่างขึ้น จึงคิดว่าการบอกกล่าวสัตบุรุษเกี่ยวกับเทววิทยาของวันอาทิตย์ในฐานะที่เป็นวันแรกและวันที่แปด อาจจะยังเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมที่จะเทศน์บนธรรมาสน์ในวันอาทิตย์ แต่ก็ควรระมัดระวังอย่าปล่อยตัวปล่อยใจไปตามกระแสของโลกธุรกิจที่ถือว่าวันอาทิตย์เป็นวันที่เจ็ดของสัปดาห์ เพราะเหตุว่าวันทำงานเริ่มกันที่วันจันทร์และวันอาทิตย์ก็คือส่วนหนึ่งของวันสุดสัปดาห์  อย่างน้อยปฏิทินญี่ปุ่นเขาก็ถือปฏิบัติกันเช่นนี้ สำหรับประเด็นนี้เทววิทยาแห่งวันอาทิตย์มีเรื่องที่จะต้องพูดกันมากเกี่ยวกับความเชื่อของคาทอลิกในการเสด็จกลับคืนพระชนม์ชีพและความหวังของเราที่จะได้ชีวิตนิรันดร


เทววิทยาสำคัญที่อยู่เบื้องหลังของวันอาทิตย์ในฐานะที่เป็นวันแรกของสัปดาห์ก็คือ เราเริ่มต้นสัปดาห์ด้วยการสารภาพความเชื่อของเราในรหัสธรรมแห่งการกลับคืนชีพของพระคริสตเจ้า ในฐานะที่เป็นคริสตชน เราตระหนักดีว่าการกลับฟื้นชีพของพระคริสตเจ้าให้ความหมายและแรงบันดาลใจสำหรับการดำเนินชีวิตในแต่ละสัปดาห์ของเรา การเสด็จฟื้นพระชนมชีพของพระคริสตเจ้าคือกุญแจดอกสำคัญสำหรับความเข้าใจชีวิตของคริสตชน นักบุญเปาโลเขียนไว้ว่า “ถ้าพระคริสตเจ้ามิได้ทรงกลับคืนพระชนมชีพ การเทศน์สอนของเราก็ไร้ประโยชน์และความเชื่อของท่านก็ไร้ประโยชน์เช่นเดียวกัน... ถ้าเรามีความหวังในพระคริสตเจ้าเพียงเพื่อชีวิตนี้เท่านั้น เราก็เป็นมนุษย์ที่น่าสงสารที่สุด” (1 คร 15: 14)  ความสัมพันธ์ระหว่างวันแรกของสัปดาห์กับการเสด็จคืนพระชนม์ชีพของพระคริสตเจ้า จะเห็นได้ชัดยิ่งขึ้นหากเรานำเอามาเปรียบเทียบกับการทำวัตรที่เริ่มด้วยการปฏิบัติไปตามอันดับวงจรของแต่ละวัน โดยเริ่มจากการเสด็จกลับคืนพระชนม์ชีพ เราเริ่มฉลองการเสด็จกลับคืนพระชนม์ชีพของพระคริสตเจ้ากันแต่เช้าตรู่ก่อนที่เราจะเริ่มงานใดๆ ในวันนั้น เพื่อความคิดและการกระทำของเราตลอดสัปดาห์จะได้รับหล่อเลี้ยงและเชื่อมโยงกันกับธรรมล้ำลึกอันยิ่งใหญ่แห่งความเชื่อ เช่นเดียวกัน ทุกวันแรกของสัปดาห์ นั่นคือทุกวันอาทิตย์  เราทำการระลึกถึงการกลับเป็นขึ้นมาจากความตายของพระคริสตเจ้าเพื่อที่เหตุการณ์นั้นจะได้เป็นแรงบันดาลใจสำหรับเราตลอดทั้งสัปดาห์


ในอีกมุมมองหนึ่ง เทวศาสตร์สำคัญที่อยู่เบื้องหลังของวันอาทิตย์ในฐานะที่เป็นวันที่แปดก็คือว่า  ในวันนี้เรามีโอกาสที่จะเปลี่ยนวัฎจักรชีวิตประจำวัน เพื่อที่จะย่างเข้าสู่โลกแห่งความเป็นนิรันดร์ พระคริสตเจ้าผู้ทรงเสด็จฟื้นพระชนม์ชีพทรงปรากฏมายังเราในวันอาทิตย์ และทรงยกระดับการใช้ชีวิตประจำวันของเรา ให้เห็นการเฉลิมฉลองที่น่าชื่นชมยินดีแห่งการกลับคืนพระชนม์ชีพของพระองค์ วันอาทิตย์ทำให้เราได้ลิ้มรสของสิ่งที่กำลังรอคอยเราอยู่ในภพที่เป็นนิรันดร์ ดังนั้นการไปวัดวันอาทิตย์จึงเป็นการลิ้มรสล่วงหน้าแห่งความชื่นชมยินดีชั่วนิรันดร  และเป็นการแสดงออกซึ่งความเชื่อของเราในชีวิตที่จะดำรงอยู่ต่อไปหลังชีวิตในโลกนี้ ในขณะเดียวกันเราก็พร้อมใจกันยืนยันว่า เราที่เป็นคริสตชนไม่ได้ตกเป็นทาสแห่งความชั่วช้าอีกแล้ว  เราคือบุตรที่มีอิสระเสรีของพระเจ้า และเราต้องลอยตัวขึ้นที่สูงเหนือความบาปทั้งหลายของมวลมนุษย์   วันอาทิตย์จึงกลายเป็นเครื่องหมายแห่งความหวังของคริสตชนท่ามกลางโลกที่เต็มไปด้วยอำนาจแห่งความชั่วร้ายต่างๆนานา


