แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

3
การกลับมาของบุตรคนเล็ก

ที่นั่นเขาได้ประพฤติเสเพลผลาญเงินทองจนหมดสิ้น เมื่อเขาผลาญเงินหมดแล้ว บังเอิญประเทศนั้นเกิดความอดอยากครั้งใหญ่ และเขาเริ่มขาดแคลน จึงไปรับจ้างอยู่กับชาวเมืองนั้นคนหนึ่ง ซึ่งใช้เขาให้ไปเลี้ยงหมูในไร่ เขาอยากกินฝักถั่วที่หมูกินเพื่อระงับความหิว แต่ไม่มีใครให้ เขาจึงรู้สำนึกและคิดว่า “คนรับใช้ของพ่อฉันมีอาหารกินอย่างอุดมสมบูรณ์ ส่วนฉันอยู่ที่นี่ หิวจะตายอยู่แล้ว ฉันจะกลับไปหาพ่อ พูดกับพ่อว่า “คุณพ่อครับ ลูกได้ทำผิดต่อสวรรค์และต่อคุณพ่อ ลูกไม่สมควรได้ชื่อว่าเป็นลูกของคุณพ่อ โปรดถือว่าลูกเป็นคนรับใช้คนหนึ่งของคุณพ่อเถิด” เขาก็กลับไปหาบิดา

การสูญเสีย
    ชายหนุ่มที่บิดาโอบกอดและอวยพรนั้น คือคนที่ยากจนมาก เขาออกจากบ้านด้วยความหยิ่งผยองและมีเงินเต็มกระเป๋า ตัดสินใจจะดำเนินชีวิตห่างไกลจากบิดาและญาติพี่น้อง เขากลับมาโดยไม่มีอะไรเลย ทั้งเงิน ชื่อเสียง สุขภาพ เกียรติ ความมั่นใจ ชื่อเสียง... ทุกสิ่งถูกใช้ไปอย่างฟุ่มเฟือย
    เรมแบรนท์ไม่ได้บอกถึงสถานภาพของชายหนุ่ม ศีรษะของเขาล้าน ไม่มีผมหยิกยาวเหมือนในภาพที่แสดงตัวเขาเป็นลูกล้างผลาญในซ่องโสเภณี ศีรษะของเขาล้านเหมือนคนคุกที่ถูกแทนชื่อด้วยตัวเลข  เมื่อชายคนหนึ่งถูกโกนผมออก ไม่ว่าจะเป็นในคุกหรือในสงคราม หรือที่ใดก็ตาม นั่นแปลว่าเขาถูกเอาเครื่องหมายของความเป็นบุคคลออกไปส่วนหนึ่ง เสื้อผ้าที่เรมแบรนท์ใส่ให้เขาคือเศษเสื้อผ้าที่ห่อหุ้มร่างกายอันผ่ายผอม ในขณะที่บิดาและผู้ชายที่อยู่ใกล้ๆ นั้น ใส่เสื้อคลุมสีแดงตัวใหญ่ อันแสดงถึงฐานะและศักดิ์ศรี แต่ชายหนุ่มที่คุกเข่านั้นไม่มีเสื้อคลุมเลย จะมีก็เพียงแค่เสื้อผ้าที่ฉีกขาดสีน้ำตาลอมเหลือง ห่อหุ้มร่างกายอันเหนื่อยอ่อนของเขา ฝ่าเท้าของเขาบอกถึงเรื่องราวการเดินทางที่ลำบากและยาวไกล รองเท้าข้างหนึ่งหลุดจากเท้าซ้าย เผยให้เห็นแผลเป็น และเท้าขวาที่มีเพียงรองเท้าสานขาดๆ นั้น   บ่งบอกถึงความทุกข์ทรมานและความลำเค็ญ เขาคือชายที่ไม่มีอะไรเลย นอกจากดาบเล่มเดียวที่เป็นเครื่องหมายของศักดิ์ศรี ดาบสั้นที่เขาแขวนไว้ที่เอวนี้เป็นเครื่องหมายของเกียรติยศ  แม้เขาจะไม่มีอะไรเลย แต่เขายังยึดความจริงที่ว่า เขายังคงเป็นบุตรของบิดา มิฉะนั้นเขาคงจะขายดาบสั้นที่มีค่านี้ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการเป็นบุตรนี้ไปแล้ว ดาบสั้นนี้ทำให้ผมเห็นว่า แม้เขาจะกลับมาในสภาพของขอทาน แต่เขาก็ไม่ลืมว่าเขายังคงเป็นบุตรของบิดาอยู่ การระลึกถึงคุณค่าของการเป็นบุตรอยู่เสมอนี้เองที่ได้ชักนำเขาให้กลับมา
    ชายที่อยู่ต่อหน้าผมผู้นี้ได้ไปยังประเทศที่ห่างไกล สูญเสียทุกสิ่งที่เขาได้เอาไปด้วย ผมเห็นความว่างเปล่า การถูกลบหลู่ และความพ่ายแพ้ เขาซึ่งเคยเป็นเหมือนบิดา บัดนี้อยู่ในสภาพที่แย่กว่าคนใช้ของบิดาเสียอีก เขากลายเป็นเหมือนทาสคนหนึ่ง
    มีอะไรเกิดขึ้นกับชายคนนี้ในดินแดนที่อยู่ห่างไกลหรือ?  นอกจากผลทางร่างกายและวัตถุแล้ว  อะไรคือผลที่เกิดขึ้นภายในเมื่อเขาได้ออกจากบ้านไป? ลำดับของเหตุการณ์นั้นง่ายที่จะคาดเดา  ยิ่งผมออกจากสถานที่ที่พระเจ้าประทับอยู่ภายในตัวผมมากเท่าใด ผมก็ยิ่งไม่สามารถได้ยินเสียงที่เรียกผมว่าบุตรสุดที่รัก และยิ่งผมได้ยินเสียงนี้น้อยเท่าไร ผมก็ยิ่งตกเป็นเหยื่อของการชักนำและอำนาจของโลกมากขึ้นเท่านั้น
