คำนำ
ภาพวาดที่พานพบ

ภาพโปสเตอร์
    การได้เห็นรายละเอียดภาพวาด “การกลับมาของลูกล้างผลาญ” ของเรมแบรนท์ (Rembrandt)  โดยบังเอิญนั้น ทำให้ผมเริ่มแสวงหาชีวิตฝ่ายจิต ซึ่งชักนำให้ผมได้ค้นพบกระแสเรียกของผมใหม่อีกครั้งหนึ่ง และบันดาลให้ผมมีกำลังเข้มแข็งมากขึ้นที่จะดำเนินชีวิตตามกระแสเรียกนี้ สาระสำคัญของเรื่องอยู่ที่ภาพศิลปะในศตวรรษที่ 17 เรื่องอุปมาในศตวรรษที่ 1 และตัวผมซึ่งอยู่ในศตวรรษที่ 20 ผู้แสวงหาความหมายของชีวิต
เรื่องราวเริ่มขึ้นในช่วงปลายปี ค.ศ. 1983 ณ หมู่บ้านโทรสลี (Trosly) ประเทศฝรั่งเศส ผมใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือนที่ลาค์ช(L'Arche) ซึ่งเป็นบ้านพักสำหรับผู้พิการทางสมอง ตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1964 โดยชอง วานิเอร์ (Jean Vanier) ชาวแคนาดา โทรสลีเป็นบ้านศูนย์กลางของลาค์ช ซึ่งมีสาขากระจายอยู่ 90 แห่งทั่วโลก วันหนึ่งผมไปเยี่ยมเพื่อนผู้หญิงคนหนึ่งชื่อซีโมน ล็องดรีเออ (Simone Landrieu) ที่ศูนย์เอกสารเล็กๆ ของลาค์ช ผมได้เห็นภาพโปสเตอร์ขนาดใหญติดอยู่ที่ประตูห้องทำงานของเธอ เป็นภาพชายชราคนหนึ่งในชุดเสื้อคลุมใหญ่สีแดง  มือของเขาสัมผัสไหล่เด็กหนุ่มอย่างอ่อนโยน เด็กหนุ่มคุกเข่าต่อหน้าเขา ผมมองภาพนี้ไม่วางตา ความใกล้ชิดสนิทสนมของบุคคลทั้งสอง เสื้อคลุมสีแดงที่ดูอบอุ่นของชายชรา เสื้อคลุมแขนยาวสีเหลืองทองของเด็กหนุ่ม ตลอดจนความสว่างที่ล้อมรอบเขาทั้งสองดึงดูดผมไว้ แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือ มือของชายชราที่วางบนไหล่ชายหนุ่มนั้นได้สัมผัสผมในส่วนลึกที่ยังไม่เคยมีใครเข้าถึง
    เมื่อผมรู้ตัวว่าไม่ได้สนใจซีโมนคู่สนทนาเท่าไรนัก ผมจึงหันมาพูดกับเธอว่า “ภาพนี้เป็นภาพอะไรครับ” เธอตอบว่า “เป็นภาพวาดเรื่อง 'ลูกล้างผลาญ' ของเรมแบรนท์ คุณชอบภาพนี้หรือคะ?” ผมยังคงจ้องมองภาพนี้ไม่วางตา ใช่ สวย สวยมากทีเดียว ผมนึกอยากหัวเราะและร้องไห้ในเวลาเดียวกัน ผมบอกไม่ได้ว่าผมรู้สึกอย่างไรเวลาที่มองดูภาพนี้  แต่ผมประทับใจภาพนี้มาก “คุณน่าจะเป็นเจ้าของภาพนี้นะ หาซื้อได้ที่ปารีสค่ะ” ซีโมนเสนอ “ครับ  ผมจะต้องซื้อเก็บไว้สักภาพ”
    ครั้งแรกที่ผมเห็นภาพลูกล้างผลาญนี้ ผมเพิ่งกลับจากการเดินทางไปบรรยายทั่วสหรัฐอเมริกาเป็นเวลา 6 สัปดาห์ เพื่อรณรงค์ให้คริสตชนต่อต้านความรุนแรงและสงครามในอเมริกากลาง ผมรู้สึกเหนื่อยจนแทบจะเดินไม่ไหว ผมรู้สึกโดดเดี่ยว กังวล ว้าวุ่น และทำอะไรไม่ถูก ในระหว่างการเดินทางนั้น ผมรู้สึกเหมือนได้ต่อสู้อย่างกล้าหาญเพื่อยุติธรรมและสันติ สามารถเผชิญกับโลกแห่งความมืดได้โดยไม่เกรงกลัวสิ่งใดทั้งสิ้น แต่หลังจากการเดินทางสิ้นสุด ผมเป็นเพียงเด็กน้อยที่อ่อนแอ ต้องการหาที่พักบนตักของแม่ เมื่อเสียงโห่ร้องสนับสนุนของสาธารณชนจบลง ผมทนไม่ได้กับการอยู่เพียงลำพัง และผมก็เกือบพ่ายแพ้ต่อเสียงล่อลวงต่างๆ ที่สัญญาจะให้การพักผ่อนทางร่างกายและทางสัมผัสแก่ผม
ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ผมรู้สึกเมื่อได้เห็นภาพลูกล้างผลาญตรงประตูห้องทำงานของซีโมนเป็นครั้งแรก หัวใจของผมโลดเต้นยินดี หลังการเดินทางอันเหนื่อยอ่อนที่ผมได้ให้สิ่งที่ดีที่สุดในตัวผมไป  บัดนี้ผมปรารถนาอ้อมกอดอันอบอุ่นของบิดาที่มีต่อบุตร ผมนี่แหละคือบุตรคนนั้นที่เหนื่อยล้าจากการเดินทางอันยาวไกล ผมต้องการความรักและแสวงหาบ้านที่ผมรู้สึกมั่นคงปลอดภัย ผมเป็นและอยากเป็นบุตรที่กลับบ้านคนนั้น  ตั้งแต่ผมออกเดินทางจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง เพื่อให้กำลังใจ ขอร้อง ท้าทาย สร้างความมั่นใจ และทำทุกอย่างที่ผมอยากทำ ตอนนี้สิ่งที่ผมปรารถนาคือสถานที่ซึ่งผมรู้สึกว่าเหมือนอยู่บ้านของตัวเอง