ด้วยเหตุที่คริสตชนเรามักจะมัวแต่กังวลอยู่กับสิ่งเลวร้ายต่างๆ ของโลก (สงคราม การก่อการร้าย  ความยากจน การเจ็บไข้ได้ป่วย ความอยุติธรรม การกดขี่ข่มเหงกัน ฯลฯ)  ทำให้ความสนใจของเราบ่อยครั้งถูกผลักให้ไปสู่สิ่งที่ทำให้ดูเหมือนว่าเป็นความจริงที่สิ้นหวัง ดังนั้นเราจึงมักจะมีแนวโน้มที่จะละเลยกับปัจจัยที่สำคัญประการหนึ่งของความเป็นคริสตนชนไป นั่นคือ ความหวัง หวังที่จะเห็นโลกที่ดีกว่า หวังที่จะได้ลิ้มรสล่วงหน้าถึงความสุขนิรันดรแม้ในโลกนี้ นี่คือสิ่งที่วันอาทิตย์ในฐานะเป็นวันที่แปดของสัปดาห์สามารถที่จะเป็นหลักประกันให้แก่เรา กล่าวคือ สำหรับผู้ที่เชื่อในพระคริสตเจ้าแล้วจะมีชีวิตมากกว่าที่จะมีแต่ความทุกข์เวทนา

วันอาทิตย์ในฐานะที่เป็นวันพักผ่อน

จักรพรรดิคอนสแตนตินเป็นผู้ริเริ่มให้มีการหยุดพักผ่อนในวันอาทิตย์เพื่อสนับสนุนให้บรรดาสัตบุรุษพากันไปมีส่วนร่วมในการเฉลิมฉลองศีลมหาสนิทอย่างสง่า ก่อนหน้านั้นจักรวรรดิโรมันถือวันเสาร์เป็นวันหยุดพัก  บรรดาคริสตชนและคนอื่นๆ ทั่วไปจึงต้องทำงานกันในวันอาทิตย์ แม้ว่าพวกเขาจะจัดเวลาเช้าตรู่ไว้สำหรับการเฉลิมฉลองศีลมหาสนิทในวันอาทิตย์ก็ตาม เราทราบว่าชาวยิวที่บังเอิญได้รับส่วนกุศลจากอาณาจักรโรมันที่จัดให้วันเสาร์เป็นวันหยุดราชการนั้น ต่างไม่พอใจกับการเปลี่ยนวันหยุดซึ่งเท่ากับเป็นการเอาใจพวกคริสตชน แต่ก็น่าที่จะจำใส่ใจไว้ว่าจุดประสงค์แรกที่คอนสแตนตินประกาศวันอาทิตย์ให้เป็นวันหยุดก็เพื่อที่จะส่งเสริมการเฉลิมฉลองศีลมหาสนิทในวันอาทิตย์ เรื่องความคิดที่จะทำให้การเฉลิมฉลองมีความสง่างามยิ่งขึ้นนั้นหมายถึงการฉลองศีลมหาสนิทในวันอาทิตย์เป็นอันดับแรก  ซึ่งเป็นวันที่สัตบุรุษหยุดงานกันเพื่อจะได้มีเวลามากขึ้นในการทำการนมัสการพระเจ้าอย่างสง่า


ที่ว่าความคิดที่จะทำให้การเฉลิมฉลองมีความสง่างามยิ่งขึ้นนั้น ข้าพเจ้าหมายถึงการจัดอันดับความสง่างามของจารีตพิธี มีบางชุมชนที่จัดพิธีบูชาขอบพระคุณในวันธรรมดาราวกับว่าเป็นมิสซาวันอาทิตย์ จะเป็นประโยชน์มากในการระลึกว่าการจัดการเฉลิมฉลองอย่างสง่านั้นมิได้หมายถึงการนำเอาสัญลักษณ์ใหม่ๆหรือการกระทำอะไรใหม่ๆ เข้ามาหรือยืดพิธีกรรมให้ยาวออกไปเกินความจำเป็น สิ่งที่ข้าพเจ้าหมายถึงก็คือทำให้จารีตพิธีเดิมที่มีอยู่แล้วเกิดความสมบูรณ์ เช่น ขับร้องบทที่ควรจะเอามาร้อง ใช้หนังสือพระวรสาร  การใช้อาภรณ์และภาชนะที่ถูกต้อง  การแต่งวัดอย่างเหมาะสม  รวมถึงลั่นระฆังหากเป็นไปได้


สังฆธรรมนูญของพระศาสนจักรว่าด้วยพิธีกรรม (มาตรา 106) เตือนว่า วันอาทิตย์ซึ่งเป็นวันสำคัญที่สุดในบรรดาวันหยุดทั้งหลายควรที่จะ “เป็นวันแห่งความชื่นชมยินดีและเป็นอิสระจากการทำงาน”  ข้าพเจ้าขอตั้งข้อสังเกตไว้ ณ ที่นี้ว่า สังคายนาไม่ต้องการที่จะให้การพักผ่อนในวันอาทิตย์เป็นกฎที่ต้องปฏิบัติกันอย่างเด็ดขาด เรามักจะได้ยินสัตบุรุษบางคนสารภาพบาปเพราะทำงานที่ได้รับค่าจ้างในวันอาทิตย์ และก็มีกรณีอีกเช่นเดียวกันที่ผู้ฟังแก้บาปถือว่าการกระทำเช่นนี้เป็นบาปหนัก แต่จากการอภิปรายของสังคายนาเราทราบมาว่าบรรดาผู้เข้าร่วมประชุมสังคายนา ถือการพักผ่อนในวันอาทิตย์ว่าเป็นเรื่องรองหากจะนำมาเปรียบกับการเฉลิมฉลองศีลมหาสนิทในวันนั้น ซึ่งประเด็นหลังนี้เป็นการทำวันอาทิตย์ให้เป็นวันของพระเจ้า จะอย่างไรก็ตาม เป็นต้นหากเกี่ยวกับความยากจนที่จำเป็นจะต้องทำงานในวันอาทิตย์เพื่อหาเลี้ยงท้อง ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องถือให้ทั้ง 24 ชั่วโมง เป็นเวลาสำหรับการพักผ่อนเพื่อที่จะมีส่วนร่วมในการเฉลิมฉลองศีลมหาสนิท ที่เห็นชัดคงได้แก่คำเตือนจากหนังสือคำสอนของพระศาสนจักรข้อ 2186 ที่บอกว่า “คริสตชนที่มีโอกาศพักผ่อนควรคิดถึงบรรดาพี่น้องชายหญิงของตนผู้ที่มีความต้องการและสิทธิเดียวกัน แต่ไม่สามารถหยุดพักผ่อนจากการทำงานเพราะความยากจนและความจำเป็น”