    เรื่องก็คือว่า ผมไม่แน่ใจแล้วว่าผมมีบ้านที่ปลอดภัย ผมสังเกตคนอื่นๆ ที่ดูดีกว่าผม ผมถามตัวเองว่าผมจะเป็นอย่างพวกเขาได้อย่างไร ผมทำงานหนักเพื่อให้เป็นที่พอใจ เพื่อความสำเร็จและการเป็นที่ยอมรับ หากผมล้มเหลว ผมก็จะรู้สึกอิจฉาคนเหล่านั้น และเมื่อผมทำสำเร็จ ผมก็วิตกกังวลว่าคนอื่นๆ จะหมั่นไส้และอิจฉาผมหรือเปล่า ผมกลายเป็นคนหวาดระแวงและปกป้องตัวเอง ผมกลัวว่าผมจะไม่ได้ในสิ่งที่ผมแสวงหาหรือสูญเสียที่ผมมีอยู่แล้ว ด้วยความที่ผมยึดมั่นอยู่กับความต้องการของตนเอง ผมจึงไม่รู้จักแรงจูงใจที่แท้จริงของตัวเอง ผมรู้สึกเหมือนตกเป็นเหยื่อของผู้คนรอบข้าง และไม่ไว้ใจในคำพูดและการกระทำของคนอื่นๆ ผมตั้งป้อมสำหรับตัวเอง สูญเสียอิสรภาพภายใน และเริ่มแบ่งแยกโลกระหว่างคนที่เห็นด้วยกับผมคนที่ต่อต้านผม ผมสงสัยว่าจะมีใครสักคนที่สนใจผมจริงหรือไม่ ผมเริ่มค้นหาข้อพิสูจน์ในสิ่งที่ผมสงสัยนี้ ทุกแห่งที่ผมไป ผมพบข้อพิสูจน์และพูดได้ว่า เราไม่สามารถไว้ใจใครได้เลย ดังนั้น ผมจึงสงสัยว่าจะมีใครรักผมอย่างแท้จริงบ้างไหม โลกรอบตัวผมกลายเป็นความมืด หัวใจของผมหนักหน่วง ร่างกายมีแต่ความทุกข์ทรมาน ชีวิตของผมสูญเสียความหมาย ผมรู้สึกเหมือนหลงทางไป
    บุตรคนเล็กตระหนักชัดเจนว่าเขาหลงทาง ก็ในเวลาที่ไม่มีใครรอบตัวเขาให้ความสนใจเขา พวกนั้นสนใจเขาแต่เพียงว่าเขาจะเป็นประโยชน์ต่อไปหรือไม่เท่านั้น แต่เมื่อเขาไม่มีเงินที่จะใช้จ่าย ไม่มีของจะให้แล้ว เขาก็ไม่เป็นที่ต้องการอีกต่อไป เป็นการยากสำหรับผมที่จะจินตนาการว่า คนต่างด้าวนั้นหมายถึงการเป็นบุคคลผู้ที่ไม่มีเครื่องหมายว่าเป็นที่ยอมรับ ความโดดเดี่ยวแท้จริงเกิดขึ้นเมื่อบุคคลหนึ่งรู้สึกว่าเขาไม่มีอะไรร่วมกับคนอื่นเลย เมื่อไม่มีใครต้องการให้อาหารที่เลี้ยงหมูแก่เขา เขาจึงรู้ว่าเขาไม่ได้รับการยอมรับเป็นมนุษย์อีกต่อไป ประวัติศาสตร์ มุมมอง ศาสนา การศึกษา ความสัมพันธ์ รูปแบบชีวิต และธรรมเนียมปฏิบัติที่มีลักษณะร่วมกัน สิ่งเหล่านี้เป็นพื้นฐานของการยอมรับผู้อื่น ทุกครั้งที่ผมพบใครคนหนึ่งเป็นครั้งแรก ผมมักจะมองหาสิ่งที่เรามีคล้ายกัน ปฏิกิริยานี้ดูเป็นปกติธรรมชาติ เช่น เมื่อผมพูดว่า “ผมมาจากฮอลแลนด์” ก็จะมีคำตอบกลับมาว่า “โอ! ผมเคยอยู่ที่นั่น” หรือ “ผมมีเพื่อนอยู่ที่นั่น” หรือ “อ๋อ! กังหันลม ดอกทิวลิป และรองเท้าไม้” ฯลฯ ซึ่งทำให้เรารู้สึกเหมือนรู้จักกัน และมีความรู้สึกที่ดีต่อกัน
    ไม่ว่าปฏิกริยาจะเป็นเช่นไร การพบปะย่อมมีการแสวงสิ่งที่มีร่วมกันเสมอ ยิ่งเรามีสิ่งที่ร่วมกันน้อย ก็ยิ่งยากที่จะอยู่ร่วมกันและยิ่งรู้สึกว่าเป็นคนแปลกหน้า เมื่อผมไม่รู้ภาษาและธรรมเนียมปฏิบัติของคนอื่น และเมื่อผมไม่เข้าใจวิถีชีวิต ศาสนา พิธีการหรือศิลปะของพวกเขา และเมื่อผมไม่รู้จักอาหารและลักษณะการรับประทานของพวกเขา...  เมื่อนั้นผมก็ยิ่งรู้สึกว่าผมเป็นคนแปลกหน้าและหลงทาง
    เมื่อบุตรคนเล็กไม่ได้เป็นมนุษย์ในสายตาของคนรอบข้าง เขาจึงรู้สึกถึงความแปลกแยกอย่างมาก เป็นความโดดเดี่ยวที่เลวร้ายที่สุด เขาสูญเสียอย่างแท้จริง และสภาพความสูญเสียหมดสิ้นนี้ได้ทำให้เขารู้ตัว เขาสำนึกขึ้นมาทันทีถึงความแปลกแยกนี้ และเข้าใจว่าเขาอยู่ในหนทางแห่งความตาย เขาถูกตัดออกจากผู้คนและที่ให้ชีวิต  อันได้แก่ ครอบครัว เพื่อน หมู่คณะ คนรู้จัก และแม้แต่อาหาร ซึ่งทำให้เขารู้ว่าความตายกำลังกำลังคืบคลานเข้ามา แต่แล้วเขาก็มองเห็นหนทางที่เขาได้เลือกนั้นอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นหนทางที่นำไปสู่ความตาย  ถ้าเขายังขืนก้าวต่อไปอีกก้าวเดียวในหนทางนี้ ชีวิตของเขาก็จะจบสิ้น
    ในช่วงวิกฤตนี้เอง สิ่งที่ทำให้เขาเลือกที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป ก็คือการค้นพบตัวเขาเองอย่างลึกซึ้งอีกครั้งหนึ่ง


การอ้างสิทธิ์ความเป็นบุตร
    สิ่งที่เขาสูญเสียไปนั้นไม่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นเงินทอง เพื่อนฝูง ชื่อเสียง ความเคารพตัวเอง สันติภายในหรือความชื่นชมยินดี สิ่งหนึ่งที่เขายังคงมีอยู่ก็คือ เขาเป็นบุตรของบิดาเสมอ ดังนั้น เขาจึงพูดกับตัวเองว่า “คนรับใช้ของพ่อฉันมีอาหารกินอย่างอุดมสมบูรณ์ ส่วนฉันอยู่ที่นี่ หิวจะตายอยู่แล้ว ฉันจะกลับไปหาพ่อ พูดกับพ่อว่า “คุณพ่อครับ  ลูกได้ทำผิดต่อสวรรค์และต่อคุณพ่อ ลูกไม่สมควรได้ชื่อว่าเป็นลูกของคุณพ่อ   โปรดถือว่าลูกเป็นคนรับใช้คนหนึ่งของคุณพ่อเถิด” ด้วยคำพูดที่อยู่ภายในใจเขานี้เอง  เขาจึงสามารถลุกขึ้น ออกจากที่นั่น และเดินทางกลับบ้าน
