บรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ (นักบุญ) และการอธิบายความหมายพระคัมภีร์


48.    การอธิบายความหมายพระคัมภีร์คงยังไม่สมบูรณ์ ถ้าเรายังไม่ได้ฟังผู้ที่ดำเนินชีวิตตามพระวาจา นั่นคือบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ (หรือ “นักบุญ”)  เพราะ “viva lectio est vita bonorum” (การอ่านที่มีชีวิตคือชีวิตของคนดี)  การอธิบายความหมายพระคัมภีร์อย่างลึกซึ้งย่อมมาจากผู้ที่ยอมให้พระวาจาปั้นแต่งตัวเขาโดยฟังพระวาจา อ่านและคิดคำนึงพระวาจานั้นอย่างเอาใจใส่จริงจัง
    หลักคำสั่งสอนที่สำคัญๆเรื่องชีวิตจิตวิญญาณ ซึ่งเกิดขึ้นตลอดมาในช่วงเวลาต่างๆของพระศาสนจักร ล้วนเกิดขึ้นจากข้อความชัดเจนข้อใดข้อหนึ่งจากพระคัมภีร์ เช่น ข้าพเจ้ากำลังคิดถึงนักบุญอันตนเจ้าอธิการ ซึ่งได้รับการชักนำจากการฟังพระวาจาของพระคริสตเจ้าที่ว่า “ถ้าท่านอยากเป็นคนดีอย่างสมบูรณ์ จงไปขายทุกสิ่งที่มี มอบเงินให้คนยากจน และท่านจะมีขุมทรัพย์ในสวรรค์ แล้วจงติดตามเรามาเถิด” (มธ 19:21)  คำถามของนักบุญบาซิลผู้ยิ่งใหญ่ในหนังสือ Moralia ก็ชวนให้คิดไม่น้อยกว่านี้ “เครื่องหมายเฉพาะของความเชื่อคืออะไรเล่า คือความแน่ใจโดยไม่มีข้อสงสัยถึงความจริงของพระวาจาของพระเจ้า.... เครื่องหมายเฉพาะของผู้มีความเชื่อคืออะไร คือการตั้งตนอยู่ในความมั่นใจเช่นนี้ถึงพลังและอำนาจของข้อความที่กล่าวไว้ในพระคัมภีร์โดยไม่กล้าตัดหรือเพิ่มอะไรเลย”  นักบุญเบเนดิกต์ในพระวินัยก็อ้างถึงพระคัมภีร์ “ซึ่งเป็นกฎเกณฑ์ถูกต้องที่สุดของชีวิตมนุษย์”  เรารู้จากข้อเขียนของโทมัสเดเช-ลาโนว่า เมื่อนักบุญฟรังซิสแห่งอัสซีซี “ได้ยินว่าศิษย์ของพระคริสตเจ้าต้องไม่สะสมทองคำ เงิน หรือทรัพย์สิน ต้องไม่มีไถ้ ถุงใส่เงิน ขนมปัง หรือไม้เท้าในการเดินทาง ต้องไม่มีรองเท้าหรือเสื้อผ้าสองชุด.... ท่านรู้สึกยินดีทันทีในพระจิตของพระเจ้า กล่าวว่า ‘นี่คือสิ่งที่ข้าพเจ้าอยากได้ นี่คือสิ่งที่ข้าพเจ้าแสวงหา ข้าพเจ้าปรารถนาสุดหัวใจที่จะทำเช่นนี้’”  นักบุญคลาราแห่งอัสซีซีก็ดำเนินตามประสบการณ์ของนักบุญฟรังซิสอย่างเต็มที่ ท่านเขียนไว้ว่า “นี่คือรูปแบบชีวิตของคณะภคินีผู้ยากจน การปฏิบัติตามพระวรสารของพระเยซูคริสตเจ้า”  นักบุญโดมีนิก กุซมัน “แสดงตนทุกแห่งเป็นผู้ประกาศข่าวดีด้วยคำพูดและกิจการ”  และต้องการให้บรรดาภราดาในคณะเป็น “บุรุษแห่งพระวรสาร”  นักบุญเทเรซาแห่งพระเยซู นักพรตคณะคาร์แมล ซึ่งใช้ภาพในพระคัมภีร์อยู่ตลอดเวลาเพื่ออธิบายประสบการณ์ทางฌานของท่านในหนังสือที่เขียน กล่าวว่าพระเยซูเจ้าเองทรงเปิดให้ท่านรู้ว่า “ความชั่วร้ายทั้งหลายในโลกเกิดขึ้นจากการไม่รู้ความจริงของพระคัมภีร์อย่างชัดเจน”  นักบุญเทเรซาแห่งพระกุมารเยซูได้พบว่าความรักคือกระแสเรียกส่วนตัวของท่านโดยการค้นคว้าจากพระคัมภีร์ โดยเฉพาะบทที่ 12 และ 13 ของจดหมายถึงชาวโครินธ์ฉบับที่หนึ่ง  