แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

พระวาจาของพระเจ้าและพิธีบูชาขอบพระคุณ


54.    ข้อความที่กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างพระวาจาและศีลศักดิ์สิทธิ์โดยรวมนั้น มีความหมายลึกซึ้งเป็นพิเศษเมื่อเรากล่าวถึงพิธีบูชาขอบพระคุณ  ยิ่งกว่านั้น ความสัมพันธ์ลึกซึ้งระหว่างพระวาจาและพิธีบูชาขอบพระคุณเกิดขึ้นจากหลักฐานในพระคัมภีร์ (เทียบ ยน 6; ลก 24) บรรดาปิตาจารย์ของพระศาสนจักรได้สอนสืบต่อมา และสภาสังคายนาที่ 2 ยังประกาศย้ำอีกด้วย  ในเรื่องนี้เราคิดถึงคำเทศน์ของพระเยซูเจ้าเรื่องปังแห่งชีวิตในศาลาธรรมที่เมืองคาร์เปอนาอุม (เทียบ ยน 6:22-69) ที่ตั้งอยู่บนการเปรียบเทียบโมเสสกับพระเยซูเจ้า นั่นคือระหว่างผู้ที่สนทนากับพระเจ้าตัวต่อตัว (เทียบ อพย 33:11) กับผู้ที่เปิดเผยพระเจ้าแก่มนุษย์ (เทียบ ยน 1:18) คำเทศน์ครั้งนี้กล่าวถึงปัง (หรือ “อาหาร”) ที่พระเจ้าประทานให้ ซึ่งโมเสสได้รับมาให้แก่ประชากรคือมานนาในถิ่นทุรกันดาร ซึ่งที่จริงได้แก่ธรรมบัญญัติ (Torah) หรือพระวาจาของพระเจ้าที่ให้ชีวิต (เทียบ สดด 119; สภษ 9:5) พระเยซูเจ้าทรงทำให้รูปแบบแต่โบราณนี้สำเร็จไปในพระองค์เอง “ขนมปังของพระเจ้า คือขนมปังซึ่งลงมาจากสวรรค์และประทานชีวิตแก่โลก....เราเป็นปังแห่งชีวิต” (ยน 6:33-35) ที่นี่ “ธรรมบัญญัติกลายเป็นบุคคลหนึ่ง เราอาจกล่าวได้ว่าเมื่อพบกับพระเยซูเจ้า เราก็รับองค์พระเจ้าทรงชีวิตเป็นอาหาร เรากิน ‘ปังจากสวรรค์’ จริงๆ”  อารัมภบทของพระวรสารของยอห์นได้รับคำอธิบายให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นในคำเทศน์สอนนี้ที่เมืองคาร์-เปอนาอุม เพราะในอารัมภบท พระวจนาตถ์ของพระเจ้าทรงรับสภาพมนุษย์ (แปลตามตัวอักษรว่า “กลายเป็นเนื้อ”) แต่เมื่อทรงเทศน์สอน(พระเยซูเจ้าทรงบอกว่า) “เนื้อ” นี้กลายเป็น “อาหาร” เพื่อให้โลกมีชีวิต (เทียบ ยน 6:51) ดังนั้นจึงตรัสเป็นนัยว่าพระองค์จะทรงมอบพระองค์เป็นสัญลักษณ์ของการสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน และยังทรงยืนยันให้เห็นชัดเจนยิ่งขึ้นอีกเมื่อตรัสถึงพระโลหิตที่จะประทานให้เรา “ดื่ม” (เทียบ ยน 6:53) เพราะฉะนั้น พระธรรมล้ำลึกเรื่องศีลมหาสนิทจึงแสดงให้เห็นว่ามานนาที่แท้จริง ปังแท้จริงที่ลงมาจากสวรรค์นั้นก็คือพระวจนาตถ์ (หรือ “พระวาจา”) ของพระเจ้าที่ทรงรับธรรมชาติมนุษย์และมอบพระองค์ให้แก่เราในพระธรรมล้ำลึกปัสกา
    เรื่องที่ลูกาเล่าถึงศิษย์ที่กำลังเดินทางไปยังหมู่บ้านเอมมาอุส ก็เป็นโอกาสให้เราไตร่ตรองได้มากขึ้นถึงความสัมพันธ์ของการฟังพระวาจากับ “พิธีบิปัง” (เทียบ ลก 24:13-35) พระเยซูเจ้าทรงพบกับศิษย์ทั้งสองคนในวันต้นสัปดาห์ ทรงฟังเขาเล่าถึงความหวังของตนที่พังทลายลง ทรงร่วมเดินทางไปกับเขา “ทรงอธิบายพระคัมภีร์ทุกข้อที่กล่าวถึงพระองค์ให้เขาฟัง” (24:27) ศิษย์ทั้งสองคนนี้จึงเริ่มมองพระคัมภีร์ในรูปแบบใหม่พร้อมกับเพื่อนร่วมทางผู้นี้ซึ่งดูเหมือนจะคุ้นเคยกับชีวิตของตนอย่างคาดไม่ถึง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อสองสามวันที่ผ่านมานั้นจึงดูเหมือนไม่ใช่ความล้มเหลวอีกต่อไป แต่เป็นเหมือนความสำเร็จและจุดเริ่มต้นใหม่ ถึงกระนั้นถ้อยคำเหล่านี้ดูเหมือนยังไม่เพียงพอสำหรับศิษย์ทั้งสองคนนั้น พระวรสารของลูกาบอกเราว่า “เขาก็ตาสว่างและจำพระองค์ได้” (24:31) เมื่อพระองค์ทรงหยิบขนมปัง ทรงถวายพระพร ทรงบิขนมปังและยื่นให้เขาเท่านั้น ขณะที่ก่อนหน้านั้น “ดวงตาของเขาถูกปิดบัง จำพระองค์ไม่ได้” (24:16) จากการประทับอยู่ของพระเยซูเจ้า เริ่มตั้งแต่ด้วยพระวาจา ตามด้วยการบิขนมปัง ศิษย์ทั้งสองคนจึงจำพระองค์ได้ บัดนี้เขาจึงเข้าใจประสบการณ์ที่เขาเคยมีเมื่ออยู่กับพระองค์ก่อนหน้านั้นได้ในรูปแบบใหม่ “ใจของเราไม่ได้เร่าร้อนเป็นไฟอยู่ภายในหรือ เมื่อพระองค์ตรัสกับเราขณะเดินทางและอธิบายพระคัมภีร์ให้เราฟัง” (24:32)