ความหมายเรื่องการกลับมาของบุตรคนเล็ก สรุปได้ด้วยคำพูดที่ว่า “คุณพ่อครับ (...) ลูกไม่สมควรได้ชื่อว่าเป็นลูกของคุณพ่อ” จะว่าไปแล้ว บุตรคนเล็กได้สำนึกว่าเขาสูญเสียศักดิ์ศรีของความเป็นบุตรไป แต่ในเวลาเดียวกัน ความหมายของศักดิ์ศรีที่เขาสูญเสียไปนี้ก็ทำให้เขาตระหนักว่า เขาเป็นบุตรที่แท้จริงที่เคยมีศักดิ์ศรีให้สูญเสีย
การกลับมาของบุตรคนเล็กเริ่มต้นตั้งแต่เมื่อเขาคิดได้ว่าเขาเป็นลูก แม้ว่าเขาได้สูญเสียศักดิ์ศรีแห่งความเป็นบุตรนี้ไปแล้ว  ซึ่งอันที่จริงสิ่งเหล่านี้ได้นำเขาเข้าสู่แก่นของความเป็นตัวเขา เขาได้สัมผัสสภาพความเป็นบุตร ในการหวนคิดถึงอดีต  ดูเหมือนว่าจำเป็นที่ลูกล้างผลาญต้องสูญเสียทุกสิ่ง  เพื่อเข้าถึงส่วนลึกของความเป็นตัวเขา  เมื่อเขาเห็นตัวเองถูกปฏิบัติเยี่ยงหมูตัวหนึ่ง เขาก็สำนึกได้ว่าเขาไม่ได้เป็นหมู แต่เป็นมนุษย์ เป็นลูกของบิดา การตระหนักถึงข้อนี้ได้กลายเป็นหลักในการเลือกที่จะมีชีวิตอยู่แทนที่จะยอมตาย เมื่อเขาได้สัมผัสกับความจริงของการเป็นบุตรอีกครั้งหนึ่ง เขาจึงได้ยินเสียงที่เรียกเขาว่าบุตรสุดที่รัก แม้จะแผ่วเบาก็ตามที และรู้สึกถึงการอวยพรที่สัมผัสเขาแม้จะอยู่ห่างไกล ความสำนึกและความมั่นใจในความรักของบิดานี้ ซึ่งแม้จะเลือนลาง แต่ก็ทำให้เขามีกำลังที่จะเรียกร้องสภาพความเป็นบุตรสำหรับตัวเอง แม้ว่า  การเรียกร้องนี้ เขาจะไม่เหมาะสมเลยก็ตาม
เมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว ผมเองต้องเผชิญกับการตัดสินใจในลักษณะเดียวกัน คือการเลือกที่จะกลับหรือไม่กลับมา มิตรภาพซึ่งในตอนแรกเต็มไปด้วยคำมั่นสัญญาและมีชีวิตชีวา   ค่อยๆ ชักนำให้ผมยิ่งทียิ่งห่างไกลจากบ้านไปเรื่อยๆ จนกระทั่งผมหมกมุ่นกับสิ่งเหล่านี้ ในด้านฝ่ายจิต ผมกำลังใช้สิ่งที่ผมได้รับจากพระบิดาอย่างฟุ่มเฟือยในเรื่องของมิตรภาพ ผมภาวนาไม่ได้ สูญเสียความสนใจในงาน และรู้สึกยากที่จะให้ความสนใจต่อเรื่องราวของคนอื่น ทั้งๆ ที่ผมรู้ว่าความคิดและการกระทำของผมกำลังทำลายผมอย่างช้าๆ  แต่ผมก็ยังคงปล่อยให้หัวใจของผมที่กระหายความรักนี้พาผมสู่หนทางที่ผิด เพื่อแสวงหาความเชื่อมั่นในตนเอง
    ที่สุด เมื่อมิตรภาพนั้นได้หักสะบั้นลงอย่างสิ้นเชิง ผมต้องเลือกระหว่างการทำลายตัวเอง หรือเชื่อว่าความรักซึ่งผมแสวงหามานานนั้นมีอยู่อย่างแท้จริง...ที่บ้าน! มีเสียงหนึ่งกระซิบบอกผมแม้จะแผ่วเบาว่าไม่มีมนุษย์คนใดสามารถจะให้ความรักที่ผมแสวงหามานาน และไม่มีมิตรภาพ ความสัมพันธ์ใกล้ชิดหรือหมู่คณะใดที่จะทำให้ความปรารถนาที่ลึกที่สุดของหัวใจที่หลงไปของผมนั้นเต็มอิ่มได้ เสียงที่แผ่วเบาแต่หนักแน่นนั้นบอกผมเรื่องกระแสเรียก การอุทิศตนและพระหรรษทานมากมายที่ผมได้รับในบ้านของบิดา เสียงนี้เรียกผมว่า “ลูก”
    ความทรมานจากการถูกทอดทิ้งนั้น เจ็บปวดจนแทบจะเป็นไปไม่ได้ที่จะไว้ใจในเสียงนั้น แต่เพื่อนที่เห็นความหมดหวังของผมได้กระตุ้นให้ผมเอาชนะความทุกข์ทรมาน และให้เชื่อว่ามีใครบางคนคอยผมอยู่ที่บ้าน ในที่สุด ผมเลือกที่จะตั้งสติแทนที่จะคิดฟุ้งซ่าน และออกไปหาสถานที่ที่ผมสามารถอยู่คนเดียว ผมอยู่ที่นั่นเพียงลำพังและเริ่มที่จะค่อยๆ เดินทางกลับบ้าน ซึ่งทำให้ได้ยินเสียงเรียกชัดเจนมากขึ้นว่า “เจ้าคือบุตรสุดที่รักของเรา เราพอใจเจ้ามาก”
