แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

การอ่านพระคัมภีร์โดยภาวนาและ lectio divina


86.    สมัชชาย้ำบ่อยๆถึงความจำเป็นที่ผู้ภาวนาต้องเข้าถึงตัวบทพระคัมภีร์ ให้เป็นองค์ประกอบพื้นฐานสำหรับชีวิตจิตของผู้มีความเชื่อแต่ละคนในพันธกิจและสภาพชีวิตต่างๆ โดยมีความสัมพันธ์พิเศษกับ lectio divina  พระวาจาของพระเจ้าเป็นพื้นฐานของชีวิตจิตแท้จริงทุกรูปแบบของคริสตชน ดังนั้นบรรดาพระสังฆราชแห่งสมัชชาจึงมีความเห็นพ้องกับคำสอนของธรรมนูญ Dei Verbum ที่กล่าวว่า: “ดังนั้น ให้[ผู้มีความเชื่อทุกคน]ยินดีสัมผัสกับตัวบทพระคัมภีร์ในพิธีกรรมซึ่งอุดมด้วยพระวาจาของพระเจ้า โดยการอ่านบำรุงศรัทธาหรือวิธีการอื่นที่เหมาะสมสำหรับการนี้ หรืออาศัยอุปกรณ์อื่นๆซึ่งในสมัยนี้แพร่หลายทั่วไปอย่างน่าชื่นชม ทั้งนี้โดยได้รับการเห็นชอบและสนับสนุนจากบรรดาผู้อภิบาลของพระศาสนจักร แต่ให้เขาตระหนักด้วยว่าการอ่านพระคัมภีร์จะต้องมีการภาวนาควบคู่อยู่ด้วยเสมอ”  สภาสังคายนาคิดจะรื้อฟื้นธรรมประเพณียิ่งใหญ่ของบรรดาปิตาจารย์ ที่เสนอแนะอยู่เสมอให้เข้าหาพระคัมภีร์เมื่อสนทนากับพระเจ้า ดังที่นักบุญออกัสตินกล่าวไว้ว่า “คำภาวนาของท่านเป็นการสนทนากับพระเจ้า เมื่อท่านอ่านพระคัมภีร์ พระเจ้าตรัสกับท่าน เมื่อท่านภาวนา ท่านก็พูดกับพระเจ้า”  โอริเจนซึ่งเป็นอาจารย์ยิ่งใหญ่คนหนึ่งในเรื่องการอ่านพระคัมภีร์เช่นนี้ สอนว่าการเข้าใจพระคัมภีร์เรียกร้องให้เรามีความใกล้ชิดกับพระเจ้าและการภาวนามากกว่าการศึกษาค้นคว้า ท่านเชื่อมั่นว่าหนทางดีที่สุดเพื่อจะรู้จักพระเจ้าคือความรัก และจะมีความรู้จักพระคริสตเจ้าอย่างแท้จริงไม่ได้นอกจากจะมีความร้อนรักต่อพระองค์ด้วย ในจดหมายของท่านถึงเกรโกรี (Epistola ad Gregorium) นักเทววิทยาผู้ยิ่งใหญ่ของเมืองอเล็กซานเดรียผู้นี้แนะนำว่า “ท่านจงเอาใจใส่อ่านพระคัมภีร์ จงตั้งใจอ่านพระคัมภีร์ด้วยความพากเพียร จงอ่านด้วยความเชื่อในพระเจ้าและทำให้เป็นที่พอพระทัย ถ้าอ่านแล้วยังไม่เข้าใจก็จงเคาะหาสิ่งที่ปิดอยู่ข้างใน แล้วจะมีผู้เปิดประตูให้ดังที่พระเยซูเจ้าเคยตรัสไว้ว่า ‘ผู้เฝ้าประตูย่อมเปิดให้เขา’ จงเอาใจใส่ทำ lectio divina จงเอาใจใส่แสวงหาด้วยความเชื่อมั่นในพระเจ้า