แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

“วิญญาณของเทววิทยา”


31.    “ดังนั้นการศึกษาพระคัมภีร์จึงต้องเป็นเสมือนวิญญาณของเทววิทยา”  ข้อความนี้ที่ยกมาจากธรรมนูญ Dei Verbum ยิ่งทียิ่งเป็นที่รู้จักของเรามากขึ้น เราอาจกล่าวได้ว่าช่วงเวลาหลังสภาสังคายนาวาติกันที่ 2 อ้างข้อความนี้บ่อยๆเมื่อกล่าวถึงการศึกษาเทววิทยาและพระคัมภีร์ แสดงว่าพระคัมภีร์ได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้น การประชุมครั้งที่ 12 ของสมัชชาพระสังฆราชได้กล่าวถึงข้อความซึ่งทุกคนรู้จักดีนี้บ่อยๆ เพื่อแสดงว่าการศึกษาค้นคว้าด้านประวัติศาสตร์มีความสัมพันธ์กับการอธิบายความหมายในด้านความเชื่อเกี่ยวกับตัวบทของพระคัมภีร์ ในเรื่องนี้ บรรดาพระสังฆราชแห่งสมัชชารู้สึกยินดีที่เห็นว่า การศึกษาพระวาจาของพระเจ้าได้พัฒนาขึ้นมากในพระศาสนจักรตลอดช่วงเวลาสองสามทศวรรษที่ผ่านมานี้ และแสดงความขอบคุณจากใจจริงต่อผู้อธิบายพระคัมภีร์และนักเทววิทยาที่อุทิศตน ใช้ความพยายามและความเชี่ยวชาญอย่างเต็มที่ เพื่อศึกษาปัญหายุ่งยากในการค้นคว้าทางพระคัมภีร์ในปัจจุบัน จะได้เข้าใจพระคัมภีร์ให้ลึกซึ้งยิ่งๆขึ้นและเผยแผ่ความเข้าใจนี้แก่ทุกคน  บรรดาพระสังฆราชยังแสดงความขอบคุณจากใจจริงต่อบรรดาสมาชิกคณะสมณกรรมาธิการพระคัมภีร์ทั้งในอดีตและปัจจุบันอีกด้วย ท่านเหล่านี้ได้ร่วมงานอย่างใกล้ชิดกับสมณกระทรวงพระสัจธรรม เพื่อพิจารณาปัญหาเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาพระคัมภีร์ ยิ่งกว่านั้นสมัชชานี้ยังรู้สึกว่าจำเป็นต้องมองสภาพปัจจุบันของการศึกษาพระคัมภีร์ และความสำคัญของการศึกษานี้ในการศึกษาเทววิทยาอีกด้วย ทั้งนี้ก็เพราะว่างานอภิบาลของพระศาสนจักรและชีวิตจิตของบรรดาผู้มีความเชื่อจะประสบความสำเร็จหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่อย่างมากว่าการอธิบายความหมายพระคัมภีร์มีความสัมพันธ์กับเทววิทยาอย่างมีประสิทธิภาพเพียงใด ดังนั้นข้าพเจ้าจึงคิดว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องกล่าวอีกครั้งหนึ่งถึงข้อคิดบางประการ ซึ่งเกิดขึ้นในการประชุมสมัชชาครั้งนี้