ประสบการณ์ที่เจ็บปวดแต่เปี่ยมด้วยความหวังนี้ นำผมสู่ใจกลางการต่อสู้ฝ่ายจิตเพื่อการเลือกที่ถูกต้อง พระเจ้าตรัสว่า “สิ่งที่ข้าพเจ้ามอบให้แก่ท่านก็คือชีวิตและความตาย การอวยพร และการสาปแช่ง จงเลือกเอาชีวิตเพื่อว่าเจ้าจะได้มีชีวิตอยู่ในความรักของพระยาเวห์ พระผู้เป็นเจ้าของเจ้า จงเชื่อฟังต่อเสียงเรียกของพระองค์” (ฉธบ.30:19-20) จริงๆ แล้วนี่คือคำถามเรื่องชีวิตหรือความตาย เราจะยอมรับอิทธิพลของโลกที่กักขังเราไว้ หรือจะเรียกร้องอิสรภาพแห่งบุตรของพระเจ้า? เราจะต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง
    ยูดาสได้ทรยศพระเยซูเจ้า เปโตรปฏิเสธพระองค์ ทั้งสองเป็นบุตรที่หลงทางไป ยูดาสผู้ไม่เชื่อว่าเขายังเป็นบุตรของพระเจ้าอยู่เสมอ ได้ไปแขวนคอตาย หากเปรียบกับลูกล้างผลาญแล้ว    ยูดาสได้ขายดาบสั้นอันเป็นสัญลักษณ์แห่งความเป็นบุตรไป ส่วนเปโตรนั้น ในท่ามกลางความสิ้นหวังของเขา เขาได้สำนึกและกลับมาด้วยน้ำตา ยูดาสเลือกความตาย ส่วนเปโตรเลือกชีวิต ผมตระหนักดีว่าการเลือกนี้อยู่ต่อหน้าผมเสมอ ผมมักถูกประจญให้ตกอยู่ในการหายไป และสูญเสียความสัมพันธ์กับคุณงามความดีแรกเริ่ม กับความเป็นมนุษย์ที่พระเจ้าประทานให้ กับพระหรรษทานเบื้องต้น สิ่งเหล่านี้ทำให้ผมตกอยู่ในอำนาจของความตาย สิ่งนี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทุกครั้งที่ผมพูดกับตัวเองว่า “ผมไม่ดี ใช้ไม่ได้ ไร้คุณค่า ไร้ประโยชน์ น่ารังเกียจ และไม่ได้เรื่อง” ก็มักจะมีเหตุการณ์และสถานการณ์ต่างๆ มากมายที่ทำให้ผมคิดว่าไม่น่ามีชีวิตอยู่ ผมเป็นเพียงตัวปัญหา เป็นที่มาของความขัดแย้ง และทำให้คนอื่นเสียเวลาและพลังงาน มีคนเป็นจำนวนมากที่ดำเนินชีวิตกับภาพลักษณ์ที่มืดมนของตัวเอง  ซึ่งตรงกันข้ามกับลูกล้างผลาญ  บุคคลเหล่านี้ปล่อยให้ความมืดมนดูดกลืนพวกเขา จนกระทั่งไม่มีความสว่างที่จะให้เขากลับไปได้ พวกเขาไม่ได้ฆ่าตัวตายทางกายภาพ แต่ฆ่าตัวตายทางด้านจิตใจ พวกเขาหมดความเชื่อมั่นในคุณงามความดีแรกเริ่มของตัวเอง และในพระบิดาผู้ประทานความเป็นมนุษย์แก่พวกเขาด้วย
แต่เมื่อพระเจ้าสร้างมนุษย์ชายและหญิงตามพระฉายาของพระองค์ พระองค์เห็นว่า “ดีมาก” แม้ว่าจะมีเสียงที่มืดมนอื่นๆ แต่ไม่มีมนุษย์คนใดสามารถเปลี่ยนแปลงสิ่งนี้ได้
    อย่างไรก็ตาม การเลือกสภาพความเป็นบุตรนั้นไม่ง่ายเลย เสียงที่มืดมนในโลกรอบตัวยังคงพยายามชักชวนผมว่า ผมไม่ดีและจะเป็นคนดีได้ก็ด้วยการกระทำความดีด้วยตัวเองเท่านั้น เสียงเหล่านี้ทำให้ผมลืมเสียงที่เรียกผมว่า “บุตรสุดที่รัก” อย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นเสียงที่เตือนว่าผมเป็นที่รักได้ โดยไม่ต้องขึ้นอยู่กับหรือความสำเร็จใดๆ ทั้งสิ้น  เสียงที่มืดมนเหล่านี้ได้บดบังเสียงที่นุ่มนวล สงบ ใส ซึ่งยังเรียกผมว่า “บุตรสุดที่รัก” เสียงนั้นดึงผมไปยังชายขอบของชีวิต และทำให้ผมสงสัยว่ามีพระเจ้าแห่งความรักรอคอยผมอยู่ ณ ใจกลางของชีวิตผมหรือไม่?
แต่การออกจากดินแดนที่อยู่ห่างไกลนั้นเป็นแค่เพียงการเริ่มต้น หนทางกลับบ้านนั้นห่างไกลและลำบากนัก จะทำอะไรดีบนเส้นทางที่กลับมาหาพ่อ? สิ่งที่ลูกล้างผลาญทำชัดเจนมาก คือ เขาเตรียมสิ่งที่จะเกิดขึ้น เขาตระหนักถึงความเป็นบุตร เขาพูดกับตัวเองว่า “ฉันจะกลับไปหาพ่อ พูดกับพ่อว่า 'คุณพ่อครับ ลูกได้ทำผิดต่อสวรรค์และต่อคุณพ่อ ลูกไม่สมควรได้ชื่อว่าเป็นลูกของคุณพ่อ โปรดถือว่าลูกเป็นคนรับใช้คนหนึ่งของคุณพ่อเถิด'“  เมื่อผมอ่านคำพูดเหล่านี้ ผมรู้ดีว่าชีวิตภายในของผม ก็เต็มไปด้วยคำพูดเหล่านี้ ที่จริงผมมักจะจินตนาการอยู่เสมอ ผมมักชอบแก้ตัว โอ้อวดหรือขอโทษ ประกาศหรือปกป้อง เรียกร้องคำสรรเสริญหรือความสงสาร ดูเหมือนว่าผมตกอยู่ในการสนทนาที่ยืดเยื้อ ซึ่งคู่สนทนาไม่มีตัวตนอยู่ ผมคาดว่าเขาจะถามอะไรและผมจะต้องตอบอย่างไร ผมแปลกใจในพลังของอารมณ์ที่อยู่ในการคิดใคร่ครวญและเสียงกระซิบภายใน ใช่ ผมอยู่บนหนทางการกลับบ้าน... แต่ทำไมการเตรียมคำพูดอันยืดยาวนี้จึงไม่ได้กล่าวออกมาเลย?
