การแปลและการเผยแผ่พระคัมภีร์


115.    ถ้าการนำพระวาจาของพระเจ้าเข้าสู่วัฒนธรรมเป็นองค์ประกอบสำคัญในพันธกิจของพระศาสนจักรในโลก ขั้นตอนสำคัญประการหนึ่งในกระบวนการนี้ก็คือการเผยแผ่พระคัมภีร์โดยงานที่มีค่าเพื่อแปลพระคัมภีร์เป็นภาษาต่างๆ ในเรื่องนี้เราต้องระลึกอยู่เสมอว่างานแปลพระคัมภีร์ “ได้เริ่มขึ้นตั้งแต่สมัยพันธสัญญาเดิมแล้วเมื่อตัวบทภาษาฮีบรูของพระคัมภีร์ถูกแปลสดๆเป็นภาษาอาราเมอิก (เทียบ นหม 8:8,12) และต่อมายังแปลเป็นลายลักษณ์อักษรในภาษากรีก การแปลเป็นอะไรมากกว่าการถ่ายทอดตัวบทดั้งเดิมเสมอ การเปลี่ยนภาษาหนึ่งเป็นอีกภาษาหนึ่งจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงบริบททางวัฒนธรรมรวมอยู่ด้วยเสมอ วิธีคิดย่อมไม่เหมือนกันและสัญลักษณ์ก็มีความหมายต่างกัน เพราะทำให้เกิดความสัมพันธ์กับแนวคิดต่างกันและวิธีการดำเนินชีวิตที่ไม่เหมือนกัน”
    จากการประชุมสมัชชาปรากฏว่า พระศาสนจักรท้องถิ่นบางแห่งยังไม่มีพระคัมภีร์ฉบับสมบูรณ์ที่แปลเป็นภาษาของตน ประชาชนจำนวนมากในปัจจุบันหิวและกระหายพระวาจาของพระเจ้า แต่อนิจจา เขายังไม่ “มีโอกาสเข้าถึงพระคัมภีร์ได้โดยสะดวก”  ตามที่สภาสังคายนาวาติกันที่ 2 ปรารถนา  “เพราะฉะนั้นสมัชชาจึงคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญมากที่จะให้การศึกษาอบรมผู้เชี่ยวชาญเพื่อจะอุทิศตนในการแปลพระคัมภีร์เป็นภาษาท้องถิ่น”  ข้าพเจ้าจึงขอร้องให้ลงทุนลงแรงในเรื่องนี้ ข้าพเจ้ายังปรารถนาแนะนำให้สนับสนุนงานของสหพันธ์พระคัมภีร์คาทอลิก (CBF) ด้วย เพื่อเพิ่มจำนวนสำนวนแปลพระคัมภีร์เป็นภาษาต่างๆให้มีมากขึ้นและเผยแพร่อย่างกว้างขวางอีกด้วย  อีกทั้งยังควรด้วยที่งานนี้ โดยธรรมชาติ จะดำเนินไปโดยร่วมมือกับสมาคมพระคัมภีร์ต่างๆเท่าที่จะทำได้