4
เรมแบรนท์และบุตรคนโต

ตลอดหลายชั่วโมง ที่ผมได้มองดูภาพวาดเรื่องลูกล้างผลาญ ที่เฮอร์มิเทจอย่างเงียบๆ  ผมไม่เคยคิดสักนิดเลยว่าชายที่ยืนอยู่เบื้องขวาของภาพบิดาที่โอบกอดบุตรผู้กลับมานั้น คือบุตรคนโต ท่าทางที่เขายืนมองดูการต้อนรับอันยิ่งใหญ่นั้น  ทำให้มั่นใจว่านี่คือแบบที่เรมแบรนท์ต้องการพยายามวาดออกมา ผมจดบันทึกลักษณะของบุคคลผู้สังเกตการณ์อยู่ห่างๆ และมีสายตาที่ดุดันคนนี้ไว้ และผมก็เห็นทุกสิ่งที่พระเยซูเจ้าตรัสถึงบุตรคนโตในบุคคลผู้นี้
    อย่างไรก็ดี เรื่องอุปมาบอกไว้ชัดเจนว่าบุตรคนโตมิได้อยู่บ้านในตอนที่บิดาโอบกอดและแสดงความรักเมตตาต่อบุตรคนเล็กที่หายไป ตรงกันข้าม เรื่องเล่าว่าเมื่อบุตรคนโตกลับมาจากทุ่งนา ในบ้านกำลังมีงานเลี้ยงต้อนรับน้องชายของเขาอย่างสนุกสนาน
    ผมแปลกใจที่มองไม่เห็นความขัดแย้งระหว่างภาพวาดของเรมแบรนท์กับเรื่องอุปมานี้  ผมคิดแต่เพียงว่าเรมแบรนท์ต้องการตีความเรื่องลูกล้างผลาญ โดยการวาดภาพบุตรทั้งสองพร้อมกันในการเล่าเรื่อง
    เมื่อผมกลับมาที่บ้าน และเริ่มศึกษาประวัติเกี่ยวกับภาพนี้ ผมตระหนักอย่างรวดเร็วว่าการวิพากษ์วิจารณ์ภาพนี้ที่มีอยู่มากมายนั้น ล้วนแต่ไม่แน่ใจเหมือนผมว่าชายคนที่ยืนอยู่ด้านขวาของภาพวาดนั้นเป็นใคร บางคนเห็นเขาเป็นชายชราคนหนึ่ง และบางคนก็สงสัยแม้กระทั่งว่าเรมแบรนท์เป็นผู้วาดภาพคนนี้หรือไม่
1 ปีหลังจาก ที่ผมได้ไปเยี่ยมชมเฮอร์มิเทจ อีวาน ดีเออร์ (Ivan Dyer) เพื่อนคนหนึ่งของผม ซึ่งผมมักพูดคุยกับเขาว่าผมสนใจเรื่องลูกล้างผลาญ ได้ส่งสำเนาเรื่อง “ความหมายด้านศาสนาเรื่องการกลับมาของลูกล้างผลาญของเรมแบรนท์” (The Religious Significance of Rembrandt's Return of the Prodigal Son) เขียนโดยบาร์บารา โจน แฮเกอร์ (Barbara Joan Haeger) มาให้ผมชุดหนึ่ง งานเขียนอันทรงคุณค่าชิ้นนี้ ซึ่งได้ศึกษาภาพวาดในบริบทของประเพณีการวาดภาพในยุคสมัยของเรมแบรนท์นั้น ได้ทำให้ภาพบุตรคนโตปรากฏขึ้น
    แฮเกอร์ทำให้เราเห็นว่า คำอุปมาเรื่องฟาริสีกับคนเก็บภาษีและอุปมาเรื่องลูกล้างผลาญนั้นเกี่ยวโยงกันอย่างใกล้ชิด ในการอธิบายพระคัมภีร์และการวาดภาพในช่วงสมัยของเรมแบรนท์  เรมแบรนท์เองก็ได้ซื่อสัตย์ต่อธรรมเนียมนี้ด้วย ภาพชายคนที่นั่งทุบอกตัวเอง พลางมองบุตรที่กลับมานั้น คือผู้รับใช้ ซึ่งเป็นตัวแทนของคนบาปและคนเก็บภาษี ส่วนชายที่ยืนมองดูบิดาในลักษณะที่เป็นปริศนานั้น คือบุตรคนโต ซึ่งเป็นตัวแทนของฟาริสีและคัมภีราจารย์ แต่การวางตำแหน่งบุตรคนโตให้เป็นผู้เห็นเหตุการณ์ที่สำคัญในภาพวาดนี้ เรมแบรนท์ไปไกลกว่าเนื้อเรื่อง และยังไปไกลกว่านั้นอีก คือหลุดพ้นจากธรรมเนียมการวาดภาพในสมัยของเขา แฮเกอร์จึงกล่าวว่าเรมแบรนท์ “ไม่ได้ยึดตามตัวอักษร แต่ยึดจิตตารมณ์ของพระคัมภีร์”
