แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

พระคัมภีร์และงานคริสตศาสนิกสัมพันธ์


46.    พระศาสนจักรตระหนักอยู่เสมอว่าตนตั้งรากฐานอยู่บนพระคริสตเจ้า พระวจนาตถ์ของพระเจ้าผู้ทรงรับธรรมชาติมนุษย์ สมัชชานี้จึงอยากเน้นความสำคัญของการศึกษาพระคัมภีร์ให้เป็นหลักของการเสวนาคริสตศาสนิกสัมพันธ์ โดยมุ่งจะให้เกิดเอกภาพสมบูรณ์ของทุกคนที่มีความเชื่อในพระคริสตเจ้า  ในพระคัมภีร์เอง เราพบคำภาวนาน่าประทับใจของพระเยซูเจ้าต่อพระบิดาขอให้ศิษย์ทุกคนของพระองค์เป็นหนึ่งเดียวกัน เพื่อโลกจะได้มีความเชื่อ (เทียบ ยน 17:21) ทุกสิ่งเหล่านี้ทำให้เรามั่นใจและเตือนให้เราฟังและตระหนักร่วมกันว่าพระคัมภีร์เชิญชวนให้เราดำเนินชีวิตมีความเป็นหนึ่งเดียวกัน แม้จะยังไม่สมบูรณ์ก็ตาม  “เพราะฉะนั้น การฟังพระคัมภีร์ร่วมกันจึงช่วยให้เกิดมีการเสวนาด้วยความรัก และเพื่อแสวงหาความจริงมากยิ่งขึ้น”  การร่วมฟังพระวาจาด้วยกัน การทำ lectio divina โดยใช้พระคัมภีร์ การรู้สึกพิศวงต่อความใหม่ของพระวาจาซึ่งไม่มีวันเก่าหรือเหือดแห้งไป  ล้วนช่วยให้เราเอาชนะความหูหนวกไม่ยอมฟังถ้อยคำที่ไม่ตรงกับความเห็นหรืออคติของเรา เป็นการฟังและพิจารณาพระวาจาภายในขอบข่ายของความสัมพันธ์ระหว่างผู้มีความเชื่อในทุกสมัย ทั้งหมดนี้เปิดทางที่จะต้องเดินเพื่อเข้าหาเอกภาพในความเชื่อเป็นการตอบสนองต่อการฟังพระวาจา  ถ้อยคำของสภาสังคายนาวาติกันที่ 2 เกี่ยวกับเรื่องนี้จึงมีความสำคัญมาก “ในการเสวนา(เรื่องคริสตศาสนิกสัมพันธ์)พระวาจาในพระคัมภีร์เป็นเครื่องมือที่มีค่ายิ่งในพระหัตถ์ทรงฤทธิ์ของพระเจ้า เพื่อบรรลุถึงเอกภาพที่พระผู้ไถ่ทรงเสนอแก่มวลมนุษย์”  เพราะฉะนั้นจึงควรเพิ่มการศึกษา การแลกเปลี่ยนความคิด และการเฉลิมฉลองพระวาจาร่วมกันระหว่างคริสตชนต่างนิกาย โดยให้ความเคารพและรักษากฎเกณฑ์และธรรมประเพณีต่างๆที่ยังคงมีผลบังคับใช้อยู่ต่อไป  การเฉลิมฉลองเหล่านี้ล้วนส่งเสริมคริสตศาสนิกสัมพันธ์ และถ้าดำเนินไปอย่างเหมาะสม ย่อมแสดงออกถึงช่วงเวลาการอธิษฐานภาวนาที่แท้จริง เพื่อวอนขอพระเจ้าให้ทรงเร่งวันเวลาที่ทุกคนปรารถนา ที่ทุกคนอาจเข้ามาร่วมโต๊ะเดียวกันและดื่มจากถ้วยเดียวกันได้ ถึงกระนั้น แม้ว่าการส่งเสริมการเฉลิมฉลองพระวาจาเช่นนี้ถูกต้องและน่าสรรเสริญ แต่ก็ต้องระวังไม่เสนอแก่บรรดาสัตบุรุษให้เป็นกิจกรรมที่มาทดแทนการร่วมพิธีบูชามิสซาในวันอาทิตย์หรือวันฉลองบังคับ
    ในงานศึกษาและอธิษฐานภาวนานี้ เรามีใจสงบยอมรับความเห็นที่ยังต้องการให้มีการค้นคว้าลึกซึ้งยิ่งขึ้น หรือที่ยังมีความแตกต่างกันอยู่อีกมาก เช่นความเข้าใจเรื่องผู้มีอำนาจในการอธิบายความหมายพระคัมภีร์ในพระศาสนจักร และบทบาทในการตัดสินของผู้มีอำนาจสอนของพระศาสนจักร
    ข้าพเจ้ายังใคร่จะเน้นเรื่องที่บรรดาพระสังฆราชแห่งสมัชชากล่าวไว้  ถึงความสำคัญในด้านคริสตศาสนิกสัมพันธ์ คือการแปลพระคัมภีร์เป็นภาษาต่างๆ เราทราบดีว่าการแปลข้อความไม่เป็นเพียงการทำงานอย่างเครื่องจักร แต่ในด้านหนึ่งยังเป็นส่วนหนึ่งของงานอธิบายความหมายด้วย ในเรื่องนี้ เราควรคิดถึงถ้อยคำของผู้รับใช้ของพระเจ้า***สมเด็จพระสันตะปาปายอห์นปอลที่ 2 ด้วยที่ว่า “ผู้ที่ยังจำได้ว่าการโต้เถียงเรื่องพระคัมภีร์อาจทำให้เกิดความแตกแยกได้มากเพียงไร โดยเฉพาะในพระศาสนจักรทางตะวันตก จะเข้าใจได้ว่าการแปลพระคัมภีร์ร่วมกันเช่นนี้นับเป็นก้าวใหญ่ไม่น้อยเข้ามาพบกัน”  การส่งเสริมให้มีการร่วมมือกันแปลพระคัมภีร์จึงเป็นส่วนหนึ่งของงานคริสตศาสนิกสัมพันธ์ ข้าพเจ้าจึงอยากขอบใจทุกคนที่รับผิดชอบในงานสำคัญนี้และให้กำลังใจให้มั่นคงในความพยายามของตน