แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

การประกาศพระวาจาและคนยากจน


107.    พระคัมภีร์แสดงให้เห็นความรักเป็นพิเศษของพระเจ้าต่อคนยากจนและขัดสน (เทียบ มธ 25:31-46) บรรดาพระสังฆราชแห่งสมัชชากล่าวบ่อยๆถึงความจำเป็นที่ต้องนำการประกาศพระวรสาร ซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้อภิบาลและชุมชนต่างๆ ไปให้พี่น้องเหล่านี้ของเรา อันที่จริง “คนยากจนซึ่งต้องการไม่เพียงแต่อาหารเท่านั้น แต่ยังต้องการพระวาจาแห่งชีวิต มีสิทธิเป็นคนแรกที่จะได้ยินการประกาศพระวรสารแก่ตนก่อนผู้อื่น”  การบริการในด้านความรักที่ต้องไม่มีวันขาดไปในกลุ่มคริสตชนต่างๆของเรา ต้องอยู่ร่วมกับการประกาศพระวาจาและการประกอบพิธีศีลศักดิ์สิทธิ์เสมอ  ในเวลาเดียวกันเรายังต้องยอมรับและเข้าใจอยู่เสมอว่าบรรดาผู้ยากจนนี้เองคือผู้มีบทบาทในการประกาศข่าวดี ในพระคัมภีร์ผู้ยากจนแท้จริงคือผู้ที่มอบตนทั้งหมดแก่พระเจ้าและพระเยซูเจ้าในพระวรสารก็ตรัสว่าเขาเป็นสุข “เพราะอาณาจักรสวรรค์เป็นของเขา” (มธ 5:3; เทียบ ลก 6:20) องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงยกย่องใจซื่อของผู้ที่คิดว่าพระเจ้าคือสมบัติแท้ของตน ตั้งความหวังของตนไว้ในพระองค์ ไม่ใช่ในสิ่งของของโลกนี้ พระศาสนจักรทำให้ผู้ยากจนผิดหวังไม่ได้ “เป็นหน้าที่ของบรรดาผู้อภิบาลที่จะต้องรับฟังและเรียนรู้จากเขา เพื่อนำเขาในความเชื่อและปลุกใจเขาอย่างเหมาะสมให้รู้จักรับผิดชอบความเป็นอยู่ของตน”
    พระศาสนจักรยังตระหนักด้วยว่า ความยากจนเป็นคุณธรรมประการหนึ่ง ที่จะต้องปลูกฝังและเลือกอย่างอิสระ ดังที่นักบุญหลายท่านเคยทำ และความยากจนก็เป็นความขัดสนอย่างหนึ่งที่เกิดจากความอยุติธรรมและความเห็นแก่ตัว ความขัดสนนี้ก่อให้เกิดความขาดแคลน ความอดอยาก และยังหล่อเลี้ยงความเป็นอริต่อกัน.     เมื่อประกาศพระวาจาของพระเจ้า พระศาสนจักรรู้ว่าจำเป็นต้องส่งเสริมให้เกิด “วงจรแห่งคุณธรรม” เพื่อแยกความยากจนที่ต้องเลือก ออกจากความยากจนที่ต้องกำจัด เรายังต้องค้นให้พบด้วยว่า “ความรู้จักพอเพียงและความร่วมเป็นหนึ่งเดียวกันคือคุณค่าของพระวรสารและยังเป็นคุณค่าสากลในเวลาเดียวกันด้วย..... สถานการณ์เช่นนี้เรียกร้องให้เลือกความยุติธรรมและความรู้จักพอเพียง”