ในประเทศฟิลิปปินส์กลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่มีการเฉลิมฉลองศีลมหาสนิทในวันอาทิตย์กันที่ห้างสรรพสินค้าและสถานที่ต่างๆ เพื่อประโยชน์ของลูกจ้างที่ต้องทำงาน แต่ก็ไม่ดีอยู่อย่างหนึ่ง ที่กุศลนี้แผ่ไปถึงคนอื่นๆ ที่แห่กันไปยังห้างสรรพสินค้าในวันอาทิตย์ด้วย ซึ่งทำให้มีผลเสียต่อการมีส่วนร่วมในชีวิตของชุมชนวัด ข้าพเจ้าเห็นใจคุณพ่อเจ้าวัดที่พากันบ่นถึงสัตบุรุษของตนที่ชอบไปฟังมิสซาในวัดที่มีแอร์หรือตามห้างสรรพสินค้าที่เย็นฉ่ำ แต่ก็ยังมากวนใจพระสงฆ์เพื่อขอให้ทำพิธีโปรดศีลล้างบาป พิธีแต่งงาน โปรดศีลเจิม และพิธีปลงศพ  


ปัจจุบันในประเทศที่พัฒนาแล้วและระหว่างชนชั้นกลาง วันอาทิตย์กลายเป็นส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์ใหม่ที่เรียกกันว่า “วันสุดสัปดาห์” วันสุดสัปดาห์ที่กำลังเพี้ยนไปจากการพักผ่อนในวันอาทิตย์มักจะมีคุณสมบัติของการท่องเที่ยวและการพักผ่อนสำหรับคนที่มีสตางค์  รูปแบบใหม่ของการใช้วันหยุดสุดสัปดาห์นี้เป็นเหตุของการไม่ไปฟังมิสซาในวัดที่ตนสังกัด  และในหลายๆ กรณีทำให้การมีส่วนร่วมในการเฉลิมฉลองศีลมหาสนิทถดถอยน้อยลง  หากฟิลิปินส์มีมิสซาวันอาทิตย์ที่ห้างสรรพสินค้า อีกหน่อยวัดบางวัดในยุโรปก็อาจต้องมีมิสซาที่ชายหาดในฤดูร้อนเพื่อประโยชน์ของผู้ที่ไปเล่นน้ำทะเลกัน


สำหรับกรณีของความยากจน  การหยุดพักผ่อนในวันอาทิตย์อาจเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก คนจนไม่มีทางเลือกหรือโอกาสที่จะหยุดงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นงานตามข้อตกลงที่พวกเขาจะได้รับค่าแรงตามจำนวนชั่วโมงที่เขาทำงาน ไม่ทำงานก็ไม่มีเงิน สำหรับคนจำพวกนี้ไม่มีคำว่า “หยุดวันสุดสัปดาห์” การอยู่ไกลจากวัดอาจเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่มีเหตุมีผลทำให้ไปวัดไม่ได้  ส่วนการที่มีพระสงฆ์ไม่เพียงพอก็ทำให้ปัญหามันใหญ่ขึ้นไปอีก  แรกเริ่มเดิมทีการแนะนำให้สัตบุรุษมารวมชุมนุมกันในวันอาทิตย์ในกรณีที่ไม่มีพระสงฆ์ ถูกถือว่าเป็นทางเลือกแทนการเฉลิมฉลองศีลมหาสนิทในวันอาทิตย์แบบชั่วคราว ครั้นเวลาผ่านไปมันกลับกลายเป็นทางออกถาวรไปเสียแล้ว แน่นอนที่สุดว่าความคิดนี้น่าชมและมีผลดีในเชิงอภิบาล ชุมชนที่อยู่ห่างไกลจากศูนย์กลางที่มีพระสงฆ์ อย่างน้อยก็สามารถที่รับฟังพระวาจาของพระเจ้าและรับศีลมหาสนิทได้  จึงไม่มากก็น้อยเท่ากับได้ทำการเฉลิมฉลองการเสด็จกลับคืนพระชนม์ชีพ ได้พบกับพระคริสตเจ้าผู้เสด็จกลับคืนชีพ  และมีประสบการณ์กับการที่เป็นชุมชนคริสตนชนที่ได้มาทำการนมัสการร่วมกัน


แต่สำหรับชุมชนวัด การหยุดพักวันอาทิตย์ไม่ควรหมายถึงการหยุดพักจากงานแห่งความรักและปัญหาของสังคมไปด้วย การรับใช้ที่เป็นมืออาชีพของแพทย์ ทนายความ และครูที่มอบให้โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายแก่คนยากไร้ของชุมชน ควรที่จะเป็นจุดเด่นแห่งการรักษาวันอาทิตย์ให้เป็นวันศักดิ์สิทธิ์ การชุมนุมกันในวันอาทิตย์ไม่ได้จบลงเพียงที่วัด แต่ยังจะต้องดำเนินต่อไปในคลีนิคและห้องเรียนของวัด ผู้นำฆราวาสออกเยี่ยมคนเจ็บคนไข้ ผู้สูงอายุ และผู้พิการที่ออกจากบ้านไม่ได้ เพื่อที่จะนำเอาพระวาจา ศีลมหาสนิท และความบรรเทาฝ่ายจิตของชุมชนมายังพวกเขา ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว นักบุญจัสตินผู้เป็นมรณสักขีบอกว่า การเก็บถุงทานในวัดไม่ว่าจะเป็นเงินหรือวัสดุสิ่งของได้ถูกนำมาแบ่งสันปันส่วนเพื่อคนจน แม่หม้าย และเด็กกำพร้า  สิ่งที่เรื่องนี้บอกเราก็คือ การเฉลิมฉลองศีลมหาสนิทวันอาทิตย์จะยังไม่สมบูรณ์ หากไม่มีการเลื่อนไหลไปสู่การบริการชุมชน คำประกาศแห่งสังคายนาครั้งที่ 2 ของสภาพระสังฆราชฟิลิปปินส์เตือนว่า “การบริการรับใช้ทำให้การนมัสการเกิดความสมบูรณ์ในการทำให้วันอาทิตย์อันเป็นวันของพระเจ้านั้นศักดิ์สิทธิ์”