มีสิ่งต่างๆ   เกิดขึ้นมากมายในช่วงหลายเดือนและหลายปีต่อมาผมรู้สึกหายเหนื่อย กลับมาสอนเรียนและเดินทางเช่นเดิมอีกครั้ง แต่อ้อมกอดในภาพวาดของเรมแบรนท์ยังคงจารึกอยู่ในวิญญาณของผมอย่างลึกซึ้ง มากกว่าที่จะเป็นเครื่องหมายที่ให้กำลังใจเท่านั้น อ้อมกอดนี้ทำให้ผมได้ค้นพบสิ่งที่ผมปรารถนา รวมทั้งเสียงเรียกที่ถูกบดบังเพราะชีวิตประจำวันอันวุ่นวาย และค้นพบความปรารถนาการพักผ่อนสุดท้าย ซึ่งเป็นความต้องการความปลอดภัยมั่นคง ผมได้พบผู้คนมากมาย ทำงานเรื่องสำคัญๆ ไปบรรยายตามที่ต่างๆ แต่ภาพการกลับบ้านของลูกล้างผลาญยังคงอยู่ในใจผมตลอด และยิ่งทียิ่งมีความสำคัญในชีวิตฝ่ายจิตของผม ภาพวาดนี้ทำให้ผมมีความปรารถนาในบ้านถาวร ความปรารถนานี้ยิ่งทียิ่งรุนแรงและลึกซึ้งมากขึ้น
สองปีหลังจากที่ได้เห็นภาพวาดนี้ ผมได้ลาออกจากตำแหน่งอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด  (Harvard University)  และกลับมาอยู่ที่ลาค์ชในโทรสลี ผมต้องการพิสูจน์ว่าผมจะใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผู้พิการทางสมองในบ้านของคณะลาค์ชได้หรือไม่ ในช่วงปีหัวเลี้ยวหัวต่อนี้  ผมรู้สึกใกล้ชิดกับเรมแบรนท์และภาพวาดเรื่องลูกล้างผลาญของเขาเป็นพิเศษ จริงแล้วๆ ผมได้ซื้อหาภาพนี้มาไว้ที่บ้าน และดูเหมือนว่า เรมแบรนท์ เพื่อนร่วมชาติชาวฮอลแลนด์ของผมคนนี้ได้กลายมาเป็นเพื่อนสนิทและผู้นำของผม ก่อนสิ้นปีนั้น ผมตัดสินใจไปอยู่ที่เดย์เบรค (Daybreak) บ้านของลาค์ชที่โตรอนโต (Toronto)

ภาพวาดจริง
    ก่อนที่จะออกจากโทรสลี ผมได้รับเชิญจากบ๊อบบี้ มัสซี (Bobby Massie)  และดานา โรเบิร์ต (Dana Robert) ภรรยาของเขา ให้ร่วมเดินทางไปโซเวียตกับพวกเขา ผมพูดกับตัวเองทันทีว่านี่แหละโอกาสที่ผมจะได้เห็นภาพวาดจริง ผมทราบว่าภาพจริงนั้นพระนางแคธรีน เดอะ เกรท (Catherine the Great) ได้นำมาไว้ที่เฮอร์มิเทจ (Hermitage) ในเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก (Saint Petersberg) ในปี ค.ศ. 1766 และภาพนี้ก็ยังคงอยู่ที่นั่นจนทุกวันนี้ ผมไม่เคยคิดเลยว่าจะมีโอกาสเห็นภาพวาดจริงได้เร็วขนาดนี้ ผมดีใจมากที่จะได้รู้จักประเทศโซเวียตมากขึ้น เพราะเป็นประเทศที่มีอิทธิพลต่อความคิด อารมณ์ และความรู้สึกของผมค่อนข้างมาก แต่อะไรก็ไม่เท่ากับการได้หยุดอยู่หน้าผืนผ้าใบที่เผยแสดงให้ผมรู้ถึงความปรารถนาอันลึกซึ้งของตัวเอง
    ตั้งแต่ออกเดินทาง ผมรู้ว่าการไปโซเวียตและการตัดสินใจร่วมงานกับลาค์ชนั้นเกี่ยวโยงใกล้ชิดกัน และสิ่งที่เกี่ยวโยงนี้ก็คือภาพลูกล้างผลาญของเรมแบรนท์  ผมรู้สึกว่าเมื่อได้พินิจชื่นชมภาพนี้ ผมสามารถเข้าถึงธรรมล้ำลึกของการกลับบ้านได้อย่างที่ผมไม่เคยรู้สึกมาก่อนเลย
    การได้กลับมาพบความปลอดภัยภายหลังการเดินทางไปบรรยายอันเหนื่อยล้า ถือว่าเป็นการกลับบ้าน การทิ้งเพื่อนร่วมงานและนักศึกษาเพื่อมาอยู่กับชายหญิงผู้พิการทางสมอง ก็ดูเหมือนเป็นการกลับบ้าน และการพบปะกับผู้คนในประเทศซึ่งแยกตัวเองจากโลก ก็คือการกลับบ้านด้วยเช่นกัน แต่การ “กลับบ้าน” สำหรับผม ก่อนอื่นใดหมายถึงการค่อยๆ ก้าวสู่พระผู้รอคอยด้วยพระกรกางกว้างเพื่อโอบผมไว้ในอ้อมกอดนิรันดร์      ผมรู้ว่าเรมแบรนท์ได้ค้นหาความหมายของการกลับบ้านฝ่ายจิตนี้ ประสบการณ์ของเขาก่อนที่จะวาดภาพลูกล้างผลาญไม่ได้ทำให้เขาสงสัยในบ้านถาวรที่แท้จริงของเขาเลย ผมรู้สึกว่าหากผมได้พบกับเรมแบรนท์ในที่ที่เขาวาดภาพบิดากับบุตรที่แสดงถึงพระเจ้ากับมนุษย์   ความเมตตาสงสารกับความทุกขเวทนา  ผมก็จะเข้าใจทุกสิ่งที่เป็นไปได้ในอันที่จะรู้จักชีวิตและความตาย ผมหวังด้วยว่าการชื่นชมงานศิลปะชิ้นเอกนี้นานๆ สักวันหนึ่งคงจะทำให้ผมสามารถพูดถึงสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับผมในเรื่องของความรักได้
    การอยู่ในเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กเป็นเรื่องธรรมดา แต่การมีโอกาสได้พินิจพิจารณาภาพวาดเรื่องลูกล้างผลาญที่เฮอร์มิเทจอย่างที่ต้องการ ไม่ใช่เรื่องธรรมดา เมื่อผมเห็นแถวผู้มาชมนับพันที่ตรงประตูพิพิธภัณฑ์ผมก็ถามตัวเองด้วยความกังวลว่า ทำอย่างไรผมถึงจะเห็นในสิ่งที่ผมอยากเห็น และจะได้เห็นนานแค่ไหน