    เหตุผลมีอยู่ชัดเจนคือ แม้ผมคิดว่าตัวเองมีศักดิ์ศรีแท้จริงแห่งการเป็นบุตรของพระเจ้า ผมก็ยังดำเนินชีวิตราวกับว่าพระเจ้าผู้ที่ผมกลับไปหานั้นต้องการคำอธิบาย ผมยังคิดว่าความรักของพระองค์มีเงื่อนไข และไม่แน่ใจในสถานที่ที่ผมเรียกว่า “บ้าน” ขณะเดินทางกลับบ้าน ผมยังไม่แน่ใจในการต้อนรับที่ผมจะได้รับ เมื่อผมย้อนมองการเดินทางฝ่ายจิตของผม  และการเดินทางกลับบ้านอันยาวไกลและเหนื่อยอ่อน  ผมก็ได้เข้าใจความรู้สึกผิดที่มีในอดีต และความวิตกกังวลกับอนาคต ผมสำนึกในความผิดพลาด และรู้ว่าผมได้สูญเสียศักดิ์ศรีของความเป็นบุตรไปแล้ว แต่ผมยังไม่สามารถเชื่อจริงๆ ว่าที่ใดที่บาปของผมมากขึ้น ที่นั่น “พระหรรษทานก็ไพบูลย์ยิ่งขึ้น” (รม.5:20)  ด้วยความที่ผมยังคงติดอยู่กับความรู้สึกว่าตัวเองไร้คุณค่า ผมจึงคิดว่าต้องยอมรับตำแหน่งที่ต่ำกว่าฐานะความเป็นบุตร ความเชื่อเรื่องการอภัยที่สมบูรณ์นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ประสบการณ์แบบมนุษย์สอนผมว่า การอภัยคือการยอมตามน้ำใจคนอื่นอยู่สูงกว่าการแก้แค้น เพื่อแสดงให้เห็นผมถึงปริมาณของความรักที่มี

หนทางกลับบ้านอันยาวไกล
การกลับมาของลูกล้างผลาญนั้นเต็มไปด้วยความคลุมเครือ เขากำลังเดินไปในทางที่ถูกต้อง แต่ดูช่างสับสน! เขายอมรับว่าไม่สามารถหลุดพ้นได้ด้วยตัวเอง และยอมรับว่าการที่เขาได้รับการปฏิบัติเยี่ยงทาสในบ้านพ่อของเขานั้น ย่อมดีกว่าการเป็นขอทานในประเทศที่ห่างไกล แต่เขายังคงอยู่ห่างไกลจากความไว้วางใจในความรักของบิดา เขารู้ว่าเขายังเป็นบุตร แต่เขาก็ยังบอกกับตัวเองว่า เขาได้สูญเสียศักดิ์ศรีที่จะถูกเรียกว่า “บุตร” ไปเสียแล้ว เขาเตรียมตัวยอมรับสภาพคนรับใช้ เพื่อมีชีวิตรอดอยู่ต่อไป  มีการกลับใจจริง แต่มิใช่การกลับใจที่อิงอยู่บนความรักอันยิ่งใหญ่ของพระเจ้าผู้ทรงเมตตากรุณา เป็นการกลับใจที่หันหาตัวเอง เพื่อจะได้มีชีวิตรอด ผมรู้จักสภาพความคิดและจิตใจแบบนี้ดี เหมือนกับการพูดว่า “ผมไม่อาจพ้นสภาพนี้ได้ด้วยตัวเอง ผมต้องยอมรับว่าพระเจ้าเป็นที่พึ่งสุดท้ายสำหรับผม ผมจะไปหาพระองค์และร้องขอการอภัย โดยหวังว่าผมจะได้รับการลงโทษขั้นเบาที่สุด ซึ่งทำให้มีชีวิตอยู่ต่อไปได้ โดยมีเงื่อนไขว่าต้องทำงานหนัก” พระเจ้ายังคงเป็นผู้พิพากษาที่เข้มงวด เป็นภาพลักษณ์ของพระเจ้าที่ทำให้ผมรู้สึกผิดและวิตกกังวล และทำให้ผมต้องคอยหาคำแก้ตัว การยอมรับพระเจ้าในลักษณะเช่นนี้มิได้สร้างอิสรภาพภายในที่แท้จริง แต่ก่อให้เกิดความรู้สึกขุ่นเคืองและความทุกข์ทรมานมากกว่า
    สิ่งหนึ่งที่เป็นข้อท้าทายอันยิ่งใหญ่ของชีวิตฝ่ายจิตก็คือ การยอมรับการอภัยจากพระเจ้า  ในตัวเรามนุษย์มีบางสิ่งที่ทำให้เราติดอยู่กับบาป และขัดขวางมิให้ให้พระเจ้าลบล้างอดีต และประทานความเป็นไปได้ที่จะเริ่มต้นใหม่ บางครั้งราวกับว่าผมต้องการพิสูจน์ให้พระเจ้าเห็นว่า ความผิดบาปของผมนั้นใหญ่เกินกว่าที่จะเอาชนะได้   ทั้งๆ ที่พระเจ้าต้องการนำผมกลับสู่ศักดิ์ศรีแห่งการเป็นบุตรของพระองค์   แต่ผมยังคงยืนกรานว่าผมขอเป็นแค่คนรับใช้ ผมต้องการกลับมารับผิดชอบในฐานะบุตรอย่างแท้จริงหรือ? ผมต้องการการอภัยที่สมบูรณ์และชีวิตใหม่ที่แท้จริงหรือ? ผมมั่นใจในการเรียกร้องขั้นเด็ดขาดนี้จริงหรือ? ผมต้องการเลิกต่อต้านพระเจ้าที่หยั่งรากลึกในตัวผม และยอมมอบตนอย่างสมบูรณ์ ในความรักของพระเจ้า จนกระทั่งบังเกิดเป็นคนใหม่กระนั้นหรือ? การยอมรับการอภัยเรียกร้องความตั้งใจเต็มที่ที่จะปล่อยให้พระเจ้าเป็นพระเจ้า และให้พระองค์เยียวยารักษา ปฏิสังขรณ์ และฟื้นฟูขึ้นใหม่ทั้งหมด   นี่เป็นสิ่งที่ผมต้องการจะทำ แต่ที่สุดผมกลับทำได้แค่เป็นคนรับใช้ และในฐานะที่ยังคงเป็นคนรับใช้นั้น ผมยังคงอยู่ห่างไกล ต่อต้าน ปฏิเสธ ประท้วง หลบหนีหรือบ่นว่าเรื่องเงินเดือน ในฐานะบุตรสุดที่รัก ผมต้องเรียกร้องศักดิ์ศรีที่สมบูรณ์ของผม และเริ่มเตรียมตัวเพื่อกลายเป็นบิดาต่อไป