จะได้พบความหมายของพระคัมภีร์ที่ยังถูกปิดบังซ่อนไว้สำหรับหลายคน แต่ท่านต้องไม่พอใจเพียงเคาะและแสวงหา เพราะสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งเพื่อจะเข้าใจเรื่องราวเกี่ยวกับพระเจ้าได้คือการภาวนา ดังที่พระผู้ไถ่ทรงเตือนไว้โดยไม่เพียงตรัสว่า ‘จงแสวงหาแล้วท่านจะพบ’ และ ‘จงเคาะ แล้วจะมีผู้เปิดให้ท่าน’ แต่ยังตรัสว่า ‘จงขอเถิด แล้วพระองค์จะประทานให้ท่าน’”
    ถึงกระนั้น ในเรื่องนี้ต้องหลีกเลี่ยงการเข้าถึงพระวาจาเป็นการส่วนตัวเท่านั้น เราต้องคิดว่าพระเจ้าประทานพระวาจาให้เราเพื่อเสริมสร้างการอยู่ร่วมกัน ให้ร่วมเดินทางในความจริงไปหาพระเจ้า พระวาจาพูดกับเราแต่ละคน แต่ก็ยังเป็นพระวาจาที่สร้างชุมชน สร้างพระศาสนจักร เพราะเหตุนี้จึงต้องเข้ามาหาพระคัมภีร์ในที่ชุมนุมของพระศาสนจักร “การอ่านในที่ชุมนุมมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะสาระสำคัญของพระคัมภีร์ก็คือประชากรของพระเจ้า คือพระศาสนจักร.... พระคัมภีร์ไม่ใช่เรื่องของอดีต เพราะสาระของพระคัมภีร์คือประชากรของพระเจ้าซึ่งได้รับการดลใจจากพระองค์ เป็นประชากรเดียวกันเสมอ และดังนี้พระวาจาที่มีชีวิตอยู่เสมอจึงอยู่ในประชากรที่มีชีวิตด้วย ดังนั้นจึงสำคัญมากที่จะอ่านพระคัมภีร์และสัมผัสพระคัมภีร์ร่วมกับพระศาสนจักร นั่นคือร่วมกับพยานสำคัญทั้งหลายของพระวาจานี้  เริ่มตั้งแต่บรรดาปิตาจารย์ในสมัยแรกจนถึงบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ในสมัยของเรา จนถึงพระศาสนจักรผู้มีอำนาจสอนในปัจจุบันนี้ด้วย”
    เพราะฉะนั้น พิธีกรรมจึงเป็นที่พิเศษสำหรับการอ่านพระคัมภีร์ควบคู่กับการภาวนา โดยเฉพาะพิธีบูชาขอบพระคุณ ซึ่งมีการเฉลิมฉลองพระกายและพระโลหิตเป็นศีลศักดิ์สิทธิ์ ทำให้พระวาจา (หรือพระวจนาตถ์) มาประทับอยู่ท่ามกลางพวกเรา ในแง่หนึ่ง การอ่านควบคู่กับการภาวนาทั้งเป็นการส่วนตัวและส่วนรวม จะต้องเป็นชีวิตที่เกี่ยวข้องเสมอกับการประกอบพิธีบูชาขอบพระคุณ การนมัสการศีลมหาสนิทเตรียม อยู่คู่กับ และติดตามพิธีกรรมศีลมหาสนิท อย่างไร การอ่านพระคัมภีร์ควบคู่กับการภาวนาทั้งส่วนตัวและส่วนรวมก็เตรียม อยู่คู่กับ และเข้าใจลึกซึ้งยิ่งขึ้นถึงกิจกรรมต่างๆ ที่พระศาสนจักรกำลังประกอบโดยประกาศพระวาจาในบริบทของพิธีกรรมเช่นเดียวกัน ในเมื่อการอ่าน(พระคัมภีร์)ถูกวางไว้ให้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดเช่นนี้กับพิธีกรรม เราจึงอาจรวบรวมมาตรการที่ต้องช่วยนำการอ่านนี้มาไว้ในบริบทของกิจกรรมงานอภิบาลและชีวิตจิตของประชากรของพระเจ้าได้   

