แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

สภาพความเป็นจริงด้านเศรษฐกิจและสังคม
7. เรื่องการพัฒนาด้านเศรษฐกิจนั้น สถานภาพในทวีปเอเซียมีความหลากหลายมาก และไม่สามารถแยกแยะได้ง่ายนัก บางประเทศมีการพัฒนาในระดับที่สูงมาก บางประเทศกำลังพัฒนาโดยนโยบายเศรษฐกิจที่มีประสิทธิผล แต่บางประเทศก็ยังอยู่ในสภาพความยากจนที่น่าสมเพช อันที่จริงแล้วพวกเขาอยูในระดับประเทศที่ยากจนที่สุดในโลก ในขบวนการของการพัฒนานั้น  วัตถุนิยมและความไม่สนใจเรื่องศาสนา ก็เริ่มเติบโตขึ้นพร้อมๆ กันไปโดยเฉพาะในสังคมเมือง ความคิดเหล่านี้บั่นทอนคุณค่าทางประเพณี สังคมและศาสนา ทำให้วัฒนธรรมของเอเซียเสี่ยงต่อความหายนะ ซึ่งไม่สามารถจะคำนวณได้
บรรดาสมาชิกของสมัชชากล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมเอเซีย ตลอดจนข้อดี ข้อเสีย ของการเปลี่ยนแปลงนี้ ในจำนวนนี้ก็มีการกล่าวถึง การอพยพเข้าไปอยู่ในเมือง ปรากฏการณ์ของการรวมตัวกันในเมืองต่างๆ ซึ่งมักจะมีบางเขตที่อยู่ในสภาพที่น่าสลดใจ มีทั้งอาชญากรรมที่เป็นระบบ การก่อการร้าย การค้าประเวณีและการเอารัดเอาเปรียบส่วนของสังคมที่อ่อนแอกว่า การอพยพย้ายถิ่นฐานถือเป็นปรากฎการณ์ที่สำคัญ ซึ่งเป็นเหตุให้คนเป็นจำนวนล้านๆ ต้องอยู่ในสภาพเศรษฐกิจ วัฒนธรรมและศีลธรรมที่ย่ำแย่ ประชาชนย้ายถิ่นฐานภายในเอเซียและย้ายจากเอเซียไปอยู่ทวีปอื่นด้วยเหตุผลต่างๆ มากมาย เช่น ความยากจน สงคราม ความขัดแย้งทางด้านเผ่าพันธ์ หรือขาดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน การตั้งเขตอุตสาหกรรรมที่ใหญ่โตก็นับว่าเป็นอีกสาเหตุหนึ่งของการอพยพย้ายถิ่นฐานทั้งภายในและภายนอก และสิ่งที่ตามมาก็คือผลของการทำลายคุณค่าและชีวิตครอบครัว มีการกล่าวถึงการสร้างโรงงานนิวเคลียร์ โดยมุ่งความสนใจไปในเรื่องการประหยัดและมีสมรรถภาพ โดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชน และบูรณภาพของสิ่งแวดล้อม
การท่องเที่ยวก็ควรได้รับความสนใจเป็นพิเศษ แม้ว่าการท่องเที่ยวจะเป็นอุตสาหกรรมที่ถูกต้องตามกฎหมายซึ่งประกอบด้วยคุณค่าทางด้านวัฒนธรรมและการศึกษา แต่ในบางกรณีกลับไปมีอิทธิพลในการทำลายทิวทัศน์ และศีลธรรมตลอดจนธรรมชาติของหลายประเทศในเอเซีย ซึ่งแสดงออกในความตกต่ำของเยาวชน สตรี และแม้กระทั่งเด็กๆ เนื่องจากปัญหาในเรื่องโสเภณี การอภิบาลผู้อพยพย้ายถิ่นฐานและนักท่องเที่ยว นับว่าลำบากและสลับซับซ้อนโดยเฉพาะในเอเซีย ซึ่งไม่ค่อยจะมีโครงสร้างขั้นพื้นฐานในด้านนี้ การวางแผนงานอภิบาลในระดับต่างๆ ควรคำนึงถึงข้อเท็จจริงในเรื่องนี้    ในบริบทนี้ เราไม่ควรหลงลืมผู้อพยพที่มาจากพระศาสนจักรคาทอลิกนิกายตะวันออก ซึ่งต้องการการอภิบาลตามแบบจารีตประเพณีของพวกเขา
หลายประเทศในเอเซียต้องเผชิญกับความยากลำบากในเรื่องการเจริญเติบโตของประชากร ซึ่งมิใช่เป็นแต่เพียงปัญหาด้านประชากรหรือเศรษฐกิจเท่านั้น  และเป็นปัญหาโดยเฉพาะในด้านศีลธรรม เป็นที่แน่ชัดว่าปัญหาประชากรนั้นเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับการพัฒนาบุคคล แต่การแก้ปัญหาในทางที่ผิดนับเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีของชีวิตที่ลบเลือนไม่ได้ และนี่คือปัญหาที่ท้าทายพระศาสนจักรในเอเซีย อาจเป็นการสมควรเมื่อมาถึงจุดนี้ ที่จะหวนรำลึกถึงบทบาทการสนับสนุนและส่งเสริมชีวิตของพระศาสนจักร ด้วยการดูแลทางด้านสุขภาพอนามัย งานสังคมพัฒนา และการศึกษา เพื่อคุณประโยชน์แก่ประชาชน โดยเฉพาะผู้ที่ยากจน จึงสมควรแล้วที่สมัชชาพิเศษเพื่อเอเซียจะได้กล่าวสดุดีคุณแม่เทเรซาแห่งกัลกัตตา ที่พระทรงเรียกไปแล้ว ว่าเป็น “บุคคลซึ่งเป็นที่รู้จักทั่วโลกในการดูแลผู้ที่ยากจนที่สุด ด้วยความรักและปราศจากความเห็นแก่ตัว” ท่านเป็นสัญลักษณ์แห่งการบริการเพื่อชีวิต   ที่พระศาสนจักรมอบให้แก่เอเซีย ซึ่งตรงข้ามกับพลังมืดมากมายที่กำลังแผลงฤทธิ์อยู่ในสังคม