    เป็นสิ่งที่ชัดเจนว่า ระยะห่างระหว่างการตัดสินใจกลับบ้านและการมาถึงบ้านนั้น จำเป็นต้องเดินทางอย่างฉลาดและมีกฎเกณฑ์ กฎเกณฑ์นั้นก็คือการเป็นบุตรของพระเจ้า พระเยซูเจ้าทรงอธิบายชัดเจนว่าหนทางสู่พระเจ้านั้น เป็นหนทางเดียวกับการเกิดใหม่ในฐานะบุตร “ถ้าเจ้าไม่กลับกลายเป็นเหมือนเด็กเล็กๆ เจ้าจะเข้าพระอาณาจักรสวรรค์ไม่ได้” (มธ.18:3) พระเยซูเจ้าไม่ได้ขอให้เราเป็นเด็ก แต่ขอให้เรากลายเป็นเหมือนเด็ก การเป็นเหมือนเด็กก็คือ การเดินทางสู่ความบริสุทธิ์ครั้งที่สอง ซึ่งมิใช่ความบริสุทธิ์แบบเด็กทารก แต่เป็นความบริสุทธิ์ที่ได้มาโดยการเลือกอย่างมีสติรู้ตัว
    เราจะพูดถึงบุคคลที่บรรลุถึงการเป็นเด็กครั้งที่สองนี้อย่างไร  พระเยซูเจ้าได้ทรงอธิบายเรื่องนี้อย่างชัดเจนในมหาบุญลาภ หลังจากที่พระองค์ได้ยินเสียงที่เรียกพระองค์ว่าเป็น “บุตรสุดที่รัก” ได้ไม่นาน และทันทีหลังจากที่ได้ปฏิเสธเสียงของซาตานที่ท้าทายและเรียกร้องให้พระองค์พิสูจน์ต่อโลกว่าพระองค์เหมาะสมเป็นบุตรสุดที่รัก พระองค์ก็ทรงเริ่มปฏิบัติภารกิจของพระองค์ต่อหน้าสาธารณชน หนึ่งในภารกิจแรก ของพระองค์ก็คือ การเชื้อเชิญให้สานุศิษย์ติดตามพระองค์ และแบ่งปันภารกิจของพระองค์ จากนั้นพระองค์เสด็จขึ้นภูเขา รวบรวมสานุศิษย์และตรัสแก่พวกเขาว่า “เป็นบุญของผู้ที่มีใจยากจน เป็นบุญของผู้ที่มีใจอ่อนโยน เป็นบุญของผู้ที่เศร้าโศก เป็นบุญของผู้ที่หิวกระหายความยุติธรรม เป็นบุญของผู้ที่มีใจเมตตา เป็นบุญของผู้ที่มีใจบริสุทธิ์ เป็นบุญของผู้ที่สร้างสันติ และเป็นบุญของผู้ที่ถูกเบียดเบียนข่มเหงเพราะความชอบธรรม” (มธ.5:1-12)
    พระวาจานี้ได้แสดงถึงภาพการเป็นบุตรของพระเจ้า เป็นภาพของพระเยซูเจ้า พระบุตรสุดที่รัก และยังเป็นภาพตัวผมอย่างที่ผมจะต้องเป็น  มหาบุญลาภได้เสนอหนทางที่ง่ายที่สุด เพื่อเดินทางกลับสู่บ้านพระบิดา และตลอดกการเดินทางนี้ ผมจะได้พบกับความยินดีในการเป็นบุตรอีกครั้ง   กล่าวคือ ได้รับพละกำลัง พระเมตตา และมองเห็นพระเจ้าชัดเจนยิ่งขึ้น   เมื่อผมมาถึงบ้านและได้รับการโอบกอดจากบิดา ผมรู้ว่ามิใช่เพียงแค่สวรรค์เท่านั้นที่เป็นของผม แม้แต่โลกนี้ก็ตกเป็นทรัพย์สมบัติของผมอีกด้วย บ้านแห่งนี้เป็นสถานที่ที่ผมสามารถดำเนินชีวิตอย่างอิสระ โดยปราศจากความหมกมุ่นและการบีบบังคับใดๆ
การกลับเป็นเหมือนเด็กคือ การดำเนินชีวิตตามมหาบุญลาภและเช่นนี้ก็จะได้พบประตูแคบเข้าสู่พระอาณาจักร เรมแบรนท์รู้เรื่องเหล่านี้หรือ?  ผมไม่ทราบว่าเรื่องอุปมานี้ทำให้ผมพบมุมมองใหม่ในภาพวาด หรือว่าภาพวาดทำให้ผมค้นพบมุมมองใหม่ของเรื่องอุปมากันแน่ แต่เมื่อผมมองดูศีรษะของลูกล้างผลาญที่กลับบ้านนั้น ผมก็ได้เห็นการกลับเป็นเด็กอีกครั้งหนึ่ง
ผมจำได้ดีว่าได้ให้เพื่อนๆ ดูภาพวาดของเรมแบรนท์ และถามพวกเขาว่าเห็นอะไรในภาพ หญิงสาวคนหนึ่งยืนขึ้น เดินไปที่ภาพวาดลูกล้างผลาญ และวางมือบนศีรษะของบุตรคนเล็ก และพูดว่า “นี่เป็นศีรษะของเด็กทารกที่เพิ่งออกมาจากครรภ์มารดา ดูสิ ยังชื้นอยู่เลย ใบหน้าก็ดูอ่อนเยาว์” ทุกคนที่อยู่ที่นั่นก็ได้เห็นอย่างที่เธอเห็น เป็นไปได้หรือไม่ว่าเรมแบรนท์ไม่ได้วาดเพียงแค่ภาพการกลับสู่บ้านของบิดาเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการกลับสู่ครรภ์ของพระเจ้า ผู้ซึ่งเป็นทั้งบิดาและมารดาอีกด้วย
    จนถึงขณะนี้ ผมคิดแต่ว่าศีรษะของชายหนุ่มในภาพเป็นศีรษะของคนคุกหรือคนที่เคยอยู่ในค่ายกักกัน   ผมเห็นใบหน้าที่ซูบผอมด้วยการถูกปฏิบัติเยี่ยงเชลย    และนั่นอาจจะเป็นสิ่งที่เรมแบรนท์ต้องการจะแสดงให้เห็น  แต่เมื่อได้พบกับเพื่อนๆ ของผมในครั้งนั้น  ผมก็ไม่สามารถมองดูภาพวาดโดยไม่เห็นเด็กทารกที่กลับสู่ครรภ์มารดาอีกครั้ง สิ่งนี้ช่วยให้ผมเข้าใจหนทางที่ผมก้าวเดินกลับบ้านชัดเจนยิ่งขึ้น
เด็กเล็กๆ น่าสงสาร อ่อนโยน และใจบริสุทธิ์มิใช่หรือ?   เด็กเล็กๆ ร้องไห้เมื่อรู้สึกเจ็บปวดแม้เพียงเล็กน้อยมิใช้หรือ?  เด็กเล็กๆ เป็นเครื่องมือแห่งสันติที่หิวกระหายความชอบธรรม และตกเป็นเหยื่อแรกของการเบียดเบียนข่มเหงมิใช่หรือ? พระเยซูเจ้าได้ตรัสถึงพระองค์ว่าอย่างไร พระองค์ตรัสว่าพระองค์ทรงเป็นพระวจนาตถ์ผู้รับเอากาย อยู่ในครรภ์พระนางมารี 9 เดือน เสด็จมาในโลกมีสภาพเป็นเด็กเล็กๆ มีพวกชุมพาบาลและปราชญ์สามองค์จากแดนไกลมานมัสการมิใช่หรือ?  พระบุตรนิรันดรได้กลับกลายเป็นเด็ก เพื่อผมจะได้กลายเป็นเด็ก และกลับเข้าสู่พระอาณาจักรของพระบิดาอีกครั้งหนึ่ง พระเยซูเจ้าตรัสกับนิโคเดมัสว่า “เราบอกความจริงแก่ท่านว่า ไม่มีใครสามารถเห็นพระอาณาจักรของพระเจ้าได้ ถ้าเขาไม่ได้บังเกิดใหม่” (ยน.3:3)