55.    จากที่กล่าวมานี้ทั้งหมดจึงเห็นได้ชัดว่า พระคัมภีร์นำเราให้เข้าใจความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพิธีบูชาขอบพระคุณ (หรือ ศีลมหาสนิท) “เราจึงต้องระลึกอยู่เสมอว่าพระวาจาของพระเจ้าที่พระศาสนจักรอ่านและประกาศในพิธีกรรมนั้น มีจุดประสงค์อยู่ที่การถวายบูชาแห่งพันธสัญญาใหม่และการเลี้ยงที่ประทานพระหรรษทาน ซึ่งหมายถึงพิธีบูชาขอบพระคุณนั่นเอง”  พระวาจาและพิธีบูชาขอบพระคุณจึงมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด จนว่าเราจะเข้าใจสิ่งหนึ่งไม่ได้โดยไม่มีอีกสิ่งหนึ่ง พระวาจาของพระเจ้ากลายเป็นพระกายที่เป็นศีลศักดิ์สิทธ์ในการประกอบพิธีบูชาขอบพระคุณ พิธีบูชาขอบพระคุณเปิดใจเราให้เข้าใจพระคัมภีร์เช่นเดียวกับที่พระคัมภีร์ส่องสว่างและอธิบายพระธรรมล้ำลึกของพิธีบูชาขอบพระคุณ ถ้าเราไม่เข้าใจว่าองค์พระผู้เป็นเจ้าประทับอยู่จริงในพิธีบูชาขอบพระคุณ (หรือศีลมหาสนิท) เราก็ยังเข้าใจพระคัมภีร์ได้ไม่สมบูรณ์ เพราะฉะนั้น “พระศาสนจักรจึงแสดงความเคารพเช่นเดียวกันต่อพระวาจาของพระเจ้าและพระธรรมล้ำลึกพิธีบูชาขอบพระคุณ แม้จะไม่ใช่ด้วยพิธีคารวะแบบเดียวกัน และยังคงปรารถนาและสั่งให้ปฏิบัติเช่นนี้ตลอดไปทุกแห่ง เพื่อปฏิบัติตามพระฉบับที่พระผู้ก่อตั้งทรงวางไว้ พระศาสนจักรไม่เคยเลิกเฉลิมฉลองพระธรรมล้ำลึกปัสกา มาชุมนุมพร้อมกันเพื่ออ่าน ‘พระคัมภีร์ทุกข้อที่กล่าวถึงพระองค์’ (ลก 24:27) และทำให้งานกอบกู้ดำเนินต่อไปอาศัยพิธีระลึกถึงองค์พระผู้เป็นเจ้าและอาศัยศีลศักดิ์สิทธิ์”