สมาชิกของสมัชชาส่วนหนึ่งเน้นถึงอิทธิพลภายนอกซึ่งถูกนำมา กระทบกับวัฒนธรรมของเอเซีย การประพฤติตัวในรูปแบบแปลกๆ ใหม่ๆ อันเป็นผลมาจากการรับจากสื่อมวลชนในทางที่ผิดมากเกินไป ซึ่งมีทั้งการใช้ภาษา เพลง และภาพยนต์ ซึ่งกำลังครอบคลุมทวีปนี้อยู่ เรายอมรับว่าสื่อมวลชนสามารถเป็นพลังนำไปในทางที่ดี แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าผลกระทบในด้านลบของสื่อเหล่านี้ก็มีมาก ผลที่ดีดูเหมือนว่าจะน้อยลง เนื่องจากสื่อถูกควบคุมและเอาไปใช้โดยผู้ที่มีผลประโยชน์ที่น่าสงสัย ทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจหรือลัทธิความนิยม เหล่านี้ล้วนเป็นเหตุให้ผลทางด้านลบของสื่อมวลชนและวงการบันเทิง เข้ามาคุกคาม ความเห็นแก่ตัวอันไร้ขอบเขตและวัตถุนิยม “กำลังโจมตีหัวใจของวัฒนธรรมเอเซีย สภาพที่นิยมชมชอบด้านศาสนา ครอบครัวและสังคมโดยส่วนรวม” นี่คือสถานการณ์ที่ท้าทายพระศาสนจักร  และการประกาศพระวรสารของพระศาสนจักรเป็นอย่างมาก
สภาพความยากจนที่ยังคงมีอยู่ และการเอารัดเอาเปรียบประชาชนนับเป็นความห่วงใยที่เร่งด่วนที่สุดในเอเซียนั้น ยังมีผู้ที่ถูกกดขี่อีกเป็นจำนวนล้านๆ คน    เขาถูกบังคับให้เป็นผู้ตกขอบของสังคมทั้งในด้านเศรษฐกิจ วัฒนธรรมและการเมือง สมาชิกของสมัชชาได้พิจารณาสถานภาพของสตรีในสังคมเอเซีย ท่านได้ให้ข้อสังเกตุว่า “แม้จะมีการปลุกจิตสำนึกให้สตรีรับรู้ถึงศักดิ์ศรีและสิทธิของตน อันเป็นสัญลักษณ์แห่งกาลเวลาที่โดดเด่น แต่ความยากจนและการเอารัดเอาเปรียบสตรีก็ยังเป็นปัญหาที่หนักหน่วงทั่วเอเซีย” จำนวนสตรีที่ไร้การศึกษามีมากกว่าบุรุษ และทารกเพศหญิงมักจะถูกทำแท้งหรือแม้กระทั่งถูกฆ่าหลังจากที่เกิดมาแล้ว ยังมีชนพื้นเมืองเผ่าต่างๆ ทั่วเอเซียเป็นจำนวนล้านๆ คน ซึ่งมีชีวิตที่ห่างไกลจากประชาชนส่วนใหญ่ในด้านสังคม วัฒนธรรมและการเมือง เรารู้สึกมีความเชื่อมั่นมากขึ้น เมื่อได้ยินบรรดาพระสังฆราชที่มาร่วมประชุมสมัชชาหลายท่านกล่าวว่า ปัญหาเหล่านี้กำลังได้รับความสนใจในระดับชาติ ในระดับภาค และในระดับนานาชาติ และพระ-ศาสนจักรมีบทบาทอย่างมากในการเผชิญกับปัญหาที่รุนแรงเหล่านี้
บรรดาสมาชิกของสมัชชาให้ข้อสังเกตไว้ว่า การพิจารณาที่จำต้องทำแบบสรุปเกี่ยวกับสภาพสังคมของเอเซียนี้คงจะไม่ครบขบวนการ หากไม่มีการยอมรับการเจริญเติบโตของสังคมเอเซียหลายแห่ง  ซึ่งได้เจริญเติบโตอย่างกว้างไกลในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมานี้ ทั้งยังมีแรงงานที่ทรงคุณภาพรุ่นใหม่ ตลอดจนนักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกวัน และจำนวนคนเหล่านี้นับเป็นนิมิตหมายที่ดีของการพัฒนาเอเซีย แต่ความก้าวเหล่านี้ยังไม่ค่อยมั่นคงถาวรนัก ดังจะเห็นได้จากวิกฤตทางด้านเศรษฐกิจอันกว้างไกลที่เกิดขึ้นแก่หลายประเทศใน เอเซีย เมื่อไม่นานมานี้ อนาคตของเอเซียอยู่ที่การร่วมมือกัน ทั้งภายในเอเซีย และกับนานาชาติ ในทวีปอื่น แต่ต้องสร้างอยู่บนฐานของสิ่งที่ประชาชนชาวเอเซียต้องกระทำเองโดยคำนึงถึงการพัฒนาตนเอง