ผลตามมาจากการศึกษาเทววิทยา


47.    ผลตามมาอีกประการหนึ่งจากการอธิบายความหมายพระคัมภีร์ จำเป็นต้องสัมพันธ์กับการให้การศึกษาอบรมเรื่องการอธิบายความหมายพระคัมภีร์และเทววิทยา โดยเฉพาะของผู้เตรียมตัวเป็นพระสงฆ์ จำเป็นจะต้องให้การศึกษาพระคัมภีร์เป็นหัวใจจริงๆของวิชาเทววิทยา เพราะเทววิทยาบอกให้เรารู้ว่าพระคัมภีร์คือพระวาจาของพระเจ้าที่พูดกับโลกในปัจจุบัน พูดกับพระศาสนจักร และกับเราแต่ละคน จึงจำเป็นจะต้องคำนึงและศึกษามาตรการที่เสนอไว้ในข้อ 12 ของธรรมนูญ Dei Verbum ให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น จำเป็นต้องหลีกเลี่ยงความคิดที่จะศึกษาค้นคว้าพระคัมภีร์ตามหลักวิชาการ “อย่างเป็นกลาง” (neutral) เพราะฉะนั้น พร้อมกับการศึกษาภาษาที่ใช้เขียนพระคัมภีร์และศึกษาวิธีการที่เหมาะสมเพื่ออธิบายความหมายแล้ว ยังจำเป็นที่ผู้ศึกษาต้องมีชีวิตจิตที่ลึกซึ้งอีกด้วย เพื่อจะเข้าใจว่าเราจะเข้าใจพระคัมภีร์ได้ก็เมื่อเราดำเนินชีวิตตามพระคัมภีร์ด้วย
    ในเรื่องนี้ ข้าพเจ้าจึงใคร่เตือนว่าการศึกษาพระวาจาของพระเจ้า ทั้งที่ถ่ายทอดสืบต่อกันมาและที่เขียนลงเป็นลายลักษณ์อักษร จะต้องดำเนินไปด้วยจิตสำนึกอย่างลึกซึ้งถึงพระศาสนจักร เพื่อบรรลุจุดประสงค์นี้ ในการศึกษาอบรมทางวิชาการจึงต้องคำนึงถึงอำนาจสั่งสอนของพระศาสนจักรเกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วย เพราะ “ผู้มีอำนาจสั่งสอนมิได้อยู่เหนือพระวาจาของพระเจ้า แต่รับใช้พระวาจา สอนแต่ความจริงที่ได้รับถ่ายทอดมา ในฐานะที่ความจริงนี้ได้รับมอบมาจากพระเจ้า โดยมีพระจิตเจ้าทรงช่วยเหลือ ผู้มีอำนาจสอนจึงต้องรับฟังพระวาจาด้วยความศรัทธา เก็บรักษาพระวาจาไว้ด้วยความเคารพ และอธิบายพระวาจานี้ด้วยความซื่อสัตย์”  เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นต้องจัดให้การศึกษานี้ยอมรับว่า “ธรรมประเพณีศักดิ์สิทธิ์ พระคัมภีร์ และอำนาจสั่งสอนของพระศาสนจักร มีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกันอย่างที่ว่าแต่ละอย่างมีอยู่ไม่ได้โดยไม่อาศัยอีกสองอย่าง”  จึงหวังได้ว่า ตามคำสอนของสภาสังคายนาวาติกันที่ 2 การศึกษาพระคัมภีร์ ที่อ่านโดยมีความสัมพันธ์กับพระศาสนจักรสากล จะเป็นจิตวิญญาณของการศึกษาเทววิทยาอย่างแท้จริง