    การค้นพบของบาร์บารา แฮเกอร์ มีความชัดเจนมากกว่าความเข้าใจเบื้องต้นของผมเสียอีก ซึ่งช่วยให้ผมเห็นภาพการกลับมาของลูกล้างผลาญว่า  เป็นผลงานที่สรุปการต่อสู้ทางจิตวิญญาณและการเรียกร้องการเลือกที่สำคัญ เรมแบรนท์มิได้วาดเพียงภาพบุตรคนเล็กที่อยู่ในอ้อมแขนของบิดาเท่านั้น  แต่ยังวาดภาพบุตรคนโต ซึ่งสามารถเลือกหรือปฏิเสธความรักที่มอบให้แก่เขา    เรมแบรนท์ได้แสดงให้ผมเห็นถึง “โศกนาฏกรรมทางจิตวิญญาณ” ทั้งของเขาและของผม เช่นเดียวกับที่เรื่องอุปมาสรุปเนื้อหาหลักของพระวรสาร และเชื้อเชิญให้ผู้อ่านเลือก หนทางของตัวเอง ภาพวาดของเรมแบรนท์ก็ได้สรุปการต่อสู้ทางจิตวิญญาณของเขา และเชิญชวนให้ผู้ที่มองภาพนี้ตัดสินใจเลือกหนทางชีวิตด้วยตัวเอง
    ดังนั้น ผู้ที่ยืนดูเหตุการณ์ในภาพของเรมแบรนท์ จึงเท่ากับชักชวนให้ผู้ที่มองภาพนี้ต้องตัดสินใจด้วยตัวเอง เมื่อผมได้เห็นภาพโปสเตอร์ซึ่งมีเฉพาะฉากตรงกลาง ในฤดูใบไม้ร่วง ค.ศ. 1983 นั้น ผมรู้สึกทันทีว่าผมถูกเรียกให้ทำอะไรสักอย่าง ตอนนี้ผมรู้จักภาพวาดโดยรวมทั้งหมดดีขึ้น และโดยเฉพาะความหมายของบุคคลที่อยู่ด้านขวา ผมยิ่งเชื่อมั่นมากขึ้นอย่างที่ไม่เคยรู้สึกมาก่อน ถึงความยิ่งใหญ่ในข้อท้าทายทางจิตวิญญาณ ซึ่งภาพวาดนี้ได้แสดงออกมาให้เห็น
    การมองดูบุตรคนเล็กและไตร่ตรองถึงชีวิตของเรมแบรนท์ ทำให้ผมแน่ใจว่า  เรมแบรนท์ต้องเข้าใจบุตรคนเล็กในลักษณะส่วนตัวจริงๆ ตอนที่เขาวาดภาพการกลับมาของลูกล้างผลาญ  เขาได้ผ่านชีวิตที่มีความเชื่อมั่นในตนเองสูงมาก ทั้งความสำเร็จ ชื่อเสียง แต่ก็เป็นชีวิตที่เต็มไปด้วยการสูญเสียที่เจ็บปวด ความผิดหวัง และความล้มเหลวด้วยเช่นกัน โดยผ่านทางสิ่งเหล่านี้ เขาได้ผ่านจากแสงสว่างภายนอกมาสู่แสงสว่างภายใน  จากเหตุการณ์ภายนอกสู่เหตุการณ์ที่มีความหมายภายใน  จากชีวิตที่เต็มไปด้วยสิ่งของและผู้คน มาสู่ชีวิตที่โดดเดี่ยวและเงียบสงบ บวกกับอายุที่มากขึ้น เขาสงบและลึกซึ้งมากขึ้น ซึ่งเป็นเหมือนการกลับบ้านด้านจิตวิญญาณ
    แต่บุตรคนโตก็เป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์ชีวิตเรมแบรนท์และชีวประวัติของเขาหลายเล่มก็คลางแคลงในการมองว่าชีวิตของเขาดูจะโรแมนติก หนังสือเหล่านี้เน้นว่าเรมแบนท์ยึดติดกับความต้องการด้านการเงินและข้อเรียกร้องของลูกค้ามากกว่าที่เราคิดกันโดยทั่วไป และภาพของเขาก็มักจะสะท้อนยุคสมัยมากกว่านิมิตด้านจิตวิญญาณ และความ ล้มเหลวของเขาก็มักเป็นผลจากบุคลิกของเขาที่หยิ่งยโสและน่ารังเกียจ มากกว่าที่จะมาจากการที่ผู้คนรอบข้างไม่สนใจเขา