87.    บรรดาเอกสารเตรียมและออกในสมัชชากล่าวถึงวิธีการต่างๆ เพื่อจะเข้าถึงพระคัมภีร์ได้ด้วยความเชื่อและอย่างมีประสิทธิภาพ ถึงกระนั้นก็ได้ให้ความสำคัญเป็นพิเศษแก่ lectio divina ซึ่ง “อาจเปิดขุมทรัพย์พระวาจาของพระเจ้าให้แก่ผู้มีความเชื่อได้ ยิ่งกว่านั้นยังอาจสร้างความสัมพันธ์กับพระคริสตเจ้า พระวาจา (หรือ “พระวจนาตถ์”) ทรงชีวิตของพระเจ้าได้ด้วย”  ข้าพเจ้าปรารถนาจะกล่าวสั้นๆถึงขั้นตอนสำคัญๆของกิจกรรมนี้ที่นี่ กิจกรรมนี้เริ่มด้วยการอ่านตัวบทซึ่งปลุกคำถามถึงความรู้เนื้อหาที่ถูกต้อง ตัวบทพระคัมภีร์เองกล่าวถึงเรื่องอะไร? ถ้ากระโดดข้ามขั้นตอนนี้ไป เราก็จะตกในอันตรายที่ตัวบทจะกลายเป็นข้ออ้างที่จะไม่ออกไปนอกความคิดของเราเอง ต่อจากนั้นก็ถึงการรำพึง (meditatio) เมื่อเราถามว่า ตัวบทพระคัมภีร์บอกอะไรแก่เรา? ที่ตรงนี้แต่ละคนเป็นส่วนตัว แต่ในฐานะที่เป็นสมาชิกของชุมชนด้วย ต้องปล่อยให้ตนถูกสัมผัสและทดสอบ เพราะเป็นเรื่องการพิจารณาไม่ใช่ถ้อยคำที่กล่าวไว้ในอดีต แต่กล่าวในปัจจุบัน จากนั้นก็มาถึงเวลาการภาวนาซึ่งถามว่าเราจะต้องพูดอะไรกับองค์พระผู้เป็นเจ้าเพื่อตอบพระวาจาของพระองค์? การภาวนาในฐานะที่เป็นการวอนขอ การขอแทนผู้อื่น การขอบพระคุณและสรรเสริญ เป็นวิธีการแรกที่พระวาจาใช้เพื่อเปลี่ยนแปลงเรา ขั้นตอนสุดท้ายของ lectio divina คือ การเพ่งฌาน (contemplatio) ที่เราคิดว่าตนในฐานะของประทานจากพระเจ้า รับเอาวิธีการมองและตัดสินเหตุการณ์เหมือนพระองค์มาถามตนเองว่า องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงขอร้องให้เราเปลี่ยนแปลงความคิด จิตใจ และชีวิตอย่างไร? นักบุญเปาโลกล่าวไว้ในจดหมายถึงชาวโรมว่า “อย่าคล้อยตามความประพฤติของโลกนี้ แต่จงเปลี่ยนแปลงตนเองโดยการฟื้นฟูความคิดขึ้นใหม่ เพื่อจะได้รูจักวินิจฉัยว่าสิ่งใดเป็นพระประสงค์ของพระเจ้า