การชุมนุมวันอาทิตย์โดยไม่มีพระสงฆ์

ข้าพเจ้าไม่มีความประสงค์ที่จะพูดถึงกฎระเบียบของจารีตพิธีและกฎหมายของพระศาสนจักรที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมของสัตบุรุษในวันอาทิตย์เมื่อขาดพระสงฆ์  จุดประสงค์ของข้าพเจ้าก็เพื่อที่จะเอาการปฏิบัติที่เกี่ยวกับเทวศาสตร์มาแจ้งให้ทราบเท่านั้น เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 1988 สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 ได้เห็นชอบคู่มือคำแนะนำในการชุมนุมของสัตบุรุษในวันอาทิตย์โดยที่ไม่มีพระสงฆ์ ขออนุญาตนำเอาประเด็นที่เกี่ยวข้องจากเอกสารดังกล่าวมาเรียนให้ท่านทราบดังต่อไปนี้
11.    นักบุญอิกญาซีอุสแห่งอันทิโอค ได้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการเฉลิมฉลองวันอาทิตย์สำหรับชีวิตคริสตชนว่า  “คริสตชนมิได้ถือวันสับบาโตอีกแล้ว  แต่จะเจริญชีวิตตามวันของพระเจ้า  ซึ่งเป็นวันที่ชีวิตของเราได้รับการไถ่กู้โดยอาศัยพระเยซู คริสตเจ้าและการสิ้นพระชนม์ของพระองค์”  (To the Magnesians, 9)  ใน “จิตสำนึกแห่งความเชื่อ” ของพวกเขา  บรรดาสัตบุรุษทั้งในขณะนี้และในอดีตถือวันของพระเจ้าเป็นชีวิตจิตใจจนว่าพวกเขาไม่เคยที่จะพลาดโอกาสในการถือปฏิบัติแม้ในยามที่มีการเบียดเบียนหรือท่ามกลางวัฒนธรรมที่แตกต่างหรือเป็นปฏิปักษ์ต่อความเชื่อของพวกเขา
12.    ต่อไปนี้คือสิ่งสำคัญที่ต้องปฏิบัติในการชุมนุมของสัตบุรุษในวันอาทิตย์
•    การชุมนุมของสัตบุรุษเพื่อแสดงถึงความเป็นพระศาสนจักร ไม่ใช่เป็นความคิดของพวกเขาเอง แต่เป็นการที่พระเจ้าทรงเรียกร้องพวกเขาให้มาชุมนุมกัน กล่าวคือในฐานะที่เป็นประชากรของพระเจ้าตามโครงสร้างของมนุษย์ มีพระสงฆ์ทำหน้าที่เป็นประธานในการชุมนุม และพระสงฆ์กระทำการในฐานะที่เป็นผู้แทนของพระคริสตเจ้า มีการอบรมรหัสธรรมปัสกา โดยอาศัยพระคัมภีร์ที่ถูกประกาศและได้รับการอธิบายโดยพระสงฆ์หรืออนุสงฆ์
•    การเฉลิมฉลองบูชาศีลมหาสนิทซึ่งรหัสธรรมปัสกาถูกนำมาเผยแสดง กระทำการโดยพระสงฆ์ในนามของพระคริสตเจ้า และถูกนำมาถวายในนามของคริสตชนทั่วโลก
13.    ในการอภิบาลควรที่จะมีเป้าประสงค์นี้เหนือสิ่งใด  กล่าวคือการบูชามิสซาวันอาทิตย์ต้องถือว่าเป็นการเกิดใหม่อีกครั้งอย่างแท้จริงซึ่งธรรมล้ำลึกปัสกาของพระคริสตเจ้า และเป็นการแสดงออกอย่างครบถ้วนของพระศาสนจักร “ดังนั้นวันของพระเจ้าจึงเป็นวันศักดิ์สิทธิ์วันแรกและควรที่จะเสนอให้เป็นศรัทธาของสัตบุรุษและให้มีการอบรมสอนสัตบุรุษด้วย ...  ส่วนการเฉลิมฉลองอื่นๆ นั้น นอกจากจะมีความสำคัญจริงๆ  จะต้องไม่ถือว่ามีความสำคัญเหนือวันอาทิตย์ ซึ่งเป็นรากฐานและแก่นของปีจารีตพิธีทั้งหมด” (SC 106)
14.    หลักการดังกล่าวควรนำมาแจ้งและอบรมสัตบุรุษตั้งแต่แรกเริ่มที่มีการอบรม  เพื่อที่พวกเขาจะได้มีความพร้อมที่จะปฏิบัติตามกฎข้อบังคับ เพื่อที่จะทำให้วันอาทิตย์เป็นวันศักดิ์สิทธิ์  และเข้าใจว่าเหตุใดพระศาสนจักรจึงเรียกร้องพวกเขาให้ต้องมาชุมนุมกันเพื่อเฉลิมฉลองศีลมหาสนิทและไม่ใช่มาด้วยศรัทธาส่วนตัว  อาศัยวิธีนี้สัตบุรุษจะเรียนรู้ถึงประสบการณ์ของวันพระเจ้าดุจเป็นเครื่องหมายแห่งความล้ำเลิศของพระเจ้าเหนือการกระทำทั้งปวงของมนุษย์  และไม่ใช่เป็นเพียงวันที่ห้ามทำงาน   โดยอาศัยการมาร่วมชุมนุมกันในวันอาทิตย์ พวกเขาจะเข้าใจได้อย่างล้ำลึกว่าพวกเขาเป็นสมาชิกของพระศาสนจักรและจะทำการแสดงสิ่งนี้ออกมาอย่างเปิดเผย
15.    ในการมาชุมนุมกันในวันอาทิตย์  เฉกเช่นในชีวิตของชุมชนคริสตชน สัตบุรุษควรที่จะต้องมีส่วนร่วมอย่างเข้มแข็งและมีจิตตารมย์แห่งการเป็นชุมชน  รวมถึงเป็นโอกาสที่จะได้รับการรื้อฟื้นชีวิตจิตภายใต้การนำของพระจิต อาศัยวิธีนี้ พวกเขาจะได้รับการคุ้มครองให้พ้นจากนิกายต่างๆ ที่ให้สัญญาว่าจะหลุดพ้นจากความเจ็บปวดแห่งความสันโดษและจะได้รับความสมหวังอย่างบริบูรณ์ในการปฏิบัติศาสนกิจ