    ชีวประวัติของเรมแบรนท์ที่เพิ่งออกมาเร็วๆ นี้ แสดงให้เห็นว่าเขาเป็นคนเห็นแก่ตัวและตระหนี่ มากกว่าที่จะแสวงหาความจริงฝ่ายจิต หลายคนสนับสนุนว่าภาพวาดของเขาหลายภาพ แม้ภาพที่มีชื่อเสียงที่สุด ก็แสดงถึงความจริงฝ่ายจิตน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ปฏิกิริยาแรกของผมต่อการศึกษาหนังสือเหล่านี้ที่ต้องการลดความเป็นตำนานของเรมแบรนท์ก็คือ ความประหลาดใจ ชีวประวัติของเขาซึ่งเขียนโดยแกรี่ ชวาทซ์  (Gary Schwartz)  ทำให้ผมสงสัยว่า เป็นไปได้ที่อาจจะไม่มี “การกลับใจ” เกิดขึ้น การศึกษาเรื่องความสัมพันธ์ของเรมแบรนท์กับผู้ที่นิยมเขา  ผู้ที่สั่งและซื้องานของเขา  และแม้แต่คนในครอบครัวและเพื่อนๆ ของเขา ล้วนแต่แสดงให้เห็นว่าเขาเป็นบุคคลที่เข้ากับใครไม่ค่อยได้ ชวาทซ์ได้บรรยายว่า “เรมแบรนท์เป็นบุคคลที่ใช้ทั้งอาวุธอ่อนและอาวุธแข็งในการต่อสู้กับทุกคนที่ขัดขวางแผนการของเขา”
    บุคลิกลักษณะและท่าทีเหล่านี้แสดงออกชัดเจน ในเวลาที่เขาปฏิบัติต่อ Geertje Direx ซึ่งเขาใช้ชีวิตอยู่ด้วยเป็นเวลาถึง 6 ปี เขาได้ใช้น้องชายของเธอ (ผู้ซึ่งรับอำนาจมาจาก Geertje เอง) ให้เก็บสะสมหลักฐานต่างๆ จากเพื่อนบ้านของเขา   ทั้งนี้เพื่อจะได้ใช้ต่อสู้กับเธอในศาล เธอถูกส่งไปอยู่ที่โรงพยาบาลประสาท ถูกกักบริเวณอยู่ในสถาบันผู้พิการทางสมอง และต่อมาเมื่อเธอได้รับการปล่อยตัวออกมา “เรมแบรนท์ก็ได้ว่าจ้างสำนักงานให้ไปเก็บหลักฐานต่างๆมาต่อสู้กับเธอเพื่อให้แน่ใจว่าเธอถูกกักกันตลอดไป”
    ระหว่างปี ค.ศ. 1649 เมื่อเหตุการณ์แห่งโศกนาฏกรรมเหล่านี้เริ่มปรากฏ เรมแบรนท์หมกมุ่นจนเขาไม่สามารถผลิตผลงานออกมาได้เลย เวลานั้นเองที่เรมแบรนท์อีกคนหนึ่งได้ปรากฏขึ้น เป็นชายที่จมอยู่ในความขุ่นเคือง ความต้องการที่จะแก้แค้นและสามารถทรยศหักหลังได้
    เป็นสิ่งยากที่จะยอมรับเรมแบรนท์ในลักษณะนี้ เป็นเรื่องง่ายกว่าที่จะรู้สึกสงสารคนที่หมกมุ่นอยู่กับความพึงพอใจทางสุขนิยมของโลก แต่ได้กลับใจ กลับบ้าน และเปลี่ยนเป็นคนที่มีจิตใจดี แต่จะให้ยอมรับคนที่หล่อเลี้ยงความแค้นอยู่ในใจลึกๆ และหยิ่งจองหอง ทำให้ไม่มีใครอยากเข้าใกล้ สิ่งนี้ดูจะยอมรับได้ยากกว่า อย่างไรก็ตาม สิ่งเหล่านี้เป็นชีวิตส่วนหนึ่งของเรมแบรนท์ และเป็นส่วนที่ผมไม่อาจละเลยได้
    เรมแบรนท์เป็นบุตรคนโตของเรื่องอุปมาเท่ากับที่เขาเป็นบุตรคน ในบั้นปลายชีวิตที่เขาได้วาดภาพบุตรทั้งสองเรื่องการกลับมาของลูกล้างผลาญนั้น เขาได้ผ่านประสบการณ์การหลงไปทั้งของบุตรคนโตและบุตรคนเล็ก บุคคลทั้งสองล้วนต้องการการรักษาเยียวยา การอภัย การกลับบ้านและการโอบกอดของบิดาผู้ให้อภัย อย่างไรก็ตาม ตามเนื้อเรื่องอุปมาและจากภาพวาดของเรมแบรนท์ ได้แสดงแจ้งชัดว่าการกลับใจที่ยากที่สุดก็คือ การกลับใจของผู้ที่อยู่บ้าน