ความหมายตามตัวอักษรและความหมายทางจิตวิญญาณ


37.    ผลดีสำคัญประการหนึ่งเพื่อรื้อฟื้นวิธีอธิบายความหมายพระคัมภีร์อย่างเหมาะสมตามที่สมัชชากล่าวถึง ยังอาจได้จากการกลับมาเอาใจใส่ศึกษาบรรดาปิตาจารย์ของพระศาสนจักรและวิธีการอธิบายความหมายพระคัมภีร์ของท่านเหล่านั้น  บรรดาปิตาจารย์ของพระศาสนจักรนำเสนอเทววิทยาที่ยังมีค่าอย่างยิ่งสำหรับพวกเราในปัจจุบัน ในฐานะที่เทววิทยาเป็นหัวใจของการศึกษาพระคัมภีร์อย่างบูรณาการ อันที่จริง ก่อนใดอื่นบรรดาปิตาจารย์โดยธรรมชาติคือ “ผู้อธิบายหนังสือของพระเจ้า”  แบบฉบับของท่านเหล่านี้ “อาจสอนผู้อธิบายความหมายพระคัมภีร์ในสมัยของเราให้เข้าหาพระคัมภีร์ตามแนวศาสนาอย่างแท้จริง และในทำนองเดียวกันก็สอนให้อธิบายความหมาย ที่ใช้หลักการร่วมกับประสบการณ์ของพระศาสนจักรซึ่งเดินทางมาในประวัติศาสตร์โดยมีพระจิตเจ้าทรงเป็นผู้นำ”
    แม้ธรรมประเพณีของบรรดาปิตาจารย์ และธรรมประเพณีในสมัยกลางจะไม่รู้ดีนักถึงที่มาของรากศัพท์และประวัติศาสตร์ ซึ่งการอธิบายความหมายพระคัมภีร์ในปัจจุบันใช้อย่างกว้างขวาง ก็ท่านเหล่านั้นก็รู้จักความหมายต่างๆของพระคัมภีร์เป็นอย่างดี โดยเริ่มต้นจากความหมายตามตัวอักษร ซึ่งเป็น “ความหมายที่มาจากถ้อยคำของพระคัมภีร์ และวิชาอธิบายความหมายได้ค้นพบตามหลักการอธิบายความหมายที่ถูกต้อง”  ตัวอย่างเช่น นักบุญโทมัสอาไควนัสกล่าวว่า “ความหมายทั้งหลาย(ของพระคัมภีร์)มีรากฐานตั้งอยู่บนความหมายตามตัวอักษร”  ถึงกระนั้นก็ยังต้องระลึกว่าในสมัยปิตาจารย์และสมัยกลางนั้น การอธิบายความหมายพระคัมภีร์ชนิดใดไม่ว่า รวมทั้งการอธิบายความหมายตามตัวอักษรด้วย ดำเนินไปได้โดยมีความเชื่อเป็นพื้นฐานและไม่จำเป็นต้องมีการแยกแยะระหว่างความหมายตามตัวอักษรและความหมายทางจิตวิญญาณ เพื่อช่วยเตือนความจำในเรื่องนี้ มีคำประพันธ์สั้นๆที่บอกว่าความหมายต่างๆของพระคัมภีร์เกี่ยวข้องกันอย่างไร
    “Littera gesta docet, quid credas allegoria,
    moralis quid agas, quo tendas anagogia”  ซึ่งอาจแปลได้ว่า
    “ตัวอักษรบอกว่าเกิดอะไรขึ้น อุปมานิทัศน์บอกว่าท่านต้องเชื่ออะไร
    ศีลธรรมบอกว่าต้องประพฤติตนอย่างไร การแนะนำบอกว่าท่านกำลังมุ่งไปไหน”
    ที่ตรงนี้เราเห็นว่ามีเอกภาพและความเกี่ยวข้องกันระหว่างความหมายตามตัวอักษรและความทางจิตวิญญาณ ซึ่งยังแบ่งออกไปอีกเป็นสามความหมายที่กล่าวถึงเรื่องความเชื่อ ศีลธรรม และการมุ่งไปหาอันตกาล
    กล่าวโดยสรุป แม้เราจะให้ความสำคัญและความจำเป็น รวมทั้งข้อจำกัดของวิธีการวิเคราะห์ทางประวัติศาสตร์ เราก็ยังเรียนรู้จากวิธีอธิบายความหมายพระคัมภีร์ของบรรดาปิตาจารย์ว่า “เราอาจเข้าถึงความหมายที่ตัวบทพระคัมภีร์ตั้งใจจะแสดงออกได้อย่างถูกต้อง ไม่เพียงแต่เมื่อเข้าใจถึงแก่นการเรียบเรียงตัวบท เพื่อค้นพบความเชื่อที่ตัวบทแสดงออกเท่านั้น แต่ยังเพื่อแสวงหาความสัมพันธ์ ที่ความเชื่อนี้มีกับประสบการณ์ความเชื่อในสังคมปัจจุบันนี้ด้วย”  ในมุมมองนี้เท่านั้นเราอาจรู้ว่าพระวาจาของพระเจ้านั้นมีชีวิต และพูดกับเราแต่ละคนในชีวิตปัจจุบัน ในเรื่องนี้ คำนิยามความหมายทางจิตวิญญาณที่สมณกรรมาธิการพระคัมภีร์ให้ไว้ตามความเข้าใจของความเชื่อในพระคริสตเจ้าก็ยังคงใช้ได้อยู่ คือ “ความหมายที่แสดงออกในข้อความพระคัมภีร์ที่อ่านโดยมีพระจิตเจ้าทรงนำ ในบริบทของพระธรรมล้ำลึกปัสกาของพระคริสตเจ้าและชีวิตใหม่ที่หลั่งไหลมาจากพระธรรมล้ำลึกนี้ บริบทดังกล่าวมีอยู่จริง ในบริบทนี้พันธสัญญาใหม่รู้ว่าพระคัมภีร์ได้สำเร็จบริบูรณ์ ดังนั้นจึงเป็นการถูกต้องที่จะอ่านพระคัมภีร์อีกครั้งหนึ่งในแสงสว่างของบริบทใหม่นี้ นั่นคือบริบทของชีวิตในพระจิตเจ้า”