16.    ที่สุด  การอภิบาลควรที่จะมุ่งไปยังมาตรการและขั้นตอนต่างๆ ซึ่งมีจุดประสงค์ที่จะ “ทำวันพระให้เป็นวันแห่งความชื่นชมยินดีและเป็นอิสระจากการทำงาน” (SC 106)  อาศัยวิธีนี้ วันอาทิตย์จะกลายเป็นจุดเด่นของวัฒนธรรมปัจจุบันในฐานะที่เป็นเครื่องหมายของเสรีภาพ และเป็นผลในฐานะที่เป็นวันที่ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อความดีของมนุษย์แต่ละคน ซึ่งแน่นอนว่ามีคุณค่าเหนือการค้าหรือผลผลิตแห่งอุตสาหกรรมใดๆ
17.    พระวาจาของพระเจ้า ศีลมหาสนิท และพันธกิจของพระสงฆ์ล้วนเป็นของขวัญที่พระเจ้าทรงมอบให้แก่พระศาสนจักร ผู้ทรงเป็นพระชายาของพระองค์ และของขวัญเหล่านี้เราจะต้องรับและสวดภาวนาเพื่อพระหรรษทานของพระเจ้า พระ ศาสนจักรซึ่งเป็นเจ้าของแห่งของขวัญเหล่านี้  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการมาร่วมชุมนุมกันในวันอาทิตย์ โมทนาคุณพระเจ้าทำนองเดียวกันกับสัตบุรุษที่มาชุมนุมกันโดยรอคอยความชื่นชมยินดีแห่งการพักผ่อนที่สมบูรณ์ในวันของพระเจ้า “ต่อหน้าพระบัลลังก์และต่อหน้าพระชุมภาของพระเจ้า”  (วว 7: 9)
32.    วันอาทิตย์ใดที่การเฉลิมฉลองพระวาจาและการรับศีลมหาสนิทไม่อาจกระทำได้ สัตบุรุษถูกขอร้องให้ทำการสวดภาวนา “โดยหาเวลาที่เหมาะสมทั้งเป็นการส่วนตัวหรือพร้อมกันกับครอบครัว หรือหากเป็นได้ ก็รวมกันเป็นหลายครอบครัวแล้วทำพร้อมกัน”  (CIC, can. 1248, 2)  ในกรณีเช่นนี้การถ่ายทอดโทรทัศน์เกี่ยวกับพิธีกรรมสามารถช่วยเหลือได้เป็นอย่างมาก
33.    ที่ควรจำใส่ใจเป็นพิเศษได้แก่ความเป็นไปได้ที่จะทำวัตรเป็นบางส่วน  เช่นการสวดภาวนาเช้าค่ำ  ซึ่งในช่วงแห่งการสวดภาวนาดังกล่าวอาจแทรกบทอ่านประจำวันอาทิตย์เข้าไปด้วย เพราะว่า  “เมื่อประชากรได้รับเชิญให้ทำวัตรและพากันมาร่วมใจและร่วมเป็นเสียงเดียวกัน พวกเขาก็ได้แสดงออกให้เห็นถึงพระศาสนจักรที่กำลังทำการเฉลิมฉลองรหัสธรรมแห่งพระคริสตเจ้า”  (GILH 22)  เมื่อพิธีเฉลิมฉลองจบลงอาจแจกศีลมหาสนิทได้ (no. 46)
34.     “พระหรรษทานของพระผู้ไถ่จะไม่มีวันขาดหายไปสำหรับทั้งปัจเจกชนและชุมชนที่เป็นเพราะการเบียดเบียนศาสนาหรือขาดพระสงฆ์ไม่มีโอกาสได้ทำการเฉลิมฉลองศีลมหาสนิทเป็นเวลาระยะสั้นหรือระยะยาว พวกเขาสามารถสร้างความปรารถนาที่จะรับศีลศักดิ์สิทธิ์และเป็นหนึ่งในสายสัมพันธ์กับพระศาสนจักรทั้งปวงโดยอาศัยการสวดภาวนา ดังนั้นเมื่อพวกเขาเรียกหาพระคริสตเจ้าพร้อมกับยกจิตใจขึ้นหาพระองค์โดยอาศัยเดชานุภาพแห่งพระจิต พวกเขาก็จะเข้าไปอยู่ในสายสัมพันธ์แห่งความเป็นหนึ่งเดียวกันกับพระคริสตเจ้าและพระศาสนจักรซึ่งเป็นกายทรงชีวิตของพระองค์ ...  ดังนั้นพวกเขาจึงได้รับผลแห่งศีลมหาสนิท”  (CDF, Epistle, 6 August 1983)
50.     “จะให้ความสำคัญเพียงใดก็ไม่เพียงพอสำหรับการชุมนุมกันในวันอาทิตย์  ไม่ว่าจะเป็นมิติของแหล่งต้นตอแห่งชีวิตคริสตชนของปัจเจกชนหรือของชุมชน หรือในมิติของเครื่องหมายแห่งการตั้งใจของพระเจ้าที่รวมมนุษยชาติเข้าไว้ด้วยกันในพระคริสตเจ้า  คริสตชนทุกคนจะต้องเชื่อมั่นว่า  พวกเขาไม่อาจที่จะเจริญชีวิตในความเชื่อหรือมีส่วนร่วมในพันธกิจสากลของพระศาสนจักรได้  นอกเสียจากว่าพวกเขาได้รับการหล่อเลี้ยงด้วยศีลมหาสนิท  พวกเขาต้องมีความเชื่อมั่นเช่นเดียวกันด้วยว่า  การไปร่วมชุมนุมกันในวันอาทิตย์คือเครื่องหมายต่อโลกถึงรหัสธรรมแห่งความเป็นหนึ่งเดียวกัน ซึ่งได้แก่ศีลมหาสนิท”  (John Paul II, Address, 27 March 1987)
สรุป