การเดินทางของเราจบลงที่เซนต์ปีเตอร์สเบิร์กและเพื่อนร่วมทางส่วนใหญ่ก็เดินทางกลับบ้าน แต่ซูซาน มัสซี (Suzanne Massie) แม่ของบ๊อบบี้ ซึ่งอยู่ในโซเวียต ได้เชิญพวกเราให้พักต่ออีกสัก 2-3 วัน  ซูซานเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องศิลปะและวัฒนธรรมของรัสเซีย หนังสือ   The Land of the Firebird ของเธอ ได้ช่วยผมมากในการเตรียมตัวเดินทางมาโซเวียตครั้งนี้ ผมถามซูซานว่าทำอย่างไรถึงจะได้เห็นภาพเรื่องลูกล้างผลาญอย่างใกล้ชิด   เธอตอบว่า  “ไม่ต้องห่วง ฉันจะจัดการทุกอย่างให้คุณได้มีเวลาชื่นชมภาพนี้อย่างที่ต้องการ”
    วันรุ่งขึ้น ซูซานให้เบอร์โทรศัพท์ของอเล็กซี ไบรอันเซฟ (Alexi Briantsev) แก่ผมและบอกว่า “เขาเป็นเพื่อนที่ดี คุณโทรไปหาเขา แล้วเขาจะช่วยคุณ” และก็เป็นจริง อเล็กซีนัดผมทันทีที่ประตูด้านข้างของพิพิธภัณฑ์  ซึ่งอยู่เลยจากประตูทางเข้าสำหรับนักท่องเที่ยว
    วันเสาร์ที่ 26 กรกฎาคม ค.ศ. 1986 เวลา 14.30 น. ผมไปที่เฮอร์มิเทจ เลียบแม่น้ำเนวา (Neva) เลยประตูทางเข้าหลัก และมาถึงประตูที่อเล็กซีได้บอกไว้ เจ้าหน้าที่ที่นั่งหลังโต๊ะตัวใหญ่อนุญาตให้ผมใช้โทรศัพท์ภายในเพื่อโทรหาอเล็กซี อีก 2-3 นาทีต่อมา เขาก็ออกมาต้อนรับผมอย่างดี เขานำผมเดินไปตามทางเดินที่โอ่อ่า และบันไดที่สง่างาม จนถึงห้องโถงซึ่งอยู่นอกเส้นทางของนักท่องเที่ยว  ห้องนี้เป็นห้องยาวมีเพดานสูง  มองดูเหมือนห้องทำงานของจิตรกรโบราณ มีภาพวาดวางซ้อนกันอยู่ทั่วไป ตรงกลางห้องมีโต๊ะตัวใหญ่และเก้าอี้หลายตัว เต็มไปด้วยกระดาษและวัสดุต่างๆ เรานั่งลง และผมก็ได้รู้ว่าอเล็กซีเป็นหัวหน้าฝ่ายซ่อมบำรุงของเฮอร์มิเทจ ด้วยความใจกว้างและใส่ใจในความสนใจของผมที่ต้องการใช้เวลาอยู่กับภาพวาดของเรมแบรนท์นานๆ  เขาจึงให้ความช่วยเหลือผมทุกอย่าง  เขานำผมตรงไปยังภาพวาดเรื่องลูกล้างผลาญ และบอกยามไม่ให้รบกวนผม
    ในที่สุด ผมก็ได้มาอยู่ต่อหน้าภาพวาด ซึ่งอยู่ในความคิดและจิตใจของผมมาตลอดเกือบ 3 ปี ผมตะลึงกับความสง่างาม สิ่งแรกคือขนาดของภาพซึ่งใหญ่กว่าขนาดคนจริง เต็มไปด้วยสีแดง  สีน้ำตาลและสีเหลือง ซอกเงาและพื้นด้านหน้าที่สว่างสุกใส และเหนือสิ่งอื่นใด คืออ้อมกอดที่สว่างไสวของพ่อกับลูก ล้อมรอบด้วยภาพบุคคลอีก 4 คน ทั้งหมดนี้สะกดผมด้วยพลังที่ผมเองก็คาดไม่ถึง มีช่วงหนึ่งที่ผมถามตัวเองว่าภาพวาดของแท้นี้ทำให้ผมผิดหวังหรือเปล่า ไม่เลย ความยิ่งใหญ่รุ่งโรจน์ของภาพทำให้ผมตกอยู่ในมนต์เสน่ห์ การมาที่นี่สำหรับผมก็คือการกลับบ้านอย่างแท้จริง
กลุ่มนักท่องเที่ยวและมัคคุเทศก์ต่างเข้าแถวมาชมภาพวาดอย่างรวดเร็ว ส่วนผมได้นั่งเก้าอี้กำมะหยี่สีแดงตรงหน้าภาพวาด และจ้องมองภาพวาดนั้น ในที่สุดผมก็ได้เห็นของจริง! ผมไม่ได้เห็นเฉพาะภาพบิดาโอบกอดบุตรที่กลับบ้านเท่านั้น แต่ยังได้เห็นบุตรคนโตและบุคคลอื่นๆ อีก 3 คนด้วย ผืนผ้าใบใหญ่ขนาดกว้าง 6 ฟุต ยาว 8 ฟุต ตรึงผมอยู่ที่นั่น ผมค่อยๆ ซึมซับความจริงที่ว่าผมได้มาอยู่ต่อหน้าสิ่งที่ผมหวังจะได้เห็นมานานแสนนาน เพื่อลิ้มรสความจริงที่ว่าผมได้มาที่เฮอร์มิเทจในเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก และมีเวลาชื่นชมภาพวาดเรื่องลูกล้างผลาญนี้ได้นานอย่างที่ปรารถนา
ภาพวาดนี้ตั้งแสดงไว้อย่างเหมาะเจาะ บนกำแพงที่ได้รับแสงจากหน้าต่างบานใหญ่ที่ทำมุม 80 องศา จากจุดที่ผมนั่งอยู่ ทำให้ผมรู้ว่าแสงอาทิตย์จะเข้มข้นขึ้นเมื่อบ่ายคล้อย เวลา 16.00 น. แสงอาทิตย์ส่องกระทบภาพวาดให้ประกายความสว่างอีกแบบหนึ่ง คือบุคคลที่อยู่พื้นหลังของภาพซึ่งดูสลัวๆ ในทีแรกนั้นชัดเจนขึ้น เมื่อใกล้ค่ำ แสงอาทิตย์ก็ยิ่งงดงามชวนมอง อ้อมกอดของพ่อเข้มข้นและชัดเจนมากขึ้น และทำให้บุคคลที่อยู่รอบๆ ในภาพวาดนั้นก็ยิ่งดูเหมือนมีส่วนร่วมในเหตุการณ์อันล้ำลึกแห่งการคืนดี การให้อภัย และการรักษาภายในมากยิ่งขึ้น ผมค่อยๆ เข้าใจว่ามีภาพวาดเรื่องลูกล้างผลาญอยู่หลายภาพ ทั้งนี้แล้วแต่แสงที่ตกมากระทบ ผมชื่นชมการผสมผสานที่งดงามของศิลปะและธรรมชาตินี้อยู่นานทีเดียว