ท่านนักบุญเองบรรยายถึงความดึงดูดของพระคัมภีร์ไว้เช่นนี้ “ทันทีที่ดิฉันมองเห็นพระวรสาร ดิฉันก็รู้สึกกลิ่นหอมของพระชนมชีพของพระเยซูเจ้าและรู้ว่าจะต้องวิ่งไปทางไหน”  นักบุญแต่ละท่านเป็นประหนึ่งรัศมีที่ส่องแสงออกมาจากพระวาจาของพระเจ้า เราอาจคิดถึงนักบุญอิกญาซิโอแห่งโลโยลาเมื่อท่านแสวงหาความจริงและจิตชนิดต่างๆ คิดถึงนักบุญยอห์นบอสโกในความกระหายของท่านที่จะให้การศึกษาอบรมบรรดาเยาวชน คิดถึงนักบุญยอห์นมารีย์เวียนเนย์เมื่อท่านคิดคำนึงถึงความยิ่งใหญ่ของการเป็นพระสงฆ์ ซึ่งเป็นของประทานและหน้าที่จากพระเจ้า คิดถึงนักบุญปีโอแห่งปีเอแตรลชีนาในการปฏิบัติหน้าที่เป็นเครื่องมือแสดงพระกรุณาของพระเจ้า คิดถึงนักบุญโยเซฟ-มารีย์ เอสครีวา ในการเทศน์สอนว่าเราทุกคนได้รับเรียกให้บรรลุถึงความศักดิ์สิทธิ์ คิดถึงท่านบุญราศีเทเรซาแห่งกัลกัตตา มิชชันนารีแห่งความรักต่อคนยากจนที่สุด และยังคิดถึงบรรดามรณสักขีของลัทธินาซีและคอมมิวนิสม์ ซึ่งมีผู้แทน คือนักบุญเทเรซาเบเนดิกตาแห่งไม้กางเขน (เอดิธ ชไตน์) ซิสเตอร์คณะคาร์แมล และบุญราศีอลอยซีอัส ซเตปีนัค พระคาร์ดินัลอัครสังฆราชแห่งซาเกร็บ
49.    ถ้าพิจารณาพระวาจาของพระเจ้า ในด้านหนึ่ง ความศักดิ์สิทธิ์สอดแทรกอยู่ในธรรมประเพณีของประกาศก ที่พระวาจาของพระเจ้าชักนำชีวิตของประกาศกให้มารับใช้พระองค์ ในความหมายนี้ ความศักดิ์สิทธิ์ในพระศาสนจักรก็เป็นการอธิบายความหมายพระคัมภีร์ที่ผู้ใดจะมองข้ามไปไม่ได้ พระจิตเจ้าซึ่งทรงดลใจผู้เขียนพระคัมภีร์ยังทรงผลักดันบรรดานักบุญให้ถวายชีวิตของตนเพื่อพระวรสาร ถ้าเราพยายามจะเรียนรู้จากตัวอย่างของท่านเหล่านี้ เราก็ออกเดินไปบนหนทางแน่นอนที่นำเราไปเข้าใจความหมายของพระวาจาของพระเจ้าให้บังเกิดผลในชีวิต
    เราได้เห็นหลักฐานของความสัมพันธ์ระหว่างพระวาจาของพระเจ้ากับความศักดิ์สิทธิ์ในช่วงเวลาการประชุมครั้งที่ 12 ในสมัชชานี้เมื่อมีพิธีประกาศแต่งตั้งนักบุญใหม่ 4 องค์ในลานพระมหาวิหารนักบุญเปโตร วันที่ 12 ตุลาคม คือนักบุญกาเยตาโน แอร์ริโก พระสงฆ์ ผู้ตั้งคณะธรรมทูตพระหฤทัยพระเยซูเจ้าและพระแม่มารีย์ คุณแม่มารีย์แบร์นาดา บึ๊ดเลอร์ ชาวสวิสซึ่งได้เป็นธรรมทูตในประเทศเอควาดอร์และโคลัมเบีย ซิสเตอร์อัลฟอนซาแห่งการปฏิสนธินิรมลซึ่งเป็นนักบุญชาวอินเดียองค์แรก นางสาวนาร์ชีซาแห่งพระเยซู มาร์ติลโลโมราน ฆราวาสชาวเอควาดอร์  ท่านเหล่านี้ได้เป็นพยานด้วยชีวิตให้โลกและพระศาสนจักรรู้ว่าพระวรสารของพระคริสตเจ้าบังเกิดผลอุดมสมบูรณ์อยู่เสมอ เราจงวอนขอองค์พระผู้เป็นเจ้าให้บรรดานักบุญเหล่านี้ที่ได้รับการประกาศแต่งตั้งในช่วงเวลาการประชุมสมัชชาเรื่องพระวาจาของพระเจ้า ช่วยวอนขอให้ชีวิตของพวกเราเป็น “เนื้อดินดี” ที่พระเจ้าผู้หว่านสามารถหว่านพระวาจาซึ่งเป็นประหนึ่งเมล็ดพันธุ์ ได้บังเกิดผลมากมายเป็นความศักดิ์สิทธิ์ในพวกเรา “สามสิบเท่า หกสิบเท่า และร้อยเท่า” (มก 4:20)