เอกสารชิ้นนี้เป็นการทบทวนเทววิทยาและขนบธรรมเนียมประเพณีเกี่ยวกับวันของพระเจ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมุมมองคำสอนของสังคายนาวาติกัน 2 ในเรื่องที่เกี่ยวกับธรรมนูญว่าด้วยจารีตพิธี  ที่สำคัญที่สุดคือคำจำกัดความวันอาทิตย์ว่าเป็นวันของพระเจ้าเนื่องมาจากศีลมหาสนิท มิติแห่งสวรรค์และมิติแห่งปาสกาของวันอาทิตย์ หรือ วันแรกและวันที่แปด  วันพักผ่อนและวันแห่งการเฉลิมฉลอง และการชุมนุมกันในวันอาทิตย์ในกรณีที่ขาดพระสงฆ์


ทว่าเทววิทยาและธรรมเนียมประเพณีต้องมีการปรับให้เป็นความจริงในมิติของวัฒนธรรม และการอภิบาลของพระศาสนจักรในแต่ละท้องที่ ในขณะที่เทววิทยามีคุณสมบัติและเชิงปฏิบัติที่เป็นสากล  วัฒนธรรมมีจุดยืนที่ธรรมเนียมและการปฏิบัติที่พัฒนาขึ้นเกี่ยวกับการนมัสการในวันอาทิตย์  วันอาทิตย์เป็นวันหยุดนั้นถือกันแทบทุกประเทศ  ถึงแม้ว่าจะไม่ถือกันว่าเป็นวันหยุดทางศาสนากันทั้งหมดก็ตาม  การแสดงออกมาภายนอกที่เป็นธรรมเนียมปฏิบัติควบคู่กันไปกับการเฉลิมฉลองวันอาทิตย์บ่อยครั้งถูกกำหนดขึ้นจากศาสนาอื่น หรือกฎระเบียบของทางราชการ  ความหมายที่ลึกลงไปของการมาชุมนุมกันในวันอาทิตย์ในฐานะที่เป็นชุมชนเพื่อพบกับพระเจ้าโดยอาศัยพระวาจาและศีลศักดิ์สิทธิ์บางครั้งถูกบิดเบือนด้วยความตั้งใจเพียงที่จะปฏิบัติไปตามกฎข้อบังคับเท่านั้น  วันอาทิตย์ในฐานะที่เป็นวันแห่งการพักผ่อนหย่อนใจและการเฉลิมฉลอง อาจถือว่าเป็นอภิสิทธิ์ของชนชั้นกลางที่ไม่สามารถจะนำไปใช้กับคนจนที่ไม่มีทางเลือกนอกจากต้องทำงาน  การชุมนุมกันในวันอาทิตย์ที่ขาดพระสงฆ์มีจุดประสงค์ที่จะแก้ปัญหาด้านเทววิทยาเป็นการชั่วคราว   แต่ชุมชนคริสตชนหลายแห่งก็ยังประสบกับปัญหาของการขาดพระสงฆ์อยู่ดี


ประเด็นต่างๆที่นำมากล่าวข้างต้นน่าจะทำให้เราชื่นชอบกับวันหนึ่งของสัปดาห์ที่มีความสำคัญยิ่งนี้  และเราต้องเฉลิมฉลองวันอาทิตย์ในบริบทของพระศาสนจักรท้องถิ่นที่ทำการเฉลิมฉลอง


ขอให้พระเจ้าจงได้รับพระสิริมงคลในทุกสิ่ง

ที่มา เอกสารประกอบสอนปีพิธีกรรม คุณพ่อเชษฐา ไชยเดช

รำพึงพระวาจาประจำวัน

วันศุกร์ สัปดาห์ที่ 4 เทศกาลปัสกา พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญยอห์น (ยน 14:1-6) เวลานั้น พระเยซูเจ้าตรัสกับบรรดาศิษย์ว่า “ใจของท่านทั้งหลายจงอย่าหวั่นไหวเลย จงเชื่อในพระเจ้า และเชื่อในเราด้วย ในบ้านพระบิดาของเรา มีที่พำนักมากมาย ถ้าไม่มี...
วันพฤหัสบดี สัปดาห์ที่ 4 เทศกาลปัสกา (ฉลองนักบุญมาระโก ผู้นิพนธ์พระวรสาร) พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโก (มก 16:15-20) เวลานั้น พระเยซูเจ้าตรัสกับบรรดาศิษย์ว่า “ท่านทั้งหลายจงออกไปทั่วโลก ประกาศข่าวดีให้มนุษย์ทั้งปวง ผู้ที่เชื่อและรับศีลล้างบาปก็จะรอดพ้น ผู้ที่ไม่เชื่อจะถูกตัดสินลงโทษ...
วันพุธ สัปดาห์ที่ 4 เทศกาลปัสกา พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญยอห์น (ยน 12:44-50) เวลานั้น พระเยซูเจ้าตรัสเสียงดังว่า “ผู้ที่เชื่อในเรา ไม่ได้เชื่อในเราเท่านั้น แต่ยังเชื่อในพระองค์ผู้ทรงส่งเรามาด้วย ผู้ที่เห็นเรา ก็เห็นพระองค์ผู้ทรงส่งเรามา เราเข้ามาในโลกเป็นแสงสว่าง...