    เวลาผ่านไปกว่า 2 ชั่วโมงโดยแทบไม่รู้ตัว อเล็กซีปรากฏตัวอีกครั้งด้วยรอยยิ้ม เขาแนะนำและเชิญชวนให้ผมหยุดพักดื่มกาแฟสักครู่ เขานำผมผ่านห้องโถงใหญ่หลายห้องของพิพิธภัณฑ์ ซึ่งเคยเป็นพระราชวังฤดูหนาวอันเก่าแก่ของพระเจ้าซาร์แห่งรัสเซีย  จนมาถึงห้องทำงานที่เขาได้ต้อนรับผมเมื่อมาถึง อเล็กซีและผู้ช่วยของเขาได้เตรียมถาดขนมปัง เนยแข็งและของหวานไว้ พวกเขาเชิญชวนให้ผมร่วมรับประทานอาหารว่างพร้อมกับพวกเขาด้วย ผมไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่าวันหนึ่งจะได้มาดื่มกาแฟกับผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์เฮอร์มิเทจ    ผมหวังเพียงแค่ได้มีเวลาเงียบๆ กับภาพวาดเรื่องลูกล้างผลาญเท่านั้น อเล็กซีและผู้ช่วยของเขาได้เล่าให้ผมฟังทุกอย่างที่เขารู้เกี่ยวกับภาพวาดของเรมแบรนท์ แต่พวกเขาก็อยากรู้ด้วยว่าทำไมผมจึงสนใจภาพวาดนั้นมากขนาดนี้ พวกเขารู้สึกประหลาดใจและพิศวงในความคิดทางจิตวิญญาณที่ผมมี พวกเขาฟังอย่างตั้งใจและอยากให้ผมพูดให้เขาฟังมากกว่านี้
    หลังจากดื่มกาแฟแล้ว ผมก็กลับไปที่ภาพวาดอีกหนึ่งชั่วโมง จนกระทั่งยามและพนักงานทำความสะอาดมาบอกให้รู้โดยไม่ต้องพูดว่าพิพิธภัณฑ์กำลังจะปิด และผมอยู่ที่นั่นนานพอแล้ว
    อีก 4 วันต่อมา ผมกลับไปดูภาพวาดนั้นอีก วันนั้นเกิดเหตุการณ์ตลกขึ้น สาเหตุมาจากมุมที่แสงอาทิตย์ยามเช้าส่องกระทบภาพนั้น ทำให้เกิดแสงสะท้อนที่แสบตา ดังนั้น ผมจึงย้ายเก้าอี้กำมะหยี่สีแดงเพื่อลดแสงสะท้อน และเพื่อจะได้เห็นบุคคลในภาพวาดนั้นชัดเจนขึ้น ยามซึ่งเป็นชายหนุ่มท่าทางเอาจริงเอาจัง  สวมหมวกและชุดทหาร  ดูเหมือนจะไม่พอใจในความคิดริเริ่มของผม เขาเดินมาหาผมและพูดเป็นภาษารัสเซียยืดยาว พร้อมแสดงท่าทางประกอบสั่งให้ผมเอาเก้าอี้ตัวนั้นไปไว้ที่เดิม ผมพยายามอธิบายให้เขาฟังว่าทำไมผมถึงเคลื่อนย้ายเก้าอี้ โดยชี้ไปที่แสงอาทิตย์และภาพวาด แต่ความพยายามของผมไม่เป็นผล ดังนั้น ผมจึงเอาเก้าอี้ตัวนั้นไปไว้ที่เดิมและนั่งลงบนพื้นแทน ซึ่งทำให้ยามรู้สึกตกใจ ผมพยายามทำให้ยามเห็นใจ จนในที่สุดเขาบอกให้ผมไปนั่งบนเครื่องทำความร้อนซึ่งอยู่ใต้หน้าต่าง   ซึ่เป็นที่ที่ผมสามารถเห็นภาพได้ดีทีเดียว แต่แล้วก็มีมัคคุเทศก์หญิงคนหนึ่งเข้ามาพร้อมกับกลุ่มนักท่องเที่ยว เธอตรงมาหาผม บอกให้ผมลุกจากเครื่องทำความร้อนและไปนั่งที่เก้าอี้กำมะหยี่แทน ยามแสดงอาการโกรธมัคคุเทศก์คนนั้น และบอกเธอว่าเขาเป็นผู้อนุญาตให้ผมนั่งบนเครื่องทำความร้อนนั้นเอง มัคคุเทศก์ดูเหมือนไม่พอใจ แต่ก็ตัดสินใจเดินกลับไปยังกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เธอดูแลอยู่ ซึ่งกำลังพิศวงในขนาดตัวบุคคลในภาพของเรมแบรนท์
    ครู่ต่อมา อเล็กซีมาดูว่าผมเป็นอย่างไรบ้าง ยามเดินตรงเข้ามาทันที ทั้งสองคุยกันนานพอสมควร แน่นอนว่ายามคงพยายามอธิบายว่าเกิดอะไรขึ้น แต่การสนทนายืดเยื้อจนผมเริ่มเป็นห่วง และอเล็กซีก็เดินออกไป ผมรู้สึกผิดที่อาจจะเป็นสาเหตุให้เกิดสิ่งนี้ขึ้น ผมคิดว่าอเล็กซีคงจะโกรธ แต่อีก 10 นาทีต่อมา เทก็กลับเข้ามา พร้อมกับเก้าอี้เท้าแขนบุกำมะหยี่สีแดงขาสีทอง สำหรับผม! เขายิ้มกว้างและวางเก้าอี้ตรงหน้าภาพวาด และเชิญให้ผมนั่งลง อเล็กซี ยามและผม ต่างยิ้มออก ผมมีเก้าอี้เป็นของผมเอง และทุกอย่างเรียบร้อย ผมรู้สึกขำ มีเก้าอี้ 3 ตัวที่ว่างอยู่แต่เคลื่อนย้ายไม่ได้ และเก้าอี้เท้าแขนหรูหราซึ่งต้องเอามาจากห้องอื่นให้ผมนั่งอย่างสบายใจ นี่แหละพิธีการของระบบราชการ! ผมสงสัยว่าบุคคลในภาพที่เห็นเหตุการณ์นี้โดยตลอด จะรู้สึกขำกับเราด้วยหรือเปล่า แต่ผมคงไม่มีวันได้รับคำตอบ
    ผมใช้เวลากว่า 4 ชั่วโมงอยู่ตรงหน้าภาพวาดเรื่องลูกล้างผลาญ และจดบันทึกสิ่งที่ผมได้ยินจากมัคคุเทศ์กและจากนักท่อง-เที่ยวที่พูดคุยกัน หรือสิ่งที่ผมได้เห็นในขณะที่ดวงอาทิตย์ส่องแสงจัดและค่อยๆ จางไป   หรือสิ่งที่ผมรู้สึกเมื่อได้เข้าสู่เรื่องราวที่พระเยซูเจ้าทรงเล่าไว้ และเรมแบรนท์ได้นำมาวาดเป็นภาพ   ผมถามตัวเองว่าเวลาที่หมดไปหลายชั่วโมงในเฮอร์มิเทจนั้น สักวันหนึ่งจะบังเกิดผลหรือไม่ และอย่างไร
