แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

1
เรมแบรนท์และบุตรคนเล็ก

เรมแบรนท์วาดภาพเรื่องลูกล้างผลาญก่อนเสียชีวิตไม่นาน ภาพนี้จึงน่าจะเป็นผลงานชิ้นท้ายๆ ของเขา ยิ่งผมได้อ่านเรื่องเกี่ยวกับตัวเขา และได้มองภาพวาดนั้น ผมก็ยิ่งเห็นว่าเป็นภาพที่ยืนยันถึงชีวิตที่ทุกข์ทรมานและไม่สงบสุขของเขา เช่นเดียวกับภาพวาดซีเมโอนกับพระกุมาร ที่เขาวาดไม่เสร็จ ภาพลูกล้างผลาญแสดงให้เห็นถึงความชราภาพของจิตรกร ความมืดบอดฝ่ายกายและการมองเห็นภายในอย่างลึกซึ้งนั้นสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด   ท่าที่ผู้เฒ่าซีเมโอนอุ้มพระกุมารและท่าที่บิดาโอบกอดบุตรผู้เหนื่อยอ่อนนั้น ได้เผยแสดงถึงการมองเห็นภายในซึ่งเตือนให้เราคิดถึงพระวาจาของพระเยซูเจ้าที่ตรัสแก่สานุศิษย์ว่า  “นัยน์ตาของท่านเป็นสุขที่มองเห็นสิ่งๆ ที่ท่านเห็น” (ลก.10:23) ทั้งผู้เฒ่าซีเมโอนและบิดาของลูกล้างผลาญล้วนมีแสงสว่างล้ำลึกภายในตัวซึ่งทำให้ท่านแลเห็น เป็นแสงสว่างภายในซึ่งเผยแสดงความงดงามอ่อนโยนที่ครอบคลุมไปทั่ว
    อย่างไรก็ดีแสงสว่างภายในนี้ถูกซ่อนเร้นอยู่นาน เรมแบรนท์ไม่สามารถเข้าถึงแสงสว่างนี้อยู่นานหลายปี   เขาค่อยๆ ค้นพบแสงสว่างที่อยู่ภายในตัวเขา เมื่อได้ผ่านความทุกข์มากมาย  และต่อมาเขาก็ค้นพบแสงสว่างนี้ในภาพวาดของเขา ก่อนที่เขาจะเป็นเหมือนบิดา เรมแบรนท์เป็นชายหนุ่มที่หยิ่งยโส ผู้ “รวบรวมสิ่งที่มีแล้วเดินทางไปยังประเทศห่างไกล ที่นั่นเขาได้ประพฤติเสเพลผลาญเงินทองจนหมดสิ้น (...)”
    เมื่อผมมองดูภาพบิดาผู้ชราและผู้เฒ่าซีเมโอนที่เรมแบรนท์ได้วาดไว้ในช่วงบั้นปลายชีวิตของเขา   เพราะเห็นได้จากความเชี่ยวชาญในการวาดผู้เฒ่าซีเมโอนให้สว่างสุกใส ผมต้องไม่ลืมว่าเรมแบรนท์มีคุณลักษณะทุกอย่างของลูกล้างผลาญ คือ กล้าหาญ เชื่อมั่นในตนเอง ฟุ่มเฟือย ชอบแสดงออกและหยิ่งยโสมาก  เมื่ออายุ 30 ปี เขาวาดภาพตัวเองกับซัสเคีย (Saskia) ภรรยาของเขา เหมือนบุตรที่หายไปเที่ยวหญิงโสเภณี ท่าที่มึนเมา ปากที่เผยออกและสายตาที่เต็มไปด้วยราคะ เขามองคนที่มองภาพนี้ด้วยสายตาเย้ยหยันเหมือนกับจะพูดว่า “เห็นไหม เราสนุกกันแค่ไหน” มือขวายกแก้วที่มีเหล้าเหลืออยู่ครึ่งหนึ่ง ในขณะที่มือซ้ายวางบนสะโพกของหญิงคนนั้น ซึ่งมีสายตาเต็มไปด้วยราคะตัณหาไม่น้อยไปกว่าเขา เส้นผมหยิกยาวของเรมแบรนท์ หมวกกำมะหยี่กับขนนกสีขาวอันใหญ่ ฝักดาบทำด้วยหนังกับด้ามทอง ผ้าม่านสีน้ำตาลที่มุมบนด้านขวา ทำให้นึกถึงซ่องโสเภณีในย่านหนึ่งของอัมสเตอร์ดัม (Amsterdam) เมื่อมองดูภาพวาดของเขาในสมัยเป็นหนุ่มเหมือนลูกล้างผลาญนั้น  ทำให้ผมแทบไม่เชื่อว่า  เป็นบุคคลคนเดียวกันที่วาดภาพตัวเองในอีก 30 ปีต่อมาด้วยสายตาที่เข้าใจลึกซึ้งถึงธรรมล้ำลึกอันซ่อนเร้นของชีวิต
    อย่างไรก็ตาม ชีวประวัติของเรมแบรนท์ทุกเล่มแสดงให้เห็นว่าเขาเป็นชายหนุ่มที่หยิ่งยโส มั่นใจในอัจฉริยภาพของตนและพร้อมที่จะลิ้มลองทุกสิ่งที่โลกเสนอให้ เขาชอบสังคม รักความหรูหราและไม่สนใจผู้คนที่อยู่รอบข้าง ไม่ต้องสงสัยเลยว่าความกังวลที่สำคัญอย่างหนึ่งของเขาคือเรื่องเงินทอง เขาหาได้มากก็ใช้จ่ายมากและสูญเสียไปมากเช่นกัน เขาสูญเสียพลังส่วนใหญ่ของเขาไปกับเรื่องคดีฟ้องร้องที่ยืดเยื้อ เกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินและการล้มละลาย  เขาวาดภาพตัวเองในช่วงอายุระหว่าง 20 ปีปลายๆ กับ 30 ปีต้นๆ ซึ่งแสดงให้เราเห็นว่าเรมแบรนท์เป็นเด็กหนุ่มผู้กระหายชื่อเสียงและการยอมรับของสังคม ชื่นชอบเสื้อผ้าที่หรูหรา ใส่สร้อยทอง สวมหมวกแบบแปลกๆ และแสดงให้เห็นว่าเขาเป็นคนที่แสวงหาแต่จะทำความพอใจแก่ลูกค้าของเขาเท่านั้น
    อย่างไรก็ตาม ช่วงสั้นๆ ของความสำเร็จ การเป็นที่ยอมรับและทรัพย์สินเงินทองก็ติดตามมาด้วยความเศร้าและความสูญเสียที่ไม่คาดฝัน ซึ่งไม่ต่างจากลูกล้างผลาญเท่าใดนัก คือหลังจากที่เขาสูญเสียรุมบาร์ตุส (Rumbartus) บุตรชายในปี ค.ศ. 1635 เขาก็สูญเสียลูกสาวคนแรกอีกคือ คอร์เนเลีย (Cornelia) ในปี ค.ศ. 1638 และลูกสาวคนที่สองซึ่งใช้ชื่อคอร์เนเลียเหมือนกัน ในปี   ค.ศ. 1640 และที่สุดภรรยาที่เขารักและให้เกียรติเธอมากที่สุด คือ ซัสเคีย ก็ได้เสียชีวิตในปี ค.ศ. 1642 เรมแบรนท์ต้องอยู่คนเดียวกับบุตรอายุ 9 เดือน คือ ทิตัส (Titus) และภายหลังการตายของ
ซัสเคีย เรมแบรนท์ยังคงต้องเผชิญกับปัญหาและความเจ็บปวดมากมาย รวมทั้งการไม่ลงรอยกับพี่เลี้ยงของทิตัส คือ จีไรท์ ไดเร็กซ์ (Geerite Direx) ซึ่งที่สุดก็จบลงด้วยการฟ้องร้อง ต่อมาเขามีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับเฮนดริกช์ สโตฟเฟลส์ (Hendrickje Stoffels) เธอให้กำเนิดบุตรชายแก่เขาอีกคนหนึ่ง แต่ก็ตายไปในปี ค.ศ. 1652 และบุตรสาวอีกคนหนึ่งที่ชื่อ คอร์เนเลีย อีกเช่นกัน ซึ่งเป็นบุตรสาวเพียงคนเดียวที่รอดชีวิต