Don't be afraid

E-Book แผนกคริสตศาสนธรรม อัคสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

สื่อการสอน เกมคำสอน เกมพระคัมภีร์ ออนไลน์

ความสุขแท้จริง 8 ประการ สำหรับครูคำสอน
สื่อการสอน คุณค่าพระวรสาร 21 ประการ
สื่อการสอน คุณค่าพระวรสาร 21 ประการ
คุณค่าพระวรสาร 21 ประการ สำหรับอัตลักษณ์การศึกษาคาทอลิก คุณค่าพระวรสาร คือ คุณค่าที่พระเยซูเจ้าสั่งสอน และเจริญชีวิตเป็นแบบอย่างแก่บรรดาสานุศิษย์และประชาชน...
สื่อการเรียนการสอน เรื่อง อุปมาของพระเยซูเจ้า
สื่อการเรียนการสอน เรื่อง อุปมาของพระเยซูเจ้า
อุปมาเป็นเรื่องราวสั้นๆ ชวนคิด ที่พระเยซูเจ้าทรงเล่าให้ประชาชนฟัง เพื่อสอนพวกเขาเกี่ยวกับพระเจ้าและหนทางไปสวรรค์
สื่อการเรียนการสอน เรื่อง "คำสอนของพระเยซูเจ้า"
สื่อการเรียนการสอน เรื่อง
แผนภูมิความรู้ ความสอนของพระเยซูเจ้า ความเชื่อและการรับศีลล้างบาป ความสุขแท้จริง การเป็นแบบอย่างที่ดี การรักศัตรู การภาวนา ความไว้วางใจในพระเจ้า...

คำสอนสำหรับเยาวชน YOUCAT

222. อาจโปรดศีลมหาสนิทให้กับผู้ที่มิใช่คริสตชนด้วยหรือ ศีลมหาสนิท เป็นการแสดงออกถึงความเป็นหนึ่งเดียวกันของพระกายของพระคริสตเจ้า การเป็นของพระศาสนจักรคาทอลิก บุคคลนั้นต้องได้รับศีลล้างบาปในพระศาสนจักร มีส่วนร่วมในความเชื่อของพระศาสนจักร ดำเนินชีวิตร่วมกันกับพระศาสนจักร จะเป็นความขัดแย้งกันถ้าพระศาสนจักรจะเชิญผู้ที่ยังไม่มีส่วนร่วมในความเชื่อ และยังไม่ดำเนินชีวิตตามพระศาสนจักรเข้ามารับศีลมหาสนิท จะเป็นความเสียหายของความน่าเชื่อถือของเครื่องหมายแห่งศีลมหาสนิท (1398...
221. ศีลมหาสนิทเปลี่ยนแปลงเราอย่างไร ทุกครั้งที่รับศีลมหาสนิทยิ่งทำให้ฉันเป็นหนึ่งเดียวกับพระคริสตเจ้าได้ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น ทำให้ฉันเป็นสมาชิกที่มีชีวิตชีวาของพระกายพระคริสตเจ้า ฟื้นฟูพระหรรษทานที่ฉันได้รับในศีลล้างบาป และศีลกำลัง และสร้างป้อมปราการให้ฉันในการต่อสู้กับบาป (1391-1397,1416)
220. ในการรับศีลมหาสนิทต้องเตรียมตัวอย่างไร ผู้ที่ต้องการรับศีลมหาสนิทต้องเป็นคาทอลิก ถ้าเขามีบาปหนักในมโนธรรมของเขา สิ่งแรกคือเขาต้องไปสารภาพบาป ก่อนเข้าไปสู่พระแท่นผู้นั้นควรคืนดีกับเพื่อนบ้านของตน (389 , 1417) จนกระทั่งเมื่อไม่กี่ปีก่อน ในภาคปฏิบัตินั้นจะรับประทานอะไรไม่ได้เลยอย่างน้อย 3...

กิจกรรมพระคัมภีร์

เดินตามกฎ
เดินตามกฎ
เดินตามกฎ เรื่อง กฎต่างๆ พระคัมภีร์ โยชูวา 1:7-8 ภาพรวม เด็กๆ ปฏิบัติตามกฎต่างๆ ในเกม และเรียนรู้ถึงคุณค่าของการปฏิบัติตามกฎต่างๆ ในชีวิต อุปกรณ์ ปากกาเส้นใหญ่สีดำ เทปแถบกาว และกระดาษสีแดง 5 แผ่น สีเขียว 10 แผ่น วาดเครื่องหมายหยุดไว้บนกระดาษสีแดงแต่ละแผ่น และวาดลูกศรลงบนกระดาษสีเขียวแต่ละแผ่น ประสบการณ์ ให้เด็กๆ...
ดูซิ เห็นไหม
ดูซิ เห็นไหม
ดูซิ เห็นไหม เรื่อง ยืนยันต่อผู้อื่น พระคัมภีร์ สุภาษิต 16:24 ภาพรวม เด็กๆ พบสิ่งดีในผู้อื่นจากการเรียนรู้จักสิ่งดีในตนเอง อุปกรณ์ ทอฟฟี่ ดินสอ การ์ด 3 x 5 นิ้ว (2 เท่าของจำนวนเด็ก) ประสบการณ์ บอกเด็กๆ ว่าเรากำลังมองหาความดีในผู้อื่น ครูแจกดินสอและกระดาษการ์ด 3...

ประมวลภาพกิจกรรม

พิธีเอฟฟาธา ฟื้นผู้จิตใจผู้เตรียมเป็นคริสตชน ปี 2024
พิธีเอฟฟาธา ฟื้นผู้จิตใจผู้เตรียมเป็นคริสตชน ปี 2024
🙏 "เอฟฟาธา แปลว่า จงเปิดเถิด" 🙏 วันเสาร์ที่ 30 มีนาคม ค.ศ. 2024 แผนกคริสตศาสนธรรมอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ได้จัด "พิธีเอฟฟาธา" และฟื้นฟูจิตใจผู้เตรียมเป็นคริสตชน ณ อาสนวิหารอัสสัมชัญ บางรัก และห้องประชุมชั้นใต้ดิน (สำนักมิสซัง) ในกฤษฎีกาสมัชชาใหญ่ของพระศาสนจักรคาทอลิกในประเทศไทย...
ค่ายคำสอนลูกแม่พระ ปี 2024
ค่ายคำสอนลูกแม่พระ ปี 2024
🎊 “ท่องโลกพระคัมภีร์”🎊 วันศุกร์ที่ 22 มีนาคม 2024 ทีมคำสอนสัญจรได้ไปกิจกรรมพิเศษของค่ายคำสอนลูกแม่พระ ให้กับเด็กนักเรียนคำสอน วัดแม่พระฟาติมาดินแดง กว่า 50 คน ในหัวข้อ “ท่องโลกพระคัมภีร์” วันนี้ เด็กๆ ได้เรียนรู้เรื่องราวความเป็นมาของพระคัมภีร์ตั้งแต่พันธสัญญาเดิมเรื่อยมาจนถึงพันธสัญญาใหม่ ผ่านทางวีดีโอ ควบคู่ไปกับการเติมคำในช่องว่าง และยังได้ทำกิจกรรมเพื่อช่วยให้จดจำชื่อหนังสือพระคัมภีร์ได้มากขึ้น...