    ผมผละจากภาพวาดนั้น เดินไปหายามและขอบคุณในความอดทนของเขา ดวงตาของเขาใต้หมวกแบบรัสเซียใบใหญ่ ทำให้ผมเห็นภาพชายคนหนึ่งที่มีความกลัวเหมือนผม แต่ก็ปรารถนาอย่างยิ่งที่จะได้รับการอภัย บนใบหน้าเกลี้ยงเกลาของเขาปรากฏรอยยิ้มแบบเขินๆ ผมยิ้มตอบ เราทั้งสองต่างรู้สึกสบายใจขึ้น

เหตุการณ์
    2-3 สัปดาห์ หลังจากไปแวะที่เฮอร์มิเทจในเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ผมก็มาถึงโตรอนโต (Toronto) ในฐานะจิตตาธิการของบ้านที่เดย์เบรค แม้ผมได้ใช้เวลาตลอดทั้งปีในการพิเคราะห์แยกแยะว่าผมได้รับเรียกมาใช้ชีวิตกับผู้พิการทางสมองหรือไม่ แต่ผมก็ยังรู้สึกกังวลอยู่ลึกๆ ว่า ผมจะสามารถตอบสนองเสียงเรียกนี้ได้หรือไม่ ตอนหนุ่มๆ ผมไม่ค่อยสนใจผู้พิการทางสมอง ผมสนใจนักศึกษามหาวิยาลัยและปัญหาของพวกเขามากกว่า ผมรู้วิธีการบรรยายและการเขียนหนังสือ  วิธีอธิบายสิ่งต่างๆ อย่างเป็นระบบ วิธีสร้างหัวข้อเรื่องและการให้เนื้อหา วิธีการโต้แย้งและการวิเคราะห์ แต่ผมมีความรู้น้อยมากในเรื่องการสื่อสารกับผู้ที่มีความยากลำบากในการพูด หรือผู้ที่ไม่สนใจหลักทางตรรกะหรือการแสดงเหตุผลต่างๆ  ผมแทบไม่รู้ว่าจะประกาศพระวรสารของพระเยซูเจ้าแก่บุคคลที่ฟังด้วยหัวใจมากกว่าด้วยปัญญา  หรือบุคคลที่เข้าใจสิ่งที่ผมดำเนินชีวิตมากกว่าสิ่งที่ผมพูดได้อย่างไร
เดือนสิงหาคม ค.ศ. 1986   ผมมาถึงเดย์เบรคด้วยความมั่นใจว่าผมตัดสินใจถูกต้องแล้ว แต่ผมก็ยังกังวลอยู่ ผมมีประสบการณ์การสอนกว่า 20 ปี บัดนี้ถึงเวลาแล้วที่ผมต้องเชื่อว่าพระเจ้ารักคนที่มีจิตใจยากจนเป็นพิเศษ แม้ว่าผมไม่ได้ให้อะไรแก่พวกเขามากนัก แต่พวกเขากลับให้ผมอย่างมากมาย
    ทันทีที่มาถึง ผมมองหาที่เหมาะๆ สำหรับตั้งภาพวาดเรื่องลูกล้างผลาญ โต๊ะทำงานดูจะเหมาะที่สุด ทุกครั้งที่ผมนั่งอ่าน เขียนหนังสือ หรือพูดคุยกับผู้คน ผมก็จะมองเห็นอ้อมกอดของพ่อที่มีต่อบุตร ซึ่งสัมพันธ์ใกล้ชิดกับการเดินทางฝ่ายจิตของผม
หลังจากได้เห็นภาพวาดที่เฮอร์มิเทจ ผมรู้สึกสนใจภาพบุคคลอีก 4 คนมากขึ้น คือ ภาพหญิงสองคน ชายสองคน ยืนอยู่รอบๆ  บริเวณที่บิดาต้อนรับบุตรผู้กลับมา ซึ่งดูสว่างไสว สายตาของบุคคลเหล่านั้นก่อให้เกิดคำถามว่า พวกเขาคิดหรือรู้สึกอย่างไรในสิ่งที่พวกเขาเห็น เมื่อผมใคร่ครวญถึงการเดินทางฝ่ายจิตของตัวเอง ผมก็ได้ตระหนักว่าตัวผมเองเล่นบทบาทของผู้ชมมานาน ผมสอนเรื่องชีวิตฝ่ายจิตในแง่มุมต่างๆ มานานหลายปี  พยายามให้นักศึกษาเห็นถึงความสำคัญของการเจริญชีวิตฝ่ายจิต แต่ผมเองยอมเสี่ยงหรือไม่ที่จะออกจากเงามืด มาคุกเข่าลงในแสงสว่างเพื่อให้พระเจ้าผู้ประทานอภัยโอบกอดผม
การได้แสดงข้อคิดเห็น อภิปราย คัดค้านและชี้แจงเรื่องราว   ต่างๆ ทำให้ผมรู้สึกว่าสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ ซึ่งผมรู้สึกปลอดภัยมากกว่าที่จะยอมเสี่ยงให้สถานการณ์ที่ไม่อาจกำหนดได้นั้นมาควบคุมผม
    เวลาหลายต่อหลายชั่วโมงในการภาวนา  เข้าเงียบ  และพบกับคุณพ่อวิญญาณนับครั้งไม่ถ้วน ไม่ได้ช่วยให้ผมหลุดจากบทบาทของผู้ชม แม้ผมปรารถนาอยู่เสมอที่จะผูกมัดตนทำอะไรสักอย่าง แต่ผมก็เลือกที่จะเป็นผู้สังเกตการณ์อยู่ห่างๆ การเป็นผู้สังเกตการณ์แบบที่ผมเป็นนี้ก่อให้เกิดความอยากรู้อยากเห็น ความอิจฉาริษยา ความทุกข์และแม้แต่ความรัก แต่การปฏิเสธความปลอดภัยในการเป็นผู้สังเกตการณ์ที่คอยแต่วิจารณ์นั้น หมายถึงว่าผมต้องกระโจนเข้าสู่สิ่งที่ผมไม่รู้จัก ผมหวงแหนการควบคุมชีวิตจิตของผม จนเป็นไปไม่ได้ที่ผมจะแลกบทบาทผู้สังเกตการณ์ที่ปลอดภัยกับการเป็นบุตรที่เปราะบาง การสอนและอธิบายพระวาจาและกิจการของพระเยซูเจ้า   รวมทั้งการบรรยายถึงการเดินทางฝ่ายจิตของบุคคลในอดีตก่อนหน้าเรานั้น ล้วนเป็นเหมือนท่าทีของหนึ่งในบุคคลทั้งสี่ที่สังเกตการณ์อยู่รอบๆ หญิงสองคนที่ยืนห่างออกไปทางด้านหลังของบิดา ชายที่นั่งอยู่ สายตาจับจ้อง แต่ไม่ได้มองใคร และอีกคนหนึ่งที่ยืนอยู่ ส่งสายตาวิพากษ์วิจารณ์ไปยังเหตุการณ์ตรงหน้า   ทั้งหมดล้วนแสดงว่าพวกเขาไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุกาณ์นี้  เราผ่านจากความเมินเฉยไปสู่ความอยากรู้อยากเห็น จากอาการเหม่อไปสู่การสังเกตอย่างตั้งใจ  สายตาที่จับจ้อง พิศเพ่ง ระแวดระวังหรือค้นหา การยืนอยู่ด้านหลัง พิงกำแพง นั่งกอดอก หรือยืนประสานมืออยู่ ท่าทางและท่าทีภายในเหล่านี้ผมรู้สึกคุ้นเคยมาก ไม่ว่าจะดูดีหรือไม่ แต่ทั้งหมดนี้คือลักษณะที่ไม่ยอมมีส่วนเกี่ยวข้อง
การลาออกจากการสอนในมหาวิทยาลัยมาใช้ชีวิตกับผู้พิการทางสมอง สำหรับผมคือก้าวแรกสู่ขั้นที่บิดาโอบกอดบุตรชายที่กำลังคุกเข่าอยู่ต่อหน้าเขา อันเป็นสถานที่ที่เต็มไปด้วยแสงสว่าง ความจริงและความรัก เป็นที่ที่ผมต้องการอยู่ แต่ก็กลัวที่จะอยู่ เป็นที่ซึ่งผมจะได้รับทุกสิ่งที่ผมปรารถนา ทุกสิ่งที่ผมหวัง และทุกสิ่งที่ผมต้องการ ตรงนี้จำเป็นที่ผมจะต้องปฏิเสธทุกสิ่งที่ผมยึดไว้ บ่อยครั้งเป็นการยากมากที่จะยอมรับว่าตัวเองเป็นที่รัก ได้รับการอภัย และการรักษาเยียวยาอย่างแท้จริง มากกว่าการยอมรับที่จะรัก ให้อภัย และเยียวยารักษา สำหรับผม สิ่งนี้หมายถึงการไม่รับเงินเดือน ความดี หรือค่าตอบแทน  เพื่อไปสู่การมอบตนและความไว้ใจอย่างสมบูรณ์
หลังจากที่ผมมาถึงที่เดย์เบรคได้ไม่นาน ผมได้พบกับลินดา (Linda) หญิงสาวหน้าตาดีแต่พิการทางสมอง เธอเข้ามากอดผมและพูดว่า “ยินดีต้อนรับ” เธอทำเช่นนี้กับทุกคนที่มาใหม่ และทุกครั้งเธอจะทำ ด้วยความเชื่อมั่นและความรักเต็มที่ แต่ผมจะตอบรับการโอบกอดนั้นอย่างไร?  ลินดาไม่เคยพบผมมาก่อน เธอไม่รู้ถึงประสบการณ์ของผมก่อนที่จะมาเดย์เบรค เธอไม่รู้จักข้อจำกัดหรือพลังในตัวผม เธอไม่เคยอ่านหนังสือของผมและไม่เคยฟังผมบรรยาย หรือแม้แต่จะสนทนากับผม
ผมควรทำอย่างไร แค่ยิ้ม บอกว่าเธอน่ารัก แล้วเดินผ่านไปราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลยหรือ หรือผมจะให้ลินดาอยู่ในภาพนั้น และให้การกระทำของเธอบอกผมว่า “เข้ามาสิ ไม่ต้องอาย บิดาของเธอต้องการโอบกอดเธอด้วย!” ดูเหมือนว่าทุกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการต้อนรับของลินดา การสัมผัสมือกับบิล (Bill) การยิ้มต้อนรับของเกรโกรี่ (Gregory) ความเงียบของอาดัม (Adam) หรือคำพูดของเรมอนด์ (Raymond) ผมจะต้องตัดสินใจว่าจะ “อธิบาย” ลักษณะการแสดงออกเหล่านี้ หรือจะยอมรับว่าเป็นการเชื้อเชิญให้ก้าวสูงขึ้น  และเข้าไปใกล้มากขึ้น
    ช่วงหลายปีที่เดย์เบรคนั้นไม่ง่ายเลย มีการต่อสู้ภายในมากมาย ทั้งความทุกข์ทรมานด้านจิตใจ อารมณ์ และจิตวิญญาณ ผมไม่เคยรู้สึกว่าได้บรรลุเป้าหมาย อย่างไรก็ตาม การย้ายจากฮาร์วาร์ดไปยังลาค์ชนั้น ก็เป็นก้าวแรกแล้ว เป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่งแล้ว คือย้ายจากการเป็นผู้ชมมาเป็นผู้มีส่วนร่วม จากผู้ตัดสินมาเป็นคนบาปที่กลับใจ จากการสอนเรื่องความรักมาเป็นผู้รับความรัก   ผมไม่เคยคิดมาก่อนว่าสิ่งนี้จะยากเย็น ผมไม่รู้ว่าการต่อต้านของผมนั้นหยั่งรากลึกเพียงไร และยากเย็นเพียงไรที่จะค้นพบตัวเอง มาคุกเข่าลงและร้องไห้ ผมไม่ได้คิดถึงว่ามันยากขนาดไหนที่จะมีส่วนร่วมในเหตุการณ์อันยิ่งใหญ่ที่เรมแบรนท์ได้เฉลิมฉลองในภาพวาดของเขา
    ก้าวเล็กๆ แต่ละก้าวสู่ใจกลางภาพนี้ ดูเหมือนเป็นการเรียกร้องที่เป็นไปไม่ได้ อีกครั้งหนึ่งที่ผมจำเป็นต้องปฏิเสธความปรารถนาที่จะควบคุมสถานการณ์ อีกครั้งหนึ่งที่ต้องปฏิเสธความคาดหวัง อีกครั้งหนึ่งที่ต้องตายต่อความหวาดกลัวที่ไม่รู้ว่าสิ่งนี้จะพาผมไปไหน  และอีกครั้งหนึ่งที่ต้องมอบตนเองในความรักซึ่งไม่มีขีดจำกัด อย่างไรก็ตาม ผมรู้ว่าผมไม่อาจดำเนินชีวิตตามพระบัญญัติแห่งความรักได้เลย ถ้าผมไม่ปล่อยให้ตัวเองเป็นที่รักอย่างไม่มีเงื่อนไขและข้อเรียกร้อง ดังนั้น หนทางที่จะพานักทฤษฎีแห่งความรักอย่างผม มาสู่การมอบตนเองให้ถูกรักนั้น ดูจะยาวไกลเกินความคาดหมายมากนัก