    ในช่วงปีเหล่านี้ ความมีชื่อเสียงด้านจิตรกรของเรมแบรนท์ตกอับลง แม้ว่านักสะสมภาพและนักวิจารณ์ต่างยังยอมรับเขาว่าเป็นจิตรกรผู้ยิ่งใหญ่ของยุคนั้น ปัญหาด้านการเงินของเขายิ่งทวีความรุนแรงขึ้นในปี ค.ศ. 1656 เรมแบรนท์ถูกประกาศให้เป็นผู้ล้มละลาย และต้องขายทรัพย์สมบัติทั้งหมดเพื่อใช้หนี้ รวมถึงภาพวาดต่างๆ ที่เขาสะสม บ้านที่อัมสเตอร์ดัม และเครื่องตกแต่งทั้งหมดก็ถูกประมูลขายในช่วงปี ค.ศ. 1657-1658
    แม้เรมแบรนท์จะไม่เคยปลอดหนี้สินเลย แต่เขาสามารถพบความสงบสุขระดับหนึ่งในช่วงอายุ 50 ปีต้นๆ  ในช่วงนี้เองที่ความอบอุ่นและความลึกซึ้งของภาพวาดได้แสดงให้เห็นว่าความหลอกลวงต่างๆ ไม่ได้ทำให้เขารู้สึกขุ่นเคือง ตรงกันข้าม กลับเป็นการชำระล้างวิธีการรมองเขา จากอบ โรเซมเบิร์ก (Jakob Rosemberg) เขียนไว้ว่า “เรมแบนท์เริ่มมองมนุษย์และธรรมชาติด้วยสายตาภายในมากขึ้น โดยไม่สนใจความ  งดงามภายนอกหรือความตระการตาใดๆ”  ในปี ค.ศ. 1663 เฮนดริกช์ ภรรยาของเขาก็ได้เสียชีวิต และ 5 ปีต่อมา เรมแบรนท์ก็ได้เห็นทั้งการแต่งงานและการตายของทิตัส บุตรที่เขารัก และที่สุดเขาก็เสียชีวิตในปี ค.ศ. 1669 เขาเป็นคนที่น่าสงสารและโดดเดี่ยว มีเพียงคอร์เนเลีย บุตรสาว มักดาเลน แวน โล (Magdalene van Loo) ลูกสะใภ้ และทิเทีย (Titia) หลานสาว ที่รอดชีวิตอยู่ได้
    เมื่อผมมองดูลูกล้างผลาญคุกเข่าซบหน้าลงกับอกบิดา ผมอดไม่ได้ที่จะมองเห็นจิตรกรผู้เคยได้รับการเคารพและเชื่อมั่นในตนเองสูงนั้น มาตระหนักได้ว่าเกียรติที่เขาเก็บเกี่ยวมานั้นจริงๆ แล้วไม่มีค่าอะไรเลยแทนที่เขาจะใส่เสื้อผ้าอย่างดีอย่างที่เขาชื่นชอบ เหมือนที่เขาเคยวาดภาพตัวเองในซ่องโสเภณี เวลานี้เขาสวมใส่เพียงแค่เสื้อยาวที่ขาดรุ่งริ่ง ห่อหุ้มร่างกายอันซูบผอม และรองเท้าสานที่เขาใช้เดินทางมาไกลก็สึกจนใช้การต่อไปไม่ได้แล้ว
    เมื่อเคลื่อนสายตาจากลูกที่กลับใจไปยังบิดาผู้เมตตาสงสาร ผมพบว่าแสงประกายที่สะท้อนจากโซ่ทอง เครื่องประดับ หมวก เชิงเทียน และตะเกียงที่ซ่อนอยู่นั้นอ่อนแสงลงและถูกแทนที่ด้วยแสงสว่างภายในจากชายชรา เป็นการเคลื่อนไหวจากความรุ่งโรจน์ที่ดึงดูดและผลักดันให้เขาต้องแสวงหาความร่ำรวยและชื่อเสียง ไปสู่สิริมงคลที่ซ่อนเร้นอยู่ในวิญญาณมนุษย์และเป็นสิริมงคลที่อยู่โพ้นความตาย