ลูกล้างผลาญที่แท้จริง
    ผมจะเริ่มพูดถึงธรรมล้ำลึกของพระเยซูเจ้าที่ทรงกลายเป็นลูกล้างผลาญเพื่อเราทั้งหลาย พระองค์ทรงจากบ้านของพระบิดาเจ้าสวรรค์ออกไปยังประเทศที่ห่างไกล ทรงสละทุกสิ่งทุกอย่างที่พระองค์มี และกลับสู่บ้านของพระบิดาเจ้า โดยผ่านทางกางเขนของพระองค์ ทุกสิ่งที่พระองค์ได้ทรงกระทำนั้นมิได้ทรงกระทำเหมือนบุตรที่ดื้อดึง แต่ในฐานะบุตรที่นอบน้อมเชื่อฟังทุกสิ่ง ผู้ถูกส่งมาเพื่อนำบุตรที่หายไปของพระเจ้ากลับสู่บ้านของพระองค์ พระเยซูผู้ทรงเล่าเรื่องอุปมานี้แก่บุคคลที่วิพากษ์วิจารณ์พระองค์ เพราะพระองค์ทรงคบหากับคนบาป พระเยซูผู้นี้แหละที่ได้ออกเดินทางอันยาวไกลและลำบากนี้ด้วยพระองค์เองตามที่พระองค์ทรงเล่า
    เมื่อผมเริ่มไตร่ตรองเรื่องอุปมาและภาพวาดของเรมแบรนท์ ผมไม่เคยคิดว่าชายหนุ่มที่เหนื่อยอ่อน ซึ่งมีใบหน้าของเด็กที่เกิดใหม่นั้นเป็นพระเยซูเจ้าเลย แต่เดี๋ยวนี้หลังจากที่ได้ใช้เวลาหลายชั่วโมงรำพึงไตร่ตรอง ผมรู้สึกว่าการมองเห็นเช่นนี้เป็นพระหรรษทาน  ชายหนุ่มที่คุกเข่าต่อหน้าบิดานั้นเป็น  “ลูกแกะของพระเจ้าผู้ยกบาปของโลก” มิใช่หรือ?   พระองค์เป็นผู้บริสุทธิ์ที่กลับเป็นคนบาปเพื่อเราทั้งหลายมิใช่หรือ  พระองค์เป็น “ผู้ทรงสภาพของพระเจ้า” แต่ “ทรงถือกำเนิดเป็นมนุษย์” (ฟป.2:6-7) มิใช่หรือ พระองค์ทรงเป็นบุตรของพระเจ้าผู้ไม่มีบาปและทรงร้องบนกางเขนว่า “พระเจ้าข้า พระเจ้าข้า ทำไมพระองค์จึงทรงทอดทิ้งข้าพเจ้าเล่า?” (มธ.27:46) มิใช่หรือ   พระเยซูทรงเป็นลูกล้างผลาญของพระบิดาผู้ใจดี ทรงสละทุกสิ่งที่ได้รับจากพระบิดา เพื่อเราทั้งหลายจะได้เป็นเหมือนพระองค์ และกลับไปยังบ้านของพระบิดาเจ้าสวรรค์พร้อมกับพระองค์
    การมองพระเยซูเจ้าเป็นลูกล้างผลาญนั้น   ไปไกลกว่าการตีความตามธรรมประเพณี อย่างไรก็ตาม การมองเช่นนี้ได้เผยความลับอันยิ่งใหญ่ ผมค่อยๆ ค้นพบความหมายที่จะกล่าวว่าความเป็นบุตรของผมและความเป็นบุตรของพระเยซูเจ้านั้นเป็นสิ่งเดียวกัน และการกลับมาของผมและการกลับมาของพระเยซูเจ้าก็เป็นสิ่งเดียวกันด้วย บ้านของผมและบ้านของพระเยซูเจ้าก็เป็นสิ่งเดียวกัน ไม่มีหนทางใดไปสู่พระเจ้า นอกจากหนทางซึ่งพระเยซูเจ้าได้ทรงดำเนินมาแล้ว พระองค์ผู้ทรงเล่าเรื่องลูกล้างผลาญคือ พระวจนาตถ์ของพระเจ้า “โดยผ่านทางท่านผู้นี้ ทุกสิ่งได้บังเกิดขึ้น”  “พระองค์ทรงรับเอากาย  และมาประทับอยู่ท่ามกลางเรา” (ยน.1:1-14) และทำให้เรามีส่วนในความบริบูรณ์ของพระองค์
    เมื่อผมพิจารณาเรื่องราวของลูกล้างผลาญด้วยสายตาแห่งความเชื่อ ผมก็เห็นว่าการกลับมาของลูกล้างผลาญคือการกลับมาของพระบุตรแห่งพระเจ้า ผู้รวบรวมประชากรทั้งหมดมาหาพระองค์ เพื่อนำพวกเขาไปยังบ้านของพระบิดาเจ้าสวรรค์  ดังที่นักบุญเปาโลได้กล่าวไว้ว่า “พระเจ้าทรงพอพระทัยให้ความบริบูรณ์ทั้งสิ้นธำรงในพระองค์ และโดยพระองค์ ให้สิ่งสารพัดกลับคืนดีกับพระเจ้า ไม่ว่าสิ่งนั้นจะอยู่ในแผ่นดินโลกหรือในสวรรค์” (คส.1:19-20)
    ภราดาเปียร์ มารี (Fr่re Pierre Marie) ผู้ก่อตั้งคณะ Fraternity of Jerusalem ซึ่งเป็นคณะนักพรตที่ดำเนินชีวิตในเมือง ได้พูดถึงพระเยซูเจ้าว่าทรงเป็นลูกล้างผลาญ โดยได้กล่าวอย่างมีวรรณศิลป์และอ้างอิงพระคัมภีร์ว่า “พระองค์ผู้ซึ่งไม่ได้บังเกิดจากเผ่าพันธุ์มนุษย์ หรือจากความต้องการหรือน้ำใจของมนุษย์ แต่บังเกิดมาจากพระเจ้า วันหนึ่ง พระองค์ได้ทรงนำทุกสิ่งที่พระองค์ทรงมีใต้พระบัลลังก์ และเสด็จออกเดินทางพร้อมกับมรดกของพระองค์ คือสิทธิ์ความเป็นบุตรและทรัพย์สมบัติทั้งหลาย พระองค์ออกไปยังประเทศที่ห่างไกล... ที่นั่น พระองค์เป็นเช่นมนุษย์คนหนึ่ง ไม่มีอะไรเลย ประชากรของพระองค์ไม่ยอมรับพระองค์ และที่ประทับแรกของพระองค์คือรางหญ้า!  