นิมิตหมาย
ในสมุดบันทึกประจำวันและสมุดเตือนความจำของผม ผมบันทึกสิ่งต่างๆ มากมายที่เกิดขึ้นตั้งแต่ผมมาถึงที่เดย์เบรค สิ่งที่เขียนไว้นั้นคงจะต้องเก็บเป็นความลับ เพราะคำที่ใช้ไม่ได้ขัดเกลา ไม่สละสลวย แต่ตอนนี้ถึงเวลาที่จะย้อนกลับไปมองช่วงเวลาหลายปีที่ยุ่งยาก และกล่าวถึงหนทางที่ผมได้ผ่านช่วงเวลาเหล่านี้มา ผมยังไม่เป็นอิสระพอที่จะทิ้งตัวในอ้อมกอดอันอบอุ่นของบิดาอย่างเต็มที่ ผมยังคงเป็นลูกล้างผลาญอยู่เสมอ ผมเริ่มออกเดินทาง ท่องคำพูดที่จะพูดเมื่อไปถึง และพยายามคาดเดาว่าจะเกิดอะไรขึ้นเมื่อผมไปถึงบ้านของบิดา แต่อย่างน้อย ผมก็อยู่ในเส้นทางที่กลับบ้านแล้ว  ผมออกจากประเทศที่ห่างไกลและรู้สึกถึงความรักที่อยู่ใกล้ชิด นี่คือเหตุผลที่ผมพร้อมจะแบ่งปันประสบการณ์ของผม  ในเรื่องราวเหล่านี้คุณจะพบความหวัง แสงสว่าง และความบรรเทา เรื่องราวส่วนใหญ่เป็นประสบการณ์ที่ผมมีในช่วงปีหลังๆ ที่ผ่านมา คุณจะเห็นขั้นตอนต่างๆ ของการเดินทางฝ่ายจิตสู่แสงสว่าง มากกว่าที่จะเห็นว่าเป็นเสียงร้องของความสับสนหรือสิ้นหวัง
    ภาพวาดของเรมแบรนท์ยังคงตราตรึงผมอยู่จนถึงปัจจุบัน ผมย้ายที่ภาพวาดนี้หลายครั้ง จากห้องทำงานไปที่วัดน้อย จากวัดน้อยไปที่ห้องพักเดย์สปริง (Dayspring บ้านภาวนาที่เดย์เบรค) และกลับมาที่วัดน้อยอีกครั้ง ผมพูดถึงภาพวาดนี้หลายครั้ง ทั้งในและนอกบ้านเดย์เบรค ผมพูดกับผู้พิการและผู้ดูแลพวกเขา กับพระสงฆ์ และกับคนทั่วไปด้วย  ยิ่งผมพูดถึงเรื่องลูกล้างผลาญมากเท่าใด ผมก็ยิ่งเห็นว่าภาพนี้เป็นภาพของผมเอง ซึ่งไม่ได้บรรจุแต่เพียงหัวใจของเรื่องที่พระเจ้าตรัสไว้เท่านั้น แต่ยังรวมถึงหัวใจของเรื่องที่ผมต้องการจะทูลพระองค์และบอกแก่ประชากรของพระองค์ นี่แหละคือเนื้อหาในพระวรสารและชีวิตทั้งหมดของผม รวมถึงชีวิตของเพื่อนผมทุกคนด้วย ภาพวาดกลายเป็นหน้าต่างอันลึกลับที่พาไปสู่พระอาณาจักรของพระเจ้า เหมือนประตูรั้วใหญ่ซึ่งเปิดให้ผมผ่านไปสู่อีกฟากหนึ่ง เพื่อมองเห็นจากจุดนั้นว่าการรวมเอาผู้คนและเหตุการณ์ต่างๆ เข้าไว้ได้ก่อให้เกิดเป็นชีวิตประจำวันของผม
    เป็นเวลาหลายปีที่ผมพยายามค้นหาภาพปรากฏของพระเจ้า โดยการมองดูประสบการณ์ต่างๆ ของมนุษย์ ในความโดดเดี่ยวอ้างว้างหรือในความรัก ในความโศกเศร้าหรือในความยินดี ในความรู้สึกอบอุ่นใจหรือในความสำนึกรู้คุณ ในสงครามหรือในสันติภาพ   ผมค้นหาเพื่อที่จะเข้าใจถึงวงจรความเคลื่อนไหวแห่งจิตวิญญาณของมนุษย์ เพื่อเข้าใจว่าความหิวและความกระหายนั้น มีแต่พระเจ้าองค์แห่งความรักเท่านั้นที่จะเติมให้เต็มได้ ผมพยายามค้นหาสิ่งถาวรเบื้องหลังสิ่งชั่วคราว สิ่งนิรันดรเบื้องหลังสิ่งผันแปร ความรักที่สมบูรณ์เบื้องหลังความสิ้นหวังและความทุกข์ทรมานของมนุษย์ ผมพยายามอยู่เสมอที่จะมองให้เห็นการประทับอยู่ที่ยิ่งใหญ่กว่า ลึกซึ้งกว่า กว้างขวางกว่า และงดงามกว่าสิ่งที่เราสามารถจินตนาการได้ โดยผ่านและอยู่เหนือชีวิตที่ต้องตายของเรา ผมพยายามพูดถึงสิ่งนี้เหมือนเป็นสิ่งที่สามารถมองเห็น ได้ยิน และสัมผัสได้โดยบุคคลที่พร้อมจะเชื่อ
    อย่างไรก็ตาม ที่เดย์เบรคนี้ ผมถูกนำไปยังสถานที่ภายในที่ผมไม่เคยเข้าถึงมาก่อนเลย เป็นสถานที่ที่พระเจ้าเลือกที่จะประทับอยู่ เป็นที่ซึ่งผมรู้สึกปลอดภัยในอ้อมกอดของพระบิดาผู้ใจดี ผู้เรียกชื่อผมและตรัสว่า “เจ้าคือบุตรสุดที่รักของเรา เราพอใจเจ้ามาก” เป็นสถานที่ซึ่งผมลิ้มรสความชื่นชมยินดีและสันติซึ่งไม่มีในโลกนี้
    สถานที่นี้ยังคงอยู่เสมอ เป็นเสมือนท่อธารแห่งพระหรรษทานสำหรับผม แต่ผมไม่เคยเข้าไปถึงและดำรงอยู่ได้ พระเยซูเจ้าตรัสว่า “ถ้าผู้ใดรักเรา ผู้นั้นจะปฏิบัติตามวาจาของเรา และพระบิดาของเราจะทรงรักเขา แล้วพระบิดาจะเสด็จมาหาเขา และจะทรงพำนักอยู่กับเขา” (ยน.14:23) พระวาจานี้ยังคงประทับใจผมเสมอ ผมเป็นที่พำนักของ พระเจ้า!