สวดสายประคำ

สายประคำทำให้ความเชื่อเข้มแข็งขึ้น
สายประคำทำให้ความเชื่อเข้มแข็งขึ้น ตลอดประวัติศาสตร์ของพระศาสนจักรคาทอลิก พระสันตะปาปาและนักบุญจํานวนมากสนับสนุนให้สวดสายประคํา เมื่อเราเริ่มเข้าใจและซาบซึ้งในสายประคําและสวดบ่อยขึ้น เราจะเห็นความหมายที่แท้จริงของการรําพึงภาวนา เราเริ่มเห็นคุณค่าว่าคําภาวนานั้นไม่เพียงแต่ถึงพระนางมารีย์...
ทำไมชาวคาทอลิกจึงสวดสายประคำ
ทำไมชาวคาทอลิกจึงสวดสายประคำ (The Rosary)การสวดบทภาวนาเดียวกันซ้ำหลายๆ ครั้ง เป็นวิธีปฏิบัติในบางศาสนา เพราะคิดว่าการสวดภาวนาซ้ำไปซ้ำมาจะได้ผลดีกว่า...

ช่วงเวลาสั้นๆ กับพระเจ้า

วงล้อ
พระเจ้าตรัสอะไรกับท่านในวันนี้ พระ​วาจา​ของ​พระองค์​เป็น​โคม​ส่อง​ทาง​ของ​ข้าพ​เจ้า เป็น​แสง​สว่าง​ส่อง​ทางเดิน​ให้​ข้าพ​เจ้า (สดด 119:105) ภาวนาวอนขอความสว่างจากพระองค์ แล้วหมุนวงล้อ...
วงล้อ พระวาจาหนุนใจในเหตุการณ์ต่างๆ ของชีวิต
ในชีวิตประจำวัน เราจะพบความเศร้า ความกลัว ปัญหา ความทุกข์ยาก ความไม่สบายใจ ความรู้สึกผิด ความหดหู่ ถูกทดลอง เจ็บป่วย...

คำถามที่เด็กๆ อยากรู้เกี่ยวกับพระเจ้า

Messiah
พระเมสสิยาห์ คำว่า พระเมสสิยาห์ เป็นภาษาฮีบรูที่ใช้เรียกพระคริสต์ ซึ่งเปลว่า...
Redeemer
พระผู้ไถ่ เป็นพระนามของพระเยซูคริสตเจ้า ที่หมายถึงว่า พระองค์สิ้นพระชนม์เพื่อไถ่เราให้รอดพ้นจากบาป
tomb
อุโมงค์ฝังศพ คือสถานที่ใช้ฝังศพผู้ตาย อุโมงค์ฝังพระศพของพระเยซูเจ้านั้นมีลักษณะเป็นโพรงหิน

ประวัตินักบุญ

25 เมษายน ฉลองนักบุญมาระโก ผู้นิพนธ์พระวรสาร
25 เมษายน ฉลองนักบุญมาระโก ผู้นิพนธ์พระวรสาร (St. Mark, Evangelist, feast) มีความเห็นพ้องต้องกันโดยทั่วไปว่า ชื่อของ มาระโก ที่มีกล่าวไว้ในหนังสือกิจการอัครสาวก...
25 มีนาคม สมโภชการแจ้งสารเรื่องพระวจนาตถ์ทรงรับสภาพมนุษย์
วันที่ 25 มีนาคม สมโภชการแจ้งสารเรื่องพระวจนาตถ์ทรงรับสภาพมนุษย์ ( The Annunciation of the Lord, solemnity )...
19 มีนาคม  สมโภชนักบุญโยเซฟ ภัสดาของพระนางมารีย์พรหมจารี
วันที่ 19 มีนาคม สมโภชนักบุญโยเซฟ ภัสดาของพระนางมารีย์พรหมจารี (St. Joseph, Spouse of the Blessed Virgin...
17 มีนาคม  ระลึกถึงนักบุญปาตริก พระสังฆราช  (St. Patrick, Bishop, memorial)
วันที่ 17 มีนาคม ระลึกถึงนักบุญปาตริก พระสังฆราช (St. Patrick, Bishop, memorial) นักบุญปาตริกเป็นนักบุญยิ่งใหญ่และเป็นองค์อุปถัมภ์ของประเทศไอร์แลนด์ ท่านเป็นบุตรชายของ Calpurnius...

CCBKK Channel

youtube1

Kamson TikTok

tiktok

Facebook CCBKK

วันละหนึ่งนาทีกับนักบุญโยเซฟ

St.Joseph 2021

คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก

ccc thai web

บทอ่านและบทมิสซา

ordomissae

พระคัมภีร์คาทอลิก

WOPTMR80W7YC0H90QTK7LZC1E1L2WM

บทเพลงศักดิ์สิทธิ์

angels-5b

วิชาคริสต์ศาสนา + จริยศึกษา

poster 2023 moral re

------------------------------------------

poster 2023 christianity re

สถิติเยี่ยมชม (22-2-2012)

วันนี้
เมื่อวานนี้
สัปดาห์นี้
เดือนนี้
เดือนที่แล้ว
ทั้งหมด
1330
15633
70327
279860
306218
36023582
Your IP: 18.119.131.178
2024-04-26 02:37

สถานะการเยี่ยมชม

มี 190 ผู้มาเยือน และ ไม่มีสมาชิกออนไลน์ ออนไลน์