พระองค์เติบโตขึ้นต่อหน้าเราทั้งหลาย  เหมือนรากไม้ในพื้นดินแห้งแล้ง  ทรงถูกดูหมิ่น ถูกรังเกียจเหยียดหยาม เป็นคนต่ำต้อยที่สุด และในไม่ช้าก็ทรงถูกเนรเทศ ถูกต่อต้านและโดดเดี่ยว หลังจากที่พระองค์ได้สละทุกสิ่งในชีวิตที่บริบูรณ์ของพระองค์  ทั้งทรัพย์สมบัติ สันติสุข แสงสว่าง ความจริง ชีวิต ความรู้ ปรีชาญาณ และธรรมล้ำลึกที่เก็บเป็นความลับมาช้านาน     หลังจากทรงสละพระองค์ท่ามกลางบุตรที่หลงไปเช่นอิสราเอล โดยทรงใช้เวลาอยู่กับคนป่วย คนบาป หรือแม้แต่กับโสเภณี พระองค์ทรงอยู่กับพวกคนกินเติบและพวกคนเมา เป็นเพื่อนกับคนเก็บภาษีและคนบาป เช่น หญิงชาวสะมาเรีย และหลังจากได้มอบทุกสิ่ง แม้กระทั่งเลือดเนื้อของตน หลังจากที่ได้รู้สึกถึงความเศร้าโศกในส่วนลึกที่สุด ความทุกข์ทรมาน และจิตวิญญาณที่สูญสลาย ทรงผิดหวังอย่างที่สุด พระองค์ทรงสมัครที่จะเป็นผู้ที่พระบิดาทรงทอดทิ้ง จากผู้ที่เป็นน้ำทรงชีวิต พระองค์กลับทรงร้องบนกางเขนในขณะที่ถูกตรึงว่า “เรากระหาย” พระองค์ทรงถูกฝังในดินและเงาแห่งความตาย แต่ในวันที่สาม พระองค์กลับคืนพระชนม์ชีพ จากเบื้องล่างซึ่งพระองค์ได้เสด็จลงไป พระองค์ได้แบกบาปของเราไว้ เมื่อทรงกลับคืนชีพ พระองค์ทรงร้องว่า “ใช่แล้ว เราจะขึ้นไปหาพระบิดาของเรา และพระบิดาของท่านทั้งหลาย พระเจ้าของเรา และพระเจ้าของท่าน” และพระองค์ทรงกลับคืนสู่สวรรค์อีกครั้งหนึ่ง ในความเงียบนั้น ความเป็นบุตรของพระองค์ได้กลายเป็นจริงสำหรับทุกคน ดังที่บิดาได้กล่าวกับคนรับใช้ของเขาว่า “เร็วเข้า! จงไปเอาเสื้อสวยที่สุดมาสวมให้ลูกเรา เอาแหวนมาสวมนิ้ว เอารองเท้ามาใส่ให้ จงนำลูกวัวที่ขุนอ้วนแล้วไปฆ่า แล้วกินเลี้ยงฉลองกันเถิด เพราะลูกของเราผู้นี้ตายไปแล้ว ได้กลับมีชีวิตอีก หายไปแล้ว ได้พบกันอีก ลูกล้างผลาญของฉันได้นำพวกเขาทั้งหมดกลับมาแล้ว”  พวกเขาทั้งหลายจึงเริ่มฉลอง และเสื้อคลุมของเขาก็ได้ถูกฟอกใหม่ให้ขาวด้วยเลือดลูกแกะ
    เมื่อผมมองดูลูกล้างผลาญของเรมแบรนท์อีกครั้ง ตอนนี้ผมเห็นอีกอย่างหนึ่งคือ ผมเห็นเขาเป็นพระเยซูผู้ได้กลับไปหาพระบิดาของพระองค์และพระบิดาของผม    พระเจ้าของพระองค์และพระเจ้าของผม
    เรมแบรนท์คงไม่เคยคิดถึงลูกล้างผลาญในมุมมองนี้ ความเข้าใจเช่นนี้มิใช่เป็นการเทศน์สอนหรือเขียนตามธรรมเนียมประเพณีในสมัยของเขา  อย่างไรก็ตาม การมองเห็นลูกล้างผลาญเป็นพระเยซูเจ้าได้นำความบรรเทาและการปลอบประโลมมาให้เรา ชายหนุ่มที่บิดาโอบกอดอยู่นั้นไม่ใช่เป็นเพียงคนบาปที่กลับใจเท่านั้น แต่ยังรวมถึงมนุษยชาติทั้งมวลที่ได้กลับคืนสู่พระเจ้าอีกด้วย ร่างกายที่ผ่ายผอมของลูกล้างผลาญก็คือร่างกายที่ชอกช้ำของมนุษยชาติ และใบหน้าเยี่ยงเด็กทารกของบุตรที่กลับมา  ก็คือใบหน้าของผู้ที่ทนทุกข์ทรมาน ซึ่งกลับคืนสู่สวรรค์ที่ได้เคยสูญเสียไป  ดังนั้น ภาพวาดของเรมแบรนท์จึงกลายเป็นสิ่งที่มากกว่าภาพวาดเรื่องอุปมา เป็นการสรุปย่อประวัติศาสตร์แห่งความรอด แสงสว่างรอบตัวบิดาและบุตรชายนั้น แสดงถึงสิริมงคลที่รอคอยบรรดาบุตรของพระเจ้า ดังคำกล่าวของนักบุญยอห์นที่ว่า “บัดนี้ เราทั้งหลายเป็นบุตรของพระเจ้า และยังไม่ปรากฏว่าต่อไปเบื้องหน้านั้นเราจะเป็นอย่างไร แต่เรารู้ว่าเมื่อพระองค์จะเสด็จปรากฏมานั้น เราทั้งหลายจะเป็นเหมือนพระองค์ เพราะว่าเราจะเห็นพระองค์อย่างที่พระองค์ทรงเป็นอยู่นั้น” (1ยน.3:2)
    อย่างไรก็ตาม ทั้งภาพวาดของเรมแบรนท์และเรื่องอุปมาที่เล่า ต่างไม่ทำให้เราตกอยู่ในภวังค์แห่งความชื่นชม เมื่อผมเห็นฉากกลางของภาพโปสเตอร์คือ ภาพบิดาโอบกอดบุตรชายที่กลับมา ซึ่งติดอยู่หน้าห้องทำงานของซีโมนนั้น ผมยังไม่ได้คิดถึงคนที่อยู่รอบๆ อีก 4 คน แต่ตอนนี้ผมรู้จักใบหน้าของคนเหล่านี้แล้ว โดยเฉพาะชายร่างสูงที่ยืนอยู่ทางด้านขวาของภาพวาด ใช่แล้ว ภาพวาดนั้นมีความงดงาม ความรุ่งโรจน์และมีความรอด...   แต่ก็มีสายตาแห่งการวิพากษ์วิจารณ์ของผู้สังเกตการณ์ที่ไม่ประนีประนอมด้วยเช่นกัน สิ่งนี้จึงเป็นการขัดขวางมิให้ด่วนคิดว่าภาพนี้เป็นเรื่องของการอภัยและการคืนดีธรรมดาเท่านั้น การเดินทาางของบุตรคนเล็ก ไม่อาจถูกแยกจากการเดินทางของบุตรคนโต และต่อไปนี้ผมจะกล่าวถึงบุตรคนโตอย่างค่อนข้างจะอาจหาญอยู่บ้าง