    แต่ผมรู้สึกว่ายากที่จะลิ้มรสความจริงของพระวาจานี้ ใช่แล้ว พระเจ้าประทับอยู่ในส่วนที่ลึกที่สุดของตัวผม แต่ผมจะตอบรับเสียงเรียกของพระเยซูที่ว่า “จงดำรงอยู่ในเรา ดังที่เราดำรงอยู่ในท่าน” (ยน. 15:4) ได้อย่างไร การเชื้อเชิญนี้ชัดเจน ไม่มีความคลุมเครือ การสร้างที่พำนักซึ่งพระเจ้าจะมาประทับอยู่ได้ เป็นการท้าทายอันยิ่งใหญ่ของชีวิตฝ่ายจิต สิ่งนี้ดูเหมือนว่าจะเป็นงานที่เป็นไปไม่ได้สำหรับผม
    ความคิด ความรู้สึก อารมณ์ และความทุกข์ทรมานของผมมักอยู่นอกสถานที่ที่พระเจ้าทรงเลือกไว้เป็นที่ประทับของพระองค์ การกลับบ้านและพำนักในที่ที่พระเจ้าประทับอยู่ ฟังเสียงแห่งความจริงและความรัก เป็นสิ่งที่ผมหวั่นกลัวมากกว่าสิ่งอื่นใด เพราะผมรู้ว่าพระเจ้าเป็น   พระเจ้าที่หวงแหนผม  ทรงเรียกร้องทุกสิ่งจากผมอยู่ตลอดเวลา  แล้วเมื่อไรเล่าผมจึงจะพร้อมยอมรับความรักเช่นนี้ของพระเจ้าได้
    พระเจ้า พระองค์เองทรงชี้หนทางแก่ผม วิกฤตทางอารมณ์และปัญหาสุขภาพซึ่งทำให้ชีวิตและงานของผมที่เดย์เบรคต้องหยุดชะงักนั้น ได้บังคับให้ผมต้องกลับบ้านอย่างฉับพลัน และแสวงหาพระเจ้าในที่ที่จะพบพระองค์ได้ นั่นก็คือ สักการสถานภายในตัวผมเอง ผมไม่อาจกล่าวได้ว่าผมได้ค้นพบแล้ว ชีวิตนี้ผมคงจะหาไม่พบ เพราะหนทางสู่พระเจ้าอยู่โพ้นพรมแดนแห่งความตาย จริงอยู่ที่การเดินทางนี้ยาวไกลและลำบาก และพระองค์ก็มีสิ่งอัศจรรย์ที่ทำให้เราแปลกใจอยู่เสมอ  ซึ่งบ่อยครั้งทำให้เราได้เห็นถึงเป้าหมายสุดท้ายของเรา
ครั้งแรกที่ผมได้เห็นภาพวาดของเรมแบรนท์ ผมยังไม่ชินว่าผมเป็นที่ประทับของพระเจ้าเหมือนอย่างที่ผมรู้สึกเวลานี้ อย่างไรก็ตาม   พลังแห่งปฏิกิริยาที่ผมมีต่ออ้อมกอดของบิดากับบุตรนั้นได้ บอกผมว่า ผมกำลังค้นหาอย่างสิ้นหวังถึงสถานที่ภายในแห่งหนึ่ง    ซึ่งผมรู้สึกว่าตนเองเป็นที่รักและปลอดภัย  เวลานั้น ผมยังไม่รู้ว่าขั้นตอนที่จะนำผมไปสู่สถานที่ภายในแห่งนั้นเรียกร้องอะไรจากผมบ้าง ผมรู้สึกขอบคุณที่ไม่รู้ว่าพระเจ้าได้วางอะไรไว้สำหรับผม และผมขอบคุณสำหรับสถานที่แห่งใหม่ที่เปิดให้ผมเห็นความทุกข์ทรมานภายในด้วย เวลานี้ผมพบกระแสเรียกใหม่   โดยการพูดและการจดบันทึก เป็นกระแสเรียกที่อยู่ในสถานที่แห่งนี้เพื่อส่องสว่างมิติอื่นๆ ของชีวิตเราที่แสนวุ่นวาย ผมต้องคุกเข่าลงต่อหน้าบิดา ซบหน้าแนบอกและฟังเสียงเต้นของหัวใจที่ต่อเนื่อง และเมื่อนั้นเองที่ผมจะสามารถจะพูดทวนค่อยๆ อย่างซื่อสัตย์ได้ในสิ่งที่ผมจะได้ยินตอนนี้ผมรู้ว่าผมต้องไปพูดถึงกาลเวลา ให้ความชื่นชมยินดีเป็นความจริงชั่วคราวในชีวิตอันสั้นบนโลกนี้ ผมต้องไปจากบ้านแห่งความรักสู่บ้านแห่งความกลัว จากที่ประทับของพระเจ้ามาสู่บ้านของมนุษย์ ผมตระหนักดีถึงความยิ่งใหญ่ของกระแสเรียกนี้ อย่างไรก็ดี ผมยังคงมั่นใจว่าหนทางนี้เหมาะสำหรับผม ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นนิมิตหมาย “แบบประกาศก” กล่าวคือ มองบุคคลและโลกด้วยสายตาของพระเจ้า
    สิ่งนี้เป็นไปได้สำหรับมนุษย์หรือ และที่สำคัญกว่านั้นคือ  เป็นหนทางของผมเองจริงหรือ นี่ไม่ใช่คำถามตามทฤษฎี แต่เป็นเรื่องกระแสเรียก ผมได้รับเรียกให้เข้าสู่สักการสถานภายในตัวผม ซึ่งเป็นสถานที่ที่พระเจ้าได้เลือกประทับอยู่ หนทางเดียวที่จะไปถึงสถานที่แห่งนี้ก็คือ การภาวนาอยู่เสมอ ซึ่งเป็นหนทางที่มีอุปสรรคและความทุกข์ทรมานต่างๆ แต่ผมมั่นใจว่าการภาวนาเท่านั้นที่จะช่วยให้ผมไปถึงจุดหมายได้