สิ่งใดดีและสิ่งใดเป็นที่พอพระทัยอันสมบูรณ์พร้อมของพระองค์” (12:2) การเพ่งฌานมุ่งจะให้เกิดปรีชาญาณที่เห็นความเป็นจริงได้ชัดแจ้งอย่างที่พระเจ้าทรงเห็น และเพื่อให้เรามี “ความคิดของพระคริสตเจ้า” (1 คร 2:16) เราจึงมีพระวาจาของพระเจ้าเป็นมาตรการสำหรับแยกแยะ “พระวาจาของพระเจ้าเป็นพระวาจาที่มีชีวิตและบังเกิดผล คมยิ่งกว่าดาบสองคมใดๆ แทงทะลุเข้าไปถึงจุดที่วิญญาณและจิตใจแยกจากกัน ถึงเส้นเอ็นและไขกระดูก วินิจฉัยความรู้สึกนึกคิดภายในใจได้” (ฮบ 4:12) เราจึงควรจำไว้เสมอว่าขั้นตอนของ lectio divina จบลงไม่ได้จนกระทั่งมาถึงกิจกรรมซึ่งเร่งเร้าให้ผู้มีความเชื่อแสดงความรักทำให้ชีวิตของตนเป็นของประทานจากพระเจ้าสำหรับผู้อื่นด้วย               
    เราพบขั้นตอนเหล่านี้รวมอยู่อย่างสมบูรณ์ในพระมารดาของพระเจ้า พระนางผู้ซึ่ง “ทรงเก็บเรื่องทั้งหมดนี้ไว้ในพระทัยและทรงคำนึงถึงอยู่” (ลก 2:19; เทียบ 2:51) ทรงเป็นตัวอย่างการยอมรับพระวาจาของพระเจ้าสำหรับผู้มีความเชื่อทุกคน ทรงค้นพบว่าเหตุการณ์ การกระทำ และสิ่งต่างๆที่ดูเหมือนว่าไม่เกี่ยวข้องกันเลยนั้น มีความสัมพันธ์กันอย่างลึกซึ้งในแผนการณ์ของพระเจ้า 
    ข้าพเจ้ายังปรารถนาจะกล่าวอีกว่า สมัชชาเคยเตือนถึงความสำคัญของการอ่านพระคัมภีร์เป็นการส่วนตัวด้วย กิจกรรมนี้ตามธรรมเนียมปฏิบัติของพระศาสนจักรยังเป็นโอกาสให้ผู้อ่านรับพระคุณการุญสำหรับตนเองหรือสำหรับผู้ล่วงลับได้ด้วย  ธรรมเนียมปฏิบัติเรื่องพระคุณการุญ  เกี่ยวข้องกับคำสอนเรื่องบุญกุศลไม่มีขอบเขตของพระคริสตเจ้า ซึ่งพระศาสนจักรในฐานะผู้จัดการงานกอบกู้ เป็นผู้จัดการแจกจ่าย และยังเกี่ยวข้องกับคำสอนเรื่องความสัมพันธ์เป็นหนึ่งเดียวของผู้ศักดิ์สิทธิ์ที่บอกเราว่า “ความสัมพันธ์ที่รวมเราทุกคนไว้ด้วยกันในพระคริสตเจ้านั้นลึกซึ้งเพียงไร และชีวิตเหนือธรรมชาติของเราแต่ละคนอาจเป็นประโยชน์สำหรับผู้อื่นได้ด้วย”  จากมุมมองนี้ การอ่านพระวาจาของพระเจ้าย่อมช่วยพยุงเราในหนทางการใช้โทษบาปและการกลับใจ เปิดโอกาสให้เราเข้าใจได้อย่างลึกซึ้งถึงความหมายของการเป็นสมาชิกของพระศาสนจักรและช่วยให้เรามีความใกล้ชิดกับพระเจ้ามากยิ่งขึ้นดังที่นักบุญอัมโบรสกล่าวไว้ว่า “เมื่อเราหยิบพระคัมภีร์ขึ้นมาด้วยความเชื่อและอ่านพร้อมกับพระศาสนจักร มนุษย์ก็กลับมาเดินกับพระเจ้าในสวนอุทยาน”